จากภาพ : นายปราโมทย์ สัจจรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น (คนที่ 5 จากซ้าย) นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี (คนที่ 4 จากซ้าย) และนายเชาวลิต เอกบุตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปเปอร์ (คนที่ 3 จากซ้าย)
เอสซีจี เปเปอร์ ฉลองเปิดสายการผลิตโครงการใหม่มูลค่า 7,300 ล้านบาทอย่างเป็นทางการ เดินเครื่องผลิตกระดาษพิมพ์และเขียนคุณภาพระดับพรีเมี่ยมป้อนตลาดไทยและส่งออก สนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยกำลังการผลิตปีละ 200,000 ตัน ชูนวัตกรรมเทคโนโลยีที่เน้นความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและประหยัดทรัพยากรสูงสุด พร้อมก้าวสู่ผู้นำอุตสาหกรรมกระดาษครบวงจรในภูมิภาค
โครงการเครื่องจักรผลิตกระดาษใหม่นี้ ตั้งอยู่ที่โรงงานฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จังหวัดขอนแก่น ผลิตกระดาษพิมพ์เขียนชนิดไม่เคลือบผิว ได้แก่ กระดาษปอนด์ หรือกระดาษออฟเซ็ต (Offset) เพื่อการพิมพ์สิ่งพิมพ์คุณภาพสูง (Offset Pro) และกระดาษถ่ายเอกสารคุณภาพพรีเมี่ยมทั้งในด้านความขาว ความทึบ ความเรียบเนียน และความแกร่ง
นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ประธานในพิธีเปิด กล่าวว่า “เอสซีจี ยึดหลักการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้แก่ การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ทั้งในกระบวนการผลิตสินค้าและการให้บริการ การฟื้นฟูและปรับปรุงทรัพยากรธรรมชาติ การวิจัยและพัฒนาสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนกิจกรรมสร้างจิตสำนึกและการร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ดีให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นหนึ่งในอุดมการณ์ของเอสซีจี โดยนโยบายที่ดีจะสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมได้ก็เพราะความร่วมมือร่วมใจที่มุ่งมั่น และการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานราชการ ชุมชน ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ”
นายเชาวลิต เอกบุตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปเปอร์ กล่าวว่า “ในอดีตที่ผ่านมาการเติบโตในธุรกิจกระดาษพิมพ์เขียนชนิดไม่เคลือบผิวโดยเฉพาะกระดาษถ่ายเอกสารและกระดาษออฟเซ็ตอยู่ในอัตราที่ค่อนข้างสูงอย่างต่อเนื่องมาตลอด ประมาณ 6-8% ต่อปี แม้อัตราการเติบโตของความต้องการตลาดกระดาษพิมพ์เขียนคุณภาพพรีเมี่ยมในช่วงปัจจุบันจะชะลอตัวลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ แต่เรามองว่าตลาดจะกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต”
เอสซีจี เปเปอร์ ได้รับอนุมัติโครงการลงทุนจากคณะกรรมการผู้บริหารและผู้ถือหุ้นเครือซิเมนต์ไทยในปี 2549 เป็นจำนวนเงิน 7,300 ล้านบาท โครงการนี้มีกำลังการผลิตรวม 200,000 ตันต่อปี โดยจะผลิตกระดาษพิมพ์และเขียนคุณภาพสูงเพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศเป็นหลัก และส่งออกภายในภูมิภาคบางส่วน จากนั้นได้เริ่มก่อสร้างในปี 2550 ติดตั้งและเดินเครื่องจักรในต้นปี 2551 และได้ทำพิธีเปิดสายการผลิตอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน 2552
โครงการดังกล่าว ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร และสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามเงื่อนไขของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
จุดเด่นของโครงการ คือ ใช้เครื่องจักรเทคโนโลยีล่าสุดและทันสมัยที่สุดในโลกสำหรับการผลิตกระดาษไม่เคลือบผิว ซึ่งทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพสูงทั้งในด้านความเรียบเนียน ความทึบ ความขาว และความแกร่ง
นอกจากนี้ ยังใช้เทคโนโลยีและกระบวนการผลิตที่เน้นการประหยัดทรัพยากรธรรมชาติสามารถลดการใช้น้ำได้ถึง 30-50% และลดการใช้พลังงาน ด้วยการเชื่อมต่อกระบวนการผลิตเยื่อและกระดาษเข้าด้วยกัน วิธีการดังกล่าวช่วยลดการใช้พลังงานในการอบแห้ง และเชื้อเพลิงในการขนส่งวัตถุดิบได้เป็นอย่างดี ในการผลิตทางโรงงานใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ เช่น การใช้เชื้อเพลิงชีวมวลจากกระบวนการผลิตเยื่อและบำบัดน้ำทิ้งสำหรับเป็นพลังงานทดแทนการใช้ถ่านหิน เชื้อเพลิงดังกล่าว ได้แก่ เปลือกไม้ ฝุ่นไม้ และตะกอนจากระบบบำบัดน้ำทิ้ง เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการใช้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ยังไม่ต้องนำกากจากการผลิตและบำบัดน้ำทิ้งไปฝังกลบในพื้นดินตามแนวนโยบาย Zero Landfill ของ SCG อีกด้วย
ข้อมูลเกี่ยวกับเอสซีจี เปเปอร์
เอสซีจี เปเปอร์ เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจหลักของเครือซิเมนต์ไทย (SCG) และเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมกระดาษครบวงจร ซึ่งดำเนินธุรกิจใน 5 กิจการหลัก ได้แก่ กิจการสวนป่า กิจการเยื่อกระดาษและกระดาษพิมพ์เขียน กิจการกระดาษอุตสาหกรรม (ที่มีกำลังการผลิตมากที่สุดในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน) กิจการกระดาษแข็งและกิจการบรรจุภัณฑ์ มีโรงงานผลิตกระดาษและบรรจุภัณฑ์กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย และในภูมิภาคอาเซียน เช่น ประเทศเวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ อีกด้วย เอสซีจี เปเปอร์ได้พัฒนาวัตถุดิบ กระบวนการผลิต เทคโนโลยี และการจัดการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย มีคุณภาพดี สามารถตอบสนองทุกความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ยังมีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้มาตรฐาน มีประสิทธิภาพ ด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน