ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนกรกฎาคมของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนชะลอลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน

ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนกรกฎาคม 2551 ที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในภาพรวม โดยมีแกนหลักอยู่ที่การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออก ขณะที่ การลงทุนชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน

– สำหรับการใช้จ่ายของภาคเอกชน
การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 9.3 (YoY) ในเดือนก.ค. เร่งขึ้นจากร้อยละ 6.1 ในเดือนมิ.ย. นำโดย ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ (ขยายตัวร้อยละ 16.4 ในเดือนก.ค. เทียบกับร้อยละ 6.1 ในเดือนมิ.ย.) และปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ (ขยายตัวร้อยละ 26.0 เทียบกับร้อยละ 10.9) ทั้งนี้ ยอดขายรถจักรยานยนต์ยังคงได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ภาคเกษตรกร (ขยายตัวร้อยละ 69.5 เทียบกับร้อยละ 50.8) ส่วนการนำเข้าสินค้าเพื่อการบริโภคและปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้จะมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงก็ตาม สำหรับปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ยังคงหดตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน แม้ว่าราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศจะปรับลดลงมากในเดือนก.ค. ก็ตาม ในทางกลับกัน ปริมาณจำหน่ายพลังงานทดแทน อาทิ ก๊าซ LPG และ NGV ขยายตัวในอัตราที่เพิ่มขึ้น โดยขยายตัวร้อยละ 27.8 และร้อยละ 270.5 ในเดือนก.ค. หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 18.7 และร้อยละ 234.8 ในเดือนก่อนหน้าตามลำดับ

การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน โดยการลงทุนขยายตัวเพียงร้อยละ 3.9 (YoY) ในเดือนก.ค. เทียบกับร้อยละ 4.2 ในเดือนมิ.ย. โดยยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ (หดตัวร้อยละ 29.3 ในเดือนก.ค. ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 20.9 ในเดือนมิ.ย.) ยังคงได้รับผลกระทบจากราคาดีเซลที่เป็นเชื้อเพลิงหลักยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง ขณะที่ ยอดขายปูนซีเมนต์ยังคงหดตัวลง (หดตัวร้อยละ 15.0 ในเดือนก.ค. ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 16.7 ในเดือนมิ.ย.) ตามภาวะหมวดก่อสร้างที่ยังคงซบเซา อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าทุน ยังคงขยายตัวในระดับสูงได้ต่อเนื่องในเดือนก.ค. (ร้อยละ 26.1 ในเดือนก.ค. จากร้อยละ 21.0 ในเดือนมิ.ย.)

– สำหรับในด้านการผลิต
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 10.9 (YoY) ในเดือนก.ค. ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 11.2 ในเดือนมิ.ย. โดยการผลิตสินค้าที่สัดส่วนการส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 ของการผลิตรวม ขยายตัวในอัตราที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของภาคส่งออก โดยการผลิตในหมวดที่เน้นเพื่อส่งออกขยายตัวร้อยละ 18.6 ในเดือนก.ค. จากร้อยละ 17.9 ในเดือนมิ.ย. ในขณะที่ การผลิตสินค้าที่สัดส่วนการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30 ของการผลิตรวม ขยายตัวร้อยละ 7.9 ในเดือนก.ค. ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 9.9 ในเดือนมิ.ย. สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 71.9 ในเดือนก.ค. ชะลอลงจากร้อยละ 73.1 ในเดือนมิ.ย. เนื่องจากมีการขยายกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ส่วน ดัชนีผลผลิตการเกษตร (Farm Production) ขยายตัวร้อยละ 21.9 (YoY) ในเดือนก.ค. จากร้อยละ 21.6 ในเดือนมิ.ย. นำโดย ข้าวนาปรัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน

– สำหรับภาคต่างประเทศ
การส่งออก ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 43.9 (YoY) ในเดือนก.ค. เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 28.5 ในเดือนมิ.ย. โดยเป็นผลมาจากการขยายตัวทางด้านปริมาณสินค้าส่งออกเป็นสำคัญ โดยปริมาณการส่งออกขยายตัวสูงถึงร้อยละ 24.2 ในเดือนก.ค. เร่งขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 12.4 ในเดือนมิ.ย. ทั้งนี้ การส่งออกในหมวดสินค้าเกษตร ยังคงขยายตัวได้ในระดับสูงโดยขยายตัวร้อยละ 95.1 ในเดือนก.ค. เร่งขึ้นจากร้อยละ 75.6 ในเดือนมิ.ย. นำโดย ข้าว (ขยายตัวร้อยละ 212.1 จากร้อยละ 202.0) และยางพารา (ขยายตัวร้อยละ 51.9 จากร้อยละ 26.3) ในขณะที่ สินค้าส่งออกที่ใช้แรงงานเป็นปัจจัยการผลิตหลัก ขยายตัวร้อยละ 71.9 ในเดือนก.ค. เร่งขึ้นจากร้อยละ 47.9 ในเดือนมิ.ย. โดยในเดือนนี้การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง เนื่องจากยังคงมีการส่งออกทองคำเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ส่วนการส่งออกในหมวดสินค้าอุตสาหกรรม หลักอื่นๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ขยายตัวร้อยละ 251.7 จากร้อยละ 112.5) และยานพาหนะและชิ้นส่วน (ขยายตัวร้อยละ 47.4 จากร้อยละ 4.5) ขยายตัวได้ดีในอัตราที่เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

การนำเข้า ขยายตัวร้อยละ 53.4 (YoY) ในเดือนก.ค. เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากที่ขยายตัวร้อยละ 31.5 ในเดือนมิ.ย. โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการนำเข้าเป็นสำคัญ โดยปริมาณการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 28.8 ในเดือนก.ค. เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 10.1 ในเดือนมิ.ย. ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในเดือนก.ค.ขยายตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวด โดยในหมวดเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 97.3 ในเดือนก.ค. เร่งขึ้นจากร้อยละ 67.8 ในเดือนมิ.ย. ส่วนการนำเข้าในหมวดสินค้าทุน และวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นเช่นกัน โดยขยายตัวร้อยละ 40.0 และร้อยละ 56.7 ในเดือนก.ค. เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16.5 และร้อยละ 28.7 ในเดือนมิ.ย. ตามลำดับ

ทั้งนี้ การนำเข้าที่เร่งตัวขึ้นมากกว่าการส่งออกส่งผลให้ ดุลการค้า ในเดือนก.ค.บันทึกยอดขาดดุลที่ 762.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หลังจากที่เกินดุล 925.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนมิ.ย. อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมยอดขาดดุลการค้าเข้า กับ ดุลบริการฯ ซึ่งบันทึกยอดเกินดุลที่ 207.9 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก.ค. ได้ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนก.ค.บันทึกยอดขาดดุล 554.6 ล้านดอลลาร์ฯ เทียบกับยอดเกินดุลที่ระดับ 722.2 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนมิ.ย.

ภาพรวมในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 สะท้อนการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในภาพรวม โดยมีแกนหลักอยู่ที่การบริโภคภาคเอกชน (ขยายตัวร้อยละ 7.3 ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 ในปี 2550) และการส่งออก (ขยายตัวร้อยละ 26.1 ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 17.2 ในปี 2550) สำหรับการลงทุน แม้ว่าจะสามารถขยายตัวร้อยละ 5.1 ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 แต่ก็เป็นไปในอัตราที่ชะลอลง โดยเฉพาะในช่วง 4 เดือนล่าสุด (เม.ย.-ก.ค.) ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่อเนื่องในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา แต่หากประเมินภาพเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2551 จะพบว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลัง โดยอาจมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 4.8 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 5.7 ในช่วงครึ่งแรกของปี โดยปัจจัยที่ควรจับตา ได้แก่ ประเด็นทางการเมือง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชนในระยะถัดไป ขณะที่ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง ก็อาจเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้นสำหรับภาคส่งออกของไทย