จากภาพ : นายปลิว มังกรกนก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ บมจ. ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป, นางอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล กรรมการอำนวยการ บมจ. ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป และนายสุทัศน์ เรืองมานะมงคล กรรมการอำนวยการ บมจ. ธนาคารทิสโก้ ร่วมแถลงผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2552
กลุ่มทิสโก้แถลงผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2552 กำไรสุทธิ 458 ล้านบาท โต 6.7% โดดเด่นท่ามกลางเศรษฐกิจผันผวน เงินฝากออมทรัพย์โตก้าวกระโดด 67.0% ด้านสินเชื่อเช่าซื้อได้ไพรมัสลีสซิ่งช่วยดันพอร์ตโต 8.3% พร้อมเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการอย่างต่อเนื่อง และขยายสาขาเพิ่มช่องทางการให้บริการ พร้อมชูนโยบายปี 2552 ด้วยแนวคิด “สร้างสรรค์อย่างมั่นคง” ในโอกาสครบรอบ 40 ปี
นายปลิว มังกรกนก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปี 2552 นับเป็นการครบรอบปีที่ 40 ของกลุ่มทิสโก้ และเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ นั่นคือการปรับโครงสร้างธุรกิจโดยการตั้งบริษัทโฮลดิ้ง ได้แก่ บมจ. ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป เป็นบริษัทแม่ของกลุ่มแทนธนาคารทิสโก้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น ส่งผลให้ในไตรมาส 1 ปี 2552 บริษัทจึงสามารถสร้างผลประกอบการได้เป็นที่น่าพอใจท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน
โดย นางอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล กรรมการอำนวยการ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของบริษัทในไตรมาส 1 ของปี 2552 (1 ม.ค. – 31 มี.ค. 52) ว่า กลุ่มทิสโก้มีกำไรสุทธิจำนวน 457.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ที่อยู่ที่ 429.09 ล้านบาท โดยมีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิจำนวน 1,245.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.3% เทียบกับไตรมาส 1 ปี 2551 ตามการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อยเพิ่มขึ้น 18.9% และการปรับตัวสูงขึ้นของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของเงินให้สินเชื่อ จาก 4.0% ของไตรมาส 1 ปี 2551 เป็น 4.2% ของไตรมาส 1 ปี 2552
สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์มีจำนวน 346.52 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 20.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2551 เนื่องมาจากการเติบโตของสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง และการเติบโตของธุรกิจนายหน้าประกันชีวิตธนกิจที่มีรายได้ค่าธรรมเนียมถึง 167.6 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม รายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ลดลงตามสภาวะการลงทุนที่ซบเซา ส่งผลให้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยรวมลดลง 6.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2551
ทางด้านเงินให้สินเชื่อของกลุ่มทิสโก้ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2552 มีจำนวน 107,336.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,226.36 ล้านบาท หรือ 4.1% จากสิ้นปี 51 ตามการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อรายย่อย ทั้งนี้สัดส่วนเงินให้สินเชื่อทั้งหมดแบ่งออกเป็น สินเชื่อรายย่อย 75.0% ซึ่งในจำนวนนี้เป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์และอื่นๆ 98.0%, สินเชื่อธุรกิจ 20.8% และสินเชื่ออื่นๆ 4.3%
ในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อมีจำนวน 78,866.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.0% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2551 แต่เมื่อรวมกับสินเชื่อเช่าซื้อที่ได้รับโอนมาจากบริษัท ไพรมัส ลีสซิ่ง จำกัด ส่งผลให้เงินให้สินเชื่อเช่าซื้อเติบโตถึง 8.3% โดยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่อนุมัติใหม่มีจำนวน 9,341.40 ล้านบาท ลดลง 8.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2551 ในขณะที่ยอดขายรถยนต์ใหม่ภายในประเทศงวด 3 เดือนแรกของปี 2552 ลดลงประมาณ 33% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้อัตราปริมาณการให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ของกลุ่มทิสโก้ต่อปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ใหม่เฉลี่ย (Penetration Rate) ใน 3 เดือนแรกของปี 2552 อยู่ที่ 13.4% เทียบกับอัตราเฉลี่ยในช่วงเดียวกันของปี 2551 ที่อยู่ที่ 10.1% ในขณะที่สินเชื่อธุรกิจของกลุ่มทิสโก้มีมูลค่า 22,272.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.3% จากสิ้นปี 2551 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อในกลุ่มการผลิตและการพาณิชย์และกลุ่มอุตสาหกรรมสาธารณูปโภคและบริการเป็นหลัก
ทางด้านเงินฝาก ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2552 มีจำนวน 102,640.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.0% จากสิ้นปี 2551 โดยเงินฝากออมทรัพย์มีจำนวน 8,586.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 67.0% จากสิ้นปี 2551 และเงินฝากกระแสรายวันมีจำนวน 7,634.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.0% จากสิ้นปี 2551 ส่งผลให้สัดส่วนเงินฝากประเภทเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวัน ต่อยอดเงินฝากรวมเพิ่มขึ้นเป็น 15.8% ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2552 เมื่อเทียบกับ 11.5% ณ สิ้นปี 2551
นางอรนุชกล่าวต่อไปถึงการบริหารความเสี่ยงว่า แม้ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา แต่กลุ่มทิสโก้สามารถลดอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต่อสินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้จาก 2.9% ณ สิ้นปี 2551 เป็น 2.8% ณ สิ้นไตรมาสนี้ ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในอุตสาหกรรม ด้วยการบริหารจัดการสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างมีประสิทธิภาพผ่านเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงอันทันสมัย และมีการติดตามชำระหนี้ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และตัดจำหน่ายหนี้สูญที่รัดกุม โดยเราใช้วิธีตั้งสำรองตามเกณฑ์ Basel II ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานบัญชี IAS39
โดยเงินกองทุนของกลุ่มทิสโก้ ณ ไตรมาส 1 ปี 2552 มีจำนวน 10,921.93 ล้านบาท โดยฐานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ณ สิ้นปี 11.75% และขึ้นมาอยู่ที่ 12.54% ณ ไตรมาส 1 ปี 2552 ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเงินให้สินเชื่อและการเพิ่มขึ้นของเงินกองทุนขั้นที่ 2 จากการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิระยะยาวช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยประมาณการเงินกองทุนขั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารอยู่ที่10.16% ซึ่งยังคงสูงกว่าอัตราขั้นต่ำ 8.50% และ 4.25% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
ทางด้าน นายสุทัศน์ เรืองมานะมงคล กรรมการอำนวยการ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนของกลยุทธ์ของธนาคารทิสโก้ในปีนี้จะยังคงมุ่งเน้นการขยายฐานลูกค้าเงินฝากโดยเฉพาะฐานลูกค้ารายย่อย ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าอย่างครบวงจร เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้า โดยในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา การขยายตัวของฐานเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวันเป็นผลจากการที่ธนาคารได้ออกผลิตภัณฑ์บัญชีเงินฝากในรูปแบบที่หลากหลาย ได้แก่ “แคช เอ็ม เซฟวิ่งส์” (Cash M Savings) เงินฝากออมทรัพย์ผูกกับกองทุนรวมตลาดเงิน เพื่อการออมและการลงทุนอย่างคุ้มค่าในบัญชีเดียว เปิดโอกาสรับผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไป รวมถึงแคมเปญพิเศษ “40 ปี ทิสโก้แนะนำเพื่อน” ลูกค้าปัจจุบันแนะนำเพื่อนเปิดบัญชีเงินฝากใหม่รับดอกเบี้ยเพิ่ม 0.5% ต่อคนโดยไม่จำกัดจำนวนเพื่อนที่แนะนำ ยิ่งแนะนำมาก ยิ่งรับดอกเบี้ยมาก ซึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่ดังกล่าวล้วนได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า
“เรายังมีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องในปีนี้ ทั้งเงินฝากและสินเชื่อเช่าซื้อซึ่งเป็นธุรกิจที่ทิสโก้มีความชำนาญ โดยในส่วนของเงินฝากจะเน้นขยายฐานลูกค้าบัญชีเงินฝากรายกลาง (100,000 บาทขึ้นไป) เพิ่มมากขึ้น โดยจะออกโปรโมชั่นที่จูงใจสำหรับลูกค้ากลุ่มนี้ รวมทั้งการให้คำแนะนำปรึกษาแก่ลูกค้าในการบริหารเงินออม ด้วยการลงทุนในหน่วยลงทุนหลากหลายนโยบายของ บลจ.ทิสโก้ หรือตราสารต่างๆ ที่จะเพิ่มโอกาสในการรับผลตอบแทนที่ดีกว่าดอกเบี้ยเงินฝากเพียงอย่างเดียว”
นายสุทัศน์กล่าวต่อไปว่า นอกจากการการพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้ว ธนาคารยังเพิ่มช่องทางการให้บริการด้วยการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นพื้นที่ในเขตกรุงเทพปริมณฑล โดยตั้งแต่ต้นปี 2552 ธนาคารได้เปิดสาขาเพิ่มอีก 3 แห่งในกรุงเทพ ปัจจุบันมีสาขาจำนวนทั้งสิ้น 37 สาขา เป็นสาขาในกรุงเทพ 15 แห่ง โดยเป็นสาขาในห้างที่เปิดทำการทุกวันจำนวน 5 แห่ง และต่างจังหวัด 22 แห่ง
“กลุ่มทิสโก้จะยังคงมุ่งมั่นพัฒนากระบวนการทำงานเพื่อให้บริการที่ดีแก่ลูกค้า รวมทั้งนำเสนอนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ที่พัฒนาจากความต้องการและประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับเป็นที่ตั้ง โดยยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาลด้วยการกำกับดูแลกิจการแบบรวมกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ ที่เราให้ความสำคัญมาตลอดระยะเวลา 40 ปี ภายใต้คำขวัญ “ทิสโก้ สร้างสรรค์ อย่างมั่นคง” อันเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจและกิจกรรมเพื่อสังคมที่จะทำควบคู่กันไปในโอกาสครบรอบ 40 ปีในปีนี้ รวมถึงปีต่อๆ ไป” นายปลิว กล่าวสรุป