ทรูรายงานผลการดำเนินงานปี 2551 รายได้ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย

ทรูประกาศผลประกอบการประจำปี 2551 โดยรายได้ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.2 และมีผลการดำเนินงานที่ถึงจุดคุ้มทุน (Breakeven) เป็นปีแรก โดย ผลประกอบการจากการดำเนินงานปกติ (NIOGO) ปรับตัวเป็นกำไร จำนวน 62 ล้านบาท จากเดิมขาดทุนในปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ธุรกิจออนไลน์และทรูวิชั่นส์ยังคงเติบโตได้ดี

โดยในปี 2551 กลุ่มทรูมีรายได้จากค่าบริการโดยรวม (ไม่รวมค่าเชื่อมโยงโครงข่าย หรือ IC) ปรับตัว ดีขึ้นเป็นจำนวนทั้งสิ้น 52 พันล้านบาท ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงาน ก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดจ่าย หรือ EBITDA โดยรวมลดลงร้อยละ 6.5 เป็น 18 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากค่า IC ที่เพิ่มขึ้นของทรูมูฟ

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร กล่าวว่า “ปี 2551 ธุรกิจของกลุ่มทรูยังคงคืบหน้าในหลายๆ ด้าน จากการดำเนินยุทธศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ ทำให้จำนวนครัวเรือนที่ใช้ผลิตภัณฑ์และบริการของกลุ่มทรูตั้งแต่ 2 รายการขึ้นไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เป็น 1.9 ล้านครัวเรือน รวมทั้งโปรโมชั่นที่รวมบริการต่างๆ ของทรู ได้รับการตอบสนองที่ดีจากตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ใช้บริการในทุกธุรกิจหลักของกลุ่มทรู เพิ่มขึ้น”

“ธุรกิจทรูออนไลน์และทรูวิชั่นส์ ยังคงเติบโตได้ดี ในปี 2551 นอกจากนี้ ในไตรมาส 4 ทรูมูฟมีรายได้เพิ่มขึ้นและค่า IC สุทธิ ยังคงลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ทำให้ผลประกอบการโดยรวมของกลุ่มทรู ในไตรมาส 4 ทั้งรายได้จากค่าบริการ (ไม่รวม IC) EBITDA และ อัตราการทำกำไร ณ ระดับ EBITDA เพิ่มขึ้น ท่ามกลางเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลง”

กำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติ (NIOGO) ของกลุ่มทรูในปีที่ผ่านมาปรับตัวดีขึ้น เป็น 62 ล้านบาท (จากขาดทุน 1.2 พันล้านบาท ในปี 2550) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าเสื่อมราคาลดลง ทั้งนี้ทรูมีผล ขาดทุนสุทธิจำนวนทั้งสิ้น 3.4 พันล้านบาท รวมผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 2.6 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง จากการเปลี่ยนเงินกู้ต่างประเทศเป็นเงินบาท ด้วยอัตราแลกเปลี่ยน ณ สิ้นปี (Mark to Market)

สำหรับทรูมูฟ ปี 2551 ด้วยความสำเร็จจากโปรโมชั่นส่งเสริมการโทรในโครงข่าย ทำให้ยอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่องในไตรมาส 4 และมียอดผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิจำนวน 2.7 ล้านราย ดังนั้น ณ สิ้นปี 2551 ทรูมูฟมียอดผู้ใช้บริการทั้งสิ้น 14.8 ล้านราย และสามารถครองส่วนแบ่งตลาดผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิได้ร้อยละ 30 ทั้งนี้รายได้จากบริการโดยรวม (ไม่รวมค่า IC) ในปี 2551 ลดลง ร้อยละ 4 เป็น 22.8 พันล้านบาท โดยมีค่า IC สุทธิเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ EBITDA ลดลงร้อยละ 25 เป็น 5.7 พันล้านบาท

รายได้จากบริการโดยรวมของทรูออนไลน์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากปีที่ผ่านมา เนื่องจากบริการบรอดแบนด์ยังคงเติบโตต่อเนื่อง รวมทั้งมีรายได้จากบริการใหม่ อาทิ บริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศและบริการโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ ทั้งนี้บริการบรอดแบนด์มีรายได้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 19 เป็น 5.0 พันล้านบาท โดยยอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ทำให้มีจำนวนผู้ใช้บริการรวม 632,000 ราย ในขณะที่บริการ Wi-Fi มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 109,000 ราย จาก 32,000 ราย ในปีที่ผ่านมา

ทรูวิชั่นส์มียอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 41 เป็น 1.5 ล้านรายในปี 2551 เนื่องจากยุทธศาสตร์การขยายตลาดสู่ลูกค้าในระดับกลาง-ล่างประสบความสำเร็จ สามารถเพิ่มยอดผู้ใช้บริการแพ็คเกจสำหรับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายดังกล่าวได้มาก 2 เท่า ในขณะที่อัตราการเปลี่ยนจากแพ็คเกจสำหรับ ลูกค้าในระดับกลาง-ล่างมาใช้แพ็คเกจราคาสูงกว่าของทรูวิชั่นส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ทำให้รายได้จากค่าบริการของทรูวิชั่นส์ในปี 2551 เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 6.4 เป็น 9.4 พันล้านบาท

นายนพปฎล เดชอุดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงินกล่าวเสริมว่า “ทรูยังคงมุ่งมั่นลดภาระหนี้อย่างต่อเนื่อง ในปี 2551 ทรูมีระดับหนี้ลดลงจากการชำระหนี้คืน 4.6 พันล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้นในต้นปี 2552 ทรูยังสามารถระดมทุนจำนวน 6.38 พันล้านบาท จากการออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม ทำให้ทรูมีความแข็งแกร่งทางการเงินยิ่งขึ้น รวมทั้งเสริมความมั่นคงให้กับบริษัทในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว”

“จากการที่ในปี 2551 บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีผลประกอบการที่คุ้มทุน (Breakeven) เป็นปีแรก จึงทำให้ผมเชื่อมั่นว่า ในปี 2552 ทรูจะสามารถเพิ่มรายได้ต่อเนื่อง รวมทั้งการให้ความสำคัญในการลดค่าใช้จ่าย จะทำให้ทรูสามารถรักษาระดับอัตราการทำกำไร (EBITDA margin) และยังคงพัฒนายุทธศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ รวมทั้งบริการใหม่ๆ เช่น 3G ที่จะเกิดขึ้น เพื่อตอบสนองทุกความต้องการของลูกค้า ”

“ทรูมูฟยังคงมีเป้าหมายครองส่วนแบ่งผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิราว 1 ใน 3 ของตลาดโดยรวม และ ลงทุนในบริการที่มีอัตราการเติบโตสูง ซึ่งรวมบริการด้าน Non-voice และ 3G นอกจากนี้ ทรูวิชั่นส์จะเน้นขยายฐานลูกค้ารายเดือนและขยายตลาดสู่ลูกค้าในระดับกลาง-ล่างต่อเนื่อง ในขณะที่ทรูออนไลน์ จะใช้ยุทธศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ขยายตลาดบรอดแบนด์สู่ตลาดผู้มีรายได้สูงเพิ่มยิ่งขึ้น” นายศุภชัยกล่าวสรุป