ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจในวันที่ 7 มกราคม 2552 เพื่อพิจารณากรอบแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและการจัดสรรการใช้จ่ายงบประมาณกลางปีวงเงิน 1 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลได้มีการเตรียมมาตรการช่วยเหลือครอบคลุมเรื่องหลัก คือ การแก้ปัญหาการว่างงานโดยใช้ช่องทางกองทุนเศรษฐกิจพอเพียงและการฝึกอบรมอาชีพให้แก่คนว่างงาน และการช่วยเหลือภาคธุรกิจและภาคเอกชนโดยการใช้มาตรการทางภาษี มาตรการสินเชื่อ หรือสิทธิประโยชน์อื่นๆ รวมถึงการขยายระยะเวลาของมาตรการน้ำ ไฟ และรถเมล์ ฟรี เป็นต้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้ แม้ว่าอาจช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและประชาชนได้ แต่อาจไม่สามารถช่วยกระตุ้นการลงทุนโดยตรงได้มากนัก เนื่องจากหลายๆ มาตรการ เช่น การช่วยเหลือคนว่างงานและการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ถูกออกแบบเพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจมากกว่าที่จะช่วยกระตุ้นการลงทุนโดยตรง ในขณะที่มาตรการทางภาษีและมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจก็อาจมีผลที่ค่อนข้างจำกัดหากผู้ประกอบการประสบกับภาวะยอดขายหดตัวหรือขาดทุนจากการดำเนินงาน ในขณะที่โดยรวมแล้วภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศอาจจะส่งผลให้ตัวเลขการลงทุนในปีนี้มีแนวโน้มหดตัว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองต่อภาวะการลงทุนในช่วงที่ผ่านมาและคาดการณ์ภาวะการลงทุนในอนาคต ดังต่อไปนี้
ปี 2551.. การลงทุนขยายตัวต่ำจากปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองที่รุมเร้า
การลงทุนโดยรวมในช่วงปี 2551 มีการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 2 และ 3 ที่สามารถขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1.9 และร้อยละ 0.6 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่ำลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 5.4 ในไตรมาสที่ 1 สาเหตุจากการลดลงอย่างมากของการลงทุนภาครัฐที่เกิดจากปัจจัยทางด้านการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชน แม้ว่าจะยังสามารถขยายตัวได้ในปี 2551 แต่ก็เริ่มมีการชะลอตัวลงในไตรมาสหลังๆ จากปัญหาเศรษฐกิจซึ่งเป็นผลพวงของวิกฤติการเงินสหรัฐฯ และปัญหาการเมืองในประเทศ
โดยเมื่อจำแนกตามลักษณะของการลงทุน จะเห็นได้ว่าการลงทุนในโครงการก่อสร้างลดลงอย่างชัดเจนโดยเฉพาะในส่วนของการลงทุนภาครัฐ ในไตรมาสที่ 3 การลงทุนของภาคเอกชนและภาครัฐลดลงร้อยละ 1.9 และร้อยละ 7.3 ทำให้การลงทุนรวมในภาคก่อสร้างลดลงร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านการลงทุนในเครื่องจักรอุปกรณ์ก็มีแนวโน้มที่ชะลอตัวลงจากไตรมาสแรก เนื่องจากภาคเอกชนชะลอการขยายการผลิตตามคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจในอนาคตที่มีแนวโน้มชะลอตัว ขณะที่การลงทุนของภาครัฐในเครื่องจักรและอุปกรณ์ไตรมาสที่ 3 ลดลงร้อยละ 1.6
ทั้งนี้ จากเครื่องชี้ภาวะการลงทุน ในส่วนของความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ ในปี 2551 ลดลงเป็นระยะเวลาหลายเดือนติดต่อกันในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมก็ยืนอยู่ที่ระดับต่ำ โดยในช่วงครึ่งแรกของปีปัจจัยลบต่อธุรกิจก็คือ ราคาน้ำมันและวัตถุดิบ ตลอดจนค่าเงินบาทที่มีการแข็งค่า เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่ยืดเยื้อและผลของวิกฤติการเงินสหรัฐฯที่มีต่อยอดคำสั่งซื้อเริ่มปรากฎชัดเจน เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ความเชื่อมั่นของธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมลดลง
ในไตรมาสสุดท้ายของปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าปัจจัยลบจากปัญหาทางการเมืองซึ่งส่งผลให้การเบิกจ่ายงบประมาณและโครงการลงทุนภาครัฐมีความล่าช้า จะทำให้การลงทุนภาครัฐในปี 2551 ลดลงจากปี 2550 ประมาณร้อยละ -3.6 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังเติบโตได้เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนอาจจะหดตัวในไตรมาสสุดท้ายของปีอันเป็นผลมาจากปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองโดยเฉพาะในช่วงที่มีการปิดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ก็น่าจะทำให้อัตราการเติบโตของการลงทุนภาคเอกชนทั้งปีอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.3 ดังนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าการลงทุนโดยรวมของประเทศในปี 2551 จะขยายตัวได้ในอัตราประมาณร้อยละ 1.5
แนวโน้มการลงทุนปี 52.. การลงทุนภาคเอกชนฉุดยอดการลงทุนรวม
จากปัญหาวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ ซึ่งลุกลามทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและส่งผลต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจไทย ทำให้การลงทุนภาคเอกชนในปี 2552 มีแนวโน้มลดลง ทั้งในส่วนของการลงทุนในโครงการก่อสร้างและการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1) อัตราการใช้กำลังการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ อัตราการใช้กำลังการผลิตณ เดือนตุลาคมอยู่ที่ร้อยละ 66.4 ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำ คือ ลดลงประมาณร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับอัตราการใช้กำลังการผลิตในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 74.4 พิจารณาตามกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า กลุ่มเหล็ก เคมีภัณฑ์และปิโตรเลียม รวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท เช่น คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ มีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำกว่าปีก่อนหน้าถึงประมาณร้อยละ 20 ขณะที่ในกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงร้อยละ 7.2 ซึ่งอัตราการใช้กำลังการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำและดัชนีการผลิตซึ่งมีการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องหมายความว่าอุตสาหกรรมมีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่ ทำให้คาดได้ว่าในอนาคตอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะยังไม่มีแผนในการสร้างโรงงานใหม่ หรือซื้อเครื่องมือเครื่องจักรเพิ่มเพื่อขยายการผลิต
2) ภาวะสินเชื่อตึงตัวทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากวิกฤติการเงินสหรัฐฯ และการตึงตัวของตลาดสินเชื่อโลก ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดี ทำให้สถาบันการเงินมีการปรับลดเป้าสินเชื่อและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความระมัดระวังในการให้สินเชื่อกับบุคคลและธุรกิจมากขึ้น ภาวะตึงตัวของสินเชื่อเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจที่มีสภาพคล่องทางการเงินไม่มาก และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ประสบความยากลำบากในการหาแหล่งเงินทุนเพื่อลงทุนเพิ่ม ทำให้ต้องเลื่อนโครงการต่างๆ ออกไป
3) ผลประกอบการและแนวโน้มของธุรกิจในอนาคตยังมีปัจจัยเสี่ยงสูงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศ โดยในปี 2552 คาดว่าจะมีคนว่างงานเป็นจำนวนมากซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการอุปโภคบริโภคและต่อเนื่องไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคาดว่าอาจต้องใช้เวลา ซึ่งอาจเป็นปี 2553 กว่าที่การส่งออกและเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้ดีอีกครั้ง ดังนั้นสำหรับบริษัทที่เดิมมีแผนที่จะขยายการผลิตก็มีแนวโน้มที่อาจจะชะลอการลงทุนออกไปในช่วงนี้เพื่อรอดูสถานการณ์
ภาพรวมการลงทุนในปี 2552 แม้คาดว่าการลงทุนภาครัฐน่าจะขยายตัวได้ แต่เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มลดลงค่อนข้างมาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดการณ์ว่าการลงทุนโดยรวมในปี 2552 มีแนวโน้มที่จะหดตัวอยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 1.4 ถึงร้อยละ 3.4 โดยมีสมมติฐานกรอบบนของประมาณการที่คาดว่าการลงทุนจะหดตัวร้อยละ 1.4 อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลมีเสถียรภาพเพียงพอที่จะบริหารประเทศ ทำให้เกิดการผลักดันนโยบายรวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องพอสมควร ขณะที่กรอบล่างของการประมาณการที่คาดว่าการลงทุนจะหดตัวลงร้อยละ 3.4 นั้น เป็นในกรณีที่การเบิกจ่ายของภาครัฐมีความล่าช้า ซึ่งเมื่อประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้ผลกระทบต่อไทยในแง่ของธุรกิจและผู้บริโภคอาจมีความรุนแรงมากขึ้น
ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนในปี 2552 มีแนวโน้มที่จะลดลงจากปี 2551 โดยในด้านการก่อสร้างคาดว่าการลงทุนในโครงการก่อสร้างภาคเอกชนจะลดลงประมาณร้อยละ 5.0 ถึงร้อยละ 7.5 จากที่คาดว่าจะหดตัวประมาณร้อยละ 0.8 ในปี 2551 โดยมีสาเหตุจากการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ และการชะลอตัวของการลงทุนสร้างโรงงานของภาคอุตสาหกรรม ส่วนการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ คาดว่าจะลดลงประมาณร้อยละ 6.5 ถึงร้อยละ 7.5 เนื่องจากมีกำลังการผลิตส่วนเกินในระดับสูงประกอบกับแนวโน้มคำสั่งซื้อในอนาคตและผลประกอบการธุรกิจอาจอ่อนแอลง
ในด้านของการลงทุนภาครัฐ แม้ว่าสถานการณ์การเมืองหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะทำให้การเมืองมีความชัดเจนขึ้น แต่ในปี 2552 ความเสี่ยงทางการเมืองก็จะยังเป็นปัจจัยผันแปรที่สำคัญต่อการลงทุน โดยในกรณีที่รัฐบาลมีเสถียรภาพและไม่มีเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการลงทุนภาครัฐอาจขยายตัวได้อยู่ในช่วงร้อยละ 10.0 ถึงร้อยละ 13.0 ขึ้นอยู่กับความคืบหน้าในการผลักดันนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้แม้ว่ารัฐบาลจะมีแผนที่จะจัดทำงบประมาณกลางปี 2552 จำนวน 100,000 ล้านบาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 300,000 ล้านบาท โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ อย่างไรก็ตามขั้นตอนของการอนุมัติและการเบิกจ่ายจะต้องใช้เวลากว่าที่เม็ดเงินจะไหลเข้ามาสู่ระบบจริง และยังต้องรอดูรายละเอียดการจัดสรรกรอบการใช้งบประมาณใหม่และมาตรการอื่นๆ ที่รัฐบาลจะประกาศต่อไป นอกจากนี้ในการตั้งงบประมาณและการออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ข้อจำกัดด้านการคลังด้านการก่อหนี้สาธารณะ และรายได้ภาครัฐที่มีแนวโน้มลดลงในปีหน้า จะทำให้รัฐบาลมีข้อจำกัดในการตั้งงบประมาณขาดดุล ซึ่งทำให้รัฐควรต้องพิจารณาผลักดันโครงการที่มีประสิทธิภาพและสามารถทำให้เกิดผลได้อย่างรวดเร็วก่อน
ด้านการลงทุนจากต่างประเทศ แนวโน้มของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในปี 2552 มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก ประกอบกับภาวะที่ตลาดเงินตึงตัวที่ทำให้ต้นทุนทางการเงินปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ปัญหาทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาอาจมีผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ทำให้นักลงทุนที่ไม่เคยมีการลงทุนในไทยมาก่อนอาจสูญเสียความเชื่อมั่นไปบางส่วน อย่างไรก็ดีการที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ออกมาตรการพิเศษเพื่อเร่งรัดการลงทุน โดยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในด้านต่างๆ ซึ่งจะมีผลไปจนถึงสิ้นปี 2552 จะเป็นปัจจัยที่อาจช่วยดึงดูดความสนใจของนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการย้ายฐานการผลิตและกลุ่มที่มีแผนการลงทุนระยะยาวในภูมิภาคให้เข้ามาลงทุนในไทยได้ จึงมีความเป็นไปได้ที่มูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2552 อาจจะเพิ่มขึ้นจากระดับ 400,000 – 500,000 ล้านบาทในปี 2551 โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอตั้งเป้าหมายมูลค่าส่งเสริมการลงทุนในปีนี้ไว้ที่ 650,000 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ก็ย่อมขึ้นอยู่กับฐานะทางการเงินของบริษัทผู้ลงทุนจากต่างประเทศที่อาจถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกในขณะนี้
สรุป
แม้ว่ารัฐบาลจะมีการเตรียมอัดฉีดงบกลางปี 2552 และออกแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่งประกอบไปด้วยมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาการว่างงาน และให้ความช่วยเหลือแก่ภาคธุรกิจและภาคเอกชน ซึ่งอาจมีผลช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจและประชาชน อย่างไรก็ตาม ผลต่อการกระตุ้นการลงทุนอาจมีค่อนข้างจำกัด สาเหตุเนื่องจากหลายมาตรการ เช่น มาตรการบรรเทาปัญหาการว่างงานที่จะออกมานั้น เป็นการมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานที่ถูกกระทบจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจมากกว่าที่จะกระตุ้นการลงทุนโดยตรง ในขณะที่มาตรการอื่นๆ เช่น การลดภาษีและการให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อ แม้ว่าจะเป็นมาตรการที่ดีแต่ในภาวะที่คำสั่งซื้อหดตัวและผลประกอบการย่ำแย่ ก็อาจมีผลช่วยกระตุ้นการลงทุนได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ทำให้มีแนวโน้มที่การลงทุนในปีนี้อาจจะยังคงหดตัว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าการลงทุนในปี 2552 มีแนวโน้มที่จะหดตัวลงในช่วงร้อยละ 1.4 ถึงร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับการลงทุนในปี 2551 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ในอัตราร้อยละ 1.5 โดยแนวโน้มการลงทุนในปีนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสำคัญด้านการเมืองโดยเฉพาะความมีเสถียรภาพและความสามารถในการผลักดันนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งนี้ภาวะการชะลอตัวของลงทุนในปี 2552 มีสาเหตุจากการหดตัวของการลงทุนภาคเอกชนซึ่งคาดว่าจะลดลงประมาณร้อยละ 6.2 ถึงร้อยละ 7.5 จากปัญหาเศรษฐกิจนอกประเทศซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงการส่งออก การผลิต และภาคการเงิน ทำให้เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวตาม อย่างไรก็ตามคาดว่าการลงทุนภาครัฐในปีหน้าอาจขยายตัวได้ร้อยละ 9.7 ถึงร้อยละ 13.3 กรณีที่รัฐบาลมีเสถียรภาพและไม่มีปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง โดยอัตราการเติบโตของการลงทุนภาครัฐขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลมีนโยบายในการจัดสรรงบประมาณและมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรและจะเร่งผลักดันให้เกิดผลได้แค่ไหน
ในการที่จะกระตุ้นการลงทุนในอนาคตกลับมาฟื้นตัวได้ในภาวะที่เศรษฐกิจซบเซา คงต้องอาศัยแรงกระตุ้นจากภาครัฐเป็นหลัก หากก็มีข้อจำกัดในด้านงบประมาณและต้องคำนึงถึงกรอบความยั่งยืนทางการคลัง โดยรัฐบาลต้องพิจารณาถึงแหล่งที่มาของเงินทุนและระมัดระวังในการก่อหนี้สาธารณะ ดังนั้นมาตรการและนโยบายที่รัฐเลือกจึงควรเป็นมาตรการที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น มาตรการทางภาษีในลักษณะชั่วคราวอาจมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจที่จำกัดเมื่อเทียบกับรายรับของรัฐบาลที่จะหายไป นอกจากนี้รัฐควรที่จะเร่งสร้างโครงการขนาดกลางและขนาดเล็กซึ่งจะทำให้เกิดการกระจายของเม็ดเงินไปได้ทั่วถึงและรวดเร็ว ไปพร้อมๆ กับการดำเนินการผลักดันโครงการขนาดใหญ่ที่มีอยู่เดิม เพื่อการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศทั้งการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภค และโครงการที่จะมีผลช่วยเพิ่มผลิตภาพ (productivity) ของประเทศในระยะยาว ยกตัวอย่างเช่น โครงการสาธารณูปโภคในภาคขนส่งและโครงการชลประทาน เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวอย่างยั่งยืน และนอกจากการดำเนินนโยบายทางการคลังแล้ว ในด้านการเงิน ภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทยควรมีมาตรการที่จะช่วยกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจและเอสเอ็มอี เช่น การช่วยค้ำประกันเงินกู้ เพื่อให้ธุรกิจมีสภาพคล่องเพียงพอและมีเงินในการนำมาลงทุนต่อไป