อียิปต์…ตลาดใหม่ในภูมิภาคแอฟริกา: โอกาสทางการค้า-ลงทุนของไทย

อียิปต์เป็นประเทศในภูมิภาคแอฟริกาเหนือมีขนาดใหญ่กว่าไทยเกือบ 1 เท่าตัวแต่มีจำนวนประชากรใกล้เคียงกับไทยคือประมาณ 74 ล้านคน ระดับรายได้ต่อหัวของอียิปต์อยู่ในระดับต่ำ-ปานกลาง ซึ่งต่ำกว่าไทยแต่สูงกว่าเวียดนามและลาว ทั้งนี้อียิปต์เป็นประเทศที่น่าลงทุนอันดับแรก ในภูมิภาคแอฟริกาเหนือ มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาปีละประมาณ 10 ล้านคน เป็นประตูการค้าไปสู่ประเทศใกล้เคียงและประเทศที่อยู่ตอนในของแอฟริกาได้อีกทางหนึ่งด้วย อีกทั้งอียิปต์เปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการปฏิรูปเศรษฐกิจของอียิปต์ในปี 2547 ทำให้การค้าระหว่างไทยกับอียิปต์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว อียิปต์จึงเป็นตลาดที่น่าสนใจในการทำการค้าและลงทุนสำหรับไทย

เศรษฐกิจอียิปต์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2552 ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่เศรษฐกิจอียิปต์เติบโตร้อยละ 4.3 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.1 ทำให้ภาคการส่งออกและการลงทุนของไทยน่าจะมีโอกาสขยายตัวในอียิปต์ได้มากขึ้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจของอียิปต์เฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา(2547-2551) ขยายตัวร้อยละ 5.9 แรงขับเคลื่อนหลักมาจากการลงทุนและการบริโภคซึ่งมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 13.8 และร้อยละ 4.8 ตามลำดับ สำหรับครึ่งหลังของปี 2551จากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่เริ่มชะลอตัวส่งผลต่อเศรษฐกิจของอียิปต์ขยายตัวร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัวถึงร้อยละ 7.2

ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางการค้า – การลงทุนในอียิปต์

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ตั้งแต่ต้นปี 2552 รัฐบาลออกนโยบายลดภาษีนำเข้าสินค้าเพื่อขยายการผลิตเป็นระยะเวลา 1 ปีมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2552 และลดภาษีศุลกากรสำหรับการนำเข้าวัตถุดิบขั้นกลาง 1,200 ชนิดเพื่อเอื้อประโยชน์แก่การลงทุนผลิตในประเทศมากขึ้น และยังออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้งบรายจ่ายของรัฐบาลมูลค่า 319 พันล้านปอนด์อียิปต์(56.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) มีผลตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 – มิถุนายน 2553 เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย สร้างการจ้างงาน ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และกระตุ้นการลงทุน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 8 ต่อปี

อัตราดอกเบี้ยลดลงต่อเนื่อง ในเดือนพฤษภาคม 2552 ธนาคารกลางของอียิปต์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงอีกร้อยละ 0.5 เหลือร้อยละ 9.5 และดอกเบี้ยเงินกู้ปรับลดลงถึงร้อยละ 1 อยู่ที่ร้อยละ 11 เนื่องจากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัว โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับตัวลดลงจะส่งผลดีต่อต้นทุนการกู้ยืมสำหรับการประกอบธุรกิจให้ปรับตัวลดลงด้วยเช่นกัน และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยก็ยังคงมีแนวโน้มปรับตัวลดลงร้อยละ 2-3 ภายในปี 2552

อัตราแลกเปลี่ยนปอนด์อียิปต์ต่อเหรียญสหรัฐฯผันผวนและมีทิศทางอ่อนค่า ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2552 อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 5.6365 ปอนด์อียิปต์ต่อเหรียญสหรัฐฯ อ่อนค่าลงร้อยละ 5.95 เมื่อเทียบกับช่วงแข็งค่าสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2551 ก่อนที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ส่งผลดีต่อสินค้าเพื่อการส่งออกของอียิปต์ให้มีความได้เปรียบด้านราคาโดยเปรียบเทียบที่มีราคาต่ำลงซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพในการส่งออกสินค้าให้สูงขึ้น ถึงแม้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่มีทิศทางอ่อนค่าจะส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบขั้นกลางให้มีราคาสูงขึ้นแต่รัฐบาลได้ออกมาตรการลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบพิเศษเป็นระยะเวลา 1 ปี รวมทั้งการลดภาษีการขายสินค้าเพื่อช่วยเหลือภาคการผลิตและกระตุ้นการลงทุนในประเทศ การเข้าไปลงทุนผลิตในอียิปต์เพื่อการส่งออกจึงได้ผลดีจากค่าเงินปอนด์อียิปต์ที่มีทิศทางอ่อนค่า

อัตราเงินเฟ้อลดลงกำลังซื้อเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อของอียิปต์เดือนเมษายน 2552 อยู่ที่ร้อยละ 11.7 ถือว่าปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากเงินเฟ้อเฉลี่ยปี 2551 ที่สูงถึงร้อยละ 18.3 ซึ่งธนาคารกลางอียิปต์คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงเหลือหลักเดียวภายในปี 2552 อัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลงจะส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจ โดยค่าขนส่ง ค่าที่พักและค่าอาหารปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก เช่นเดียวกับรายจ่ายด้านการศึกษาที่รัฐบาลให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ

ขนาดตลาด ความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชนอียิปต์แบ่งได้เป็น 2 ตลาด คือ ตลาดล่าง เป็นประชากรที่มีรายได้ต่ำและอาศัยในพื้นที่ตอนกลางและตลอดริมฝั่งแม่น้ำไนล์ของอียิปต์ มีกำลังซื้อต่ำนิยมสินค้าราคาถูก และตลาดกลาง-บน เป็นประชากรที่มีรายได้ปานกลางรวมทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยในอียิปต์ที่ถือว่ามีกำลังซื้อและให้ความสำคัญด้านคุณภาพสินค้าและเน้นความพอใจในการตัดสินใจซื้อสินค้า ซึ่งประชากรกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตเมืองทางตอนเหนือ(ตั้งแต่ไคโรขึ้นไป)และในเมืองสำคัญที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าและการลงทุน ได้แก่ ไคโร อเล็กซานเดรีย เรดซี และพอร์ดซาอิด เป็นต้น ตลาดกลาง-บนในอียิปต์เป็นตลาดที่สินค้าไทยน่าจะพอมีโอกาสขยายตลาดได้จากกำลังซื้อที่ค่อนข้างสูงและคาดว่าจะมีความต้องการต่อสินค้าไทยที่มีคุณภาพและเน้นเจาะตลาดระดับกลาง-บน

ประเด็นสำคัญและข้อเสนอแนะ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกไม่ส่งผลกระทบมากนักต่ออียิปต์ แม้ว่าอียิปต์จะเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน แต่เนื่องจากอียิปต์ได้เคยผ่านวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2472 มาแล้วทำให้อียิปต์มีระบบควบคุมการเงินและเครื่องมือทางการเงินที่ค่อนข้างรัดกุมทำให้วิกฤตการณ์ทางการเงินโลกไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการเงินของอียิปต์ อย่างไรก็ตามภาคการส่งออกของอียิปต์ได้รับผลกระทบทางอ้อมให้ชะลอลงอย่างเลี่ยงได้ยากเนื่องจากอุปสงค์ในตลาดส่งออกหลักของอียิปต์อย่างยุโรปและสหรัฐฯซบเซาลง เศรษฐกิจของอียิปต์ที่ชะลอตัวตามความอ่อนแรงของภาคส่งออกส่งผลให้การส่งออกสินค้าจากไทยไปอียิปต์ชะลอตัวตามไปด้วย อย่างไรก็ตามในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2552 สินค้าส่งออกหลายชนิดของไทยไปอียิปต์ยังคงขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง(+18.9%) ด้าย/เส้นใยประดิษฐ์ (+44.1%) ทองแดง(+18.4%) เครื่องจักรกล/ส่วนประกอบ(+38.6%) เครื่องซักผ้า(+0.8%) และเสื้อผ้าสำเร็จรูป(+122%) เป็นต้น คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจอียิปต์ที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้จากไตรมาสแรกที่เติบโตสูงขึ้นเป็นร้อยละ 4.3 จากร้อยละ 4.1 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 น่าจะเป็นโอกาสให้สินค้าส่งออกและภาคธุรกิจไทยเข้าไปขยายตัวในอียิปต์ได้มากขึ้น โดยมีประเด็นสำคัญที่ควรคำนึงถึงดังนี้

อียิปต์เป็นตลาดใหม่ ทำให้ผู้ส่งออกของไทยยังไม่รู้จักตลาดอียิปต์มากนัก และผู้นำเข้าในอียิปต์ก็ไม่รู้จักสินค้าไทยเท่าที่ควรเช่นกัน การเข้าสู่ตลาดอียิปต์จึงจำเป็นต้องทำการประชาสัมพันธ์เผยแพร่แนะนำสินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

รูปแบบและรสนิยมการบริโภคของอียิปต์ ในปัจจุบันคนอียิปต์ให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้าและความหลากหลายของสินค้ามากขึ้น ประชากรในเมืองใหญ่ที่มีคนวัยหนุ่มสาวจำนวนมากรสนิยมการบริโภคจึงค่อนข้างทันสมัยนิยมใช้จ่ายในห้างสรรพสินค้าที่สะดวกสบาย โดยเฉพาะการซื้อสินค้าอาหาร คนอียิปต์จะซื้อจากซุปเปอร์มาร์เกตและห้างสรรพสินค้ามากกว่าซื้อจากร้านขนาดเล็กเนื่องจากให้ความสำคัญด้านคุณภาพซึ่งผู้บริโภคในกลุ่มนี้จะเป็นผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อหรือเป็นกลุ่มผู้ซื้อระดับกลาง-บน

ด้านแรงงาน อัตราการรู้หนังสือของประชาชนในอียิปต์อยู่ที่ร้อยละ 29.3 (ประมาณ 21 ล้านคน) เป็นอันดับที่ 4 ในภูมิภาคแอฟริกาเหนือ จากการสำรวจความสะดวกด้านการจ้างงานของธนาคารโลกในปี 2552 พบว่านักลงทุนในอียิปต์จะได้รับความสะดวกด้านแรงงานมากที่สุดในภูมิภาค แอฟริกาเหนือ(อันดับสูงกว่าจีน) แต่นักลงทุนอาจจะพบอุปสรรคด้านแรงงานที่สำคัญในอียิปต์ คือการปลดคนงานค่อนข้างลำบากและมีต้นทุนในการปลดแรงงานสูงที่สุดในแอฟริกาเหนือ โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปลดคนงานเป็นค่าจ้างจำนวน 132 สัปดาห์หรือประมาณ 30 เดือน(สูงกว่าไทย เวียดนาม ลาวและจีน) ซึ่งเป็นข้อควรระวังสำหรับนักลงทุนที่เข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นในอียิปต์ เช่น สิ่งทอ และการผลิตอาหาร เป็นต้น

การส่งออกสินค้าไปขายในอียิปต์ สำหรับช่องทางการจัดจำหน่ายในอียิปต์มีหลายรูปแบบ ได้แก่ การติดต่อเสนอสินค้าโดยตรงต่อผู้นำเข้าหรือ Trading Firm ของอียิปต์ เพื่อให้นำเข้าและสามารถส่งขายกระจายสินค้าไปยังผู้จำหน่าย คือ ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เกต ร้านขายของชำ รวมทั้งโรงงานสำหรับใช้ในการผลิตสินค้า กรณีผู้นำเข้าที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ของอียิปต์จะเป็นผู้กระจายสินค้าเอง ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กที่มีจำนวนมากในอียิปต์ จะเป็นผู้นำเข้าสินค้าเฉพาะอย่าง ส่วนใหญ่เป็นผู้ขายส่งอยู่เดิม และจะมีตลาดรับซื้อของตนเองโดยเฉพาะ

การกระจายสินค้าไปยังประเทศใกล้เคียง ตลาดอียิปต์เป็นศูนย์กลางการค้าของโลกเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างทวีปยุโรป เอเชีย และแอฟริกา นอกจากตลาดอียิปต์จะเป็นโอกาสสำหรับสินค้าส่งออกของไทยแล้วยังเป็นแหล่งกระจายสินค้าไทยไปยังภูมิภาคใกล้เคียงจากการเป็นศูนย์กลางทางการค้าของโลก โดยผ่านผู้นำเข้าของอียิปต์ นอกจากนี้หากเข้าไปทำการผลิตและลงทุนในอียิปต์และใช้วัตถุดิบที่มีในอียิปต์นำมาผลิตจะเอื้อประโยชน์ให้สามารถทำการค้าผ่านข้อตกลงทางการค้าของอียิปต์ที่มีกับประเทศต่างๆ โดยได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีและอำนวยความสะดวกในการเข้าสู่ตลาดประเทศต่างๆได้มากยิ่งขึ้น เช่น ยุโรป เอเชีย อาหรับ แอฟริกา และอเมริกา เป็นต้น

ราคาสินค้าไทยค่อนข้างสูงจึงเหมาะสำหรับตลาดระดับกลางขึ้นไป สินค้าไทยเมื่อเทียบกับราคาสินค้าในประเทศอียิปต์ที่ถูกกว่าทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทยค่อนข้างน้อย ดังนั้นควรส่งเสริมการส่งออกสินค้าสำหรับผู้ซื้อในตลาดระดับกลาง-บน เน้นให้ความสำคัญการรักษาคุณภาพของสินค้า รูปแบบที่ทันสมัย การส่งเสริมการใช้ชื่อตราสินค้าของตนเองและแสดงให้เห็นเป็นการผลิตสินค้าจากประเทศไทย เพื่อสร้างภาพพจน์และระดับคุณภาพสินค้า

การปกป้องสินค้าหรืออุตสาหกรรมที่ผลิตในประเทศ อียิปต์มีนโยบายลดการขาดดุลการค้าโดยกำหนดอัตราภาษีนำเข้าสูงและความเข้มงวดทางด้านระเบียบการตรวจปล่อยสินค้านำเข้า โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปเพื่อนำมาขายในประเทศ ดังนั้นการนำเข้าสินค้ากึ่งสำเร็จรูปเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบหรือชิ้นส่วนในการผลิตสินค้า โดยเฉพาะการผลิตเพื่อส่งออกหรือทดแทนการนำเข้าจะมีอัตราภาษีนำเข้าเพื่อการผลิตที่ต่ำกว่าภาษีนำเข้าสินค้าเพื่อการบริโภค ซึ่งหากเป็นการนำเข้าจากผู้ผลิตที่อยู่ในพื้นที่ส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจะได้รับสิทธิพิเศษในการลดหย่อนภาษีอีกทางหนึ่งด้วย

บทสรุป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า นับตั้งแต่อียิปต์ปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 2547 ประกอบกับอียิปต์เป็นประตูการค้าไปสู่ประเทศใกล้เคียงและประเทศที่อยู่ตอนในของแอฟริกา ส่งผลให้การค้าระหว่างไทยกับอียิปต์ขยายตัวอย่างรวดเร็วในอัตราเฉลี่ยปีละ 26.6(ปี 2547-2551) ทั้งนี้อียิปต์มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 5.9(ปี 2547-2551) และแม้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกจะส่งผลให้ภาคการค้าระหว่างประเทศของอียิปต์ชะลอตัวอย่างเลี่ยงได้ยากแต่รัฐบาลก็ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งนโยบายการคลังและการเงินเพื่อกระตุ้นการค้าและการลงทุนในประเทศ คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เศรษฐกิจของอียิปต์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากการกระเตื้องขึ้นของภาคการผลิตและภาคการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มปรากฏสัญญาณชัดขึ้นว่าน่าจะก้าวผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว อียิปต์จึงเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจในการทำการค้า โอกาสสินค้าส่งออกของไทย ได้แก่ รถยนต์/ส่วนประกอบ อาหารทะเล/แปรรูป ยาง/ผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติก สิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้า/ส่วนประกอบ และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์/ส่วนประกอบ เป็นต้น ซึ่งการส่งออกสินค้าจำพวกวัตถุดิบเพื่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมจะมีความได้เปรียบด้านอัตราภาษีนำเข้าที่ต่ำกว่าอัตราภาษีนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปประมาณร้อยละ 5-10 สำหรับโอกาสด้านการลงทุนของไทยในอียิปต์ ได้แก่ การลงทุนในธุรกิจผลิตอาหาร สิ่งทอ และปิโตรเลียม/ปิโตรเคมี รวมทั้งธุรกิจบริการที่ไทยมีศักยภาพ เช่น สปา/ร้านอาหารไทย เป็นต้น เนื่องจากอียิปต์มีวัตถุดิบสิ่งทอและปิโตรเลียมที่พร้อม ทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของโลกจึงมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวยุโรปที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบค่าแรงงานของอียิปต์กับประเทศเวียดนามที่ถือว่าเป็นแหล่งดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่สำคัญประเทศหนึ่งในปัจจุบัน ซึ่งมีค่าแรงเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,200 เหรียญสหรัฐฯต่อปี นับว่าค่าจ้างแรงงานของอียิปต์ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 1,537 เหรียญสหรัฐฯต่อปี สูงกว่าเล็กน้อยแต่ถือว่าอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ดังนั้นอียิปต์จึงถือเป็นแหล่งลงทุนที่มีข้อได้เปรียบจากระดับแรงงานที่ยังค่อนข้างต่ำ