อัตราเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคมสูงสุดในรอบ 10 ปี แต่มีแนวโน้มชะลอลงในเดือนสิงหาคม

ในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคม 2551 โดยมีประเด็นสำคัญ ต่อไปนี้

? อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อยู่ที่ร้อยละ 9.2 (สูงขึ้นจากร้อยละ 8.9 ในเดือนก่อนหน้า) ซึ่งเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบ 10 ปี และเท่ากับการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย รวมทั้งใกล้เคียงกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่ร้อยละ 9.3 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 3.7 ซึ่งเท่ากับการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย และใกล้เคียงกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่ร้อยละ 3.8 เช่นกัน

? สำหรับมาตรการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอล์ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม และมีผลตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงอย่างมากนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม คาดว่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนสิงหาคมชะลอลงมาอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 8.9 ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนดังกล่าวอาจจะปรับขึ้นไปเกินระดับร้อยละ 10.0

? ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในไตรมาสที่สาม จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 8.8 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.5 ในไตรมาสที่สอง อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะอ่อนตัวลงในไตรมาสสุดท้ายของปี ลงเป็นร้อยละ 7.3 เนื่องจากผลของฐานที่สูงในปีก่อนหน้า รวมทั้งแนวโน้มการอ่อนตัวของราคาสินค้าเกษตร ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของทั้งปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 7.2 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 3.0 โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของปี 2550 ที่ผ่านมา ซึ่งเท่ากับร้อยละ 2.3 และ 1.1 ตามลำดับ

ประเด็นที่ยังคงต้องติดตามคือสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่แม้ว่าจะได้ปรับตัวลงมาค่อนข้างมากในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ราคาน้ำมันดังกล่าวยังคงมีโอกาสผันผวน ทั้งจากการแกว่งตัวของค่าเงินดอลลาร์ฯ ประเด็นในด้านอุปทานการผลิตน้ำมัน ตลอดจนปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ในขณะเดียวกัน การที่ผู้ผลิตสินค้าในประเทศต้องรับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง (ดังจะเห็นได้จากการที่ดัชนีราคาสินค้าผู้ผลิตมีอัตราการเพิ่มที่สูงกว่าดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคติดต่อกันมาเป็นเวลา 10 เดือนแล้ว โดยในเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.2 จากร้อยละ 18.6 ในเดือนก่อนหน้า) ทำให้มีความเป็นได้ที่ทิศทางเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าจะยังคงได้รับแรงกดดันราคาจากทางด้านต้นทุนของผู้ผลิตอยู่