ผลการจัดอันดับธนาคารแห่งปี 2552 ธนาคารกรุงเทพ & ธนาคารไทยพาณิชย์ ควงคู่ครองแชมป์ ธนาคารแห่งปี 2552 ด้วยผลงานโดดเด่นชนิดเฉือนกันไม่ลง ทั้งรายได้และกำไรสุทธิ ตามด้วยแบงก์เล็กพริกขี้หนู ธนาคารเกียรตินาคิน นั่งแท่นที่ 3 ด้านธนาคารกสิกรไทยคว้าแชมป์พีอาร์แบงก์ขวัญใจสื่อมวลชน
วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนเมษายน 2552 ที่กำลังวางแผงในขณะนี้ ประกาศผลการจัดอันดับธนาคารแห่งปี ประจำปี 2552 หรือ Bank of The Year 2009 ปรากฏว่าธนาคารกรุงเทพ และธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ครองตำแหน่งธนาคารแห่งปี 2552 ร่วมกัน โดยมีผลประกอบการที่โดดเด่นชนิดเฉือนกันไม่ลง
ปีนี้ ธนาคารกรุงเทพ ยังคงรักษาตำแหน่งธนาคารแห่งปีติดต่อกันเป็นปีที่ 3 โดยมีกำไรสุทธิสูงเป็นอันดับ 1 ที่ 10.50 บาท และมีกำไรสุทธิสูงเป็นอันดับ 2 รวมทั้งสิ้น 20,043.20 ล้านบาท จากความสำเร็จในการขยายสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นถึง 13.2% จากปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มทั้งลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ รายกลาง รายปลีก และลูกค้าบุคคล ขณะที่ยอด NPL ลดลงจาก 7.9% เหลือ 4.6%
นอกจากเหนือจากรายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นแล้ว ธนาคารยังมีรายได้จากค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นถึง 10.2% ส่วนทางด้านเงินฝากก็ขยายตัวขึ้น 3.5% จากกิจกรรมกระตุ้นเงินฝาก ควบคู่ไปกับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนใหม่ๆ เพื่อเสริมสร้างความมั่งคั่งของลูกค้า รวมไปถึงการพัฒนาช่องทางการบริการให้ลูกค้าได้รับบริการที่สะดวกและรวดเร็ว
ส่วน ธนาคารไทยพาณิชย์ ไต่ขึ้นจากอันดับ 2 เมื่อปีที่แล้ว มาเป็นแชมป์ธนาคารแห่งปี 2552 ด้วยผลงานที่สามารถสร้างกำไรสุทธิสูงสุดเป็นอันดับ 1 ถึง 21,499.18 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิต่อหุ้นสูงเป็นอันดับ 2 ที่ 9.07 บาท ซึ่งเป็นผลมาจากการบบริหารจัดการด้านความเสี่ยงและผลตอบแทนที่มีประสิทธิภาพ
โดยธนาคารมีรายได้รวมเพิ่มขึ้นถึง 12.9% ด้วยกลยุทธ์ที่ธนาคารได้เข้าสนับสนุนและขยายธุรกิจไปในกลุ่มลูกค้าธุรกิจในประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนในกลุ่มลูกค้าบุคคลซึ่งเป็นฐานลูกค้าใหญ่ของธนาคารก็ได้เพิ่มจำนวนการใช้บริการทางการเงินต่อลูกค้าแต่ละรายให้มากขึ้น ขณะที่มี NPL ลดลงเหลือ 5.1% จาก 6.1% เมื่อปีก่อน
นอกจากนี้ ยังได้ปรับเพิ่มการตั้งสำรองรายเดือนจาก 300 ล้านบาทต่อเดือน เป็น 500 ล้านบาทต่อเดือน โดยเริ่มมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2551 และจะต่อเนื่องไปในปี 2552 เพื่อแสดงถึงการดำเนินงานที่รอบคอบและระมัดระวัง ตลอดจนคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจที่จะถดถอยในอนาคต
อันดับ 3 ตกเป็นของ ธนาคารเกียรตินาคิน โดยมีอัตราส่วนทางการเงินสูงเป็นอันดับ 1 ทั้ง Net Profit Margin 29.13%, ROA 2.92% และ ROE 18.63% ขณะเดียวกันก็ยังมี BIS สูงเป็นอันดับ 3 ถึง 15.42% ส่วนอันดับ 4 ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย โดยมีผลกำไรสุทธิสูงเป็นอันดับ 3 รวม 14,807.30 ล้านบาท และมี NPL ในระดับต่ำที่สุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่คือที่ 2.81% อันดับ 5 ได้แก่ ธนาคารทิสโก้ ที่ได้ปรับโครงสร้างทางธุรกิจเป็นการรวมศูนย์ที่ลูกค้า และเน้นการนำเสนอนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง
ส่วนอันดับ 6 มี 2 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารนครหลวงไทย ที่พลิกฟื้นกลับมามีกำไรสุทธิ 3,807.24 ล้านบาท ซึ่งธนาคารยังมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างทั้งด้านสินเชื่อและเงินฝาก เพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนและลดต้นทุนทางการเงินให้เหมาะสม และ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) โดยสายสถาบันธนกิจในปีที่ผ่านมาเป็นกำลังสำคัญในการทำรายได้ให้กับธนาคาร โดยมีกำไรเพิ่มขึ้น 19%
อันดับ 8 เป็นของ ธนาคารกรุงไทย ซึ่งยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็น “ธนาคารแสนสะดวก” สำหรับลูกค้ารายย่อย ภาคธุรกิจ ภาครัฐ และสถาบัน อันดับ 9 ได้แก่ ธนาคารยูโอบี ที่มุ่งเน้นและให้ความสำคัญเป็นประการแรกต่อการบริหารจัดการด้านการเงินที่รอบคอบและการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนอันดับ 10 ได้แก่ ธนาคารธนชาต โดยธนาคารประกาศจะรักษาความเป็นผู้นำทางธุรกิจเช่าซื้อ พร้อมกับเพิ่มการปล่อยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ อันดับ 11 ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งธนาคารยังคงดำเนินนโยบายการเติบโตโดยการขับเคลื่อนจาก 4 ธุรกิจหลัก โดยใช้ทั้งแผนการขยายธุรกิจจากภายใน และการขยายธุรกิจจากภายนอกหรือการเข้าซื้อกิจการ
สำหรับอันดับ 12 ได้แก่ ธนาคารสินเอเซีย ซึ่งใช้กลยุทธ์การให้บริการ คือ รวดเร็ว ยืดหยุ่น และตอบสนองความต้องการบริการทางการเงินที่ครบวงจรแก่ลูกค้า อันดับ 13 ได้แก่ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ โดยธนาคารได้ปรับเปลี่ยนมาใช้กลยุทธ์การเติบโตแบบคุณภาพ
ส่วนอันดับ 14 ยังคงเป็นของ ธนาคารทหารไทย หลังจากลงตัวกับการเข้าถือหุ้นของ ING ธนาคารได้พลิกผลประกอบการจากการขาดทุนถึงกว่า 43,000 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว กลับมาโชว์กำไรสุทธิ 289.15 ล้านบาทในปีนี้ และรั้งอันดับ 15 ด้วย ธนาคารซีไอเอ็มบีไอไทย หรือไทยธนาคารเดิม ที่ยังประสบภาวะขาดทุนถึง 2,787.14 ล้านบาท ซึ่งคงต้องจับตาการดำเนินงานของผู้ถือหุ้นใหม่อย่าง CIMB Group นับจากนี้ไป
สำหรับผลการสำรวจความคิดเห็นของสื่อมวลชนที่มีต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ของธนาคารพาณิชย์ประจำปี 2552 ปรากฏว่า ธนาคารกสิกรไทยได้ครองตำแหน่งพีอาร์แบงก์ขวัญใจสื่อมวลชน ด้วยเหตุผลที่สามารถให้ข้อมูลได้ครบถ้วน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ทำงานเป็นทีม และที่สำคัญผู้บริหารของธนาคารให้ความร่วมมือกับผู้สื่อข่าวเป็นอย่างดี
ปีนี้ วารสารการเงินธนาคาร ได้ทำการจัดอันดับธนาคารแห่งปี 2552 โดยใช้ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 15 แห่ง ในรอบปี 2551 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2551 มาพิจารณาจัดอันดับ
สำหรับปัจจัยที่ใช้วัดยังคงใช้เกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งพิจารณาถึงอัตราส่วนทางการเงินทั้งหมด 10 ด้าน ที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของแต่ละธนาคาร ได้แก่ อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์, อัตราผลตอบแทนจากส่วนผู้ถือหุ้น, อัตรากำไรสุทธิต่อรายได้รวม, กำไรต่อหุ้น, มูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น, สินทรัพย์, อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม, สำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อรวม, อัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง และอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากความสามารถในการแข่งขันที่สะท้อนออกมาในรูปของผลประกอบการที่ดีแล้ว ก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องเสถียรภาพและความมั่นคงของธนาคารควบคู่กันไปด้วย