วิกฤตซับไพรม์ : ส่งผลเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยในสหรัฐฯ…หดตัวกว่าร้อยละ 20

เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน นับเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่นำรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และกว่าร้อยละ 80 ของเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมดที่ผลิตในประเทศไทยส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ โดยมีสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 1 ซึ่งแม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การค้าเฟอร์นิเจอร์ระหว่างไทย – สหรัฐฯ นั้น ไทยจะเป็นฝ่ายเกินดุลสหรัฐฯมาโดยตลอด แต่ขณะเดียวกันไทยก็ต้องพึ่งพาตลาดสหรัฐฯค่อนข้างมาก โดยในแต่ละปีไทยส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไปยังสหรัฐฯคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25-35 ของมูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนโดยรวมของไทย ขณะที่สหรัฐฯ ไม่ได้พึ่งพาตลาดเฟอร์นิเจอร์จากไทยเพียงแหล่งเดียว แต่ยังมีการนำเข้าจากแหล่งอื่นๆด้วย ดังนั้น เมื่อสหรัฐฯชะลอการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์จากไทย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่หันไปขยายการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์จากประเทศจีน หรือผู้ผลิตรายใหม่ๆ อาทิ เวียดนาม บราซิล และอินเดีย มากขึ้น อันเนื่องมาจากความได้เปรียบไทยในด้านต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่า ทำให้ราคาสินค้าจากประเทศดังกล่าวถูกกว่าไทยโดยเปรียบเทียบ หรือด้วยปัจจัยปริมาณความต้องการบริโภคเฟอร์นิเจอร์ภายในประเทศสหรัฐฯที่ชะลอตัวลงดังเช่นในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมา ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมผลิตเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยโดยรวมค่อนข้างสูง โดยสังเกตได้จากอัตราการเติบโตของการส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยโดยรวมในแต่ละปี ที่มักจะเป็นในทิศทางเดียวกันกับการเติบโตของการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ (ดังรายละเอียดในแผนภาพที่ 1)

ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯที่มีความเป็นไปได้ว่าในปี 2551 จะเติบโตไปในทิศทางที่ชะลอตัวลงอีก ตามประมาณการล่าสุดของ IMF ที่ได้คาดว่าในปี 2551 เศรษฐกิจของสหรัฐฯจะเติบโตในระดับร้อยละ 1.3 ซึ่งเป็นอัตราชะลอตัวลงจากปี 2550 ที่เติบโตร้อยละ 2.2 ก็น่าจะส่งผลให้สถานการณ์การส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยในตลาดสหรัฐฯในปี 2551 เป็นไปในทิศทางที่น่าจะชะลอตัวลง โดยเฉพาะปัญหาซับไพรม์ ที่น่าจะมีผลให้จำนวนการซื้อขายที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯในปี 2551 ลดลง และส่งผลต่อเนื่องให้ความต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์ในตลาดสหรัฐฯมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่ลดลงตามไปด้วย ทั้งนี้ ในปี 2550 ที่ปัญหาซับไพรม์ส่งสัญญาณความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ภาวะการค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ในประเทศสหรัฐฯซึ่งเป็นตัวเลขที่ปรับฤดูกาลแล้วนั้นมีอัตราการเติบโตลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2550 ขณะที่ยอดขายโดยรวมในปี 2550 เติบโตเพียงร้อยละ 0.78 ตามรายงานของ U.S. Census Bureau ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2545 (อัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยระหว่างปี 2545-2549 เป็นร้อยละ 5.19) ขณะที่ในช่วงไตรมาสแรกปี 2551 ยอดขายปลีกเฟอร์นิเจอร์ในสหรัฐก็ยังคงส่งสัญญาณซบเซาต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯที่อยู่ในช่วงขาลง โดยมีอัตราการเติบโตลดลงถึงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2550 โดยทั้งนี้จากกรณีปัญหาความไม่เพียงพอของเงินกองทุนของสถาบันการเงินชั้นนำอย่างสมาคมการจำนองแห่งชาติของรัฐบาลกลาง( แฟนนี เม) และบรรษัทจำนองสินเชื่อบ้านของรัฐบาลกลาง (เฟรดดี แมค) จนรัฐบาลสหรัฐฯต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2551 ที่ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนไหวของตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยและฐานะสถาบันการเงินในสหรัฐฯ จึงคาดว่าการค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ของสหรัฐฯในปี 2551 น่าจะขยายตัวในอัตราต่ำไม่เกินร้อยละ 2 ซึ่งนับเป็นสัญญาณไม่ดีนักต่อการขยายตัวของสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยในสหรัฐฯ ในปี 2551

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยในตลาดสหรัฐฯในปี 2551 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่ามีประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยในสหรัฐฯปี 2551 ส่อแววซบเซาหนัก
ทั้งนี้จากรายงานของ U.S. International Trade Commission พบว่านับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา สหรัฐฯนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ของไทยเติบโตติดลบมาโดยตลอด อีกทั้งยังเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าอัตราการเติบโตของมูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้โดยรวมที่สหรัฐนำเข้าจากตลาดโลกในแต่ละปีอีกด้วย และยิ่งทวีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นในช่วง 5 เดือนแรกปี 2551 ที่พบว่าขณะที่สหรัฐฯนำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนลดลงจากตลาดโลกคิดเป็นอัตราการเติบโตติดลบร้อยละ 3.76 ตามภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่หดตัวต่อเนื่องนั้น สหรัฐฯได้มีการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้จากไทยลดลงถึงร้อยละ 18.72 ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าอัตราการเติบโตของการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยในตลาดสหรัฐฯใน ปี 2551 น่าจะหดตัว ในระดับติดลบประมาณร้อยละ 20-25 หรือมีมูลค่าการส่งออกไม่เกิน 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และไทยน่าจะมีส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐไม่เกินร้อยละ 1 ทั้งนี้ การเติบโตของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้โดยรวมน่าจะยังคงขึ้นอยู่กับการเติบโตของมูลค่าการส่งออกของเฟอร์นิเจอร์ไม้เป็นหลัก โดยประมาณร้อยละ 85 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้โดยรวมจากไทยไปสหรัฐฯน่าจะเป็นมูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ ซึ่งนับวันไทยจะมีศักยภาพการแข่งขันที่ถดถอยลงตามลำดับ และอีกประมาณร้อยละ 12 เป็นมูลค่าการส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์โลหะและชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ นอกนั้นเป็นเฟอร์นิเจอร์พลาสติก เฟอร์นิเจอร์วัสดุธรรมชาติ และเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ

ศักยภาพการแข่งขันโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ถดถอย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไทยติดอันดับ 1 ใน 10 แหล่งนำเข้าสำคัญสำหรับสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนในตลาดสหรัฐฯมาอย่างต่อเนื่อง ตามรายงานของ U.S. International Trade Commission โดยมีส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างคงที่ที่ระดับร้อยละ 1-3 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกปี 2551 ไทยก็ยังคงครองอันดับ 10 เช่นเดียวกับปี 2550 แต่เป็นไปในลักษณะที่สัดส่วนลดลงเป็นร้อยละ 0.86 จากร้อยละ 1.13 ในปี 2550 ขณะที่อัตราการเติบโตของมูลค่าก็ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน กล่าวคือแนวโน้มศักยภาพของสินค้ากลุ่มนี้ของไทยในตลาดสหรัฐฯเป็นไปในทิศทางที่มีศักยภาพลดลงในปี 2551 ซึ่งหากแยกตามประเภทสินค้า พบว่า สถานการณ์ของเฟอร์นิเจอร์ไม้และเฟอร์นิเจอร์โลหะ ซึ่งเป็นประเภทสินค้าที่สหรัฐฯนำเข้าจากไทยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยโดยรวมนั้น มีศักยภาพที่ลดลง โดยทั้งมูลค่าและสัดส่วนต่างปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ขณะที่เฟอร์นิเจอร์พลาสติกและเฟอร์นิเจอร์วัสดุธรรมชาติอย่างหวาย และผักตบชวา เป็นต้นนั้น มีศักยภาพการแข่งขันที่สูงขึ้น แต่ก็มีสัดส่วนรวมกันเพียงร้อยละ 2.2 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ ที่สหรัฐฯนำเข้าจากไทยโดยรวมเท่านั้น ทั้งนี้ ผู้ที่ครองผู้นำตลาดเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนในตลาดสหรัฐฯยังคงเป็นจีน ด้วยสัดส่วนสูงเกือบถึงร้อยละ 50 ตามมาด้วยแคนาดาและเม็กซิโก ที่มีสัดส่วนรวมกันประมาณร้อยละ 28 ขณะที่อันดับ 4 และ 5 เป็นเวียดนาม และอิตาลี ตามลำดับ

ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า จากการที่ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ครองสัดส่วนประมาณร้อยละ 25-35 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ของไทยโดยรวมในแต่ละปี มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่สหรัฐฯได้รับผลกระทบจากสินเชื่อซับไพร์ม(Subprime Mortgages หรือ สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยให้แก่ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง) นับตั้งแต่ปี 2550 จนส่งผลให้สถาบันการเงินในประเทศสหรัฐฯมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อด้านที่อยู่อาศัยมากขึ้นตามลำดับ อีกทั้งภายหลังจากที่เกิดปัญหาความไม่เพียงพอของเงินกองทุนของสถาบันการเงินชั้นนำอย่างสมาคมการจำนองแห่งชาติของรัฐบาลกลาง( แฟนนี เม) และบรรษัทจำนองสินเชื่อบ้านของรัฐบาลกลาง (เฟรดดี แมค) จนรัฐบาลสหรัฐฯต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมา ที่ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนไหวของตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยและฐานะสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคก็มีแนวโน้มที่จะปรับลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ จึงน่าจะส่งผลให้จำนวนการซื้อขายที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯมีแนวโน้มลดลงได้อีกในปี 2551 รวมถึงความต้องการเฟอร์นิเจอร์ซึ่งเป็นสินค้าเกี่ยวเนื่องด้วย โดยล่าสุดตามการรายงานของสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐฯ และกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ต่างระบุว่า ทั้งจำนวนบ้านใหม่และบ้านมือสองในสหรัฐฯที่จำหน่ายได้ยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในเดือนมิถุนายน 2551 สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี และมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะต้องใช้เวลาเกือบถึง 11 เดือนนับจากนี้ จึงจะสามารถจำหน่ายบ้านที่คงค้างอยู่ได้ทั้งหมด ประกอบกับต้นทุนสินค้าปรับตัวสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ เนื่องจากราคาน้ำมันที่ยังคงทรงตัวในระดับสูง แม้จะมีการปรับตัวลดลงมาบ้างแล้วในช่วงที่ผ่านมา เพราะนอกจากจะมีผลให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อเฟอร์นิเจอร์ ที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับราคาเพิ่มขึ้นแล้ว ภาระค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันที่สูงขึ้น ก็อาจจะมีผลทางจิตวิทยาและอารมณ์ในการซื้อเฟอร์นิเจอร์เพื่อตกแต่งบ้านด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังต้องเผชิญกับแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ อันเนื่องมาจากภาวะตกต่ำในตลาดที่อยู่อาศัยและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังคงอยู่ในช่วงขาลง ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าค่าเงินดอลลาร์ฯ จะอ่อนค่าลงอีกในปี 2551 หรืออีกนัยหนึ่งค่าเงินบาทจะยังคงแข็งค่ากว่าโดยเปรียบเทียบกับค่าเงินของคู่แข่งต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาสินค้ากลุ่มนี้ของไทยแพงขึ้นในสายตาผู้บริโภคสหรัฐฯ ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นล้วนเป็นสัญญาณไม่ดีนักต่อการขยายตัวของสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยในสหรัฐฯ ในปี 2551

สถานการณ์การแข่งขันทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ปัจจุบันการวางตำแหน่งสินค้าในตลาดสหรัฐฯ สำหรับผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยมีความยากลำบากพอสมควร เพราะต้องเผชิญกับแรงกดดันทั้งจากประเทศคู่แข่งในตลาดระดับบนที่มีความได้เปรียบทางด้านการตลาด รูปแบบ รวมถึงเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย และประเทศผู้ผลิตสินค้าราคาถูกอย่างจีนและเวียดนาม ที่ต่างก็มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นจากบรรดาผู้ประกอบการต่างชาติ ที่ย้ายฐานการผลิตไปดำเนินการภายในประเทศทั้งสองด้วย โดยปัจจุบันเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของจีนเป็นแหล่งนำเข้ารายสำคัญอันดับ 1 ของสหรัฐฯ ด้วยการถือครองสัดส่วนร้อยละ 48.2 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้โดยรวมของสหรัฐในช่วง 5 เดือนแรกปี 2551 ตามรายงานของ U.S. International Trade Commission และมีแนวโน้มที่จะสามารถครองความเป็น 1 ไปได้อีกนานในอนาคต ขณะที่เวียดนามนั้นก็เป็นประเทศที่น่าจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะปัจจุบันเวียดนามสามารถครองความเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญอันดับ 4 ของสหรัฐฯ ด้วยสัดส่วนร้อยละ 4.46 รองจากจีน แคนาดา และเม็กซิโก ขณะที่เฟอร์นิเจอร์ไทยมีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ เพียงร้อยละ 0.85 ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งส่วนแบ่งของเวียดนามข้างต้นนับเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าไทยเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันแล้ว(ดังรายละเอียดในแผนภาพที่ 2) อีกทั้งเวียดนามยังมีอัตราการเติบโตมากที่สุดในบรรดาแหล่งนำเข้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนรายสำคัญอันดับ 1-10 ของสหรัฐนับตั้งแต่ปี 2545 ด้วย นอกจากนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกปี 2551 เวียดนามยังเป็นเพียงประเทศเดียวในบรรดาแหล่งนำเข้ารายสำคัญอันดับ 1-5 ที่สหรัฐฯมีการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้น หรือเติบโตเป็นบวกด้วยเลขสองหลัก สวนทางภาพรวมของการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ของสหรัฐฯที่เติบโตติดลบเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนด้วย และคาดว่าเวียดนามน่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้อีกนับจากนี้ ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าสถานการณ์การส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยในปี 2551 ในตลาดสหรัฐฯที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วยอัตราการเติบโตในแดนบวกนั้นค่อนข้างลำบากพอสมควร

ดังนั้น เพื่อรักษาและสร้างโอกาสในการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งยังคงเป็นตลาดเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนที่มีศักยภาพในการบริโภคค่อนข้างสูง เพราะเป็นตลาดเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ของโลก หรือประมาณ 1 ใน 4 ของปริมาณความต้องการในตลาดโลก ผู้ประกอบการไทยจึงควรเร่งปรับตัวโดยลดการผลิตสินค้าที่ต้องแข่งขันด้านราคาลง และหันไปมุ่งผลิตสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของตลาดที่เฉพาะเจาะจง (Niche Market)มากขึ้น รวมทั้งติดตามความเคลื่อนไหวและศึกษาความต้องการของผู้บริโภคในสหรัฐฯ เพื่อผลิตสินค้าตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น โดยคำนึงถึงปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ จากการสำรวจของวารสาร Furniture/Today ร่วมกับบริษัท Easy Analytic Software พบว่า ในช่วงปี 2550-2554 นอกจากปัจจัยสำคัญด้านความสะดวกในการใช้งาน ความสะดวกในการเคลื่อนย้ายและประหยัดพื้นที่ในการจัดวาง เป็นต้น ที่ผู้บริโภคในสหรัฐฯ มักจะคำนึงถึงก่อนตัดสินใจซื้อเฟอร์นิเจอร์แล้ว ปัจจัยทางด้านรูปแบบและราคาก็เป็นปัจจัยที่ผู้บริโภคสหรัฐฯหันมาให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นตามลำดับด้วย โดยรูปแบบที่คาดว่าจะได้รับความนิยมสูง ได้แก่

เฟอร์นิเจอร์เอนกประสงค์ (Multi Purpose Functional System) จากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยสดใสนัก ผู้บริโภคในสหรัฐฯ จึงระมัดระวังในการใช้จ่าย ดังนั้น สินค้าที่จะสามารถเจาะตลาดสหรัฐฯ ได้ ควรมีการออกแบบให้ผู้บริโภครู้สึกว่าคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป เช่น สามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เป็นต้น

เฟอร์นิเจอร์ที่สามารถรับน้ำหนักได้มาก (Plus Size Furniture) เนื่องจากปัจจุบันร้อยละ 30 ของประชากรที่มีอายุมากกว่า 20 ปี (หรือกว่า 60 ล้านคน) ในสหรัฐฯ เป็นผู้ที่มีน้ำหนักมาก (มีน้ำหนักเกินกว่า 275 ปอนด์ หรือประมาณ 125 กิโลกรัม) ดังนั้น การผลิตเฟอร์นิเจอร์เพื่อป้อนตลาดสหรัฐฯ จึงควรจะต้องออกแบบให้เหมาะสมกับสรีระของผู้ใช้กลุ่มนี้ด้วย โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์สำหรับนั่งซึ่งต้องออกแบบให้สามารถรับน้ำหนักได้มากขึ้นและมีขนาดกว้างขึ้น

เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ (Indigenous Materials) ด้วยกระแสความห่วงใยและใส่ใจต่อสุขภาพ ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ตระหนักถึงอันตรายที่แฝงมากับวัสดุสังเคราะห์ อาทิ สารเคมีปนเปื้อน ส่งผลให้เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติหรือมีส่วนผสมที่ได้จากธรรมชาติมีแนวโน้มเป็นที่ต้องการค่อนข้างสูงในตลาดสหรัฐฯ โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้เนื้อแข็ง ไม้น้ำจำพวกกกและอ้อ

เฟอร์นิเจอร์ที่มีสีสันคล้ายธรรมชาติ (Back to Nature) สีของเฟอร์นิเจอร์ที่คาดว่าน่าจะได้รับความนิยมในตลาดสหรัฐฯ ได้แก่ สีที่มีความคล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกับธรรมชาติ อาทิ น้ำตาล เขียว และฟ้า ซึ่งเป็นสีที่มองเห็นแล้วรู้สึกสบายตาและกลมกลืนไปกับธรรมชาติ

– ทั้งนี้ ประเภทของเฟอร์นิเจอร์ที่น่าจะเป็นที่ต้องการในตลาดสหรัฐฯ ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์สำหรับห้องนอน (Master Bedroom Furniture) เช่น เตียง โต๊ะเครื่องแป้ง เฟอร์นิเจอร์สำหรับห้องรับประทานอาหาร (Dining Room Furniture) เช่น โต๊ะกินข้าว เก้าอี้ เคาน์เตอร์ และเฟอร์นิเจอร์เพื่อความบันเทิง (Entertainment Furniture) เช่น ชั้นวางโทรทัศน์ ชั้นวางเครื่องเสียง และตู้ใส่ซีดี ดีวีดี หรือวีซีดี เป็นต้น

บทสรุป
จากปัจจัยเสี่ยงที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ชิ้นส่วนของไทยในตลาดสหรัฐฯดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ทำให้สถานการณ์ของสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยทั้งในตลาดสหรัฐฯและตลาดโลกในปี 2551 จึงตกอยู่ในภาวะพึงระวัง และอาจจะฟื้นตัวค่อนข้างลำบาก โดยตัวแปรด้านราคาน้ำมัน เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และวิกฤตซับไพรม์ ยังคงเป็นตัวแปรหลักที่น่าจะส่งผลต่อปริมาณความต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์ภายในประเทศสหรัฐฯในปี 2551 รวมถึงการขยายตัวของสินค้ากลุ่มดังกล่าวของไทยในสหรัฐฯ ด้วย ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าอัตราการเติบโตของการส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยไปยังตลาดสหรัฐฯใน ปี 2551 น่าจะหดตัว ในระดับติดลบร้อยละ 20-25 หรือมีมูลค่าการส่งออกไม่เกิน 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และไทยน่าจะมีส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐไม่เกินร้อยละ 1 ดังนั้น ในยุคที่ผู้บริโภคสหรัฐฯหันมาให้ความสำคัญต่อความคงทน และความคุ้มค่าของเฟอร์นิเจอร์ ผู้ประกอบการไทยจึงควรหันมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการผลิตและเน้นเกมรุกมากกว่าเกมรับมากขึ้น โดยเน้นการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่มีเอกลักษณ์แทนการลอกเลียนแบบจากต่างประเทศ และสามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ภายใต้สีสันที่มีความคล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกับธรรมชาติ พร้อมทั้งเร่งหาพันธมิตรทางการค้าคือตัวแทนจำหน่ายที่มีช่องทางกระจายสินค้าในวงกว้างในตลาดสหรัฐฯ รวมถึงการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศให้มากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสำหรับรองรับการแข่งขันในตลาดระดับกลางและล่าง ที่คาดว่าความต้องการยังคงมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อรักษา และสร้างโอกาสในการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งยังคงเป็นตลาดเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนที่มีศักยภาพในการบริโภคค่อนข้างสูงด้วยความที่เป็นตลาดเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ของโลกนั่นเอง