เฟดลดอัตราดอกเบี้ยสู่ร้อยละ 1.00 … เปิดโอกาสสำหรับการปรับลดครั้งต่อไป

ในการประชุมวันที่ 28-29 ตุลาคม 2551 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด มีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงอีกร้อยละ 0.50 สู่ระดับต่ำที่สุดในรอบกว่า 4 ปีที่ร้อยละ 1.00 ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ของตลาด โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้ นับเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds เป็นครั้งที่ 9 ในวัฏจักรขาลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดซึ่งได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในรอบ 13 เดือนที่ผ่านมา

ผลการประชุมเฟด

ในการประชุมวันที่ 28-29 ตุลาคม 2551 เฟดมีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงอีกร้อยละ 0.50 สู่ระดับร้อยละ 1.00 ซึ่งเท่ากับระดับต่ำสุดของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดในรอบก่อนหน้า (ช่วงเดือน ม.ค. 2544 – มิ.ย. 2546) ที่มีนายอลัน กรีนสแปนเป็นประธานเฟด ทั้งนี้ ผลการประชุมในรอบนี้เป็นไปตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ในตลาดการเงิน

ลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ มติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Funds Rate)ของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดในการประชุมรอบนี้ เป็นเอกฉันท์ พร้อมกันนี้ เฟดยังได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (Discount Rate) ลงอีกร้อยละ 0.50 สู่ร้อยละ 1.25 จากร้อยละ 1.75

แถลงการณ์หลังการประชุม สะท้อนถึงน้ำหนักที่เทให้กับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยการประชุมเฟดในรอบนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวลงอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นผลที่สืบเนื่องมาจากวิกฤตการเงินโลกซึ่งถูกประเมินว่าอาจมีความร้ายแรงที่สุดในรอบเกือบ 80 ปี โดยแถลงการณ์หลังการประชุมของเฟด ระบุถึงประเด็นทางเศรษฐกิจว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ชะลอตัวลงอย่างมากโดยมีสาเหตุหลักมาจากการปรับตัวลงของการใช้จ่ายของผู้บริโภค นอกจากนี้ การใช้จ่ายของภาคธุรกิจ และการผลิตภาคอุตสาหกรรมก็มีทิศทางที่อ่อนแอลงเช่นกันในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ขณะที่ ความอ่อนแอของเศรษฐกิจต่างประเทศกำลังบั่นทอนแนวโน้มการส่งออกของสหรัฐฯ ยิ่งไปกว่านั้น ความยากลำบากในการเข้าถึงสินเชื่อของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจท่ามกลางภาวะตลาดการเงินที่ผันผวน อาจส่งผลกดดันเพิ่มเติมต่อการใช้จ่ายของภาคเอกชน ในขณะที่ ประเด็นด้านเงินเฟ้อ ลดความสำคัญลงอย่างชัดเจน (เฟดได้ตัดถ้อยแถลงที่ระบุถึงความเสี่ยงในช่วงขาขึ้นของอัตราเงินเฟ้อออกไป) โดยเฟดระบุว่า ท่ามกลางการปรับตัวลงของราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ตลอดจนแนวโน้มความอ่อนแอของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ คณะกรรมการฯ ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้ออาจปรับตัวลงในช่วงหลายไตรมาสข้างหน้าลงสู่ระดับที่สอดคล้องกับเสถียรภาพทางด้านราคา

สัญญาณที่ส่งให้กับตลาด บ่งชี้ว่า เฟดยังคงเปิดโอกาสสำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งต่อไป ทั้งนี้ เฟดระบุว่า การดำเนินการของเฟดในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในการประชุมรอบนี้ การร่วมมือกันปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายๆ ประเทศ มาตรการเสริมสภาพคล่อง ตลอดจนการช่วยเหลือของทางการในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบการเงิน อาจช่วยลดความตึงตัวในตลาดสินเชื่อ และสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เฟดระบุเพิ่มเติมว่า ความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีอยู่ ซึ่งเฟดก็จะติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินและเศรษฐกิจอย่างระมัดระวัง และพร้อมจะดำเนินการเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพของราคา หากจำเป็น

การตอบรับของตลาด

มติลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด พร้อมๆ กับการประเมินความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ (ขณะที่ ตัดถ้อยแถลงที่แสดงความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อทิ้ง) ได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความกังวลของเฟดที่มีต่อแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งถูกประเมินว่า ได้เข้าสู่ช่วงเริ่มต้นของภาวะถดถอยแล้วในไตรมาส 3/2551 และอาจยืดเยื้อยาวนานไปจนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2552

ธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ หลายแห่งประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้าชั้นดี (Prime Rate) ลงร้อยละ 0.50 สู่ร้อยละ 4.00 จากร้อยละ 4.50

ตลาดสัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้า (Interest Rate Futures) ล่าสุด ณ วันที่ 29 ตุลาคม 2551 (หลังมติคงอัตราดอกเบี้ยของเฟด) สะท้อนว่า ยังคงมีความเป็นไปได้ว่าเฟดอาจทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในระยะถัดไป หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่เลวร้ายลงไปอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดสัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้ากำลังปรับตัวรับความเป็นไปได้ที่เฟดจะทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 ในการประชุมรอบถัดไปในเดือนธันวาคม 2551 ซึ่งก็จะทำให้อัตราดอกเบี้ย Fed Funds มีระดับที่ต่ำกว่าร้อยละ 1.00 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2501

สำหรับความเห็นของนักวิเคราะห์ ที่สำรวจโดยรอยเตอร์หลังการประชุมเฟด สะท้อนมุมมองที่ปะปนกันในการประเมินว่า อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ที่ร้อยละ 1.00 นี้ เป็นจุดต่ำสุดของวัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้แล้วหรือยัง โดยนักวิเคราะห์ 6 ใน 12 รายในผลสำรวจคาดการณ์ว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในการประชุมเฟดครั้งถัดไปในเดือนธันวาคม 2551 ขณะที่ นักวิเคราะห์ที่เหลืออีก 6 รายคาดการณ์ว่า เฟดได้สิ้นสุดวัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้แล้วที่อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.00 ในปัจจุบัน

ประเมินภาพในระยะถัดไป

ส่วนสำคัญที่สุดในแถลงการณ์หลังการประชุมของเฟดในรอบนี้ ก็คือ เฟดได้เทน้ำหนักความสำคัญทั้งหมดให้กับความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และปัญหาความตึงตัวในตลาดการเงิน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการใช้จ่ายของภาคเอกชนในระยะถัดไป ขณะที่ ไม่มีการระบุถึงความเสี่ยงจากเงินเฟ้อแล้วในแถลงการณ์ฉบับนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เครื่องชี้ความเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจถูกทยอยเปิดเผยออกมาอย่างชัดเจนมากขึ้นในระยะถัดไป ทั้งนี้ ตลาดแรงงานที่กำลังอ่อนแอลง พร้อมๆ กับการปรับฐานของตลาดที่อยู่อาศัยที่ยังคงไปไม่ถึงจุดต่ำสุด ท่ามกลางความอ่อนแอของภาคการเงินสหรัฐฯ กำลังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน บั่นทอนกำลังซื้อในส่วนของการใช้จ่ายของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นนัยว่า นโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทั้งในส่วนของนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ก็ยังคงต้องผ่อนคลายลงอีกในระยะข้างหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสของการเกิดภาวะการชะลอตัวลงอย่างรุนแรง/ภาวะถดถอยที่ยาวนานของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในส่วนของนโยบายการคลังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกที่สอง คงจะต้องถูกเร่งผลักดันออกมาในท้ายที่สุด (หลังจากสมาชิกพรรคเดโมเครตในสภาคองเกรสได้ผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสองมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้) แต่ความชัดเจนของเม็ดเงินงบประมาณอาจต้องรอจนถึงช่วงหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2551 ในขณะที่ นโยบายการเงินของเฟด ก็คงต้องโน้มเอียงไปในเชิงผ่อนคลายให้มากที่สุด แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 1.00 ในปัจจุบันนั้น นับว่าเป็นระดับที่ต่ำมาก ซึ่งจะสร้างข้อจำกัดให้กับการผ่อนคลายนโยบายการเงินในระยะถัดไป ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม เฟดยังคงมีเครื่องมืออีกหลายประเภทในการสร้างสภาวะที่ผ่อนคลายให้กับตลาดการเงิน ซึ่งสามารถสะท้อนได้จากการที่ “อัตราดอกเบี้ย Effective Fed Funds” ที่ถูกกำหนดขึ้นจริงในตลาดกู้ยืมระหว่างธนาคารพาณิชย์ ได้ปรับตัวลงไปสู่ระดับร้อยละ 0.25 ในช่วงก่อนผลการประชุมเฟด (ซึ่งเฟดมีมติให้ปรับลด “อัตราดอกเบี้ย Target Fed Funds” ลงสู่ร้อยละ 1.00) และลงไปแตะระดับร้อยละ 0.125 หลังจากผลการประชุมเฟด ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ย Effective Fed Funds มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.74 ในช่วง 10 วันที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ย Target Fed Funds ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ในช่วงเวลาดังกล่าวมาก โดยสถานการณ์เช่นนี้ทำให้ประเมินได้ว่า เฟดได้ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (Quantitative Easing) มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ด้วยการอัดสภาพคล่องผ่านหลายๆ มาตรการเข้าไปในตลาดการเงินเพื่อทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นสามารถยืนที่ระดับต่ำมากใกล้ร้อยละศูนย์ ซึ่งเปรียบเสมือนกับว่า เฟดกำลังสร้างความผ่อนคลายทางการเงินพิเศษเช่นเดียวกับที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษในช่วงปี 2544-2549

นอกจากนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลายๆ ประเทศ (วันที่ 30 ตุลาคม 2551 ธนาคารกลางไต้หวันประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 1 เดือน อีกร้อยละ 0.25 ลงสู่ร้อยละ 3.00 ขณะที่ ธนาคารกลางฮ่องกงปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลงร้อยละ 0.50 สู่ร้อยละ 1.50 และเมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.27 ซึ่งนับเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 6 สัปดาห์ ขณะที่ ธนาคารกลางนอร์เวย์ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.50 ลงสู่ร้อยละ 4.75 นอกจากนี้ ธนาคารกลางอีกหลายแห่งที่กำลังจะมีการประชุมนโยบายการเงินในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า อาทิ ธนาคารกลางญี่ปุ่น ธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางอังกฤษ และธนาคารกลางออสเตรเลีย ก็อาจพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเช่นกัน) ตลอดจนมาตรการด้านสภาพคล่องต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่างธนาคารกลางหลายๆ ประเทศ ก็เป็นอีกเครื่องมือที่ช่วยบรรเทาปัญหาวิกฤตการเงินที่ได้ลุกลามไปทั่วโลก และอาจส่งผลทำให้ประเทศชั้นนำหลายๆ ประเทศต้องเผชิญกับอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าศักยภาพในช่วงปี 2552 ทั้งนี้ แม้ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดต่อไปอีกจะเริ่มมีข้อจำกัด แต่เฟดเองก็สามารถทำหน้าที่ในการสร้างความต่อเนื่องในการให้การสนับสนุนด้านสภาพคล่องกับธนาคารกลางหลายๆ ประเทศ โดยล่าสุดเฟดได้ตั้งวงเงินสว็อปเพิ่มเติมจำนวน 1.2 แสนล้านดอลลาร์ฯ ให้กับธนาคารกลาง 4 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกลางบราซิล เม็กซิโก เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ซึ่งทำให้เฟดมีข้อตกลงวงเงินสว็อปกับธนาคารกลาง 13 แห่งทั่วโลกแล้วในขณะนี้

โดยสรุป ในการประชุมวันที่ 28-29 ตุลาคม 2551 ท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวลงอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นผลที่สืบเนื่องมาจากวิกฤตการเงินโลกซึ่งถูกประเมินว่าอาจมีความร้ายแรงที่สุดในรอบเกือบ 80 ปี เฟดมีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงอีกร้อยละ 0.50 สู่ระดับร้อยละ 1.00 ซึ่งเท่ากับระดับต่ำสุดของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดในรอบก่อนหน้า (ช่วงเดือน ม.ค. 2544 – มิ.ย. 2546) ที่มีนายอลัน กรีนสแปนเป็นประธานเฟด ทั้งนี้ ผลการประชุมในรอบนี้เป็นไปตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ในตลาดการเงิน โดยแถลงการณ์หลังการประชุมได้สะท้อนถึงน้ำหนักที่เทให้กับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

โดยเฟดระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ชะลอตัวลงอย่างมากโดยมีสาเหตุหลักมาจากการปรับตัวลงของการใช้จ่ายของผู้บริโภค นอกจากนี้ การใช้จ่ายของภาคธุรกิจ และการผลิตภาคอุตสาหกรรมก็มีทิศทางที่อ่อนแอลงเช่นกันในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ขณะที่ ความอ่อนแอของเศรษฐกิจต่างประเทศกำลังบั่นทอนแนวโน้มการส่งออกของสหรัฐฯ ยิ่งไปกว่านั้น ความยากลำบากในการเข้าถึงสินเชื่อของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจท่ามกลางภาวะตลาดการเงินที่ผันผวน อาจส่งผลกดดันเพิ่มเติมต่อการใช้จ่ายของภาคเอกชน นอกจากนี้ เฟดยังคงเปิดโอกาสสำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งต่อไป โดยเฟดประเมินว่าความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีอยู่ ซึ่งเฟดก็จะติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินและเศรษฐกิจอย่างระมัดระวัง และพร้อมจะดำเนินการเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพของราคาหากจำเป็น

ส่วนสำคัญที่สุดในแถลงการณ์หลังการประชุมของเฟดในรอบนี้ ก็คือ เฟดได้เทน้ำหนักความสำคัญทั้งหมดให้กับความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และปัญหาความตึงตัวในตลาดการเงิน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการใช้จ่ายของภาคเอกชนในระยะถัดไป ขณะที่ ไม่มีการระบุถึงความเสี่ยงจากเงินเฟ้อแล้วในแถลงการณ์ฉบับนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เครื่องชี้ความเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจถูกทยอยเปิดเผยออกมาอย่างชัดเจนมากขึ้นในระยะถัดไป ซึ่งเป็นนัยว่า นโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทั้งในส่วนของนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ก็ยังคงต้องผ่อนคลายลงอีกในระยะข้างหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสของการเกิดภาวะการชะลอตัวลงอย่างรุนแรง/ภาวะถดถอยที่ยาวนานของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในส่วนของนโยบายการคลังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกที่สอง คงจะต้องถูกเร่งผลักดันออกมาในท้ายที่สุด ในขณะที่ นโยบายการเงินของเฟด ก็คงต้องโน้มเอียงไปในเชิงผ่อนคลายให้มากที่สุด แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 1.00 ในปัจจุบันนั้น นับว่าเป็นระดับที่ต่ำมาก ซึ่งจะสร้างข้อจำกัดให้กับการผ่อนคลายนโยบายการเงินในระยะถัดไป ก็ตาม อย่างไรก็ตาม เฟดยังคงมีเครื่องมืออีกหลายประเภทในการสร้างสภาวะที่ผ่อนคลายให้กับตลาดการเงิน ซึ่งสามารถสะท้อนได้จากการที่ “อัตราดอกเบี้ย Effective Fed Funds” ที่ถูกกำหนดขึ้นจริงในตลาดกู้ยืมระหว่างธนาคารพาณิชย์ ได้ปรับตัวลงไปต่ำกว่าระดับ “อัตราดอกเบี้ย Target Fed Funds” แล้วอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้านี้ โดยสถานการณ์เช่นนี้ทำให้ประเมินได้ว่า เฟดได้ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (Quantitative Easing) มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ด้วยการอัดสภาพคล่องผ่านหลายๆ มาตรการเข้าไปในตลาดการเงินเพื่อทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นสามารถยืนที่ระดับต่ำมากใกล้ร้อยละศูนย์ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเฟดจะได้ดำเนินการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นหลายตัวได้เริ่มปรับตัวลงมาบ้างแล้ว แต่ก็ไม่อาจสามารถสรุปได้ว่า ปัญหาการตึงตัวของตลาดสินเชื่อได้ผ่อนคลายลงไปจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ยกตัวอย่างเช่น อัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ แบบคงที่อายุ 30 ปี ที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 6.30 ในปัจจุบัน (จากที่เคยปรับลงไปสู่ระดับร้อยละ 5.80 ในช่วงเดือนกันยายน 2551)

วิกฤตการเงินในครั้งนี้ได้ทวีระดับความรุนแรงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วงประมาณกว่า 1 ปีที่ผ่านมา และในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคเศรษฐกิจจริงของหลายๆ ประเทศทั่วโลก นอกเหนือไปจากสหรัฐฯ ซึ่งการดำเนินมาตรการเฉพาะหน้าของทางการสหรัฐฯ และเฟด เพื่อตอบรับกับสถานการณ์ผันผวนที่เกิดขึ้นนับได้ว่ามีความหลากหลายและได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องระยะหนึ่งแล้ว และ ณ ขณะนี้ นโยบายอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจเริ่มพบกับข้อจำกัดเนื่องจากเฟดได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมามากแล้ว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัญหาวิกฤตการเงิน / วิกฤตสินเชื่อ ได้ลุกลามออกไปทั่วโลก และทำให้หลายๆ ประเทศทั่วโลกอาจต้องเผชิญกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าระดับศักยภาพในช่วงหลายไตรมาสข้างหน้า ดังนั้น อาจสามารถคาดการณ์ภาพในระยะถัดไปได้ว่า ทางการและธนาคารกลางในประเทศอื่นๆ ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากภาวะระบบการเงินโลกที่ปั่นป่วนนี้ได้ ก็อาจจำต้องดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายการคลังแบบผ่อนคลายในทำนองเดียวกับทางการสหรัฐฯ เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจท่ามกลางแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจลากยาวออกไปกว่าที่มีการประเมินไว้

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (อาร์/พี) ระยะ 1 วัน ไว้ที่ร้อยละ 3.75 ในประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่ถ้อยแถลงของกนง.หลังการประชุมรอบนั้นได้ระบุอย่างชัดเจนว่า นโยบายการเงินในช่วงหลังจากนี้จะให้น้ำหนักเพิ่มมากขึ้นต่อความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเมื่อประกอบกับแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องนั้น การดำเนินนโยบายการเงินของไทยก็อาจมีทิศทางที่ผ่อนคลายมากขึ้นเช่นเดียวกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก