ทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจ…ในยุคดอกเบี้ยต่ำ และตลาดเงินตลาดทุนผันผวน

หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 ธนาคารพาณิชย์ก็ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำลงตามมา จนท้ายที่สุดแล้ว อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ก็ได้ถูกปรับลดลงมาเหลือร้อยละ 0.5 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จากระดับร้อยละ 0.75 (ซึ่งเป็นระดับอัตราดอกเบี้ยที่ยืนทรงตัวต่อเนื่องมายาวนานถึง 64 เดือน หรือตั้งแต่เดือนธันวาคม 2543) ทั้งนี้ การตัดสินใจดังกล่าว เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน นับจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.5 มาที่ร้อยละ 1.5 ในการประชุมล่าสุดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552

ทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงดังกล่าว ผนวกกับความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนทั้งในและนอกประเทศ นอกจากจะส่งผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนจากการออมให้ลดน้อยถอยลงไปจากเดิมแล้ว ก็ยังทำให้แนวโน้มผลตอบแทนในอนาคตขาดความชัดเจน ขณะที่ เพิ่มความเสี่ยงให้กับเม็ดเงินลงทุนตั้งต้นของนักลงทุนอีกด้วย อาทิ การลงทุนในหุ้น ซึ่งอัตราผลตอบแทนหดตัวลงไปแล้วกว่าร้อยละ 7 ตั้งแต่ต้นปี 2552 ขณะที่ การลงทุนในทองคำนั้น แม้จะสร้างผลตอบแทนสูงถึงร้อยละ 11.4 ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2552 (ถึงวันที่ 12 มี.ค.) แต่ก็มีการแกว่งตัวของราคาทองคำในภาพรวมที่ยังสูงต่อเนื่องจากปี 2551 ซึ่งทำให้นักลงทุนที่เก็งกำไรราคาทองผิดจังหวะ มีโอกาสเผชิญกับผลขาดทุนที่มากขึ้นได้

ในการนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้รวบรวมปัจจัยที่นักลงทุน หรือผู้มีเงินออม ควรคำนึงถึง ตลอดจน ทิศทางอัตราดอกเบี้ยและตลาดการลงทุนที่สำคัญ ดังนี้

ปัจจัยสำคัญที่ผู้ออมควรคำนึงถึง
ในการเลือกช่องทางในการออม หรือลงทุนนั้น ผู้มีเงินออมคงต้องคำนึงถึง 3 ตัวแปรหลัก ได้แก่ ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ สภาพคล่องของการลงทุน และอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำที่ต้องการ โดยเพื่อให้สามารถตัดสินใจถึงระดับความเสี่ยง สภาพคล่อง และอัตราผลตอบแทนดังกล่าวได้ ผู้มีเงินออมอาจต้องประเมินสถานะรายรับ-รายจ่ายทั้งในปัจจุบันและอนาคตของตน อันจะช่วยกำหนดจุดประสงค์ที่ชัดเจนของการออมเงิน ขีดความสามารถในการออมเงิน และระยะเวลาการออมเงินที่เป็นไปได้ เพื่อนำมาคัดสรรช่องทาง ตลอดจนเครื่องมือการออมที่เหมาะสมต่อไป

ความเคลื่อนไหวของตลาดการลงทุนต่างๆ ตั้งแต่ต้นปี 2552 ที่ผ่านมา
ตั้งแต่ต้นปี 2552 อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในแต่ละตลาดแกว่งตัวไปในทิศทางที่ปะปนกัน โดยดัชนีตลาดหุ้นไทยลดลงร้อยละ 6.7 สวนทางกับการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุ 1 ปีที่ให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยที่ร้อยละ 1.59 และทองคำที่ให้อัตราผลตอบแทนร้อยละ 11.4 ซึ่งล้วนแต่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ที่เสนออัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 1 ปีที่ร้อยละ 1.0-1.25 ตั้งแต่ต้นปี 2552 ที่ผ่านมา

แรงกดดันที่ปรากฏขึ้นต่ออัตราผลตอบแทนของตลาดหุ้นนั้น มีสาเหตุสืบเนื่องมาจากข่าวเชิงลบจากเครื่องชี้เศรษฐกิจมหภาคจากประเทศต่างๆ ในโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนในตลาดโลกมีพฤติกรรมที่หลีกเลี่ยงความเสี่ยง ด้วยการลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้น และกลับมาเพิ่มน้ำหนักให้กับสินทรัพย์ที่ถูกมองว่ามีความมั่นคงสูงอย่างสินค้าโภคภัณฑ์ ทองคำ และสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ฯ ผลที่ตามมาคือ การเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทย แกว่งตัวไปในทิศทางที่ลดลงพร้อมเพรียงกัน ขณะที่ ราคาทองคำกลับทะยานขึ้น ด้านอัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นนั้น มีทิศทางที่อ่อนตัวลงตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งส่งผลตามมาให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวลดลงตาม อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุ 1 ปีล่าสุด (12 มี.ค.52) อยู่ที่ร้อยละ 1.18 เทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 1 ปี (Mode) ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่งที่ร้อยละ 1

ทิศทางของอัตราผลตอบแทนและตลาดการลงทุนที่สำคัญในปี 2552
สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2552 นั้น ทิศทางผลตอบแทนของตลาดการลงทุนที่สำคัญ คาดว่าจะยังคงได้รับอิทธิพลจากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ต่อทิศทางของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัวในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เป็นอย่างน้อย และมีโอกาสหดตัวสูงถึงร้อยละ 2.7-4.3 จากปีก่อน ซึ่งถือเป็นการหดตัวต่อเนื่องจากการลดลงที่ร้อยละ 4.3 ในไตรมาส 4/2551 ที่ผ่านมา หลังจากที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนขึ้น และอาจลากยาวออกไปถึงปี 2553 ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกของไทยมีโอกาสหดตัวลงแรงด้วยเลขทศนิยมสองตำแหน่งต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 3/2552 ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเนื่องมายังภาคการผลิต การจ้างงาน และการบริโภคในประเทศ ในทำนองเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะมีค่าเฉลี่ยในช่วงครึ่งปีแรกที่หดตัวร้อยละ 1.1-1.8 ตามการเปรียบเทียบกับฐานที่สูงของปีก่อน ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ และผลกระทบจากการชะลอตัวของภาวะอุปสงค์ในประเทศ

ภายใต้มุมมองต่อเศรษฐกิจโลกและไทย ตลอดจนทิศทางเงินเฟ้อในประเทศดังกล่าว คาดว่าจะมีผลกระทบต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยและตลาดการลงทุนต่างๆ ดังนี้
• อัตราดอกเบี้ยในประเทศยังมีโอกาสลดลงต่อ
จากแนวโน้มการหดตัวลงของระดับราคาในประเทศ ผนวกกับความเสี่ยงต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น คาดว่า ธปท.ยังอาจสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติมจากระดับร้อยละ 1.5 ในปัจจุบัน ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ไทยมีโอกาสลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมลงอีก แต่ทั้งนี้ เนื่องจากการที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศอยู่ในระดับต่ำมากแล้ว โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ในปัจจุบัน อยู่ที่เพียงร้อยละ 0.5 และเงินฝากประจำ 3-12 เดือน อยู่ที่ร้อยละ 0.9-1.25 เท่านั้น กอปรกับ ธปท.เริ่มส่งสัญญาณว่า ประสิทธิผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมีข้อจำกัดมากขึ้นท่ามกลางเงื่อนไขทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ดังนั้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจึงน่าจะดำเนินต่อไปได้อีกไม่มากนักนับจากนี้ โดยมีขนาดการปรับลดไม่เกินร้อยละ 0.50 ภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2552

ราคาทองคำยังถูกมองว่ามีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้อีก แต่ด้วยความผันผวนที่เพิ่มขึ้น จากการที่เศรษฐกิจโลก นำโดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่เข้าสู่จุดต่ำสุดของภาวะตกต่ำในรอบนี้ ดังนั้น จึงอาจมีข่าวร้ายจากเครื่องชี้เศรษฐกิจที่ออกมาแย่กว่าที่คาด ทยอยประกาศออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจตอกย้ำพฤติกรรมหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุน ส่งผลให้นักลงทุนให้น้ำหนักกับการลงทุนในทองคำต่อไป ผลักดันให้ราคาทองคำยังคงมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ยังคงคาดว่าราคาทองคำในตลาดโลกอาจทะยานขึ้นจากระดับปัจจุบัน (12 มี.ค.52) ที่ประมาณ 915.65 ดอลลาร์ฯ ต่อออนซ์ ทดสอบระดับ 1,000 ดอลลาร์ฯ ต่อออนซ์อีกครั้งหนึ่งภายในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า หรือเทียบเป็นราคาทองคำแท่งที่บาทละประมาณ 17,000 บาท

อย่างไรก็ตาม จังหวะการปรับขึ้นของราคาทองคำดังกล่าว จะยาวนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับพัฒนาการของข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯและโลกที่จะทยอยประกาศออกมา รวมถึงการตอบรับของนักลงทุนต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและความพยายามของทางการชาติต่างๆ ในการแก้ปัญหาวิกฤตในครั้งนี้ ซึ่งในเบื้องต้นที่ นักวิเคราะห์เชื่อว่าสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจเริ่มปรากฏขึ้นในช่วงท้ายปีนี้นั้น ก็อาจทำให้ราคาทองคำขาดแรงหนุนที่สำคัญ ขณะที่ สินทรัพย์เสี่ยงอาจเริ่มกลับมาได้รับความสนใจมากขึ้นก็เป็นได้

แต่ทั้งนี้ นักลงทุนรายย่อยควรตระหนักว่า การซื้อขายทองคำแท่งอาจเผชิญกับปัญหาสภาพคล่องที่ลดลง โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น (หรือลดลง) มากๆ อันอาจกระตุ้นให้นักลงทุนรายย่อยเทขาย (หรือเข้าซื้อ) ทองคำจำนวนมากจนเกินความสามารถในการรับซื้อ (หรือขาย) ทองคำของร้านทอง ซึ่งอาจนำมาสู่การระงับการทำธุรกรรมของร้านทองชั่วคราว (หรือการให้บัตรคิวเพื่อซื้อทองคำ) ได้ นอกจากนี้ ปี 2552 ยังน่าจะเป็นปีที่ราคาทองคำมีโอกาสผันผวนสูงขึ้นกว่าเดิม ตามความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในตลาดโลก

ภายใต้สถานการณ์ที่ผลตอบแทนจากการลงทุนในทองคำอาจต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงที่สูงขึ้น และสภาพคล่องที่อาจลดลง โดยเฉพาะหากนักลงทุนเลือกจังหวะการทำกำไรไม่เหมาะสม นักลงทุนจึงอาจให้ผู้เชี่ยวชาญบริหารการลงทุนแทน ด้วยการเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในทองคำ หรือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศที่ลงทุนในทองคำ ขณะที่การลงทุนใน Gold Futures ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ แต่อาจไม่เหมาะกับนักลงทุนรายย่อยทั่วไป เนื่องจากต้องใช้ความชำนาญและความเข้าใจในวิธีการลงทุนที่ซับซ้อนกว่าการซื้อ-ขายทองคำแท่ง อีกทั้งผลตอบแทนจากการลงทุนมีโอกาสเหวี่ยงขึ้น-ลงในระดับที่มากกว่าการลงทุนในทองคำแท่งด้วย

จังหวะการทำกำไรในหุ้นอาจยังจำกัด แม้ดัชนีมีโอกาสขยับขึ้นได้ในช่วงปลายปี จากการที่วิกฤตการเงินในครั้งนี้ยังไม่ถึงจุดต่ำสุด และปมปัญหาในภาคการเงินสหรัฐฯ ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาวิกฤตการเงินในรอบนี้ ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จ คาดว่าคงจะมีข่าวลบจากเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และโลก และข่าวร้ายจากผลประกอบการของบริษัทต่างๆ ออกมาเป็นระยะๆ ตลอดช่วง 3-6 เดือนจากนี้ไปเป็นอย่างน้อย ซึ่งอาจจำกัดการปรับขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นหลักของโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทย โดยแม้ บล.กสิกรไทยมองว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยไม่น่าจะหลุดระดับต่ำสุดเดิมที่เคยทำไว้ที่ 380 จุด แต่ก็ได้ปรับลดการคาดการณ์ของระดับปิดของดัชนีจากเดิมที่ 565 จุด มาที่ 510 จุดสำหรับสิ้นปี 2552

ภายใต้แนวโน้มที่การฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์มีโอกาสได้รับอัตราผลตอบแทนที่ลดลงอีก ขณะที่ การลงทุนในทองคำและตลาดหุ้นไทยยังมีความผันผวนค่อนข้างสูง ดังนั้น ผู้มีเงินออมที่ต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจึงอาจพิจารณาการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ กองทุนรวม และประกันชีวิต ที่ยังคงมีอัตราผลตอบแทนเหนือกว่าการฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน

การลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ซึ่งมีทั้งการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชน โดยแม้ว่าการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลอาจมีแนวโน้มอัตราผลตอบแทนที่ลดลงสำหรับการลงทุนประเภทอายุสั้นๆ แต่พันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุที่ยาวออกไป ยังน่าจะมีอัตราผลตอบแทนที่มีโอกาสขยับขึ้นได้อีกเล็กน้อย จากข่าวด้านอุปทานของพันธบัตรอันเป็นผลจากการขาดดุลงบประมาณของภาครัฐ ที่อาจยังไม่ถูกรับรู้เข้าไปในอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอย่างเต็มที่ ประกอบกับรัฐบาลอาจออกพันธบัตรออมทรัพย์ล็อตใหม่ ซึ่งในเบื้องต้นอาจมีวงเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของผู้มีเงินออมที่ต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการลงทุน โดยที่ยังสามารถรักษาระดับอัตราผลตอบแทนที่เหนือเงินฝากได้ โดย ณ วันที่ 12 มี.ค.2552 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับร้อยละ 1.38 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภทเดียวกันประมาณร้อยละ 0.3 (ปรับผลของภาษีหัก ณ ที่จ่ายแล้ว)

สำหรับผู้ออมที่สามารถรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นได้ ก็อาจพิจารณาการลงทุนในหุ้นกู้เอกชน ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว อัตราผลตอบแทนมักแปรผันตามอันดับความน่าเชื่อถือ (Rating) ยกตัวอย่างเช่น ในปัจจุบัน หุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือที่ AAA และ AA เสนออัตราผลตอบแทนสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุเดียวกัน (Interest Spread/Premium) ประมาณร้อยละ 1.3-1.95 ขณะที่ หากอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ต่ำลงมาที่ระดับ BBB+ อัตราผลตอบแทนส่วนเพิ่มดังกล่าว จะขยับขึ้นมาที่ประมาณร้อยละ 3.4-3.6 หรืออาจกล่าวได้ว่า การลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชนเหล่านี้ สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าเงินฝากประจำได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 อย่างไรก็ตาม ผู้ออมควรศึกษารายละเอียดและฐานะทางการเงินของบริษัทที่ออกหุ้นกู้ ตลอดจนเงื่อนไขต่างๆ ของหุ้นกู้ดังกล่าวอย่างรอบคอบ เพื่อประเมินถึงความเสี่ยงและสภาพคล่องของหุ้นกู้ว่าอยู่ในขอบเขตที่ยอมรับได้หรือไม่ ก่อนตัดสินใจลงทุน

กองทุนรวม ในกรณีที่ผู้มีเงินออม/นักลงทุนรายย่อยไม่มั่นใจว่าจะสามารถลงทุนได้อย่างมืออาชีพ ผู้มีเงินออมก็อาจเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนหลากหลายประเภท ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Funds) และกองทุนรวมตราสารหนี้ (Fixed Income Funds) ถือเป็นทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจ โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กองทุนตลาดเงินระยะสั้น สามารถสร้างผลตอบแทน (Investment Return) ได้เฉลี่ยประมาณร้อยละ 2.94 ขณะที่กองทุนตราสารหนี้ มีผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 2.69

ประกันชีวิต เป็นอีกทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจ เพราะบริษัทประกันส่วนใหญ่เสนออัตราผลตอบแทนขั้นต่ำสูงถึงประมาณร้อยละ 4-5 ต่อปีในปัจจุบัน (คปภ.กำหนดอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำไว้ที่ร้อยละ 3) นอกจากนี้ การลงทุนในประกันชีวิตยังสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 1 แสนบาท สำหรับกรมธรรม์ที่ทำใหม่ในปี 2552 อย่างไรก็ตาม การทำประกันชีวิต ถือเป็นการลงทุนระยะยาว จึงทำให้สภาพคล่องค่อนข้างต่ำ ขณะเดียวกัน ผู้ทำประกันอาจต้องคำนึงถึงความมั่นคงของบริษัทประกันมากขึ้น ท่ามกลางความเสี่ยงจากปัญหาวิกฤตการเงินโลกที่สูงขึ้นในปัจจุบัน

โดยสรุป ท่ามกลางแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ลดลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในประเทศยังมีโอกาสปรับลดลงต่อ สอดคล้องกับความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจขยับลงเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ผู้มีเงินออมคงได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในกรณีดังกล่าว ผู้มีเงินออมจึงควรพิจารณาทางเลือกในการลงทุนอื่นๆ ที่อาจให้อัตราผลตอบแทนดีกว่าการฝากเงิน ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ภายใต้แนวโน้มที่เศรษฐกิจโลกยังอาจถดถอยลงต่ออย่างน้อยภายในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า การลงทุนในตลาดหุ้นอาจเผชิญความเสี่ยงจากข่าวลบจากเครื่องชี้เศรษฐกิจโลกที่อาจออกมาย่ำแย่กว่าที่คาด ขณะที่ การลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์อย่างทองคำ แม้ว่ามีแนวโน้มที่จะให้อัตราผลตอบแทนสูงต่อเนื่องในฐานะที่เป็นเครื่องมือการลงทุนที่มีความปลอดภัยสูง (Safe-Haven) ในสายตานักลงทุนในระยะนี้ แต่ก็มีความผันผวนสูงขึ้นกว่าในปี 2551 ดังนั้น สำหรับนักลงทุนที่หลีกเลี่ยงความเสี่ยง การลงทุนในช่องทางอื่นๆ อย่างตลาดตราสารหนี้ กองทุนรวม และประกันชีวิต จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ โดยแม้ว่าช่องทางการลงทุนเหล่านี้ อาจมีแนวโน้มอัตราผลตอบแทนที่อ่อนตัวลงไปบ้างในอนาคตอันใกล้ ตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ก็ยังให้อัตราผลตอบแทนที่เหนือกว่าการฝากเงิน ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว น่าจะช่วยประคับประคองความมั่งคั่งของผู้มีเงินออมได้บ้าง โดยเฉพาะในยามที่เสถียรภาพด้านรายได้ถูกสั่นคลอนจากภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่มีโอกาสยืดเยื้อเช่นในปัจจุบัน