คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช). ดึงหนุ่ม-สาวรุ่นใหม่ยุคไอทีร่วมเป็นตัวแทนองค์กรนำผู้สนใจชมงานไฮเทคพาวิเลียน “Bridging the Future” นิทรรศการที่จัดขึ้นเพื่อนำเสนอประวัติการสื่อสารไทย ตั้งแต่แรกเริ่มก่อนจะมาเป็น กทช.ในปัจจุบันตลอดจนผลการดำเนินงานและความภาคภูมิใจ ผ่านสื่อล้ำสมัยไฮเทค ในงาน ITU Telecom Asia 2008 ที่ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 2 เมืองทองธานี พร้อมเปิดตัว “NTC Ambassador” และ 7 หนุ่ม-สาวพาวิเลียน แอมบาสเดอร์ นิสิตนิเทศฯ ภาคอินเตอร์ จากรั้วจามจุรี ที่ช่วยร่วมเชื่อมโยงการสื่อสารในสังคมไทยสู่มิติใหม่โลกอนาคตร่วม และเป็นส่วนหนึ่งในการก้าวเดินไปในโลกการสื่อสาร ระหว่างวันที่ 2-5 ก.ย. 2551 ที่ผ่านมา
จอห์น รัตนเวโรจน์ ผู้มารับหน้าที่เป็น “กทช.แอมบาสเดอร์” ในงานครั้งนี้ เปิดเผยถึงที่มาและหน้าที่ของตำแหน่งนี้ว่า
“ผมอยู่ในแวดวงไอทีและการสื่อสารมานาน ตั้งแต่ครั้งที่เป็นนายกสมาคมผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทำให้เห็นวิวัฒนาการของการสื่อสารที่ก้าวหน้าขึ้นตลอดเวลา ความจริงแล้วการสื่อสารอยู่รอบๆ ตัวเราทุกคนตลอด ทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับ กทช. อยู่แล้ว เพียงแต่อยู่ในแง่มุมที่ต่างกันออกไปเท่านั้น Bridging the Future จึงเป็นงานที่สำคัญมากอีกงานสำหรับผม เพราะผมเชื่อมั่นว่า กทช. จะเป็นสะพานเชื่อมต่อไปสู่อนาคตแห่งการสื่อสารในประเทศไทย งานนี้นับเป็นกิจกรรมที่มีการเข้าร่วมในวงการระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้นการจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นเวทีสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องจะได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการ ผู้ผลิตและภาครัฐที่กำกับดูแล”
จอห์น กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับ ‘กทช.แอมบาสเดอร์’ ที่ผมได้รับตำแหน่งนั้นมีหน้าที่ให้ข้อมูลและสาระความรู้รวมถึงความบันเทิงเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของ กทช. แก่ผู้สนใจเข้าชมนิทรรศการ ผมอยากให้คนที่มาชมงานได้ทราบถึงที่มาที่ไปของการโทรคมนาคมไทยว่า มีการพัฒนาไปในรูปแบบใด อยากให้เห็นคุณค่าของการสื่อสาร บางคนอาจจะไม่รู้ว่าการสื่อสารไทยเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2418 ในรัชกาลที่ 5 กับการกำเนิดโทรเลขไทย จวบจนปัจจุบันที่การสื่อสารพัฒนาไปถึงขั้น 3G แล้ว หากใครได้มาชม ผมเชื่อว่าคงเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของ กทช.มากขึ้น อีกทั้งยังได้รับความรู้ดีๆ กลับไปอีกด้วย”
ส่วน 7 หนุ่ม-สาวรุ่นใหม่ยุคไอทีจากคณะนิเทศศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มาร่วมงานในฐานะ พาวิเลียน แอมบาสเดอร์ ในนิทรรศการครั้งนี้ ได้แก่ แพร สารสิน, สุภัทรา จิรภากรณ์, ชวนพร พิพัฒน์เสรีธรรม, ชญานิศ เชื้อพานิช, เวอร์บีน่าส์ ตรีศิริกุล, มานากรณ์ เมฆประยูรทอง และพลวัชร ภู่พัฒน์
แพร สารสิน ซึ่งเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาดีในแวดวงสังคมผู้นี้ เป็นบุตรสาววัย 20 ปีของพรวุฒิ สารสิน และ ม.ร.ว.สุภาณี ดิศกุล เธอใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์กับกิจกรรมดีๆ เสมอ และเพิ่งเสร็จสิ้นจากภารกิจ “Fair Ambassador” ในงาน “Central International Watch Fair 2008” ไปหมาดๆ แพรกล่าวถึงงาน “Bridging the Future” ในครั้งนี้ว่า
“แพรว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ ค่ะที่แพรได้มีโอกาสมาทำหน้าที่ พาวิเลียน แอมบาสเดอร์ ของงาน กทช. ความจริงในชีวิตประจำวันแพรเองก็เกี่ยวข้องกับการสื่อสารตลอดเวลาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้โทรศัพท์โทรหาเพื่อน หรือการใช้อินเตอร์เน็ตในการศึกษาหาข้อมูลเพื่อการเรียนและอื่นๆ แพรดีใจที่ได้มีโอกาสทำหน้าที่นี้ ทำให้แพรได้รู้จักผู้คนมากขึ้น ได้ช่วยเหลือชาวต่างชาติให้ได้รู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การสื่อสารในประเทศไทยมากขึ้น และรู้ว่าเมืองไทยพัฒนาเรื่องการสื่อสารไปในแง่ไหน”
“แม็ค” มานากรณ์ เมฆประยูรทอง หนึ่งใน 2 หนุ่มกับหน้าที่ พาวิเลียน แอมบาสเดอร์ ของงาน กทช. กล่าวถึงความรู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ได้เข้าร่วมทำหน้าที่นี้
“ผมดีใจเป็นอย่างมากครับที่มีโอกาสได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ กทช.อีกครั้งในงาน ITU Telecom Asia 2008 ก่อนหน้าที่จะมาทำงานนี้ผมก็เคยทำงานกับกทช. โดยเป็นคณะผู้ติดตามประธาน United Nations International Telecommunications Union ในงาน The NTC’s 8th Global Symposium for Regulators at PEACH ที่จังหวัดชลบุรี มาก่อนครับ ซึ่งจากงานนั้นทำให้ผมได้มีโอกาสมาทำงานนี้ในฐานะ พาวิเลียน แอมบาสเดอร์ โดยหน้าที่ของผมจะเปรียบเหมือน Information Center คอยให้ข้อมูลและความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับบทบาท ประวัติศาสตร์ และอนาคตของ กทช. กับประชาชนทั่วไปที่มาชมงาน ผมคิดว่างานนี้เป็นงานที่ทุกคนน่าจะได้มาชมกันมากๆ เพราะนอกจากจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆอย่าง 3G แล้ว ยังมีผลงานรวมถึงประวัติของการโทรคมนาคมอื่นๆ อีกมากมายให้ได้ชมกัน”
อีกหนึ่งสาวมากความสามารถนักกิจกรรมตัวยงอย่าง ชวนพร พิพัฒน์เสรีธรรม หรือ มุก ที่เธอใช้เวลาว่างทุกวินาทีให้เป็นประโยชน์เสมอ ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนคอลัมน์แฟชั่นนิตยสาร Seventeen สไตล์ลิสท์
อิสระผู้ให้คำปรึกษาด้านการแต่งกายรายการ Chic Channel ผู้บรรยายพิเศษโครงการบัณฑิตน้อย บรรยายให้คำแนะแนวการศึกษาต่อ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ประสานงานภาษาต่างประเทศในงาน “Summit Conference on Telecommunications Regulatory and Practices” จัดโดยกทช. ฯลฯ และล่าสุดกับบทบาท พาวิเลียน แอมบาสเดอร์ ในงานนี้
“การทำงานหลายๆ อย่างทำให้เรารู้ว่าตัวเองชอบอะไร เมื่อเติบโตขึ้นไปจะได้เดินไปในทิศทางที่ถูกค่ะ มุกเลยเลือกที่จะทำกิจกรรมหลายๆอย่างยามว่างค่ะ สำหรับงานนี้ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่มุกเล็งเห็นว่ามีประโยชน์มาก เพราะเรื่องการสื่อสารนั้นเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเราตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เกี่ยวเนื่องกับ กทช. ทั้งสิ้นค่ะ ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่รู้จัก กทช. ซึ่งในส่วนพาวิเลียน แอมบาสเดอร์ ในงาน ‘Bridging the Future’ นี้ หน้าที่หลักๆ เลยคือ คอยแนะนำ ให้ความรู้ และทำความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของ กทช. ให้คนที่เข้ามาชมงาน อีกทั้งยังเป็นผู้ประสานงาน คอยประสานงานกับทุกๆ ฝ่าย ให้ ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์อย่างถูกต้อง ทั้งด้านของลูกค้าและองค์กรค่ะ” มุก ชวนพร หนึ่งใน พาวิเลียน แอมบาสเดอร์ กล่าวทิ้งท้าย
งานนี้นับว่าสามารถเชื่อมโยงการสื่อสารในสังคมไทย สู่มิติใหม่โลกอนาคตได้จริงๆ