ที.ซี.จี้รัฐสร้างกติกาหลัง พ.ร.บ.คุมสินค้าไม่ปลอดภัยบังคับใช้

ที.ซี.แนลเชอรัล เชื่อหลัง พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย มีผลบังคับใช้ ช่วยยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่ยังหวั่นโดนผู้บริโภคหัวใสใช้กฎหมาย เปิดช่องฟ้องเรียกค่าเสียหายทำผู้ประกอบการป่วน จี้รัฐเร่งสร้างแนวทางปฏิบัติชัดเจน มั่นใจกระบวนการผลิตสินค้าและโรงงานได้มาตรฐาน

นายปิยะ กิตติธีรพรชัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายการตลาด บริษัท ที.ซี.แนลเชอรัล จำกัด ผู้ผลิตและทำตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารภายใต้ชื่อ บริ๊งค์ เวคกี้ โอเม็กซ์ และยู-สริม เปิดเผยว่า เชื่อว่าหลังจากที่ พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 หรือ พีแอล ลอว์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้สินค้า สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากเจ้าของสินค้าหรือผู้ประกอบการได้ง่ายขึ้น มีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้นั้น จะช่วยยกมาตรฐานในการผลิตสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมามีผู้ประกอบการกว่า 1,000 รายที่ทำตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเสริม โดยบางรายก็ขาดมาตรฐานในการผลิตสินค้าและไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการองค์การอาหารและยา

ทั้งนี้ เมื่อกฎหมายบังคับใช้ จะทำให้ผู้บริโภคตื่นตัวในการหันมาดูแลสิทธิในเรื่องความปลอดภัยจากการใช้สินค้า ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการผลิตสินค้าให้มีมาตรฐานมากขึ้น เพื่อป้องกันการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ประกอบการ ส่งผลให้ผู้ผลิตสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานต้องเลิกกิจการไป

“กฎหมายฉบับนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะเข้ามาช่วยยกมาตรฐานในการผลิตสินค้า เพราะกฎหมายเปิดช่องให้ผู้บริโภคสามารถฟ้องร้องผู้ประกอบการได้ หากผลิตสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมในการผลิตสินค้าให้ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ต้องขายความน่าเชื่อถือ” นายปิยะกล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ ภาครัฐควรสร้างกฎเกณฑ์กติกาในการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมทั้งกับผู้ประกอบการและผู้บริโภค เพื่อป้องกันผู้บริโภคบางรายที่อาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือในการฟ้องร้อง เพื่อเรียกผลประโยชน์จากผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ในอุตสาหกรรมได้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์อาหาร และยา ที่กลุ่มสินค้าเหล่านี้ ต้องขายความน่าเชื่อถือต่อตัวสินค้า หากมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายอย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ ย่อมจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินการผลิตและการลงทุนได้

ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายการตลาด บริษัท ที.ซี. กล่าวด้วยว่า ถึงแม้ในส่วนของบริษัทฯ จะได้รับรองมาตรฐานการผลิตจนได้รับเครื่องหมายมาตรฐานระดับสากล อาทิ GMP HACCP ISO 9001 : 2000 แต่ทางบริษัทฯ ก็ตระหนักเป็นสำคัญในการตรวจสอบคุณภาพ และให้ความรู้กับบุคคลกรเกี่ยวกับ พรบ. ดังกล่าว ซึ่งนอกจากนี้ยังได้มีการปรับปรุงฉลากให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น จึงมั่นใจว่า การบังคับใช้กฎหมายความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัยในครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทฯ แต่อย่างใด