ความตกลง FTA กรอบ ASEAN…ความหวังช่วยขับเคลื่อนส่งออกไทย

เอกสารสำคัญเกี่ยวกับความร่วมมือในกรอบอาเซียนรวมถึงข้อตกลงอาเซียนได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาในวันที่ 27 มกราคม 2552 ทำให้ไทยสามารถลงนามในความตกลงต่างๆ ร่วมกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ได้ตามบทบัญญัติในมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 14 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ -1 มีนาคม 2552 ที่หัวหิน ข้อตกลงด้านเศรษฐกิจของอาเซียนนี้รวมถึงข้อตกลงสำคัญเกี่ยวกับการเปิดเสรีภายในอาเซียนและข้อตกลงเปิดเสรีระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา ได้แก่ ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน ความตกลงด้านการลงทุนของอาเซียน พิธีสารอนุวัติข้อผูกพันชุดที่ 7 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน ความตกลงเปิดเสรี (FTA) อาเซียน-อินเดีย FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ FTA อาเซียน-จีน ด้านการลงทุน FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ ด้านการค้าสินค้าและบริการ ทั้งนี้ ความตกลง FTA ในกรอบ ASEAN ที่สำคัญๆ ข้างต้นมีกำหนดลงนามในเบื้องต้นแบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ความตกลง FTA ที่มีกำหนดจะลงนามในที่ประชุมสุดยอดอาเซียนในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2552 และกรอบความ ตกลง FTA ที่จะลงนามในที่ประชุมสุดยอดอาเซียนกับคู่เจรจาที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนเมษายน 2552

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า การอนุมัติการลงนามความตกลง FTA กรอบอาเซียนของรัฐสภาในครั้งนี้ถือเป็นก้าวย่างสำคัญสำหรับประเทศไทยในฐานะเป็นประธานของอาเซียนปี 2552 ที่จะแสดงความพร้อมในการผลักดันการเปิดเสรีภายในกลุ่มอาเซียนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ รวมถึงการขยายการเปิดเสรีของอาเซียนเชื่อมโยงไปยังประเทศคู่เจรจานอกอาเซียน ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งประเทศคู่เจรจาเหล่านี้ล้วนมีส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอาเซียนผ่านทางด้านส่งออกสินค้า ภาคบริการและการลงทุน โดยเฉพาะในยามที่ประเทศอาเซียนต่างต้องประสบปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่ส่งผลให้แรงขับเคลื่อนจากประเทศตะวันตกอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปต้องอ่อนแรงลงในปีนี้

สำหรับความตกลงภายในของอาเซียน 3 ฉบับ ได้แก่ ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน ความตกลงด้านการลงทุนของอาเซียน และพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันชุดที่ 7 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน ถือเป็นการปรับปรุงและพัฒนาการเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า ภาคบริการและการลงทุนของอาเซียนตามกรอบความตกลงต่างๆ ของอาเซียน ให้ไปตามเป้าหมายการจัดตั้งเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ภายในปี 2558 โดยมุ่งให้อาเซียนเป็นตลาดเดียวและมีฐานการผลิตร่วมกัน มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี และการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้อาเซียนเป็นแหล่งดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ได้มากขึ้น

กรอบความตกลง FTA อาเซียนกับประเทศคู่เจรจารวม 4 ฉบับ ที่จะลงนามในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ และเมษายน 2552 น่าจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในปี 2552 โดยอาจมีระยะเวลาดำเนินการแตกต่างกันไป FTA อาเซียน-อินเดีย และ FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ มีกำหนดลงนามก่อนในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ส่วนความตกลง FTA ระหว่างอาเซียน-จีน และFTA อาเซียน-เกาหลีใต้ คาดว่าจะลงนามได้ช่วงเดือนเมษายน 2552 ซึ่งคาดว่าหลังจากลงนามความตกลงฯ แล้ว ความตกลงเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการนำกลับไปเข้าสู่กระบวนการภายในของประเทศต่างๆ ที่เป็นคู่สัญญาความตกลงฯ ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ โดยคาดว่าความตกลงฯ กับคู่เจรจาทั้ง 4 ฉบับ น่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2552 โดยอาจมีระยะเวลาแตกต่างกันไป ดังนี้

 ความตกลงที่น่าจะมีผลบังคับใช้เร็ว ได้แก่ ความตกลง FTA อาเซียน-อินเดีย และความตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ โดยอาจจะเริ่มดำเนินการเปิดเสรีตามความตกลงฯ ได้ในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของปีนี้ เนื่องจากกรอบ FTA อาเซียน-อินเดียที่จะลงนามปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้มีความแตกต่างจากกรอบอื่นๆ คือ ประเทศอาเซียนที่ให้สัตยาบันกับอินเดียก่อนก็สามารถมีผลบังคับใช้ตามความตกลงฯ ก่อนได้ สำหรับ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ที่คาดว่าจะลงนามในเดือนเมษายนนี้ น่าจะใช้เวลาในช่วงเข้าสู่กระบวนการภายในไม่นานนัก เนื่องจากการลงนามครั้งนี้เป็นการลงนามความตกลงฯ ระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ เนื่องจากประเทศอาเซียนอื่นๆ อีก 9 ประเทศ และเกาหลีใต้ได้ลงนามความตกลงฯ และมีผลบังคับใช้ก่อนไปแล้ว คาดว่าระยะเวลาเข้าสู่กระบวนการภายในของไทยและเกาหลีใต้จึงไม่นานนัก

ทั้งนี้ คาดว่าสินค้าส่งออกของไทยจะได้รับประโยชน์การลดภาษีของอินเดียภายใต้ความตกลง FTA อาเซียน-อินเดีย เพิ่มขึ้นจากประโยชน์ที่ไทยได้จากการลดภาษีของอินเดียที่ให้กับสินค้า 82 รายการในกรอบ FTA ทวิภาคีไทย-อินเดีย ที่สำคัญ ได้แก่ ปลากระป๋อง น้ำผลไม้ เครื่องยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ส่วนกรอบ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้เป็นการเปิดเสรีด้านการค้าสินค้าและภาคบริการ ซึ่งจะช่วยให้ไทยมีขีดความสามารถทางการแข่งขันทัดเทียมกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ที่ได้ลงนามความตกลงเปิดตลาดการค้าสินค้าและบริการกับเกาหลีใต้ไปก่อนแล้ว โดยคาดว่าสินค้าส่งออกของไทยที่จะได้ประโยชน์จากความตกลงฯ เช่น กากน้ำตาล เส้นด้าย กุ้งแช่เย็น/แช่แข็ง แป้งมันสำปะหลัง ปลาหมึก และอัญมณี เป็นต้น

 ส่วนความตกลง FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ที่จะลงนามในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ และความตกลง FTA อาเซียน-จีน ด้านภาคการลงทุน ที่คาดว่าจะลงนามเดือนเมษายน 2552 น่าจะสามารถดำเนินการภายใต้ความตกลงได้ในช่วงไตรมาสที่ 3-4 ของปี 2552 ทั้งนี้ สำหรับกรอบ FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ ไทยน่าจะได้ประโยชน์จากการลดภาษีของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่เร็วกว่ากรอบ FTA ทวิภาคีที่ไทยจัดทำกับสองประเทศไปแล้ว ที่สำคัญ เช่น เครื่องนุ่งห่ม ชิ้นส่วนยานยนต์ สิ่งทอ และรองเท้า เนื่องจากออสเตรเลียลดภาษีให้เร็วกว่ากรอบ FTA ทวิภาคีไทย-ออสเตรเลีย รวมทั้งสินค้าบางรายการในหมวดสิ่งทอ พลาสติก ชิ้นส่วนยานยนต์ อะลูมิเนียม และเครื่องจักรที่นิวซีแลนด์จะลดภาษีให้อาเซียนและไทยภายใต้กรอบ FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ เร็วกว่ากรอบ FTA ไทย-นิวซีแลนด์ เช่นกัน นอกจากนี้ ไทยจะได้ประโยชน์จากแหล่งกำเนิดสินค้าสะสมภายใต้ FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ ที่มีความยืดหยุ่นมากกว่ากรอบ FTA ทวิภาคีด้วย เช่น กลุ่มสิ่งทอ เหล็ก ทองแดง อะลูมิเนียม เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์พลาสติก ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศในอาเซียนมาผลิตสินค้าส่งออก

สำหรับ FTA อาเซียน-จีนด้านการลงทุน เป็นความตกลงที่จะส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนและให้ความคุ้มครองการลงทุนและนักลงทุนของอาเซียนและจีน คาดว่าจะส่งผลให้การลงทุนระหว่างอาเซียนรวมทั้งไทยกับจีนมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้น เนื่องจากการลดอุปสรรคจากกฎระเบียบและเงื่อนไขด้านการลงทุนของทั้งสองฝ่าย เป็นโอกาสให้นักลงทุนอาเซียนรวมทั้งไทยสามารถเข้าไปประกอบธุรกิจลงทุนในจีนได้สะดวกขึ้น

สรุป
ความตกลง FTA ของอาเซียน โดยเฉพาะ FTA ระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจาต่างๆ ได้แก่ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ที่คาดว่าความตกลงจะสามารถบังคับใช้ได้ในปี 2552 โดยอาจทยอยดำเนินการได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 หลังจากการลงนามความตกลง FTA ในเดือนกุมภาพันธ์และเมษายน 2552 ซึ่งถือเป็นโอกาสให้อาเซียนและไทยใช้ประโยชน์จากการเปิดตลาดการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน เข้าสู่ประเทศคู่เจรจาต่างๆ ได้มากขึ้น ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยที่มีเศรษฐกิจเชื่อมโยงกันมากขึ้นเป็นลำดับผ่านความร่วมมือและการเปิดเสรีในระดับต่างๆ กับไทย ทำให้คาดว่าการเปิดเสรีตามความตกลงข้างต้นน่าจะช่วยกระตุ้นการส่งออกของไทยไปประเทศคู่ค้า FTA ได้ดีขึ้นบ้าง แม้ว่าในระยะสั้นสินค้าส่งออกของไทยอาจต้องเผชิญกับความต้องการภายในของประเทศเหล่านี้ที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ที่ชะลอตัวจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ซบเซารุนแรงในขณะนี้ แต่ในระยะถัดไปเมื่อเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า FTA ต่างๆ ฟื้นตัวเป็นปกติ น่าจะช่วยขับเคลื่อนการส่งออกของไทยและอาเซียนอื่นๆ ได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ความตกลง FTA อาเซียน-อินเดีย และความตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ น่าจะมีผลบังคับใช้ได้เร็ว โดยเฉพาะความตกลง FTA อาเซียน-อินเดียที่อาจดำเนินการได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ทำให้สินค้าส่งออกไทยไปอินเดียมีโอกาสขยายตัวได้ดีขึ้น จากปี 2551 ที่ผ่านมาที่การส่งออกของไทยไปอินเดียชะลอลงเหลือร้อยละ 27.7 ในปี 2551 จากที่เติบโตร้อยละ 47 ในปี 2550 แต่ก็ยังถือเป็นอัตราเติบโตที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการส่งออกไปประเทศอื่นๆ ในปี 2551 ส่วน FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ น่าจะดำเนินการได้ในไตรมาสที่ 3 คาดว่าจะช่วยให้สินค้าส่งออกของไทยไปเกาหลีใต้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาที่ทัดเทียมกับอาเซียนอื่นๆ ที่ลงนามและดำเนินการเปิดเสรีภายใต้ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ไปก่อนหน้าแล้ว นอกจากนี้ แม้ว่าไทยจะได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีตามความตกลงกับคู่เจรจาต่างๆ ข้างต้น แต่ไทยคงต้องเผชิญกับการแข่งขันกับสินค้าส่งออกของประเทศอาเซียนอื่นๆ ในตลาดคู่ค้า FTA เหล่านี้ด้วย เนื่องจากสินค้าส่งออกของประเทศอาเซียนอื่นๆ จะได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดของประเทศคู่ค้า FTA เช่นกัน ทำให้สินค้าส่งออกของประเทศอาเซียนอื่นๆ มีขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาที่ดีขึ้นภายใต้กรอบความตกลง FTA เช่นเดียวกันสินค้าส่งออกของไทยในตลาดคู่ค้า FTA ต่างๆ

อุตสาหกรรมไทยที่จะได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดภายใต้ความตกลง FTA อาเซียน-อินเดีย ที่สำคัญ ได้แก่ ปลากระป๋อง น้ำผลไม้ เครื่องยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ขณะที่ความตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมไทย ที่สำคัญ ได้แก่ กากน้ำตาล เส้นด้าย กุ้งแช่เย็น/แช่แข็ง แป้งมันสำปะหลัง ปลาหมึก และอัญมณี เป็นต้น