บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 2 องค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศ มองเห็นโอกาสในวิกฤติและเชื่อมั่นในเศรษฐกิจระยะยาวของประเทศ สร้างธุรกรรมเงินกู้ครั้งประวัติศาสตร์วงเงินสูง 12,000 ล้านบาท เพื่อการขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศอันเป็นการสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศของ ปตท. และตอกย้ำนโยบายของธนาคารไทยพาณิชย์ในการดูแลลูกค้าตลอดจนการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “เพื่อเตรียมความพร้อมทางธุรกิจ ปตท. ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้ระยะยาว 10 ปี กับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) วงเงิน 12,000 ล้านบาท โดยในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยและตลาดการเงินที่ผันผวนนี้ ปตท. นอกจากจะมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง ลดค่าใช้จ่าย ปรับลดและชะลอการลงทุนที่ก่อให้เกิดรายได้ช้า รวมถึงการมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานแล้ว ปตท. ยังได้จัดเตรียมสภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับการลงทุนตามแผนงานที่กำหนด รวมทั้งรองรับโอกาสการเข้าซื้อกิจการที่มีศักยภาพแต่ประสบปัญหาทางการเงินจากวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้ ซึ่งอาจซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่าปกติ ทั้งนี้ การสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ให้กู้รายเดียวในวงเงินขนาดใหญ่ครั้งนี้ นอกจากจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจพลังงานซึ่งเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและเรียกความเชื่อมั่นของประเทศให้กลับคืนมาด้วย”
ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “นับเป็นความภาคภูมิใจ อย่างยิ่งของธนาคารที่ได้มีโอกาสให้บริการทางการเงินแก่ทาง ปตท. ด้วยวงเงินกู้ระยะยาว 10 ปี จำนวนสูงถึง 12,000 ล้านบาท โดยธนาคารได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ดำเนินการแต่เพียงธนาคารเดียว ธุรกรรมครั้งสำคัญนี้นับเป็นการ ต่อเนื่องจากช่วงเดือนก่อนหน้าที่ธนาคารได้เข้าเป็น Joint Lead Arranger ในการจัดออกหุ้นกู้ระยะยาว อายุ 15 ปี มูลค่ารวม 15,000 ล้านบาท ซึ่งได้มีการจัดออกขายแก่นักลงทุนทั้งรายย่อยและสถาบัน”
ดร.วิชิต กล่าวเสริมว่า “ที่ผ่านมาธนาคารได้ทำงานร่วมกับ ปตท. อย่างใกล้ชิด และตั้งแต่เริ่มเกิดวิกฤตการณ์การเงินในสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายปี 2551 ธนาคารได้ทำการประเมินและคาดการณ์ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจไทยและผลกระทบที่จะมีต่อลูกค้า และมีความเห็นว่าผลกระทบครั้งนี้จะรุนแรงและใช้เวลานานในการฟื้นตัว นอกจากนี้ การที่บริษัทต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจทำการลดสัดส่วนการกู้ยืม (De-leveraging) และขายสินทรัพย์ออกมาจะส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ต่างๆ มีการปรับตัวลดลงได้อย่างมาก ถือเป็นโอกาสท่ามกลางวิกฤติแก่ลูกค้าที่มีศักยภาพ ดังเช่น ปตท. ในการขยายธุรกิจและการลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การที่ธนาคารมีส่วนในการระดมเงินทุนของลูกค้าในจำนวนสูงเช่นนี้ถือเป็นความร่วมมือทางธุรกิจที่สำคัญ ตอกย้ำถึงนโยบายของธนาคารในการดูแลลูกค้าในทุกสถาณการณ์และการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ที่พิเศษอีกประการ คือเป็นความร่วมมือของสองสถาบันชั้นนำของประเทศ ในการสร้างความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ถือเป็นก้าวธุรกิจที่ต้องจดจำ”