สมาคมนายหน้าฯ ห่วงคนซื้อ-ขายบ้านมือสองไม่ได้รับความเป็นธรรม

สมาคมนายหน้าฯ เผยธุรกิจบ้านมือสองแข่งขันสูงในตลาดมีนายหน้าชาวไทยและต่างชาติ ทั้งนิติบุคคลกว่า 500-600 บริษัท และนายหน้าอิสระอีกหลายแสนราย ชี้นายหน้าจำนวนไม่น้อยมุ่งแสวงหากำไรไร้จรรยาบรรณ ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายบ้านมือสองถูกโกงและเอารัดเอาเปรียบ สร้างปัญหาให้กับวงการและสมาคมไร้อำนาจควบคุม เร่งรัฐออกกฎหมายตั้งศูนย์ข้อมูลนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ควบคุมจรรยาบรรณ

นายแพทย์สมศักดิ์ มุนีพีระกุล นายกสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาผู้บริโภคทั้งผู้ซื้อและผู้ขายบ้านมือสอง มีปัญหาจากการใช้บริการผ่านนายหน้า ทั้งถูกฉ้อโกง เอารัดเอาเปรียบ ไม่ปฏิบัติตามสัญญา รวมทั้งปัญหาอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของนายหน้า แม้ว่าผู้ที่มีปัญหาได้ร้องเรียนผ่านมายังสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ เพื่อต้องการให้สมาคมฯ ไกล่เกลี่ยและช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าบริษัทหรือนายหน้าอิสระเหล่านั้น ไม่ได้เป็นสมาชิกชองสมาคมฯ ทางสมาคมฯ ไม่สามารถดำเนินการช่วยเหลือได้ทั้งหมด เนื่องจากไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปดำเนินการ ที่สำคัญประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายออกมาควบคุมการทำงานของนายหน้า ตอนนี้ช่วยเหลือได้เพียงการแนะนำให้ใช้บริการนายหน้าที่เป็นสมาชิกของสมาคมนายหน้าเท่านั้น

“ปัจจุบันธุรกิจบ้านมือสองมีการแข่งขันสูงมาก ในตลาดนั้นมีทั้งนายหน้าชาวไทยและต่างชาติ ทั้งที่จดทะเบียนในรูปแบบนิติบุคคลกว่า 50-600 บริษัท และนายหน้าอิสระจำนวนหลายแสนราย โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต พัทยา เกาะสมุย หัวหินและเชียงใหม่ ที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บ้านมือสองมีการแข่งขันสูง ในขณะเดียวกันมีนายหน้าต่างชาติทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก และไม่สามารถควบคุมเรื่องจรรยาบรรณได้ทั้งหมด จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นายกสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์กล่าว และให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ ต้องการให้ประชาชนใช้บริการนายหน้าที่เป็นสมาคมของสมาคมฯ เท่านั้น เนื่องจากได้ผ่านการพิจารณากฎเกณฑ์และคุณสมบัติที่เหมาะสม เช่น ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรวิชาชีพอสังหาริมทรัพย์ และผ่านการสอบรับใบอนุญาตจากสมาคมฯ มั่นใจว่านายหน้าที่เป็นสมาชิกมีความสามารถในการทำงานภายใต้จรรยาบรรณของวิชาชีพ และเมื่อเกิดปัญหากับผู้บริโภคสมาคมฯ สามารถเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือได้

หากประชาชนมีปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นกับการซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ผ่านนายหน้าที่เป็นสมาชิก ทันทีที่ได้รับการร้องเรียนสมาคมฯ จะมีอนุกรรมการจรรยาบรรณเข้าไปพิจารณาและตรวจสอบทันที ทั้งนี้ สมาคมฯ มีมาตรการในการพิจารณาตามขั้นตอน เริ่มจากการไกล่เกลี่ย ตักเตือน ลงโทษ และขั้นสูงสุดคือถูกขับออกจากสมาชิกสมาคมฯ โดยให้ความสำคัญต่อผลประโยชน์ของประชาชน

ต่อข้อถามถึงเรื่องการป้องกันปัญหาและช่วยเหลือผู้บริโภค นพ.สมศักดิ์ ให้ความเห็นว่า ต้องการให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว ด้วยการเร่งจัดตั้งศูนย์ข้อมูลนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ รวบรวมข้อมูลของนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ให้ประชาชนได้ใช้บริการในรูปแบบเดียวกับศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาไทย ที่อยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ซึ่งการขึ้นทะเบียนจะไม่บังคับบริษัทที่ประกอบธุรกิจนายหน้า แต่ผู้บริโภคสามารถค้นข้อมูลและเลือกใช้บริษัทนายหน้าที่อยู่ในศูนย์ข้อมูลนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างมั่นใจ

สำหรับความเป็นไปได้ของการจัดศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์นั้น ที่ผ่านมารัฐบาลได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว เนื่องจากมาตรการส่งเสริมธุรกิจบ้านมือสองที่ได้รับอนุมัติแล้วตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 13 กันยายน 2548 โดยให้ตั้งศูนย์ข้อมูลนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ตามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 510/2548 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารศูนย์ข้อมูลนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ สั่ง ณ.วันที่ 14 ตุลาคม 2548 โดยการกำกับดูแลของสำนักประเมินทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ซึ่งได้มีการประชุมและสรุปเป็นมติที่ประชุมกรรมการบริหารศูนย์ข้อมูลครั้งที่ 2 แล้วเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2549 หากรัฐมนตรีที่รับผิดชอบเรื่องนี้สั่งการ เชื่อว่าศูนย์ข้อมูลนายหน้าอสังหาริมทรัพย์สามารถเปิดดำเนินการได้ทันที

ในเรื่องเดียวกันนี้นายประวิทย์ อนุศิริ กรรมการผู้จัดการบริษัทเบสเบ็น(ไทยแลนด์) จำกัด ในฐานะกรรมการสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ได้ให้ความเห็นถึงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ว่า จากประสบการณ์ในการทำธุรกิจนายหน้าเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงงาน โกดังฯลฯ ซึ่งมีโอกาสให้บริการประชาชนทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมาก ยืนยันได้ว่าธุรกิจนายหน้าได้รับการยอมรับจากประชาชนมากขึ้น แต่ส่วนหนึ่งยังมีความกังวลอยู่บ้าง หากรัฐบาลเห็นความสำคัญและมีศูนย์ข้อมูลนายหน้าขึ้น เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนมีความมั่นใจและได้รับประโยชน์ เนื่องจากสามารถตรวจสอบข้อมูลของนายหน้าก่อนที่จะตัดสินใจใช้บริการ นอกจากนี้แล้วนายหน้าจะมีการปรับตัวและพัฒนาการบริการให้ดีขึ้นเพื่อรับมือกับการแข่งขันของตลาด

ทางด้านนางภัทราภรณ์ จรูญโรจน์ ณ.อยุธยา ประธานกรรมการบริษัทภัทร พร็อพเพอร์ตี้ มาร์เก็ต จำกัด กล่าวในฐานะกรรมการสมาคมนายหน้าว่า ที่ผ่านมาได้ทำงานในฐานะนายหน้าที่มีสำนักงานอยู่ที่หัวหิน-ชะอำ ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีการแข่งขันสูงทั้งนายหน้าชาวไทยและต่างชาติ หากรัฐบาลยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับนายหน้าฯ ก็ควรมีการจัดระเบียบอาชีพของนายหน้า มั่นใจว่าการเกิดขึ้นของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ จะเป็นผลดีทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ที่ทำอาชีพ ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งดำเนินการโดยด่วน เพราะเป็นประโยชน์กับผู้ที่ใช้บริการทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ

ทั้งนี้ ประชาชนที่ต้องการซื้อ-ขายบ้านมือสอง หรือตรวจสอบสถานะภาพของนายหน้าว่าเป็นสมาชิกสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์หรือไม่ ตรวจสอบได้ที่ www.reba.or.th หรือสอบถามได้ที่ 0-2679-3255