เสื้อผ้าสำเร็จรูปปี’52 : รับมือวิกฤตเศรษฐกิจโลก…เร่งกระจายตลาดส่งออก

วิกฤตการณ์ทางการเงินของสหรัฐฯที่กำลังลุกลามไปยังภูมิภาคต่างๆทั่วโลก ทั้งยุโรป ญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศในเอเชีย และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยในปี 2552 เป็นอย่างมาก โดยมีการคาดการณ์ว่า เสื้อผ้าสำเร็จรูปจะเป็นสินค้าลำดับต้นๆที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ภาคประชาชนสามารถปรับลดปริมาณการซื้อได้ในภาวะกำลังซื้อชะลอตัว โดยไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากนัก หรือหากจะซื้อก็มีแนวโน้มพิจารณาสินค้าจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ อาทิ จีน อินเดีย บังคลาเทศ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชาเป็นทางเลือก ส่งผลให้เสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงภายใต้กำลังซื้อที่มีอย่างจำกัด และเนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่สำคัญประมาณร้อยละ 85 มีการชะลอตัวรุนแรงกว่าภูมิภาคอื่นๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยจึงจำเป็นต้องเร่งแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะตลาดที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในระดับที่รุนแรงน้อยกว่าตลาดส่งออกหลัก อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังตลาดใหม่ก็ใช่ว่าเป็นสิ่งที่จะทำได้ง่าย เนื่องจากมีอุปสรรคพอสมควร โดยเฉพาะอุปสรรคทางด้านความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับพฤติกรรมความต้องการของผู้ซื้อในตลาดใหม่ ในขณะเดียวกัน การที่กำลังซื้อของตลาดส่งออกหลักมีปัญหาก็ทำให้ประเทศผู้ส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปอื่นๆ ต่างก็มุ่งหวังกระจายหาตลาดส่งออกใหม่เหมือนกับไทยเช่นเดียวกัน ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่จะนำพาให้เสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง คือการพัฒนารูปแบบและคุณภาพที่มีความแตกต่างกับสินค้าคู่แข่ง การลดต้นทุนการผลิตด้านต่างๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสของสินค้าไทยให้ถูกเลือกจากผู้ซื้อมากขึ้นนั่นเอง

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์พบว่า ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2551 ไทยมีการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปคิดเป็นมูลค่า 2,293.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 และคาดว่าตลอดทั้งปี 2551 ไทยจะสามารถส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปได้ประมาณ 2,987- 3,050 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0- 2 (ปี 2550ขยายตัวลดลงร้อยละ6.6) สำหรับในปี 2552 คาดว่าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยจะใกล้เคียงกับปี 2551 หรืออาจจะหดตัวถึงร้อยละ 5.0 จากปี 2551 เนื่องจาก สหรัฐฯ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่สำคัญถึงร้อยละ 85 ต้องเผชิญกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ จึงส่งผลกระทบต่อทิศทางการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยเป็นอย่างมาก โดยจากการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เมื่อเดือนตุลาคม 2551 ประเมินว่าในปี 2552 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น อาจจะมีอัตราการขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 ร้อยละ 0.2 และร้อยละ 0.5 ตามลำดับ (จากปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 1.6 ร้อยละ 1.3 และร้อยละ 0.7) ในขณะเดียวกัน การชะลอตัวของประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจหลักยังส่งผลกระทบไปถึงภาวะเศรษฐกิจของภูมิภาคอื่นๆทั่วโลก ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจโลกปี 2552 ขยายตัวเพียงร้อยละ 3.0 (จากปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 3.9) ซึ่งจะเป็นอัตราการเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี

เป็นที่น่าสังเกตว่า เสื้อผ้าสำเร็จรูป ถือเป็นสินค้าที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก โดยสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกคิดเป็นเงินตราต่างประเทศตกปีละประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะเดียวกัน ยังก่อให้เกิดการจ้างแรงงานจำนวนถึงประมาณ 8 แสนคนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.6 ของการจ้างแรงงานในภาคอุตสาหกรรมหรือร้อยละ 2.2 ของการจ้างแรงงานทั้งประเทศ ดังนั้น ในภาวะที่คำสั่งซื้อสินค้าจากทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการเสื้อผ้าสำเร็จรูปจำเป็นต้องมีการปรับตัวในหลายๆด้านเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งสรุปได้ ดังนี้

การปรับตัวด้านการผลิต
การพัฒนาสินค้า
ผู้ประกอบการของไทยควรมีการหันมาพัฒนาสินค้าที่มีสไตล์และรูปแบบที่ทันสมัย มีความหลากหลายตรงตามความต้องการของตลาด รวมทั้งการเพิ่มตราสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ภายใต้เครื่องหมายการค้า(BRAND NAME) ของตนเอง ซึ่งจะช่วยให้สินค้ามีความโดดเด่นแตกต่างจากคู่แข่ง ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการก็ควรเพิ่มการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยใช้พลังงานน้อยเพื่อลดต้นทุน รวมทั้งทำให้การผลิตและการส่งมอบสินค้ามีความรวดเร็วและตรงเวลาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้สั่งซื้อ

การย้ายฐานการผลิต ปัจจุบันการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยที่แข่งขันกันทางด้านราคา ต้องแข่งขันกับสินค้าจากประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่าอย่างจีน อินโดนีเซีย อินเดีย บังคลาเทศ เวียดนาม กัมพูชา ดังนั้น เพื่อให้สินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยมีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น การย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ลาว กัมพูชา จึงถือเป็นทางเลือกหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะเป็นประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานถูกกว่าไทยแล้ว ยังได้รับสิทธิพิเศษทางด้านภาษีจากประเทศผู้นำเข้าสำคัญต่างๆ ประการสำคัญ การไปตั้งโรงงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในประเทศเพื่อนบ้านสามารถนำเข้าวัตถุดิบจากไทยอาทิ ด้ายและผ้าผืน โดยได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีตามข้อตกลงอาฟต้า ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้เสื้อผ้าสำเร็จรูปในกลุ่มที่เน้นแข่งขันด้านราคาของไทยมีศักยภาพการแข่งขันเพิ่มขึ้น

การปรับตัวด้านการตลาด
ตลาดดั้งเดิม
ตลาดส่งออกหลักเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 85ของมูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งหมด โดยแยกเป็น ตลาดส่งออกสหรัฐฯ มีสัดส่วนค่อนข้างสูงถึงร้อยละ 50 ของมูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งหมด รองลงมาคือสหภาพยุโรปร้อยละ 30 และญี่ปุ่นร้อยละ 5.0 สำหรับตลาดส่งออกหลักนี้ แม้ว่าจะประสบกับปัญหาภาวะกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง รวมทั้งภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในปี 2552 แต่จากจำนวนประชากรที่มาก อีกทั้งรายได้ประชากรต่อคนก็อยู่ในระดับสูง ดังนั้น ตลาดกลุ่มนี้จึงยังมีความสำคัญที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องรักษาส่วนแบ่งตลาดเดิมไว้ไม่ให้ถูกคู่แข่งแย่งตลาดไป โดยผู้ส่งออกของไทยจำเป็นต้องทำกิจกรรม สร้างความสัมพันธ์กับผู้สั่งซื้อสินค้าของประเทศเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการวางแผนร่วมกันทางด้านการผลิต สต็อกสินค้า รวมทั้งการส่งมอบสินค้าที่ตรงเวลา ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของผู้สั่งซื้อและทำให้สินค้าไทยมีความน่าสนใจมากขึ้น ขณะเดียวกัน ในส่วนของตลาดสหภาพยุโรปนั้น เนื่องจากไทยมีความพร้อมทางด้านการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานตามที่ผู้นำเข้ากำหนด อาทิ มาตรฐานสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรฐานความปลอดภัยของผู้ใช้ เช่น สี และสารเคมี ที่เหนือกว่าสินค้าจากประเทศคู่แข่งทั้งจีน อินเดีย และเวียดนาม ดังนั้นไทยควรจะใช้ข้อได้เปรียบนี้ขยายตลาดให้มากขึ้น สำหรับในส่วนของประเทศญี่ปุ่นนั้น ผู้ส่งออกของไทย ควรใช้ข้อได้เปรียบจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement : JTEPA) เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยในด้านการแข่งขันกับสินค้าจากประเทศคู่แข่ง

ตลาดใหม่ มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 15 ของมูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งหมดทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดส่งออกดั้งเดิมมิอาจจะเป็นที่พึ่งสำหรับการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น ผู้ประกอบการของไทยจึงควรต้องเร่งแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะตลาดที่มีการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ภาคประชาชนมีฐานะและกำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็จะต้องเป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในระดับที่รุนแรงน้อยกว่า ตลาดส่งออกหลักที่สำคัญมี ดังนี้

-ตลาดอาเซียน แม้ว่าประเทศในกลุ่มอาเซียนหลายรายจะเป็นประเทศผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดโลกด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าไทยอาทิ อินโดนีเซีย เวียดนาม ลาว กัมพูชา และในจำนวนนี้บางรายมีการนำเข้าวัตถุดิบที่ผลิตได้ไม่เพียงพอประเภท เส้นด้ายและผ้าผืนจากไทยไปผลิตเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออกอีกทอดหนึ่ง แต่อาเซียนก็เป็นตลาดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่มีโอกาสเติบโตของไทย ทั้งนี้เนื่องจากข้อได้เปรียบทางด้านภาษีจากข้อตกลงอาฟตา ทำให้เสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยซึ่งมีรูปแบบและคุณภาพดีจับตลาดกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูงมีความได้เปรียบสินค้าในระดับเดียวกันที่นำเข้าจากประเทศฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และไต้หวัน ทั้งนี้ สัดส่วนการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยไปยังตลาดอาเซียนมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นลำดับจากสัดส่วนร้อยละ 1.9 ของมูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งหมด ในปี 2545 สัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.3 ในปี 2547 และร้อยละ 2.4 ในปี 2550 และปี 2551 สำหรับในปี 2552 คาดว่า สัดส่วนการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยไปยังตลาดอาเซียนมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากกำลังซื้อของประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มอินโดจีน ยังคงมีการเติบโตโดยต่อเนื่องตามภาวะการขยายตัวของภาคการลงทุน ภาคการท่องเที่ยวและภาคการบริโภคในประเทศ ยกเว้นภาคการส่งออกสินค้าที่ต้องพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยตลาดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่สำคัญในกลุ่มอาเซียนได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย พม่า และฟิลิปปินส์

-ตลาดตะวันออกกลาง ปัจจุบัน ประเทศในตะวันออกกลางมีกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากความมั่งคั่งที่ได้รับภายหลังจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับเพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันราคาน้ำมันจะได้มีการปรับลดลงมาจากระดับสูงสุดที่ประมาณ 140-150 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรลในปัจจุบัน แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง ในขณะเดียวกัน ปัจจุบันประเทศตะวันออกกลางบางแห่ง อาทิ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้มีการลงทุนด้านต่างๆทั้งทางด้านภาคการค้า ก่อสร้าง และการท่องเที่ยว แทนการพึ่งพารายได้จากน้ำมันเพียงแหล่งเดียว ส่งผลให้เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างมั่นคงมากขึ้น และเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับสินค้าประเภทเสื้อผ้าสำเร็จรูปไทย ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยไปยังตลาดตะวันออกกลางในช่วง 9 เดือนแรกปี 2551 มูลค่าการส่งออกมีทั้งสิ้น 80.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 3.3 และมีแนวโน้มว่า ตะวันออกกลางจะเป็นตลาดส่งออกใหม่ๆสำหรับเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยที่จะเพิ่มบทบาทความสำคัญยิ่งขึ้น โดยตลาดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่สำคัญในตะวันออกกลางได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สัดส่วนร้อยละ 47.6 ของมูลค่าที่ส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลาง รองลงมาได้แก่ซาอุดิอาระเบีย สัดส่วนร้อยละ 23.9 และตุรกี สัดส่วนร้อยละ 9.4

-ตลาดเอเชียใต้ ไทยมีการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปยังตลาดเอเชียใต้ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2551 คิดเป็นมูลค่า 20.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 0.9 ของมูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งหมด(อินเดียสัดส่วนร้อยละ 0.3 มัลดีฟส์สัดส่วนร้อยละ 0.2 ปากีสถาน สัดส่วนร้อยละ 0.2 เนปาลสัดส่วนร้อยละ 0.1 อื่นๆสัดส่วนร้อยละ0.1) ทั้งนี้แม้ว่าประชากรของประเทศในเอเชียใต้ส่วนใหญ่จะมีรายได้ค่อนข้างต่ำ แต่ก็มีประชากรอีกเป็นจำนวนมากที่มีรายได้สูง ส่งผลให้เสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยมีโอกาสขยายตลาดในเอเชียใต้เพิ่มขึ้น โดยประเทศที่โดดเด่นในกลุ่มนี้ได้แก่อินเดียซึ่งมีประชากรราว 1,100 ล้านคน และมีชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อสูงจำนวนประมาณ 300 ล้านคน โดยเศรษฐกิจอินเดียขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง จากการปฏิรูปเศรษฐกิจ นโยบายเปิดเสรีทางการค้าและเปิดประเทศรับการลงทุนจากต่างประเทศ

-ตลาดจีน ปัจจุบัน แม้ว่าจีนจะกลายมาเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปจำหน่ายยังทั่วโลก ด้วยจุดเด่นทางด้านต้นทุนและราคาจำหน่ายที่ต่ำ แต่ในขณะเดียวกัน จีนเองก็มีการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศเช่นเดียวกัน อันเป็นผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้คนชั้นกลางและสูงซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในประเทศจีนมีความต้องการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปคุณภาพดี มีรูปแบบสวยงาม บ่งบอกฐานะผู้สวมใส่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไทยมีการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปยังจีนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับจากมูลค่า 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2545 เพิ่มขึ้นมาเป็น 8.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2549 และ 13.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2550 สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกปี 2551 ไทยมีการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปยังจีนคิดเป็นมูลค่า 16.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 78.1 และคาดว่ามูลค่าการส่งออกจะยังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้แม้ว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2552 จะชะลอตัวลงจากร้อยละ 9.7 ในปี 2551มาอยู่ที่ระดับ ประมาณร้อยละ 9.3 แต่อัตราการเติบโตก็ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ภาคประชาชนของจีนยังคงมีกำลังซื้อที่ดี

-ตลาดอื่นๆ ที่เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนในประเทศมีกำลังซื้อที่ปรับตัวสูงขึ้น อาทิ รัสเซีย และประเทศที่แยกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียตเดิม รวมทั้งประเทศในยุโรปตะวันออก โดยประเทศที่โดดเด่นในกลุ่มนี้ได้แก่รัสเซียซึ่งเศรษฐกิจเติบโตโดยได้รับแรงหนุนจากภาคพลังงาน และภาคการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยไปยังรัสเซียปรับเพิ่มขึ้นโดยต่อเนื่องจาก 3.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2545 เพิ่มขึ้นมาเป็น 5.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2547 และ 13.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2550 สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกปี 2551 มีมูลค่าส่งออกทั้งสิ้น 13.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ14.7

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวที่ส่งผลกระทบไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยทั้ง สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ทำให้จำเป็นต้องหาตลาดส่งออกใหม่ๆเพื่อกระจายความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม การที่เสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยจะขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ มิใช่จะเป็นสิ่งที่ทำได้อย่างสะดวกราบรื่นนัก ทั้งนี้ เนื่องด้วยเป็นตลาดใหม่ทำให้ความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมความต้องการของผู้ซื้อยังมีจำกัด ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องใช้ความพยายามพอสมควร ในการศึกษาพฤติกรรม ความต้องการและรสนิยมทั้งทางด้านวัสดุที่นำมาใช้ผลิต รูปแบบ ลวดลาย สี เนื้อผ้า ขนาด ความเชื่อทางศาสนา และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศและแต่ละภูมิภาค โดยผู้ประกอบการเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยต้องมีการพัฒนาบุคลากร นักออกแบบ ที่เข้าใจถึงความต้องการของตลาดเหล่านี้อย่างถ่องแท้ ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการรวมทั้งภาครัฐจำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการจัดงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจ และไปรับรู้ถึงรสนิยมและความต้องการของผู้ซื้อ ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้ผู้สั่งซื้อทราบถึงคุณภาพและรูปแบบสินค้าไทยได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การออกไปจัดแสดงสินค้าต่างประเทศจำเป็นต้องใช้งบประมาณสูง ซึ่งผู้ประกอบการเสื้อผ้าสำเร็จรูปขนาดกลางและขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอี มีข้อจำกัด ดังนั้นภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนทางด้านงบประมาณในส่วนนี้ให้เพิ่มมากขึ้น

บทสรุป
กล่าวโดยสรุปแล้ว เสื้อผ้าสำเร็จรูปเป็นสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูงถึงปีละ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะเดียวกัน ก็มีความเกี่ยวข้องกับการจ้างงานถึงประมาณ 8 แสนคน ดังนั้น ผู้ส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยจึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้วางแผนการผลิตและการตลาดให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที โดยกลยุทธ์สำคัญเร่งด่วนก็คือการแสวงหาตลาดใหม่ๆที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกในระดับที่รุนแรงน้อยกว่าประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ แม้ว่าการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆจะไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้โดยง่าย เนื่องจาก ตลาดมีความต้องการที่หลากหลาย แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคและท้องถิ่น แต่การแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ๆก็นับเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยกระจายความเสี่ยงให้กับผู้ส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยในยามที่ต้องเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ซึ่งคาดว่า ระดับความรุนแรงจะมีมากกว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกหลายครั้งที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยได้เตรียมพร้อมปรับตัวทั้งทางด้านการผลิตและการตลาดอย่างมุ่งมั่นและจริงจัง ก็เชื่อว่าจะบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญอยู่ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว