ในปีที่ผ่านมาธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนนต้องเผชิญปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ สำหรับในปีนี้แม้ราคาน้ำมันมีทิศทางปรับลดลง แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนนมีแนวโน้มสดใสมากนัก เนื่องจากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศที่มีแนวโน้มหดตัวหรือชะลอตัวตาม ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้ปริมาณการขนส่งสินค้าทางถนนลดลงไปด้วย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ถึงแนวโน้มที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ของธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนน พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
แนวโน้มธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนน ปี 2552 … ไม่สดใส แม้ราคาน้ำมันจะลด
จากสถิติของกระทรวงคมนาคม พบว่า ที่ผ่านมาการขนส่งสินค้าภายในประเทศส่วนใหญ่จะพึ่งพาการขนส่งผ่านทางถนนมากที่สุดประมาณร้อยละ 85 โดยส่วนใหญ่จะเป็นการขนส่งสินค้าเกษตร ปศุสัตว์ วัสดุก่อสร้าง เชื้อเพลิง และเครื่องใช้ครัวเรือน ขณะที่การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจะพึ่งพาการขนส่งผ่านทางถนนไม่มากนักโดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 5 เท่านั้น ทั้งนี้ ในปี 2551 ธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนนต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่จากปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะมีสัดส่วนมากที่สุดของต้นทุนการขนส่งสินค้าทางถนน ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 30-40 แต่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ที่ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงไปกว่าร้อยละ 60-70 ขณะที่การปรับขึ้นราคาค่าบริการขนส่งก็มีข้อจำกัดจากผู้ใช้บริการ โดยผู้ใช้บริการมีอำนาจในการต่อรองค่อนข้างสูง โดยหากผู้ให้บริการปรับขึ้นค่าบริการก็อาจเลิกใช้หรือเปลี่ยนไปใช้บริการจากผู้ให้บริการรายอื่นได้ อีกทั้งการตกลงอัตราค่าบริการมักจะอยู่ในรูปของสัญญา จึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงค่าบริการได้ทันตามราคาน้ำมันที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะเห็นได้ว่าอัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน (Road Fright Transport Index: RFTI) ในช่วงปี 2551 แม้จะมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้น แต่ก็เพิ่มขึ้นในระดับที่น้อยกว่าการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม แม้จะต้องเผชิญอุปสรรคสำคัญจากต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนนในปี 2551 ยังมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตจากยอดการส่งออกสินค้าและการบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อน ทำให้ยอดการใช้บริการขนส่งสินค้าจากโรงงานไปยังท่าเรือและการกระจายสินค้าจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ ในช่วงปลายปีที่มีการชุมนุมประท้วงจนทำให้ต้องมีการปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง แม้จะส่งผลให้รถบรรทุกไม่สามารถที่จะขนส่งสินค้าไปยังท่าอากาศยานดังกล่าวได้ แต่ก็มีผู้ประกอบการบางส่วนต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยทำการขนส่งสินค้าผ่านทางรถบรรทุกเพื่อส่งต่อไปยังท่าอากาศยานในต่างจังหวัดหรือประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ แม้จะเพิ่มต้นทุนแก่ผู้ประกอบการกว่าร้อยละ 25 แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องกระทำเพื่อรักษาความเชื่อมั่นแก่ลูกค้าในการส่งมอบสินค้าให้ตรงเวลาและป้องกันการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากการเน่าเสียของสินค้า ทำให้ธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนนได้อานิสงส์บางส่วนจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าปริมาณการขนส่งสินค้าทางถนนในปี 2551 จะมีประมาณ 426 ล้านตัน หดตัวประมาณร้อยละ 0.5 ลดลงจากปีก่อนที่มีปริมาณการขนส่งสินค้าทางถนนประมาณ 428.1 ล้านตัน ขยายตัวประมาณร้อยละ 0.1
สำหรับในปี 2552 ปัญหาต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดูเหมือนจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญเร่งด่วนมากนักสำหรับธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนน เนื่องจากราคาน้ำมันมีทิศทางปรับลดลงอย่างต่อเนื่องและแม้ราคาอาจปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ก็จะไม่อยู่ในระดับที่สูงมากดังเช่นปีก่อน แต่ปัญหาสำคัญที่ธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนนจะต้องเผชิญในปีนี้ก็คือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจไทย ทำให้ภาคการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศมีแนวโน้มหดตัวหรือชะลอตัวอย่างมาก โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าการส่งออกในปีนี้อาจหดตัวประมาณร้อยละ 10-16 จากปีก่อนที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 16.8 ส่วนการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว -0.2 ถึง 0.3 จากปีก่อนที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 2.5 สะท้อนภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้ธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนนอาจต้องเผชิญยอดการใช้บริการลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากภาคการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศถือเป็นผู้ใช้บริการหลักในธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนน นอกจากนี้ สำหรับผู้ให้บริการไทยยังต้องเผชิญภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น จากแนวโน้มการเข้ามาแข่งขันของผู้ให้บริการต่างชาติ ซึ่งมักมีความได้เปรียบจากเงินทุนและเทคโนโลยีระดับสูงที่นำมาให้บริการ ทำให้มีความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยสามารถให้บริการในขั้น 3PL (Third-Party Logistics Providers) ซึ่งครอบคลุมการให้บริการขนส่งและโลจิสติกส์แบบครบวงจร ขณะที่ผู้ให้บริการไทยส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและมักมุ่งเน้นการให้บริการเฉพาะด้านและเฉพาะพื้นที่เท่านั้น ทำให้ในอนาคตคาดว่าผู้ให้บริการไทยโดยเฉพาะผู้ให้บริการขนาดเล็กอาจได้รับผลกระทบอย่างมาก ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2552 ปริมาณการขนส่งสินค้าทางถนนจะมีประมาณ 413.2-417.5 ล้านตัน หดตัวประมาณร้อยละ 2-3 เป็นการหดตัวต่อเนื่องจากปีก่อนที่หดตัวประมาณร้อยละ 0.5 อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาปริมาณการขนส่งสินค้าทางถนนมีอัตราการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก โดยเฉลี่ยเปลี่ยนแปลงไม่เกินร้อยละ 0.7 ดังนั้น อัตราการหดตัวที่ประมาณร้อยละ 2-3 ในปีนี้ก็สะท้อนภาพแนวโน้มของธุรกิจที่ไม่สดใสอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม แม้ในปีนี้ธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนนอาจมีแนวโน้มไม่สดใส แต่จากความได้เปรียบในด้านภูมิศาสตร์ของไทย รวมทั้งการพัฒนาเส้นทางการขนส่งในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Sub-Region: GMS) โดยเฉพาะเส้นทาง R3A และ R9 ที่ปัจจุบันได้เปิดใช้บริการแล้ว หรือเส้นทางการขนส่งในกลุ่ม BIMSTEC (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) ที่แม้ในปัจจุบันอาจยังมีอุปสรรคด้านกายภาพ แต่ในอนาคตถือว่าเป็นโอกาสของธุรกิจขนส่งที่สำคัญอย่างมาก ซึ่งหากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันพัฒนาและส่งเสริมให้มีการใช้เส้นทางดังกล่าวในการขนส่งสินค้าทางถนนมากขึ้นหรือใช้เป็นส่วนหนึ่งของการขนส่งในรูปแบบ Multi-Modal Transportation ก็จะเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนนท่ามกลางวิกฤตปัญหาที่รุมเร้า อีกทั้งยังจะช่วยให้ไทยมีโอกาสในการเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางถนนในภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลดีทั้งต่อธุรกิจการขนส่งและที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนเศรษฐกิจในภาพรวมอีกด้วย
ผลกระทบต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่องและการจ้างงานของภาคขนส่ง
ทั้งนี้ จากแนวโน้มการหดตัวของธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนนย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องไปสู่ธุรกิจเกี่ยวเนื่องต่างๆ รวมทั้งภาคการจ้างงานด้วย โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินผลกระทบที่สำคัญ ดังนี้
ผลกระทบต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่สำคัญ อาทิ
– ธุรกิจจำหน่ายรถบรรทุกเพื่อการขนส่ง อาจมียอดจำหน่ายรถบรรทุกใหม่ลดลง โดยผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งมีโอกาสที่จะชะลอหรืองดการลงทุนในภาวการณ์เช่นนี้
– ธุรกิจซ่อมบำรุงรถบรรทุก เมื่อปริมาณการขนส่งสินค้าลดลงทำให้ปริมาณการเดินรถลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้ยอดการซ่อมบำรุงรถบรรทุกอาจลดลงตาม
– ธุรกิจบริการติดตั้งและปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ก๊าซ NGV แนวโน้มการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ไปใช้ก๊าซ NGV เริ่มมีทิศทางลดลงหลังจากราคาน้ำมันลดลงเป็นอย่างมาก รวมทั้งเมื่อธุรกิจขนส่งสินค้าต้องเผชิญกับภาวะยอดใช้บริการลดลง ก็ยิ่งทำให้การลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ไปสู่ก๊าซ NGV มีความสำคัญลดลงอย่างมาก ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนและขยายตลาดเพื่อพยุงสถานะของธุรกิจให้อยู่รอดมากกว่าที่จะลงทุนติดตั้งเครื่องยนต์ใหม่
– ธุรกิจบริการคลังสินค้าและโลจิสติกส์ ก็คาดว่าจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยหากปริมาณการขนส่งสินค้าลดลงยอดการใช้คลังสินค้าเพื่อกระจายหรือเก็บรักษาสินค้าก็อาจลดลงด้วย อีกทั้งการลดลงของการขนส่งสินค้าย่อมส่งผลให้บริการโลจิสติกส์ทั้งระบบชะลอตัวด้วย
ผลกระทบต่อภาคการจ้างงาน การหดตัวของธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนนอาจทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับลดกำลังแรงงานลงเพื่อลดต้นทุนดำเนินการ ส่งผลให้อาจลดการจ้างงานหรือชะลอการรับพนักงานใหม่ รวมทั้งพนักงานเดิมจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้สูงขึ้น
แนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการ … แสวงหาโอกาสจากเส้นทาง GMS และ BIMSTEC
จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกดดันธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนนในปีนี้ ขณะที่การเปิดเสรีบริการขนส่งและโลจิสติกส์อย่างเต็มรูปแบบก็ใกล้จะเกิดขึ้น รวมทั้งแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในระยะยาวก็ล้วนเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญเช่นกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เสนอแนะแนวทางการปรับตัวทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้
ระยะสั้น
ปรับรูปแบบการขนส่งให้มีประสิทธิภาพและลดต้นทุนมากขึ้น อาทิ
– วางแผนเส้นทางเดินรถที่มีประสิทธิภาพและสามารถทำกำไรให้กับผู้ประกอบการได้ ไม่จำเป็นต้องยึดติดว่าเป็นเส้นทางขนส่งประจำหรือไม่ รวมทั้งหากสามารถตกลงกับผู้ใช้บริการเกี่ยวกับช่วงเวลาในการขนส่งได้ ก็อาจช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่มีการจราจรติดขัดได้
– วางแผนให้มีการขนส่งรถในเที่ยวขากลับ (Back Haul) ให้มากที่สุด
– วางแผนใช้รถบรรทุกอย่างเหมาะสม โดยรถบรรทุกขนาดใหญ่สำหรับเส้นทางระยะไกล (Long Haul) แล้วกระจายสินค้าต่อโดยใช้รถบรรทุกขนาดเล็กสำหรับเส้นทางระยะใกล้ (Short Haul)
– เลือกใช้รูปแบบการขนส่งแบบ LTL (Less-Than-Truck Load) ในบางเส้นทางอย่างเหมาะสม โดยเป็นรูปแบบการขนส่งแบบมีตารางเวลา ทำให้รถบรรทุกไม่จำเป็นต้องรอให้มีสินค้าเต็มคันก็สามารถออกเดินรถได้ โดยสามารถไปแวะรับสินค้าริมเส้นทางที่ผ่านได้
ขยายตลาดและแสวงหากลุ่มลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการควรเร่งดำเนินการ เนื่องจากจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทำให้มีผู้ใช้บริการขนส่งสินค้าทางถนนลดลง ผู้ประกอบการจึงควรต้องเร่งหาตลาดใหม่ๆ ที่ยังมีโอกาสอยู่ รวมทั้งขยายการให้บริการให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เช่น ขยายเส้นทางการขนส่ง ปรับเปลี่ยนชนิดสินค้าที่รับขนส่งให้หลากหลายมากขึ้น เป็นต้น โดยเส้นทางเศรษฐกิจ GMS ทั้ง R3A และ R9 ล้วนเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการในการขยายตลาดใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาหลังการเปิดให้บริการยังมีผู้ให้บริการขนส่งในเส้นทางนี้ไม่มากนัก ดังนั้น ในระยะสั้นผู้ให้บริการไทยอาจเปิดให้บริการรับส่งสินค้าในลักษณะการรับช่วงต่อจากผู้ให้บริการต่างประเทศที่ต้องการขนส่งสินค้าผ่านไทย หลังจากนั้นในระยะยาวจึงเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดให้บริการและใช้ศักยภาพจากเส้นทางเศรษฐกิจ GMS อย่างเต็มรูปแบบ
สร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการให้มากขึ้น โดยจะเห็นได้ว่าการปรับปรุงประสิทธิภาพในหลายด้านจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างกัน เช่น การขนส่งในรถเที่ยวกลับ การขยายเส้นทางเดินรถ เป็นต้น ทำให้ผู้ประกอบการควรมีการรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายและร่วมมือกันในการพัฒนาประสิทธิภาพในการขนส่งและโลจิสติกส์ให้เพิ่มสูงขึ้น โดยในปัจจุบันก็เริ่มมีการรวมกลุ่มระหว่างผู้ประกอบการไทยบ้างแล้ว นอกจากการรวมกลุ่มระหว่างผู้ประกอบการไทยด้วยกันแล้ว ยังสามารถเข้าไปสร้างความร่วมมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้ประกอบการต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสการให้บริการในเส้นทางใหม่ๆ โดยเฉพาะเส้นทางเศรษฐกิจ GMS และ BIMSTEC
ระยะยาว
เตรียมพร้อมรับมือการเปิดเสรีภาคบริการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งจะทำให้มีผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาดำเนินการมากขึ้น ภาวะการแข่งขันในตลาดจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยคาดว่าผู้ประกอบการต่างชาติจะมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาให้บริการมากขึ้น นอกจากนี้ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยยังให้บริการในด้านการขนส่งสินค้าเป็นหลัก ขณะที่ผู้ประกอบการต่างชาติขนาดใหญ่จะให้บริการด้านโลจิสติกส์อย่างครบวงจร ผู้ประกอบการไทยจึงควรเร่งพัฒนาศักยภาพให้สูงขึ้น เนื่องจากในอนาคตผู้ใช้บริการจะมีอำนาจต่อรองมากยิ่งขึ้น สามารถเลือกใช้บริการที่มีต้นทุนและการบริการดีที่สุด
วางแนวทางการปรับเปลี่ยนไปใช้ก๊าซ NGV แม้ในปีนี้ราคาน้ำมันดีเซลซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักของรถบรรทุกจะมีแนวโน้มลดลงจากปีก่อนเป็นอย่างมาก ทำให้ประเด็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานในภาคขนส่งไปสู่การใช้ก๊าซ NGV ดูเหมือนจะถูกลดความสำคัญลง ดังจะเห็นได้จากในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 จำนวนรถบรรทุกที่นำไปติดตั้งก๊าซ NGV มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนกระทั่งในช่วงครึ่งหลังของปีที่ราคาน้ำมันเริ่มมีทิศทางลดลง จำนวนรถบรรทุกที่ไปติดตั้งก๊าซ NGV ก็เริ่มลดน้อยลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกคาดว่าจะเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันมีจำกัดแต่การบริโภคยังคงเพิ่มขึ้น ดังนั้น ในระยะยาวราคาน้ำมันจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามกลไกตลาด ผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนนจึงควรใช้โอกาสที่ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับไม่สูงนี้ในการวางแผนและทยอยปรับเปลี่ยนไปสู่การใช้ก๊าซ NGV อย่างเหมาะสม
รวมกลุ่มกันลงทุนในเทคโนโลยีสำหรับการขนส่งและโลจิสติกส์ ทั้งด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และบุคลากร เช่น เทคโนโลยี RFID (Radio Frequency Identification), ITV (In-Transit Visibility), EDI (Electronics Data Interchange), RosettaNet เป็นต้น จะเห็นได้ว่าการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการเปิดเสรีและขยายเส้นทางการขนส่งในกลุ่ม GMS และ BIMSTEC นั้น ด้านหนึ่งจำเป็นต้องมีการลงทุนในเทคโนโลยีระดับสูง โดยอาจต้องใช้เม็ดเงินลงทุนเป็นจำนวนมาก การร่วมกันลงทุนจะช่วยลดขนาดการลงทุนด้านเทคโนโลยีของผู้ประกอบการแต่ละรายลง และเพิ่มโอกาสการเชื่อมโยงโครงข่ายการให้บริการในลักษณะเครือข่ายโลจิสติกส์ (Logistics Network) มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เทคโนโลยีมีมาตรฐานและสอดคล้องกับการให้บริการระหว่างกันมากยิ่งขึ้นด้วย
ผลักดันให้มีการใช้เส้นทางการขนส่งสินค้าภายในกลุ่ม GMS และ BIMSTEC มากขึ้น โดยต้องเพิ่มโอกาสในการเป็นศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาค เช่น ลงทุนพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าในเส้นทางที่สำคัญ ขยายเส้นทางการขนส่งให้เชื่อมโยงและครอบคลุมในเส้นทางเศรษฐกิจ GMS และ BIMSTEC ส่งเสริมให้มีการขนส่งในรูปแบบ Multi-Modal Transportation นำเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการขนส่งระหว่างประเทศ เป็นต้น
สรุปและข้อคิดเห็น
ในปี 2551 ธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนนต้องเผชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่จากปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การปรับขึ้นราคาค่าบริการขนส่งก็มีข้อจำกัดจากผู้ใช้บริการที่มีอำนาจในการต่อรองค่อนข้างสูง อีกทั้งการตกลงค่าบริการมักจะอยู่ในรูปของสัญญา จึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทันตามราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตจากยอดการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ในช่วงปลายปีที่มีการชุมนุมประท้วงจนทำให้ต้องมีการปิดท่าอากาศยานในกรุงเทพฯ ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้ต้องมีการขนส่งสินค้าผ่านทางรถบรรทุกเพื่อส่งต่อไปยังท่าอากาศยานในต่างจังหวัดหรือในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงแทน ทำให้ธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนนได้อานิสงส์บางส่วนจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าปริมาณการขนส่งสินค้าทางถนนในปี 2551 จะมีประมาณ 426 ล้านตัน หดตัวประมาณร้อยละ 0.5 ลดลงจากปีก่อนที่มีปริมาณการขนส่งสินค้าทางถนนประมาณ 428.1 ล้านตัน ขยายตัวประมาณร้อยละ 0.1
สำหรับในปี 2552 ปัญหาต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนน เนื่องจากราคาน้ำมันมีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาสำคัญคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจไทย ทำให้ภาคการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างมาก โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าการส่งออกในปีนี้อาจหดตัวประมาณร้อยละ 10-16 จากปีก่อนที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 16.8 ส่วนการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว -0.2 ถึง 0.3 จากปีก่อนที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 2.5 ส่งผลให้ธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนนอาจต้องเผชิญยอดการใช้บริการลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากภาคการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศถือเป็นผู้ใช้บริการหลัก นอกจากนี้ สำหรับผู้ประกอบการไทยยังต้องเผชิญภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น จากแนวโน้มการเข้ามาแข่งขันของผู้ให้บริการต่างชาติ ซึ่งมีความได้เปรียบจากเงินทุนและเทคโนโลยีระดับสูง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2552 ปริมาณการขนส่งสินค้าทางถนนจะมีประมาณ 413.2-417.5 ล้านตัน หดตัวประมาณร้อยละ 2-3 หดตัวต่อเนื่องจากปีก่อนที่หดตัวประมาณร้อยละ 0.5 นอกจากนี้ จากแนวโน้มการหดตัวของธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนนคาดว่าจะทำให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง อาทิ ธุรกิจจำหน่ายรถบรรทุก ธุรกิจซ่อมบำรุงรถบรรทุก ธุรกิจติดตั้งเครื่องยนต์ก๊าซ NGV และธุรกิจบริการคลังสินค้าและโลจิสติกส์ได้รับผลกระทบชะลอตัวตาม และยังส่งผลให้อาจมีการปรับลดการจ้างงานในภาคการขนส่งอีกด้วย
ในส่วนของแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าในภาพรวมควรเร่งแสวงหาโอกาสจากเส้นทางเศรษฐกิจ GMS และ BIMSTEC ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญในการขนส่งของไทยและภูมิภาค โดยในระยะสั้นผู้ประกอบการควรปรับรูปแบบการขนส่งให้มีประสิทธิภาพและลดต้นทุนมากขึ้น ขยายตลาดและแสวงหากลุ่มลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น และสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการให้มากขึ้น ส่วนในระยะยาวผู้ประกอบการควรต้องเตรียมพร้อมรับมือการเปิดเสรีภาคบริการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ วางแนวทางการปรับเปลี่ยนไปใช้ก๊าซ NGV รวมกลุ่มกันลงทุนในเทคโนโลยีสำหรับการขนส่งและโลจิสติกส์ ตลอดจนผลักดันการขนส่งภายในกลุ่ม GMS และ BIMSTEC ให้มากขึ้น