เศรษฐกิจโลกตกต่ำ..การลงทุนจากต่างประเทศหดตัวต่อเนื่อง

สืบเนื่องจากปัญหาวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ ที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว การเกิดภาวะสินเชื่อตึงตัว และภาพแนวโน้มของเศรษฐกิจในอนาคตที่ยังคงมีความไม่แน่นอน องค์กรที่ประชุมว่าด้วยการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNCTAD) คาดการณ์ว่าเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั่วโลกในปี 2552 จะหดตัวต่อเนื่องจากปี 2551 ที่ลดลงร้อยละ 21 (มูลค่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยสำหรับประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มูลค่าการลงทุนโดยตรงมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองแนวโน้มการลงทุนจากต่างประเทศว่าอาจมีแนวโน้มที่จะลดลงไปอีกจากมูลค่าการลงทุนในปี 2551 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์รายละเอียดภาพรวมและปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการลงทุนในปี 2552 ดังต่อไปนี้

การขอรับการลงทุนปี 51.. ต่ำกว่าเป้าหมายเดิม 6 แสนล้านบาท
จากตัวเลขการขอรับการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะเห็นได้ว่ามูลค่าการลงทุนปี 2551 อยู่ที่ 444.6 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นมูลค่าที่ต่ำกว่าเป้าหมายเดิมได้มีการตั้งไว้ที่ 600,000 ล้านบาท โดยขนาดของโครงการที่ขอรับการส่งเสริมปี 2551 โดยเฉลี่ยมีขนาดเล็กกว่าโครงการที่ขอรับการส่งเสริมในปี 2550 ในส่วนของโครงการลงทุนจากต่างประเทศ มูลค่าการลงทุนลดลงถึงร้อยละ 40.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการที่ประเทศผู้ลงทุน คือ ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ลงทุนลดลงร้อยละ 30.9 และร้อยละ 91.3 ตามลำดับ โดยโครงการที่จัดอยู่ในกลุ่มกิจการโลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง และโครงการในกลุ่มเคมีภัณฑ์ มีมูลค่าการขอรับการลงทุนลดลงมากกว่าครึ่ง เนื่องจากการลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (น้ำมัน เหล็ก เคมีภัณฑ์) ในตลาดโลกและอุปสงค์ที่ชะลอตัวในช่วงครึ่งปีหลัง

ในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.ของปี 2552 ปรากฎว่ามีโครงการที่ขอรับการส่งเสริมเป็นจำนวน 141 โครงการซึ่งมีมูลค่าโครงการรวม 108.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยคิดเป็นร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สาเหตุเนื่องจากมีโครงการขนาดใหญ่ (มากกว่า 1 พันล้านบาท) ในอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภคซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศเข้ามาขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วงเดือนม.ค. โดยเป็นโครงการด้านกิจการโรงไฟฟ้า 2 รายมูลค่ารวม 81.0 พันล้านบาท ซึ่งถ้าไม่รวม 2 โครงการดังกล่าว มูลค่าโครงการจะลดลงร้อยละ 73.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับในด้านกระแสเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิ ซึ่งเป็นเครื่องชี้การลงทุนจากต่างประเทศที่มีการนำเงินเข้ามาลงทุนจริงเกิดขึ้นแล้ว ในปี 2551 มีมูลค่าทั้งสิ้น 9,912 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.8 โดยธุรกิจที่มีเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิไหลออกได้แก่ ธุรกิจการลงทุนและบริษัทโฮลดิ้ง ธุรกิจบริการ ธุรกิจก่อสร้าง อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และอุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นต้น

แนวโน้มการลงทุนปี 2552.. ได้รับแรงกดดันจากปัญหาเศรษฐกิจโลก
การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในปี 2552 มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากผลพวงของวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลกชะลอตัวลง และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การลงทุนในปีนี้น่าจะปรับตัวลดลง โดยในกรณีที่ไม่มีโครงการขนาดใหญ่สนใจขอรับส่งเสริมเข้ามาเพิ่มเติม เช่น โครงการเหล็กต้นน้ำ ซึ่งแต่ละโครงการอาจมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 1 แสนล้านบาทแล้วนั้น การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในรูปของการขอรับการส่งเสริมลงทุนของบีโอไอ อาจอยู่ในช่วง 300,000 – 450,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ที่ 650,000 ล้านบาท โดยธุรกิจที่มีแนวโน้มที่จะได้รับเงินลงทุนโดยตรงเพิ่มขึ้นในปีนี้ คือ กิจการในภาคบริการและสาธารณูปโภค เนื่องจากมีการเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ และมีการเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (แอดเดอร์) ต่อหน่วยจากพลังงานหมุนเวียน สำหรับในส่วนของกระแสเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิที่เป็นการลงทุนที่เกิดขึ้นจริง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าน่าจะอยู่ในช่วง 7,000-10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ปัจจัยที่มีผลต่อการคาดการณ์ดังกล่าวที่สำคัญ ได้แก่ แนวโน้มตลาดที่ชะลอตัวอันเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมล่าสุดในเดือนม.ค. 2552 อยู่ที่ร้อยละ 57.1 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 10 ปี ทั้งนี้ ในภาวะที่คำสั่งซื้อชะลอตัวต่อเนื่อง โรงงานส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะลดกำลังการผลิตลงเพื่อให้สอดรับกับคำสั่งซื้อที่ลดลง เมื่อประกอบกับการที่ธุรกิจจะให้ความสำคัญกับการมีเงินสดหมุนเวียนและสภาพคล่องที่เพียงพอเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้ธุรกิจส่วนหนึ่งอาจชะลอแผนการลงทุนที่ต้องใช้เม็ดเงินสูงออกไปซึ่งก็ทำให้อาจมีการลงทุนใหม่เกิดขึ้นไม่มากนักในปีนี้ ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (เหล็ก น้ำมัน ฯลฯ) อาจไปทำให้การลงทุนในกลุ่มพลังงาน โลหะและเคมีภัณฑ์ ชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2551 เนื่องจากผู้ประกอบการอาจมีการชะลอการลงทุนเพิ่มเพื่อรอดูแนวโน้มตลาดในอนาคต นอกจากนี้ ภาวะการตึงตัวในตลาดเงินและตลาดตราสารหนี้ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญของนักลงทุนในการขยายธุรกิจ ทำให้การกู้ยืมอาจทำได้ยากเนื่องจากสถาบันการเงินเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ในขณะที่สภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดีก็ไม่ส่งเสริมต่อการออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุน ส่วนผู้ลงทุนกลุ่มที่ใช้แหล่งเงินทุนในกิจการเอง แนวโน้มผลประกอบการและกำไรที่อาจลดลงก็อาจทำให้กลุ่มนี้ชะลอโครงการลงทุนออกไปเช่นเดียวกัน เนื่องจากในช่วงนี้ผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะดูแลในเรื่องของเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่กดดันการลงทุนโดยตรงในปี 2552

นอกเหนือจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจแล้ว ปัจจัยด้านการเมืองก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม โดยแม้ว่าขณะนี้การเมืองค่อนข้างที่จะมีเสถียรภาพขึ้นกว่าในปีที่ผ่านมา แต่นักลงทุนยังคงหวั่นเกรงว่าปัญหา เช่น การปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะเกิดขึ้นซ้ำอีก เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้การประกอบธุรกิจและการค้าต้องหยุดชะงักไปด้วย รัฐบาลจึงต้องเตรียมการหรือมีแผนสำรองในกรณีสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พ.ศ. … ขึ้นมาแล้ว แต่รัฐบาลยังต้องเตรียมการในทางปฏิบัติให้รัฐสามารถดูแลป้องกันไม่ให้มีเหตุการณ์ปิดท่าอากาศยานเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ซึ่งควรจะรวมไปถึงการดูแลสนามบินในพื้นที่ต่างจังหวัดด้วย ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ควรสื่อสารทำความเข้าใจในประเด็นนี้แก่นักลงทุนเพื่อสร้างความมั่นใจในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย นอกจากนี้ รัฐบาลควรปรับปรุงขั้นตอนหรือกฎระเบียบ ตลอดจนโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน และที่สำคัญควรเร่งฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศและผลักดันนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนได้ ก็จะเป็นการช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้กลับมาได้ส่วนหนึ่ง

ทั้งนี้ ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวและเงินเยนแข็งค่า บริษัทญี่ปุ่นและบริษัทข้ามชาติหลายแห่งมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นโดยการควบรวม (M&A) หรือการปรับลดต้นทุนโดยการโยกย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบ ซึ่งแนวโน้มนี้อาจเป็นทั้งปัจจัยบวกในกรณีที่นักลงทุนต่างชาติโยกย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทย และเป็นทั้งปัจจัยเสี่ยงสำหรับประเทศไทย หากนักลงทุนตัดสินใจโยกย้ายโรงงานออกจากไทยไปยังประเทศที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่า อีกทั้งปัจจุบันประเทศต่างๆ ต่างก็แข่งขันกันดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น เวียดนามที่ให้สิทธิประโยชน์สูงกว่าไทยโดยการให้ที่ดินเปล่าและลดภาษี ทั้งนี้แม้ว่าโดยปัจจัยพื้นฐาน ประเทศไทยมีความได้เปรียบหลายๆ ประเทศ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย บังคลาเทศ ในเรื่องของระบบราชการ กฎหมาย การคมนาคมขนส่ง ตลอดจนความพร้อมของคลัสเตอร์อุตสาหกรรมโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แต่สถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สำหรับนักลงทุนต่างชาติ ไทยมีปัจจัยเสี่ยงด้านการเมืองและสังคมที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามสำหรับนักลงทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ พบว่ายังเชื่อมั่นที่จะทำธุรกิจในประเทศต่อไป โดยทางประธานองค์กรส่งเสริมการค้าของประเทศญี่ปุ่น (JETRO) กล่าวว่านักลงทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังคงมองว่าไทยเป็นฐานการผลิตที่น่าสนใจ แม้ว่าปี 2552 ผลประกอบการของบริษัทส่วนใหญ่ในไทยมีแนวโน้มที่จะแย่ลงจากผลกระทบของวิกฤติการเงินและเศรษฐกิจโลก

ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มถดถอยต่อเนื่องยาวนานนี้ การดำเนินนโยบายเพื่อดึงดูดการลงทุนในปี 2552 และอาจต่อเนื่องไปถึงปี 2553 อาจต้องเผชิญความยากลำบาก แม้ว่าทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้มีการออกมาตรการพิเศษเพื่อเร่งรัดการลงทุนเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และล่าสุด ก็ได้มีการเพิ่มประเภทกิจการที่ได้รับส่งเสริมภายใต้มาตรการพิเศษส่งเสริม และขยายระยะเวลาการให้การส่งเสริมการลงทุนออกไปอีก 5 ปี สำหรับโครงการที่ตั้งอยู่ในนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมเขต 2 รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังและในจังหวัดระยอง และการนำมาตรการด้านภาษีมาใช้สนับสนุนการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยวัตถุประสงค์ของมาตรการเหล่านี้ก็เพื่อเป็นการกระตุ้นการลงทุนในประเทศ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจโลก ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่มูลค่าการขอรับการลงทุนในปีนี้อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 650,000 ล้านบาทได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่หลายประเทศต่างก็พยายามแข่งขันกันดึงดูดโครงการใหญ่ๆ โดยการให้สิทธิประโยชน์กันอย่างเต็มที่ รัฐบาลจึงควรช่วยออกมาตรการสนับสนุนที่นอกเหนือไปจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่บีโอไอมีให้เพิ่มเติมอีก อาทิ การช่วยสนับสนุนเงินในโครงการที่ประเทศจะได้รับประโยชน์ด้วย การให้สิทธิประโยชน์ด้านการประกอบการที่มีความยืดหยุ่นยิ่งขึ้น ลดความซ้ำซ้อนของขั้นตอน ภาษี และกฏระเบียบในการนำเข้าและส่งออกสินค้า เร่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดต้นทุนการผลิตและต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เป็นต้น โดยการเริ่มต้นในส่วนของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับนักลงทุนโดยจัดให้มีโครงการพบปะนักลงทุน(โรดโชว์) ในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน อินเดีย อาหรับ และมีนโยบายจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นอีก 6 แห่งในประเทศผู้ลงทุนหลักในปีนี้ นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเพื่อกระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศในช่วงปีแห่งการลงทุน 2551-2552

อย่างไรก็ดี ภายใต้ปัจจัยแวดล้อมการลงทุนที่ไม่เอื้ออำนวยนักในช่วงระยะ 6-12 เดือนข้างหน้าที่เศรษฐกิจทั่วโลกอาจยังคงอยู่ภายใต้ภาวะถดถอย สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการควบคู่ไปกับมาตรการระยะสั้นเพื่อดึงดูดการลงทุนก็คือ การเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โครงการรถไฟรางคู่ และการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ (โครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ด) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างศักยภาพด้านการลงทุนของประเทศในระยะยาว โดยควรให้มีการเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน ซึ่งโครงการเหล่านี้รัฐบาลสามารถกำหนดรูปแบบให้ภาคเอกชนต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วมลงทุนซึ่งจะช่วยลดภาระด้านงบประมาณพร้อมกับดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของไทยปี 2552 มีแนวโน้มที่อาจหดตัวลงจากปีก่อนหน้า โดยในกรณีที่ไม่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่เข้ามาเพิ่มเติมอีกมากนัก มูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนในปีนี้อาจอยู่ในช่วง 300,000 – 450,000 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ทางบีโอไอตั้งไว้ที่ 650,000 ล้านบาท สาเหตุหลักเนื่องจากเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงชะลอตัว ตลาดเงินอยู่ในภาวะตึงตัว และราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีความผันผวนสูง ในส่วนกระแสเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิที่เป็นการลงทุนที่เกิดขึ้นจริง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าน่าจะอยู่ในช่วง 7,000-10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ การกลับมาของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศขึ้นอยู่กับว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้เร็วเพียงใด

แม้ว่าจะเป็นในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ไทยก็มีโอกาสในการได้รับการลงทุนจากต่างประเทศจากการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของบริษัทข้ามชาติโดยเฉพาะบริษัทญี่ปุ่นซึ่งได้รับผลกระทบจากเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น ทำให้เกิดแนวโน้มของการปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรมโดยการควบรวมระหว่างกันและการโยกย้ายฐานการผลิตเพื่อลดต้นทุน นอกจากนี้ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังเป็นโอกาสในการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น อุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งไทยต้องแข่งขันกับอีกหลายๆ ประเทศ อาทิ เวียดนาม อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เพื่อดึงดูดนักลงทุนใหม่เหล่านี้ให้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทย และในขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันไม่ให้นักลงทุนต่างชาติที่มีการลงทุนอยู่ในไทย ทำการโยกย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นไปได้ก็ต้องอาศัยการร่วมมือกันของภาครัฐที่จะออกมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมและการปรับมาตรการให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น การปรับลดขั้นตอนและภาษีเพื่อลดความซ้ำซ้อนให้กับธุรกิจ และการช่วยเหลือ/สนับสนุนอุตสาหกรรมโดยการลดภาษีที่มีเงื่อนไขผูกติดกับการจ้างงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือการฝึกอบรม เป็นต้น โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดที่รัฐบาลสามารถดำเนินการเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศและเป็นการดึงดูดการลงทุนในระยะยาว คือ การเร่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะไฟฟ้า การขนส่งและระบบโลจิสติกส์ซึ่งประเทศไทยยังมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง การเร่งจัดทำแผนสำรองกรณีเกิดภาวะฉุกเฉินหากสนามบินและท่าเรือหลักมีเหตุที่จะใช้การไม่ได้ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อการขนส่งสินค้า เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมา นอกจากนี้ อีกประเด็นที่หน่วยงานรัฐควรให้ความสนใจ คือ กรณีที่มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนหรือได้รับอนุมัติส่งเสริมแล้ว แต่นักลงทุนมีการเลื่อนการลงทุนออกไป ซึ่งในกรณีนี้ทางบีโอไอและภาครัฐควรที่จะคอยติดตามสถานการณ์เพื่อที่จะสามารถร่วมกันแก้ปัญหาและเร่งให้เกิดการลงทุนจริงขึ้น