ทรานซ์ฟอร์เมอร์ โดราเอมอน วอลล์-อี กันดั้มส์ ล้วนแล้วแต่เป็นหุ่นยนต์ที่ถูกสร้างขึ้นจากจิตนาการในภาพยนตร์ และ การ์ตูน ที่น้อยคนจะไม่รู้จัก แม้จะต่างกันด้วยรูปร่างหน้าตา และเรื่องราวเนื้อเรื่อง แต่สิ่งที่เหมือนกันคือทุกตัวเป็นหุ่นยนต์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อช่วยเหลือมนุษย์ หรือเพื่อปกป้องโลก จนได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กหลายคนฝันว่าซักวันเขาจะสร้างหุ่นยนต์ซักตัวเพื่อปกป้องโลก
เมื่อเร็ว ๆ นี้ วัน-ทู-คอล! ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดโครงการ “KMUTNB One-2-Call! Robot Camp 2008” เพื่อสร้างจุดเริ่มต้นให้เด็กไทยได้ใช้ไอเดียสร้างสรรค์อย่างอิสระและมีโอกาสทำฝันให้เป็นจริง นั่นคือ…ลงมือ “สร้างหุ่นยนต์ปกป้องโลกด้วยมือของพวกเขาเอง”
โครงการ “KMUTNB One-2-Call! Robot Camp 2008” เป็นแคมป์เยาวชน ที่ One-2-Call! ได้ร่วมกับกลุ่มนักศึกษา และอาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดขึ้น โดย นายวินชัย วันวัฒน์สันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด วัน-ทู-คอล! กล่าวว่า “การจัดโครงการ “KMUTNB One-2-Call! Robot Camp 2008” ค่ายเยาวชนหุ่นยนต์ ถือเป็นการร่วมมือที่สำคัญของภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาที่มีความชำนาญในการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเพิ่มประสบการณ์จริงเกี่ยวกับการประดิษฐ์หุ่นยนต์ ไปพร้อมกับส่งเสริมการใช้จินตนาการด้านการประดิษฐ์ ซึ่ง วัน-ทู-คอล! ขอร่วมเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้เยาวชนได้มีโอกาสแสดงความคิดสร้างสรรค์อย่างเป็นอิสระ และมีเวทีให้พวกเขาได้ทำฝันให้เป็นจริง…แม้จะเป็นแค่จุดเริ่มต้นของเส้นทางนักพัฒนาหุ่นยนต์ก็ตาม”
แคมป์ “KMUTNB One-2-Call! Robot Camp 2008” ได้ต้อนรับเยาวชนกว่า 200 คนจากโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศ ที่มาใช้ชีวิตร่วมกันตลอด 5 วันเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับหุ่นยนต์ประเภทต่าง ๆ อุปกรณ์ที่จำเป็นในการสร้างหุ่นยนต์เบื้องต้น วิธีการเขียนคำสั่งการให้หุ่นยนต์ทำสิ่ง ต่าง ๆ ที่เราต้องการ และภารกิจสำคัญที่ทุกกลุ่มต้องทำก็คือทำหุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ “หุ่นยนต์ลดโลกร้อน ” ไปแข่งขันกับเพื่อน ๆ ในโครงการทั้งหมดในวันสุดท้ายของการอยู่แคมป์อีกด้วย
สำหรับโจทย์การสร้างหุ่นยนต์ที่นักเรียนในระดับม.ต้นต้องทำให้สำเร็จ คือ สร้างหุ่นยนต์บังคับที่สามารถออกคำสั่งให้ยิงเลเซอร์ไปที่เป้า 3 จุด และบังคับให้หุ่นยนต์ไปตามเส้นทางที่กำหนดให้เร็วที่สุด ผ่านการเขียนโปรแกรมการตรวจจับด้วยเซ็นเซอร์ …ส่วนนักเรียนในระดับม.ปลาย พวกเขาจะต้องสร้างหุ่นยนต์ที่บังคับด้วยโทรศัพท์มือถือผ่านระบบ GPRS เพื่อให้หุ่นยนต์เก็บขยะไปไว้ในพื้นที่ที่กำหนดให้ได้มากที่สุด
ปรากฏว่า ทีมผู้ชนะเลิศในระดับม.ต้นเป็นทีมของสาวน้อยผู้คลั่งไคล้ในหุ่นยนต์จากโรงเรียน อุตรดิตถ์ดรุณี จ.อุตรดิตถ์ โดย “น้องมุข” หรือ ด.ญ. วัชราภรณ์ แก้วคงขำ ตัวแทนกลุ่ม Justice ทีมชนะเลิศ เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ครั้งแรกของการสร้างหุ่นยนต์ที่สามารถเคลื่อนที่ได้ว่า “หนูได้เรียนรู้ประสบการณ์มากมายจากการมาเข้าแคมป์ในครั้งนี้ เห็นสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ มีเพื่อนใหม่ๆ และที่สำคัญคือได้รู้วิธีการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อบังคับหุ่นยนต์ …ทำให้รักหุ่นยนต์มากขึ้น รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่เคยคิดค่ะ” ส่วนน้องทราย หรือ ด.ญ. ภัณฑิรา คำน้อย อีกหนึ่งสมาชิกของทีม Justice เล่าความฝันของเธอว่า “อยากสร้างหุ่นยนต์ที่ทำจากวัสดุที่ไม่ส่งผลเสียต่อโลก เพราะว่าโลกมันร้อนอยู่แล้ว และหน้าที่ก็คือเป็นหุ่นยนต์ที่มาทำงานที่อันตรายแทนมนุษย์ เช่น การเก็บขยะที่เป็นวัตถุมีพิษ”
สำหรับผู้ชนะในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็น ทีมจอมยุทธ์ จากโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย จ. พิษณุโลก โดย นายเกน จินตกะวงส์ สมาชิกของทีมจอมยุทธ์ บอกว่า “คิดว่าจะเอาความรู้ในการเข้าร่วมกับโครงการ ไปต่อยอดในโครงงานวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียน และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ผมได้จากโครงการนี้คือความภูมิใจในผลงาน การสร้างหุ่นยนต์ครั้งแรกในชีวิต” ขณะที่อีกหนึ่งหนุ่ม นายจาตุรนต์ มีรัตน์ หรือฟ้า จากทีมเดียวกัน ได้เล่าถึงเทคโนโลยีที่เขาอยากสร้างให้เกิดขึ้นจริงในอนาคตว่า “ผมมีความสนใจเกี่ยวกับเครื่องบิน พอได้มาเข้าแคมป์ และได้เห็นวิวัฒนาการของหุ่นยนต์ที่มีอยู่ เลยอยากที่จะนำเทคโนโลยีการบินและหุ่นยนต์มาผสมกัน เป็นหุ่นยนต์ที่บินได้ เพื่อไปสำรวจที่ต่าง ๆ หรือการหาทรัพยากรใหม่”
ไม่เพียงนักเรียนกว่า 200 คนที่มาร่วมโครงการ “KMUTNB One-2-Call! Robot Camp 2008” จะได้เรียนรู้ประสบการณ์สร้างหุ่นยนต์เท่านั้น …นักศึกษารุ่นพี่จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนครเหนือ อีกกว่า 200 ชีวิตที่รับบทเป็น ออกาไนเซอร์เอง ตั้งแต่การวางแผน ดำเนินการจัดการฝึกอบรม สร้างกิจกรรม และการแข่งขันให้กับรุ่นน้อง ก็ยังได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ในการจัดงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่ายอีกด้วย
นายเจษฎา กาญจนไพจิตร์ นักศึกษาปี 4 ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ หัวหน้าทีมนักศึกษาที่ร่วมกันจัดค่ายกิจกรรม เล่าให้ฟังว่า “การจัดแคมป์นี้ ยังถือเป็นการสร้างประสบการณ์ให้กับทีมงานผู้จัดซึ่งล้วนเป็นนักศึกษา ให้ได้มีโอกาสเรียนรู้ในด้านการทำงานเป็นทีม ช่วยเหลือกันและกันในกลุ่ม และระหว่างกลุ่ม การประสานงาน ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับพวกเราก่อนก้าวไปสู่โลกการทำงานจริงในอนาคตอันใกล้”
เพียงเรากล้าลงมือทำตามฝัน…ในที่สุดก็จะได้พบว่า “สิ่งนั้นไม่ได้เป็นแค่จินตนาการหรือความฝันอีกต่อไป” … เด็กไทยทำได้ !!!