ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กระแสหวั่นวิตกต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและรายได้ในอนาคตของผู้บริโภคอาจเป็นตัวแปรหลักที่จะมีผลต่อปริมาณความต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์ภายในประเทศปี 2552 โดยผู้บริโภคอาจจะเลือกซื้อเฉพาะสินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่จำเป็นเท่านั้น หรือหันไปเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องประดับตกแต่งเก่าที่มีอยู่แล้วแทนการซื้อใหม่ทั้งหมด จึงคาดว่าการเติบโตของการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านโดยรวมในปี 2552 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ 5 (ณ ราคาคงที่) ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงจากปี 2551 ที่เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 (ณ ราคาคงที่) เมื่อเทียบกับปี 2550 โดยการขยายตัวที่เกิดขึ้นนั้นคาดว่าน่าจะมาจากกลุ่มที่ต้องการซื้อเพื่อตกแต่งบ้านสำหรับการอยู่อาศัยอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นตลาดกลุ่มที่มีกำลังซื้อ และมีความจำเป็นในการซื้อที่อยู่อาศัยในปี 2552 ประกอบกับแรงกระตุ้นจากการเปิดเกมรุกแข่งขันของบรรดาผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ เพื่อหวังเพิ่มยอดขายและรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ให้ได้ ทั้งนี้ การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคในปี 2552 มีแนวโน้มจะคำนึงถึงปัจจัยด้านการใช้งานในระยะยาว ความคงทน และความคุ้มค่า อย่างชัดเจนมากขึ้น
ขณะที่สถานการณ์การส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยในปี 2552 มีแนวโน้มว่าจะต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยง 5 ประการหลัก ดังนี้
ปัญหาการชะลอตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก อันเนื่องมาจากวิกฤติเศรษฐกิจ อันมีจุดเริ่มต้นมาจากภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ จนส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจของประเทศต่างๆของโลกในขณะนี้ โดยล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2552 จะเติบโตเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.5 ขณะที่ปริมาณการค้าโลกโดยรวมก็อาจจะไม่มีการขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 27 ปีนับตั้งแต่ปี 2525 ขณะที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศคาดการณ์ว่าอัตราการว่างงานในปีนี้จะสูงถึงร้อยละ 7.1
ปัญหาการกีดกันทางการค้า ผู้ประกอบการไทยอาจจะต้องเผชิญกับภาวะการกีดกันทางการค้าในลักษณะของมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีและมาตรการอื่นๆ ที่เป็นช่องโหว่ของข้อตกลงการค้าเสรีตามกรอบ WTO ที่ยังไม่ชัดเจน เพราะจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบัน ทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการทั้งในและต่างประเทศของแต่ละประเทศทั่วโลกหดตัวลง รวมถึงการว่างงานที่ขยายตัวสูงขึ้น ส่งผลให้แต่ละประเทศโดยเฉพาะตลาดหลักทั้งสามของไทยจำเป็นต้องปกป้องธุรกิจภายในประเทศด้วยการใช้มาตรการกีดกันการค้ามากขึ้น ส่งผลให้ความเสี่ยงต่อการชะลอคำสั่งซื้อสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนในปี 2552 อาจจะยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นตามมา
ปัญหาด้านวัตถุดิบราคาแพงและขาดแคลนโดยเฉพาะวัตถุดิบไม้ ทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นท่ามกลางสินค้าราคาถูกครองตลาด
ปัญหาสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรงจากสินค้าราคาถูกของจีนและเวียดนาม ที่คาดว่าอาจจะส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดของไทยโดยเฉพาะในตลาดระดับกลางถึงล่างมีแนวโน้มลดน้อยลงได้อีก เพราะแม้ว่าสินค้าจากจีนจะไม่เป็นที่ยอมรับหรือได้รับการต่อต้านจากผู้บริโภคในด้านคุณภาพและความปลอดภัย แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว ทำให้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ดังนั้น เฟอร์นิเจอร์ของจีนซึ่งมีราคาถูกกว่าไทยโดยเปรียบเทียบจึงยังคงเป็นคู่แข่งที่สำคัญ
ปัญหาด้านการลอกเลียนแบบสินค้าที่ยังคงความรุนแรง อันเนื่องมาจากผู้นำเข้าในตลาดโลกบางรายได้มีการนำตัวอย่างแบบที่ผลิตในไทยไปให้ผู้ผลิตในประเทศอินเดีย จีน และอินโดนีเซียทำการผลิต เพราะต้นทุนในประเทศดังกล่าวถูกกว่าไทยโดยเปรียบเทียบ โดยแม้ว่าคุณภาพสินค้าที่ผลิตได้จะไม่มีความประณีตเทียบเท่ากับสินค้าไทยก็ตาม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่าในกรณีที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศไม่ได้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ หรือภาคอสังหาริมทรัพย์ของแต่ละประเทศฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด โดยเฉพาะในตลาดคู่ค้าหลักทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ที่มีสัดส่วนการส่งออกรวมกันประมาณร้อยละ 60-70 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้โดยรวมในปี 2551 ที่ผ่านมา จะมีผลให้การส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยโดยรวมในปี 2552 เติบโตติดลบร้อยละ 10-20 ซึ่งเป็นการชะลอตัวลงไปอีกจากที่มีอัตราการเติบโตติดลบร้อยละ 8.4 ในปี 2551 ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของผู้ประกอบการสินค้ากลุ่มนี้ของไทยอย่างแน่นอน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่พึ่งพิงเพียงตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นเท่านั้น อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ว่าอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนอาจจะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มของการเลิกจ้างงานสูงติดอันดับต้นๆของไทยในปี 2552 ด้วย
อย่างไรก็ตาม หากมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อและการใช้จ่ายที่มีขนาดจำนวนมหาศาล ของแต่ละประเทศคู่ค้าของไทยโดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่นเป็นไปด้วยดี หรือสามารถกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ให้ฟื้นตัวได้บ้างภายในครึ่งหลังปี 2552 ก็อาจจะช่วยพยุงให้ความต้องการซื้อสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนในปี 2552 ไม่เลวร้ายจนเกินไปนัก ประกอบกับอุปสงค์สินค้าเฟอร์นิเจอร์ในตลาดใหม่ของไทย อย่างจีน อินเดีย และตะวันออกกลาง ก็ยังมีแนวโน้มที่ดีพอสมควร เนื่องจากเป็นตลาดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของตลาดสหรัฐฯไม่มากนัก และกำลังซื้อยังค่อนข้างดี โดยจากการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศระบุว่าในปี 2552 เศรษฐกิจจีน อินเดีย และตะวันออกกลาง จะยังคงเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6.7 ร้อยละ 5.1 และร้อยละ 3.9 ตามลำดับ ทั้งนี้ ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนการส่งออกและอัตราการเติบโตของสินค้ากลุ่มนี้ของไทยในตลาดใหม่อย่างอินเดีย และตะวันออกกลางโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงตลาดในทวีปแอฟริกา ที่แม้ว่าจะมีกำลังซื้อไม่สูงมากนัก แต่ก็เป็นตลาดที่ความต้องการสินค้าเฟอร์นิเจอร์ยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี และเปิดกว้างหรือพร้อมเปิดรับสินค้าจากต่างประเทศค่อนข้างสูง นอกจากนี้ ตลาดอาเซียนก็เป็นตลาดที่ยังคงเติบโตได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านของไทยทั้ง ลาว กัมพูชา และพม่า ที่ไทยมีความได้เปรียบในด้านต้นทุนการขนส่งที่ต่ำกว่า เพราะใช้ระยะเวลาในการขนส่งน้อยกว่าคู่แข่งโดยเปรียบเทียบ โดยคาดว่าในกรณีที่เศรษฐกิจของคู่ค้าหลักของไทยสามารถพลิกฟื้นได้ภายในครึ่งหลังปี 2552 ก็อาจจะพยุงให้การส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยเติบโตติดลบเพียงร้อยละ 5 จนถึงเติบโตร้อยละ 0 (หรือมูลค่าการส่งออกใกล้เคียงกับปี 2551 ที่ผ่านมา)
วิเคราะห์ศักยภาพเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยในปี 2552
หากวิเคราะห์ศักยภาพของสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยในตลาดโลกจะพบว่า สินค้ากลุ่มนี้ของไทยมีจุดแข็ง-จุดอ่อน และโอกาส-อุปสรรค ดังรายละเอียดในตารางต่อไปนี้
จุดแข็ง
• สินค้าโดดเด่นด้วยความหลากหลายของวัตถุดิบ
• สินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยเป็นที่ยอมรับในด้านคุณภาพและความปลอดภัย
• แรงงานไทยมีทักษะและฝีมือประณีตในการผลิต
จุดอ่อน
• ไม้เนื้อแข็งมีราคาแพงและขาดแคลน ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
• ปริมาณไม้ยางพาราแปรรูปไม่มีความแน่นอน เพราะหากน้ำยางดิบราคาดี ชาวสวนจะชะลอการโค่นต้นยาง
• การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการออกแบบและการผลิตยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำเมื่อเทียบกับยุโรป
• ขาดแคลนแรงงานฝีมือ และบุคลากรด้านการออกแบบเพื่อยกระดับขึ้นสู่ตลาดระดับกลาง-บน
โอกาส
• ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพพอสมควร
• นโยบายผลักดันเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่พยายามครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพและทุกภาคธุรกิจ น่าจะกระตุ้นให้การลงทุนของภาคเอกชนและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศต่อรายได้ในอนาคตไม่เลวร้ายจนเกินไปนัก นอกจากนี้ยังมีมาตรการหักลดหย่อนภาษีจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์
• อุปสงค์สินค้าเฟอร์นิเจอร์ในตลาดใหม่ของไทย อย่างจีน อินเดีย หรือ แอฟริกาใต้ ยังมีแนวโน้มดี เนื่องจากเป็นตลาดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯไม่มากนัก และกำลังซื้อยังค่อนข้างดี
สินค้าของจีนมีปัญหาความน่าเชื่อถือในส่วนของคุณภาพและความปลอดภัย
อุปสรรค
• แม้ว่าค่าครองชีพของประชาชนเริ่มบรรเทาลง แต่ยังคงเป็นระดับค่าครองชีพที่สูง ประกอบกับทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปัญหาการเลิกจ้าง ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อรายได้ในอนาคต ทำให้ผู้บริโภคภายในประเทศต่างยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย
• การแข่งขันในตลาดต่างประเทศค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะสินค้าจากจีน มาเลเซีย เวียดนาม และไต้หวัน
• มีการย้ายฐานการผลิตจากไทยไปประเทศคู่แข่งมากขึ้น เพราะค่าจ้างถูกกว่าไทย อาทิจีน และเวียดนาม
• การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป
ดังนั้น สถานการณ์การแข่งขันในตลาดเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศในปี 2552 มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วงชิงกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้ผู้ประกอบการสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์ทั้งเพื่อการตกแต่งบ้านและสำนักงานในยุคปัจจุบันต้องเร่งปรับตัวหลากหลายด้านควบคู่กันไป เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ดังนี้
การพัฒนาด้านการผลิต
การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารต้นทุนการผลิต เพื่อพยุงกำไรไว้ให้ได้ท่ามกลางต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นและสินค้าราคาถูกครองตลาด ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในส่วนของคุณสมบัติ และนวัตกรรมของวัตถุดิบ รวมถึงเทคโนโลยีการผลิตให้เกิดความสูญเสียระหว่างการผลิตน้อยที่สุด
เร่งหาวัตถุดิบไม้ในต่างประเทศที่ถูกกว่า และใช้ทดแทนไม้ในประเทศได้ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่
ประชาสัมพันธ์และสร้างภาพลักษณ์อย่างจริงจังแก่ไม้ยางพาราว่าเป็นสินค้าดี มีคุณภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือจัดตั้งเป็นสถาบันไม้ยางพาราแห่งประเทศไทย เพื่อบริหารจัดการเรื่องไม้ยางพาราทั้งระบบ
สร้างความแตกต่างของสินค้า โดยเน้นคุณภาพ ความประณีต รูปแบบที่โดดเด่นและเพิ่มเติมเสริมแต่งด้วยงานวาดภาพลวดลายดอกไม้ หรือตัวการ์ตูน โดยคำนึงถึงความต้องการและสามารถรองรับกับวิถีการดำเนินชีวิตของลูกค้าต่างประเทศ ที่ต้องผ่านการศึกษาวิจัยอย่างละเอียดมากขึ้น นอกจากนี้ สินค้าที่ผลิตจะต้องก่อให้เกิดความรู้สึกคุ้มค่าต่อการจับจ่ายของผู้บริโภคด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคในปัจจุบันที่เน้นการคุ้มค่าคุ้มราคาเป็นสำคัญ
การพัฒนาด้านการตลาด
เร่งกระตุ้นความต้องการบริโภคในประเทศ อาจจะต้องเปิดเกมรุกบุกตลาดที่โดดเด่นและชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผ่านการประชาสัมพันธ์ในสื่อต่างๆ พร้อมกับสร้างการรับรู้ และความเข้าใจในตัวสินค้าต่อผู้บริโภคด้วย ขณะที่การออกแบบก็ต้องสอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของผู้บริโภค เช่น การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่มีขนาดเล็กลง เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของลูกค้าที่นิยมใช้ชีวิตในอาคารสูงมากขึ้น หรือการออกแบบโดยอิงธรรมชาติ เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม หรือผู้บริโภคที่ชอบตกแต่งสวน
สร้างภาพลักษณ์ของการเป็นศูนย์กลางตลาดส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของไทยในเอเชีย ผ่านงานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ภายในประเทศ
ใช้ประโยชน์จากการเปิดการค้าเสรีระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย อินเดีย เปรู และอาเซียน เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันไว้ให้ได้มากที่สุด
ผู้ประกอบการไทยแต่ละรายจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในประเทศคู่ค้าแต่ละประเทศให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เนื่องจากเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตเพื่อขายให้กับลูกค้าในประเทศหนึ่งประเทศใดอาจจะไม่เป็นที่ถูกใจสำหรับผู้บริโภคอีกประเทศหนึ่งก็ได้ ขณะเดียวกัน ก็ต้องขยายตลาดกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างยิ่งขึ้นนอกเหนือจากกลุ่มผู้บริโภคตามบ้านเรือน ไปสู่กลุ่มโรงแรมหรูหราราคาระดับสูง และกลุ่มรีสอร์ท ซึ่งอาจจะต้องปรับลดปริมาณการสั่งซื้อขั้นต่ำให้น้อยลงบ้าง เพื่อให้มีเม็ดเงินรายได้หมุนเวียนต่อเนื่อง
พัฒนาตราสินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลกแทนการรับจ้างผลิต โดยเฉพาะการสร้างตราสินค้าให้เป็นที่รู้จักในตลาดใหม่
การสร้างโอกาสทางการตลาดส่งออก
เน้นจัดกิจกรรมเจาะตลาดที่มีศักยภาพ หรือตลาดที่น่าจะประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจไม่มากนัก เช่น รัสเซีย อินเดีย และตลาดตะวันออกกลาง (ทั้งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดิอาระเบีย) เป็นต้น ด้วยการพยายามเข้าร่วมงานแสดงสินค้า และพัฒนาการซื้อขายสินค้าผ่าน E-commerce
เน้นเจาะตลาดประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเป็นตลาดที่ยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ทั้งนี้ในปี 2551 ที่ผ่านมา ไทยสามารถส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปสู่ตลาดประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกันทั้งพม่า กัมพูชา ลาว และมาเลเซีย รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1,598.1 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.3 เมื่อเทียบกับปี 2550 โดยสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของไทยมีความได้เปรียบด้านการขนส่งทางบกเหนือคู่แข่งอย่างจีนในตลาดดังกล่าว เนื่องจากมีพรมแดนติดต่อกัน ทำให้การขนส่งสินค้าไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าวค่อนข้างสะดวกและรวดเร็ว โดยเฉพาะตลาดกัมพูชาและลาวนั้นคาดว่าความต้องการสินค้าเฟอร์นิเจอร์ยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก เพราะทั้งสองประเทศยังไม่สามารถผลิตได้เองภายในประเทศ นอกจากนี้ เงินบาทของไทยยังได้รับการยอมรับทั้งในกัมพูชาและลาว ทำให้การซื้อขายสินค้าของไทยคล่องตัวกว่าคู่แข่ง และสินค้าไทยหลายประเภทก็เป็นที่รู้จักแพร่หลายในตลาดกัมพูชาและลาวมากกว่าคู่แข่งประเทศอื่นๆ และชาวกัมพูชาและลาวส่วนใหญ่คุ้นเคยกับสินค้าจากไทยมากกว่าสินค้าจากจีน หรือเวียดนามด้วย จึงเป็นตลาดที่เหมาะต่อการขยายการส่งออกไม่น้อย แม้ว่ามูลค่าอาจจะไม่มากนัก แต่ก็เป็นโอกาสที่ไม่ควรมองข้าม
เน้นเจาะตลาดแอฟริกา ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาอัตราการเติบโตของสินค้ากลุ่มนี้ของไทยไปยังตลาดแอฟริกามีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ต่อปี โดยในปี 2551 ที่ผ่านมา ไทยสามารถส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไปประเทศในทวีปแอฟริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 สวนทางกับสถานการณ์การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้โดยรวมของไทยที่เติบโตลดลงร้อยละ 8.4 จึงสะท้อนได้ในระดับหนึ่งว่าสินค้ากลุ่มนี้ของไทยมีโอกาสสูงพอสมควรในตลาดนี้ ประกอบกับเศรษฐกิจของหลายประเทศในทวีปแอฟริกายังมีแรงขับเคลื่อนที่ดีของภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคการก่อสร้าง โดยเฉพาะประเทศแอฟริกาใต้ที่ได้รับอานิสงส์จากการที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2010 ที่นอกจากจะมีการทุ่มเม็ดเงินมหาศาลในการก่อสร้างสนามกีฬาแล้ว ยังต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านโรงแรมที่พักสำหรับนักกีฬาและทีมงานของชาติที่เข้าร่วมการแข่งขันด้วย จึงน่าจะมีส่วนผลักดันให้ความต้องการสินค้าเฟอร์นิเจอร์ในตลาดดังกล่าวเติบโตได้อีกมาก แต่ทั้งนี้ ในการบุกตลาดในทวีปแอฟริกาในเบื้องต้นนั้น ผู้ประกอบการอาจจะต้องอาศัยประเทศหลักๆบางประเทศเป็นช่องทางไปสู่ประเทศอื่นๆ เช่น อียิปต์สำหรับการเข้าสู่แอฟริกาตอนเหนือ ขณะที่อาศัยเคนยา และ ไนจีเรียเป็นประตูเข้าสู่ตลาดแอฟริกาทางตะวันออกและตะวันตก ตามลำดับ ส่วนแอฟริกาใต้ก็เป็นช่องทางเข้าสู่ประเทศอื่นๆของทวีปแอฟริกาทางใต้ ซึ่งผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องมีการกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้ชัดเจนว่าสินค้าไทยจะเป็นสินค้าในตลาดระดับกลางขึ้นไป โดยไม่ควรแข่งขันกับสินค้าระดับล่าง เพราะจะเสียเปรียบด้านราคาจำหน่ายในที่สุด
บทสรุป
นอกเหนือจากปัญหาด้านการแข่งขันที่รุนแรง ปัญหาด้านวัตถุดิบราคาแพงและขาดแคลน รวมถึงปัญหาการลอกเลียนแบบสินค้า ที่ยังคงเป็นอุปสรรคต่อศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยในปี 2552 แล้ว ในปีนี้อุตสาหกรรมกลุ่มดังกล่าวของไทยยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบจากการชะลอตัวของกำลังซื้อผู้บริโภคอันเนื่องมาจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ที่มีการคาดการณ์ว่าปี 2552 จะเป็นยุคที่ตกต่ำที่สุดของเศรษฐกิจโลกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 อีกด้วย โดยเฉพาะความรุนแรงของภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจของตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุน และสหภาพยุโรปที่มีการนำเข้าสินค้าประเภทนี้คิดเป็นสัดส่วนรวมกันประมาณร้อยละ 70-80 ของมูลค่าการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนโดยรวมในตลาดโลก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่าการเติบโตของตลาดเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกมีแนวโน้มจะชะลอตัวลงต่อเนื่องจากปีก่อน โดยการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านโดยรวมภายในประเทศมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ 5 (ณ ราคาคงที่) ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงจากปี 2551 ที่เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 (ณ ราคาคงที่) ขณะที่แนวโน้มตลาดส่งออกคาดว่า หากเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศคู่ค้าหลักของไทยทรุดตัวหนักกว่าที่คาด อาจส่งผลให้การส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยในปี 2552 เติบโตติดลบร้อยละ 10-15 ซึ่งเป็นการชะลอตัวลงไปอีกจากปี 2551 ที่มีอัตราการเติบโตติดลบร้อยละ 8.4 แต่ถ้าหากมาตรการต่างๆของประเทศคู่ค้าของไทยส่งสัญญานที่ดีภายในครึ่งหลังปี 2552 ก็อาจจะมีผลให้การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ของไทยมีโอกาสเติบโตติดลบเพียงร้อยละ 5 หรืออาจจะเติบโตเป็นร้อยละ 0 (มูลค่าการส่งออกไม่แตกต่างจากปี 2551 มากนัก) โดยมีตลาดใหม่ๆเป็นตัวแปรเสริมที่น่าจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในปี 2552
ทั้งนี้ ขนาดของผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆข้างต้นต่อผู้ประกอบการไทยแต่ละรายอาจจะมีระดับความรุนแรงแตกต่างกันไปตามขีดความสามารถในการแข่งขัน และการปรับตัวของผู้ประกอบการว่าจะสามารถรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้มากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่เน้นการส่งออกเป็นหลักหรือมีสัดส่วนการส่งออกในปริมาณมากจะต้องหันมาสร้างความต้องการสินค้าของผู้บริโภคในประเทศให้เพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนปริมาณการส่งออกที่มีแนวโน้มลดลง โดยอาจจะต้องเปิดเกมรุกบุกตลาดที่โดดเด่นและชัดเจนมากยิ่งขึ้นผ่านการประชาสัมพันธ์ในสื่อต่างๆ พร้อมกับสร้างการรับรู้ และความเข้าใจในตัวสินค้าต่อผู้บริโภคด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามรักษาฐานตลาดลูกค้าเดิมในตลาดส่งออกไว้ให้ได้มากที่สุดด้วยเพื่อความอยู่รอด ถึงแม้ว่าจะเกิดภาวะซบเซาของเศรษฐกิจทั่วโลกก็ตาม ด้วยการนำเสนอคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยที่ดีกว่าในการเจาะตลาด พร้อมกับการสร้างตราสินค้าให้เป็นที่รู้จักกับตลาดใหม่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในตลาดแถบทวีปแอฟริกาที่ยังมีแรงขับเคลื่อนที่ดีต่อเศรษฐกิจจากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการขยายตัวของภาคการก่อสร้าง หรืออาจจะขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจไม่มากนัก อาทิ จีน อินเดีย และตะวันออกกลาง พร้อมกับการจัดกิจกรรมเจาะตลาดอย่างต่อเนื่อง ด้วยการพยายามเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและพัฒนาการซื้อขายสินค้าผ่าน E-commerce ขณะที่ผู้ที่มีความเข้มแข็งในการผลิตและมีการสร้างแบรนด์ในระดับหนึ่งแล้ว อาจจะขยายฐานตลาดไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยอาศัยความได้เปรียบด้านต้นทุนการขนส่งที่ต่ำกว่าเป็นปัจจัยสนับสนุนในการขยายฐานตลาดให้กว้างขวางยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับการวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคและพัฒนาสินค้าทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงสินค้าที่มีอยู่แล้วให้ตรงกับความต้องการของตลาด พร้อมกับเร่งปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุนการผลิต และการพัฒนาทักษะแรงงาน โดยเฉพาะด้านความสามารถในการผลิตชิ้นงานที่มีความประณีตและมีรายละเอียดในชิ้นงานมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสสำหรับการเพิ่มอำนาจในการกำหนดราคาเหนือคู่แข่ง ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นการเพิ่มต้นทุนจนทำให้สินค้ามีราคาแพงกว่าคู่แข่ง แต่หากสามารถตอบสนองด้านความพึงพอใจ หรือให้ความรู้สึกถึงความคุ้มค่าคุ้มราคา เช่นคุณภาพดี หรือมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ก็อาจจะก่อให้เกิดการตัดสินใจซื้อที่ไม่ยากนัก เพราะการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคในปัจจุบันทั้งภายในประเทศและตลาดส่งออกต่างมีแนวโน้มจะคำนึงถึงปัจจัยด้านการใช้งานในระยะยาว ความคงทน และความคุ้มค่า ค่อนข้างชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ