นายกรัฐมนตรีของไทยและคณะได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีใต้สมัยพิเศษที่เกาะเชจูและการประชุมผู้นำภาคธุรกิจอาเซียน-เกาหลีใต้ (ซีอีโอ ฟอรั่ม) ระหว่างวันที่ 1-2 มิถุนายน 2552 ซึ่งการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียน-เกาหลีใต้สมัยพิเศษครั้งนี้ได้มีการลงนามในความตกลงว่าด้วยการลงทุนภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ฉบับที่ 5 ซึ่งถือเป็นวาระที่อาเซียนและเกาหลีใต้มีความสัมพันธ์ครบรอบ 20 ปี โดยการเดินทางประชุมในครั้งนี้ มีนักธุรกิจชั้นนำของไทยร่วมเดินทางเยือนเกาหลีใต้ด้วยเพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนกับนักธุรกิจของอาเซียนและเกาหลีใต้
กล่าวได้ว่า บทบาทของเกาหลีใต้ในอาเซียนและไทยจะมีความเชื่อมโยงกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของอาเซียนและไทยโดยเฉพาะในปัจจุบันที่เศรษฐกิจเกาหลีใต้เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยกระทรวงการคลังเกาหลีใต้เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในช่วงไตรมาสที่ 1/2552 ขยายตัวร้อยละ 0.1 จากไตรมาสก่อนหน้า (q-o-q) ซึ่งเกาหลีใต้เป็นประเทศเดียวของกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) จากจำนวนสมาชิก 29 ประเทศ ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในแดนบวกและเป็นประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวในระดับที่สูงสุด เทียบกับประเทศสมาชิกอื่นใน OECD ที่อยู่ในระดับติดลบเฉลี่ยที่ร้อยละ 2.1 โดยผู้บริโภคเกาหลีใต้มีความมั่นใจมากขึ้นว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้จะปรับตัวดีขึ้นหลังจากรัฐบาลเกาหลีใต้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยใช้นโยบายแจกเช็คเงินสด ลดภาษีและลดอัตราดอกเบี้ย โดยในวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีใต้ได้อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมราว 13,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ เพื่อกระตุ้นภาคบริโภคภายในประเทศจากงบกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ที่ได้รับอนุมัติไปก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ ระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นจากระดับ 98 จุดในเดือนเมษายนมาอยู่ที่ระดับ 105 จุดในเดือนพฤษภาคม 2552 ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงสุดตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2550 โดยล่าสุดรายงานของ Concensus Forecast ในเดือนมิถุนายนคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้มีแนวโน้มลดลงร้อยละ 2.7 ขณะที่รัฐบาลเกาหลีใต้คาดว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้อาจจะหดตัวร้อยละ 2 ในปีนี้
ประเด็นสำคัญที่น่าติดตามคือ การเจรจาและการประชุมของผู้นำประเทศอาเซียนและเกาหลีใต้ในครั้งนี้และการดำเนินการเปิดเสรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ที่น่าจะมีบทบาทสำคัญในการขยายโอกาสทางการค้าและการค้าบริการและการลงทุนระหว่างไทยและเกาหลีใต้ รวมถึงประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเซียน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปภาวะการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-เกาหลีใต้ในเดือนม.ค.-เม.ย. ของปี 2552 และวิเคราะห์โอกาสการค้า การค้าบริการและการลงทุนภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้และสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ดังนี้
o ภาวะการค้าไทย-เกาหลีใต้ในช่วง ม.ค.-เม.ย. 2552 : ผันผวนภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจโลก
ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย. 2552) มูลค่าการค้าระหว่างไทย-เกาหลีใต้รวม 2,454.54 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ลดลงเกือบร้อยละ 26 (y-o-y) มีมูลค่าการส่งออกราว 844.08 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ หดตัวร้อยละ 21.35 (y-o-y) ปัจจุบันเกาหลีใต้เป็นตลาดส่งออกหลักของไทยอันดับที่ 14 มีสัดส่วนในตลาดเกือบร้อยละ 2 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ขณะที่เป็นแหล่งนำเข้าสินค้าสำคัญอันดับที่ 7 ของไทย รองจากญี่ปุ่น จีน สหรัฐ ฯ มาเลเซีย สิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มูลค่านำเข้าสินค้าทั้งสิ้น 1,610.46 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ลดลงกว่าร้อยละ 27 (y-o-y) อย่างไรก็ตาม ไทยขาดดุลการค้ากับเกาหลีใต้ลดลงเหลือ 766.38 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ในช่วง 4 เดือนแรกจากที่ขาดดุล 1,149.20 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ในช่วงเดียวกันของปี 2551 นอกจากนี้ หากวิเคราะห์ภาวะการค้าระหว่างไทย-เกาหลีใต้เป็นรายเดือนเทียบกับเดือนก่อนหน้า (m-o-m) พบว่า ทั้งภาคส่งออกและนำเข้าค่อนข้างผันผวน โดยในช่วง 2 เดือนแรก การส่งออกและนำเข้าลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าและกลับมาขยายตัวในแดนบวกในอัตราค่อนข้างสูงในเดือนมีนาคม ขณะที่ในเดือนเมษายน ภาคส่งออกของไทยไปยังเกาหลีใต้เติบโตชะลอลงเหลือร้อยละ 3.65 จากที่ขยายตัวเกือบร้อยละ 23 ในเดือนมีนาคม ส่วนภาคนำเข้าของไทยจากเกาหลีใต้ในเดือนเมษายนลดลงกว่าร้อยละ 19 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 46 ในเดือนก่อนหน้า
โดยในช่วงเดือนม.ค.-เม.ย. ของปีนี้ สินค้าส่งออกสำคัญในกลุ่มอุตสาหกรรมของไทยไปเกาหลีใต้ที่หดตัวตามอุปสงค์ในต่างประเทศที่ซบเซาได้แก่ สินค้าแผงวงจรไฟฟ้า หดตัวเกือบร้อยละ 20 (yoy) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 1.63 (yoy) ส่วนสินค้ากลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่หดตัวได้แก่ ยางพารา หดตัวเกือบร้อยละ 50 และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 47.90 อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า การส่งออกของสินค้าบางรายการขยายตัวพุ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบินซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15,664.66 (yoy) จากช่วงเดียวกันของปี 2551 ที่ติดลบร้อยละ 66.21 และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรขยายตัวกว่าร้อยละ 201 จากช่วงเดียวกันของปี 2551 ที่หดตัวร้อยละ 3.37 (yoy) ขณะที่การนำเข้าสินค้าหลักของไทยจากเกาหลีใต้ในกลุ่มสินค้าเครื่องจักรและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์โลหะขยายตัวในอัตราสูงที่ร้อยละ 34.06 และ 66.44 ตามลำดับ ส่วนสินค้านำเข้าของไทยจากเกาหลีใต้ที่หดตัวลงได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ หดตัวกว่าร้อยละ 46.10 เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน หดตัวร้อยละ 15.42 เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ หดตัวกว่าร้อยละ 30 เคมีภัณฑ์ ลดลงเกือบร้อยละ 50 แผงวงจรไฟฟ้า หดตัวร้อยละ 49.17 สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ หดตัวร้อยละ 39.86 เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ หดตัวร้อยละ 49.53 ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ ลดลงร้อยละ 34.74
การค้าระหว่างไทย-เกาหลีใต้ชะลอตัวลงเนื่องจากผลกระทบของวิกฤติการเงินโลกที่บั่นทอนภาคการบริโภคและการลงทุนในตลาดต่างประเทศและตลาดเกาหลีใต้ให้ซบเซา อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกของไทยไปเกาหลีใต้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 น่าจะปรับตัวดีขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกสัญญาณการฟื้นตัว เนื่องจากเครื่องบ่งชี้ทางเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ของประเทศสำคัญของโลกอาทิ สหรัฐ ฯ กลุ่มสหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น รวมถึงเกาหลีใต้เริ่มปรับตัวดีขึ้นทำให้ความต้องการนำเข้าของเกาหลีใต้ในสินค้าประเภทวัตถุดิบ/สินค้าขั้นกลางจากไทยเพื่อผลิตส่งออกป้อนตลาดโลกมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นตามไปด้วย โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ภาคส่งออกของเกาหลีใต้ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ติดลบลดลงเหลือร้อยละ 19 (y-o-y) เทียบกับในเดือนมีนาคมมีอัตราที่ติดลบร้อยละ 22 (y-o-y) ซึ่งอาจเป็นสัญญาณชี้ว่าภาคส่งออกของเกาหลีใต้เริ่มทรงตัวดีขึ้น ขณะที่การนำเข้าในไตรมาสแรกของปีนี้ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยหดตัวร้อยละ 7 เทียบกับในช่วงไตรมาสที่ 4/2551 ที่หดตัวสูงร้อยละ 15.7 ซึ่งหากเศรษฐกิจเกาหลีใต้ปรับตัวดีขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้น่าจะช่วยขับเคลื่อนสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังเกาหลีใต้ให้ขยายตัวตามไปด้วยอาทิ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านและส่วนประกอบ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และแผนวงจรไฟฟ้า เป็นต้น
o ภาคการลงทุนของเกาหลีใต้ในไทยในช่วงเดือนม.ค.-เม.ย. 2552
ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกกดดันให้เกิดสภาพคล่องทางการเงินตึงตัวและอุปสงค์ในตลาดโลกชะลอลงส่งผลให้การลงทุนทั่วโลกซบเซา ประกอบกับปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศของไทยส่งผลซ้ำเติมให้นักลงทุนหวาดกลัวและไม่มีความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยซึ่งปัจจัยลบต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลให้การขยายตัวทางการลงทุนของนักลงทุนเกาหลีใต้ในไทยทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเดือนม.ค.-เม.ย. 2552 มีจำนวนโครงการการลงทุนของเกาหลีใต้ที่ขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทยเพียง 7 โครงการ ลดลงกว่าร้อยละ 63 (yoy) และมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 373 ล้านบาท ลดลงกว่าร้อยละ 81 (yoy) จากมูลค่า 1,965 ล้านบาทของช่วงเดียวกันในปี 2551 ซึ่งมูลค่าโครงการลงทุนจากเกาหลีใต้ในประเทศไทยมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.72 ของโครงการลงทุนของต่างชาติทั้งหมดที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ส่วนสาขาลงทุนที่นักลงทุนเกาหลีใต้ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แร่ธาตุและเซรามิกส์ และการบริการ
อย่างไรก็ตาม ทิศทางโครงการลงทุนของเกาหลีใต้ในไทยอาจปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ตามสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเกาหลีใต้และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ช่วยให้ภาคธุรกิจของเกาหลีใต้เติบโตได้ดีขึ้น รวมถึงภาวะการเมืองของไทยที่หากมีเสถียรภาพมากขึ้น ก็น่าจะส่งผลให้ไทยสามารถดึงความเชื่อมั่นจากนักลงทุนเกาหลีใต้กลับฟื้นคืนมา โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่านักลงทุนเกาหลีใต้ขยายการลงทุนในไทยคือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์
o โอกาสขยายการส่งออกและการลงทุนไทย…ภายใต้ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้
นอกจากเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ที่มีทิศทางการปรับตัวดีขึ้นที่คาดว่าจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกและการลงทุนของไทยแล้ว ยังมีปัจจัยบวกจากการลงนามความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ด้านการลงทุนในวันที่ 1-2 มิถุนายน 2552 นี้ ถือเป็นความตกลงฉบับที่ 5 ซึ่งจะทำให้ความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนและเกาหลีใต้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นโดยจะครอบคลุมด้านการค้า การค้าบริการและการลงทุน ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้นได้มีการลงนามความตกลงด้านการค้าสินค้าและการค้าบริการเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมี่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 โดยความตกลง FTA ภาคบริการจะมีผลบังคับใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2552 ส่วนความตกลงการค้าสินค้า คาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ภายใต้ความตกลงเปิดเสรีด้านการค้า ภาคบริการและการลงทุนระหว่างอาเซียนและเกาหลีใต้ จะส่งผลดีต่อภาคส่งออกของไทยไปเกาหลีใต้และดึงดูดการลงทุนทั้งภาคการผลิตและการบริการจากเกาหลีใต้ รวมถึงขยายโอกาสการลงทุนของธุรกิจไทยในเกาหลีใต้ด้วย
ผลดีด้านการค้าระหว่างประเทศ ผลดีสำหรับประเทศไทยจากการเปิดการค้าเสรีระหว่างอาเซียน-เกาหลีใต้ในส่วนของการส่งออกและนำเข้า คือสิทธิประโยชน์ด้านภาษีตามข้อตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA) ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าส่งออกของไทยไปยังเกาหลีใต้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากสิทธิการลดหย่อนภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยไปเกาหลีใต้ อีกทั้งยังเป็นช่วยเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันให้แก่การส่งออกสินค้าของไทยให้ทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามข้อตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ไปก่อนแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2550 ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของไทยที่คาดว่าจะมีศักยภาพดีขึ้นหลังจากข้อตกลงมีผลบังคับใช้ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เส้นด้ายอะคริลิก กากน้ำตาล คอมเพรสเซอร์ อาหารแช่แข็ง อัญมณีและเครื่องประดับ และแผ่นชิ้นไม้อัด เป็นต้น ขณะเดียวกันในด้านการนำเข้าสินค้านั้น ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนการนำเข้าสินค้าที่ต่ำลงจากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบของไทยจากเกาหลีใต้ภายใต้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีตามข้อตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าในประเทศไทยลดต่ำลงตามไปด้วย โดยจะช่วยเสริมสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันของไทยอีกทางหนึ่ง
ผลดีด้านการลงทุน ความตกลงว่าด้วยการลงทุนภายใต้ความตกลงข้อตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA) ฉบับที่ 5 ที่มีกำหนดลงนามในการประชุมครั้งนี้จะช่วยผลักดันและขยายการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและเกาหลีใต้ ทั้งนี้ ความตกลงว่าด้วยการลงทุน ฯ ฉบับนี้จะครอบคลุมการเปิดเสรีการลงทุนและให้ความคุ้มครองการลงทุนระหว่างกัน โดยครอบคลุมการลงทุน 5 สาขาดังนี้ คือ สาขาเกษตร ประมง ป่าไม้ เหมืองแร่และภาคการผลิต การคุ้มครองด้านการลงทุนภายใต้ความตกลง ฯ จะสร้างความเชื่อมั่นให้แกนักลงทุนระหว่างอาเซียนและเกาหลีใต้ โดยให้การปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อนักลงทุนแบบภาคี อาทิ การชดเชยค่าเสียหายแก่นักลงทุนในกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่สงบ กรณีการเวนคืนที่ดินของรัฐที่ถือครองโดยนักลงทุนหรือแม้แต่การจัดตั้งกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและนักลงทุน เป็นต้น ทั้งนี้ ผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากความตกลงว่าด้วยการลงทุน ฯ ฉบับนี้คือ โอกาสดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนเกาหลีใต้โดยใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อป้อนออกสินค้าสู่ตลาดโลก รวมถึงการใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าและส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนโดยใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงการเปิดเสรีการค้าระหว่างอาเซียน-เกาหลีใต้
ด้านการบริการ ในส่วนของความตกลง FTA การค้าบริการระหว่างอาเซียน-เกาหลีใต้ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2552 ธุรกิจด้านบริการของไทยที่มีความเปรียบและศักยภาพในการแข่งขันที่คาดว่าจะมีโอกาสเติบโตได้ในเกาหลีใต้และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน คือ ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ธุรกิจสปาและนวดแผนโบราณ ธุรกิจบริการออกแบบ ธุรกิจการบริการทำความสะอาดอาคารและธุรกิจสันทนาการ เป็นต้น
โดยสรุปการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีใต้สมัยพิเศษที่เกาะเชจูและการประชุมผู้นำภาคธุรกิจอาเซียน-เกาหลีใต้ (ซีอีโอ ฟอรั่ม) ของนายกรัฐมนตรีและคณะ พร้อมด้วยนักธุรกิจชั้นนำของไทยในช่วงวันที่ 1-2 มิถุนายน 2552 โดยมีการลงนามในความตกลงว่าด้วยการลงทุนภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ฉบับที่ 5 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนกับนักธุรกิจของอาเซียนและเกาหลีใต้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยเปิดโอกาสการค้า การค้าบริการและการลงทุนระหว่างไทยและ เกาหลีใต้ให้ขยายตัวได้ดีขึ้น ถือเป็นปัจจัยบวกอีกประการหนึ่ง นอกเหนือจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ที่เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น โดยในช่วงไตรมาสที่ 1/2552 เศรษฐกิจเกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 0.1 จากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งถือเป็นขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงสุดของกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ที่ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ประสบกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ อีกทั้งความมั่นใจของผู้บริโภคเกาหลีใต้เกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจที่ได้ปรับตัวดีขึ้น โดยระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 98 จุดในเดือนเมษายนมาอยู่ที่ 105 จุดในเดือนพฤษภาคม 2552 ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงสุดตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2550 นอกจากนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ยังได้อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมราว 13,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ เพื่อกระตุ้นภาคบริโภคภายในประเทศจากงบประมาณ 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ในช่วงก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า กรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ในครั้งนี้ มีบทบาทสำคัญที่จะขยายโอกาสทางการค้า ภาคบริการและการลงทุนระหว่างไทยและประเทศอาเซียนอื่น ๆ กับเกาหลีใต้
ในส่วนของการค้าระหว่างประเทศนั้น ในช่วงม.ค.-เม.ย. 2552 มูลค่าการค้าระหว่างไทย-เกาหลีใต้รวม 2,454.54 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ลดลงเกือบร้อยละ 26 (y-o-y) มีมูลค่าการส่งออกราว 844.08 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ หดตัวร้อยละ 21.35 (y-o-y) โดยไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับเกาหลีใต้มูลค่า 766.38 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ซึ่งการค้าระหว่างไทย-เกาหลีใต้ชะลอตัวลงเนื่องจากผลกระทบของวิกฤติการเงินโลกที่บั่นทอนภาคการบริโภคและการลงทุนของเกาหลีใต้ให้ซบเซา อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกของไทยไปเกาหลีใต้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 น่าจะปรับตัวดีขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจเกาหลีใต้และเศรษฐกิจโลกที่น่าจะฟื้นตัวอย่างมั่นคงมากขึ้นในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากการปรับตัวดีขึ้นของดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศสำคัญของโลกอย่างสหรัฐ ฯ กลุ่มสหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น รวมถึงเกาหลีใต้ที่เริ่มมีสัญญาณว่า เศรษฐกิจได้ผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจต่ำสุดมาแล้ว โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ภาคส่งออกของเกาหลีใต้ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ติดลบลดลงเหลือร้อยละ 19 (y-o-y) เทียบกับในเดือนมีนาคมมีอัตราที่ติดลบร้อยละ 22 (y-o-y) ซึ่งอาจเป็นสัญญาณชี้ว่าภาคส่งออกของเกาหลีใต้เริ่มทรงตัวดีขึ้น ขณะที่การนำเข้าของเกาหลีใต้ในไตรมาสแรกของปีนี้ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยหดตัวร้อยละ 7 เทียบกับในช่วงไตรมาสที่ 4/2551 ที่หดตัวสูงร้อยละ 15.7 ซึ่ง หากเศรษฐกิจเกาหลีใต้ปรับตัวดีขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้น่าจะช่วยขับเคลื่อนสินค้าส่งออกของไทยไปยังเกาหลีใต้อาทิ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านและส่วนประกอบ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และแผนวงจรไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักที่สำคัญของเกาหลีใต้ขยายตัวตามไปด้วย
ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมา มูลค่าการลงทุนโดยตรงของเกาหลีใต้ในไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกกดดันให้มูลค่าการลงทุนชะลอลง และปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศของไทยส่งผลซ้ำเติมให้นักลงทุนหวาดกลัวและไม่เชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยซึ่งปัจจัยลบต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลให้การขยายตัวการลงทุนของนักลงทุนเกาหลีใต้ในไทยทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเดือนม.ค.-เม.ย. 2552 มีจำนวนโครงการการลงทุนของเกาหลีใต้ที่ขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทยเพียง 7 โครงการ ลดลงกว่าร้อยละ 63 (yoy) และมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 373 ล้านบาท ลดลงกว่าร้อยละ 81 (yoy) จากมูลค่า 1,965 ล้านบาทของช่วงเดียวกันในปี 2551 โดยมูลค่าการลงทุนจากเกาหลีใต้ในประเทศไทยมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.72 ของมูลค่าโครงการลงทุนของต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยทั้งหมด ซึ่งกิจการที่นักลงทุนเกาหลีใต้ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รองลงมาได้แก่ แร่ธาตุและเซรามิกส์ และการบริการ อย่างไรก็ตาม ทิศทางโครงการลงทุนของเกาหลีใต้ในไทยอาจปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ตามสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเกาหลีใต้และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเกาหลีใต้ รวมถึงภาวะการเมืองของไทยที่คาดว่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลให้ไทยสามารถดึงความเชื่อมั่นจากนักลงทุนเกาหลีใต้กลับฟื้นคืนมา โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่านักลงทุนเกาหลีใต้ขยายการลงทุนในไทยคือ อุตสาหกรรมอิเล็อทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ภายใต้ความตกลงเปิดเสรีด้านการค้าภาคบริการและการลงทุนระหว่างอาเซียนและเกาหลีใต้ น่าจะส่งผลดีต่อไทยในด้านต่าง ๆ ดังนี้ คือ
• สิทธิประโยชน์ด้านภาษีตามข้อตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA) ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าส่งออกของไทยไปยังเกาหลีใต้ขยายตัวได้ดีขึ้นจากการลดภาษีนำเข้าสินค้าส่งออกของไทยไปเกาหลีใต้ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันให้แก่การส่งออกสินค้าของไทยให้ทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียนที่เริ่มเปิดเสรีด้านการค้าสินค้าไปก่อนในเดือนมิถุนายน 2550 แล้ว โดยสินค้าส่งออกของไทยที่มีศักยภาพทางการค้าได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เส้นด้ายอะคริลิก กากน้ำตาล คอมเพรสเซอร์ อาหารแช่แข็ง อัญมณีและเครื่องประดับ และแผ่นชิ้นไม้อัด เป็นต้น ขณะเดียวกันประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนการนำเข้าสินค้าที่ต่ำลงจากอัตราภาษีการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบของไทยจากเกาหลีใต้ที่ลดลงเช่นกัน
• สำหรับผลดีจากความตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ ในด้านการลงทุนฉบับที่ 5 นี้ ซึ่งจะครอบคลุมการเปิดเสรีการลงทุนและให้ความคุ้มครองการลงทุนระหว่างกันจะช่วยผลักดันและขยายการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและเกาหลีใต้ ทั้งนี้ ผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับคือ โอกาสดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนเกาหลีใต้ในประเทศโดยใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อป้อนออกสินค้าสู่ตลาดโลก รวมถึงการใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนโดยใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงการเปิดเสรีการค้าระหว่างอาเซียน-เกาหลีใต้
• ในส่วนของการค้าบริการนั้น ธุรกิจด้านบริการของไทยที่มีความได้เปรียบและมีศักยภาพในการแข่งขันสูงที่น่าจะมีโอกาสเข้าไปขยายธุรกิจในเกาหลีใต้และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน คือ ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ธุรกิจสปาและนวดแผนโบราณ ธุรกิจบริการออกแบบ ธุรกิจการบริการทำความสะอาดอาคารและธุรกิจสันทนาการ เป็นต้น