กองทุนรวม…ทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจหลังการบังคับใช้ พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ที่ผ่านมา พ.ร.บ. คุ้มครองเงินฝากได้เริ่มมีผลบังคับใช้ไปเรียบร้อยแล้ว โดยผู้ฝากเงินจะได้รับการคุ้มครองเงินฝากที่เต็มจำนวนภายในระยะเวลา 1 ปีนี้เท่านั้น หลักจากนั้น 4 ปีที่เหลือการคุ้มครองจะลดลงไปเรื่อยๆจนกระทั่งคุ้มครองแค่ 1 ล้านบาทต่อราย / สถาบันการเงิน ดังนั้นจึงมีความเป็นไปที่ผู้ฝากเงินที่มีจำนวนเงินฝากเกิน 1 ล้านบาทอาจพิจารณาให้น้ำหนักกับช่องทางการลงทุนอื่นๆ นอกเหนือจากเงินฝากมากขึ้น ทั้งนี้ธุรกิจกองทุนรวมก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่นักลงทุนหันมาให้ความสนใจ เนื่องจากนักลงทุนอาจจะไม่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆด้วยตนเอง ดังนั้นจึงจะเป็นการดีกว่าที่จะให้ผู้จัดการกองทุนเข้ามาบริหารให้

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมกองทุนรวมที่น่าสนใจ ซึ่งน่าจะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ฝากเงินที่กำลังมองหาช่องทางการลงทุนใหม่ๆเพิ่มเติม ดังนี้

กองทุนรวมที่คาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุน
สำหรับนักลงทุนที่สนใจเข้ามาลงทุนในกองทุนรวม อาจจะพิจารณาถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาและระดับความเสี่ยงของแต่ละกองทุนเพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุน ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมผลการดำเนินงานย้อนหลังของกองทุนรวมที่น่าสนใจ*ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเผชิญกับภาวะความผันผวนทางเศรษฐกิจ การเมือง และภาวะเงินเฟ้อเช่นนี้ ดังนี้

กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ น่าจะเป็นกองทุนที่ได้รับการจับตามองจากนักลงทุนในขณะนี้ โดยกองทุนประเภทดังกล่าวเป็นกองทุนที่ระดมทุนไปซื้อหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์แล้วนำมาบริหาร โดยได้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอจากค่าเช่าและเงินปันผล และเมื่อพิจารณาถึงผลการดำเนินงานย้อนหลังของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์โดยเฉลี่ย โดยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยย้อนหลัง 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี อยู่ที่ระดับ 2.72% 4.96% และ 12.52% ตามลำดับ ทั้งนี้การที่นักลงทุนอาจจะเคลื่อนย้ายการลงทุนจากการลงทุนกระแสหลัก มาสู่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ก็เนื่องจากกองทุนทางเลือกดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนในเกณฑ์ที่ดี ดังจะเห็นได้จากผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี มีค่ามากกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ณ เดือน ก.ค. ที่ระดับ 9.20% เลยทีเดียว ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาถึงสภาพคล่อง กองทุนอสังหาริมทรัพย์ถูกกำหนดให้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นการซื้อขายจึงเป็นไปได้ง่ายและคล่องตัวกว่าการซื้อขายในอสังหาริมทรัพย์โดยตรง

กองทุนรวมตราสารทางการเงินระยะสั้นเป็นกองทุนที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับเงินฝาก โดยมีความมั่นคงสูงมาก เนื่องจากเน้นการลงทุนไปที่ตราสารหนี้ของภาครัฐ ขณะที่ระยะเวลาการลงทุนมักจะค่อนข้างสั้น โดยมีกำหนดการชำระคืนเงินต้นเมื่อทวงถามหรือมีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี โดยเมื่อเปรียบเทียบแล้วอัตราผลตอบแทนที่ได้จากกองทุนรวมตราสารทางการเงินระยะสั้นยังคงสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากบางประเภท และจากผลการดำเนินงาน 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี ย้อนหลังโดยเฉลี่ย พบว่าให้อัตราผลตอบแทน 2.76% 2.70% และ 2.70% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก(หลังหักภาษี)ประมาณ 0.21-0.74% ทั้งนี้การลงทุนในกองทุนประเภทตราสารทางการเงินระยะสั้น นั้นเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ชอบความคล่องตัวและความเสี่ยงต่ำ ขณะเดียวกันก็ให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก โดยผลตอบแทนที่ได้ไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย

กองทุนรวมที่ลงทุนในทองคำ กองทุนที่ลงทุนในทองคำนั้นเป็นการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับผลตอบแทนจากการลงทุนในทองคำโดยตรง โดยพบว่าอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยย้อนหลัง 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี อยู่ที่ระดับ -3.43% -9.30% และ 17.87% ตามลำดับ ทั้งนี้แม้ว่าในระยะสั้นอัตราผลตอบแทนย้อนหลังจะติดลบเนื่องจากราคาทองคำปรับลดลงมา แต่คาดการณ์ได้ว่าในระยะยาวการลงทุนในกองทุนรวมประเภทนี้น่าจะให้ผลตอบแทนในระดับสูงขึ้นไปตามราคาทองคำที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นในระยะยาวเมื่อพิจารณาปัจจัยพื้นฐาน โดยอุปสงค์ในทองคำยังคงมีมากกว่าอุปทานของทองคำที่มีอยู่ในตลาดโลก ซึ่งจากข้อมูลสถิติของสภาทองคำโลก ณ เดือน ก.ค. พบว่าอุปสงค์การลงทุนทั่วโลกในทองคำสูงถึงระดับ 3,500 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2/2551 โดยขยับขึ้น 29% จากไตรมาสที่ 2/2550 โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการลงทุนในทองคำของประเทศสหรัฐฯ จีน อียิปต์ และเวียดนาม ขณะที่อุปทานของการผลิตทองคำกลับมีจำกัดเนื่องจากการสำรวจทองคำใน 10 ปีที่ผ่านมามีจำนวนที่ต่ำกว่าอุปสงค์และแม้ว่าการสำรวจจะมีเพิ่มเติมขึ้นมาบ้างแต่ก็ต้องใช้ระยะเวลาถึง 7 ปีในการสร้างเหมืองให้สามารถใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตามการลงทุนในทองคำนั้นแม้จะให้ผลตอบแทนที่สูง แต่ก็ย่อมตามมาด้วยความเสี่ยงจากการผันผวนของราคาทองคำและอัตราแลกเปลี่ยนอีกด้วย ผู้ลงทุนควรศึกษานโยบายการลงทุนว่า บลจ. จะทำการบริหารสินทรัพย์และป้องกันความเสี่ยงดังกล่าวได้อย่างไรบ้าง

กองทุนรวม Gold Linked ลักษณะของกองทุนรวมประเภทนี้จะมีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งจะจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับราคาทองคำ และจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนไม่ว่าราคาทองคำจะขึ้นหรือลงหากราคาทองคำในแต่ละสัปดาห์เคลื่อนไหวอยู่ในช่วงราคาที่กำหนดทั้งนี้ บลจ.ต่างๆอาจป้องกันความเสี่ยงทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนด้วยการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเอาไว้ โดยเมื่อพิจารณาจากผลการดำเนินงานย้อนหลังในช่วงระยะเวลา 3 เดือน และ 6 เดือน ที่ผ่านมา พบว่าอัตราผลตอบแทนย้อนหลังโดยเฉลี่ยเท่ากับ 3.98% และ 4.39% ตามลำดับ จะเห็นได้ว่ากองทุนดังกล่าวสร้างผลตอบแทบมากกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอีกด้วย ดังนั้นกองทุนรวม Gold Linked ก็น่าที่จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่นักลงทุนเลือกที่จะเข้ามาลงทุนในธุรกิจกองทุนรวมอีกทาง

กองทุนรวมตราสารทุน เนื่องจากปัจจุบันการลงทุนในตลาดหุ้นมีความผันผวนค่อนข้างมาก ทำให้การคาดการณ์ทิศทางดัชนีตลาดหลักทรัพย์เป็นไปได้ยากขึ้น ดังจะเห็นได้จากผลการดำเนินงานย้อนหลังโดยเฉลี่ยของกองทุนรวมตราสารทุน ซึ่งให้อัตราผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี อยู่ที่ระดับ -12.44% -7.74% และ -5.32% ตามลำดับ ทั้งนี้แม้ว่าผลตอบแทนในช่วงที่ผ่านมาจะอยู่ในช่วงไม่สดใสเท่าที่ควรนัก แต่คาดว่าเมื่อสถานการณ์การณ์เมืองภายในประเทศเริ่มคลี่คลายลงไป รวมถึงแรงกดดันจากเศรษฐกิจภายนอกประเทศที่จะเริ่มชะลอตัวลง ก็น่าจะทำให้กองทุนรวมตราสารทุนกลับมาสร้างผลกำไรให้กับนักลงทุนได้อีกครั้ง ทั้งนี้ผู้ลงทุนควรจะเลือกลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนที่เน้นการลงทุนระยะกลางและระยะยาวในหลักทรัพย์ของบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดี รวมถึงมีแนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจในระดับสูง

กองทุนรวม FIF ที่ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนต่างประเทศ เป็นกองทุนที่มีการนำเงินไปลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนต่างประเทศเพื่อเพิ่มผลตอบแทนระยะยาวให้กับผู้ลงทุน ทั้งนี้ กองทุนรวมดังกล่าวจะเน้นการลงทุนในหน่วยลงทุนของบลจ. ต่างประเทศที่ลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ (Fund of Funds) ที่ให้ผลตอบแทนสูง (ส่วนใหญ่จะเป็นพันธบัตรรัฐบาล) โดยจะเลือกลงทุนในประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) และเมื่อพิจารณาอัตราผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี พบว่าอยู่ที่ระดับ 3.58% 3.77% และ 4.22% ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประมาณ 1.33-1.88% อย่างไรก็ตามการลงทุนในตลาดต่างประเทศจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบว่ามีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนไว้หรือไม่เพียงใด โดยกองทุนแต่ละกองอาจจะมีนโยบายในด้านนี้แตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ผู้ลงทุนควรที่จะศึกษาเกี่ยวกับประเทศที่ทาง บลจ. จะเข้าไปลงทุนด้วยว่ามีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองมากน้อยเพียงใด

กล่าวโดยสรุปแล้ว ภายใต้ภาวะที่ พรบ. คุ้มสถาบันคุ้มครองเงินฝากเพิ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 51 ทำให้ผู้ฝากเงินโดยเฉพาะกลุ่มที่มีเงินออมมากกว่า 1 ล้านบาท เริ่มมองหาทางเลือกในการออมประเภทอื่นๆ ซึ่งการลงทุนในกองทุนรวมก็น่าจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยหากนักลงทุนที่อาจจะยังไม่มีความเชี่ยวชาญพอที่จะลงทุนด้วยตนเอง โดยพบว่าหลายกองทุนให้อัตราผลตอบแทนย้อนหลังสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากค่อนข้างมาก แม้ว่าคงต้องยอมแลกกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นเช่นกัน เช่น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวม Gold Linked และกองทุนรวม FIF ที่ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนต่างประเทศ หรือในกรณีที่นักลงทุนต้องการลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำและสภาพคล่องสูง ก็อาจจะเลือกลงทุนในกองทุนรวมตราสารทางการเงินระยะสั้น เนื่องจากมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับเงินฝากเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวมประเภทต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ลงทุนควรที่จะพิจารณาให้สอดคล้องกับระดับผลตอบแทนที่คาดหวังและระดับความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ของตนเองด้วย นอกเหนือไปจากการพิจารณาผลการดำเนินงานของบลจ. แต่ละแห่ง นอกจากนั้นผู้ฝากเงินที่สนใจการลงทุนในกองทุนรวมดังกล่าว ยังควรชั่งน้ำหนักปัจจัยแวดล้อมต่างๆที่อาจมีผลต่อแนวโน้มผลการดำเนินงานของกองทุนรวมแต่ละประเภทในระยะถัดไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (ที่รวมถึงทองคำและน้ำมัน) ตลอดจนทิศทางตลาดหุ้น แต่อาจเป็นปัจจัยหนุนต่อราคาพันธบัตร นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น แต่อาจส่งผลบวกต่อตลาดพันธบัตร เป็นต้น