สภาพคล่องในงบดุลของธนาคารพาณิชย์ไทย มิ.ย. 52 … ลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมข้อมูลสินทรัพย์สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 เปรียบเทียบกับสิ้นเดือนก่อนหน้า และสิ้นปี 2551 พบว่า

• สินทรัพย์สภาพคล่อง (รวมเงินสด เงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น และเงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 สินทรัพย์สภาพคล่องดังกล่าว มีจำนวน 2.13 ล้านล้านบาท ลดลง 1.02 แสนล้านบาท จาก 2.23 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2552 อันเป็นผลจากการลดลงในองค์ประกอบหลัก คือ เงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น และเงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์ ขณะที่เงินสดเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ทั้งนี้ การลดลงของสินทรัพย์สภาพคล่องในเดือนมิถุนายน เป็นผลจากยอดเงินฝากที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้าจำนวน 7.51 หมื่นล้านบาท ซึ่งมากกว่าขนาดการลดลงของยอดเงินให้สินเชื่อสุทธิ (หลังหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) จำนวน 1.41 พันล้านบาท ในทิศทางเดียวกัน เมื่อพิจารณาข้อมูลสินทรัพย์สภาพคล่องในความหมายที่แคบลง คือ ไม่นับรวมเงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์ หรือมาจากผลรวมเฉพาะของเงินสดและเงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น พบว่า มีจำนวน 9.52 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 ลดลง 7.73 หมื่นล้านบาท จาก 1.03 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม

• การลดลงจากเดือนก่อนหน้าของสินทรัพย์สภาพคล่องในความหมายกว้างเกิดขึ้นในทุกกลุ่มธนาคาร นำโดยการลดลงของสภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่จำนวน 5.07 หมื่นล้านบาท มามียอดคงค้างที่ 1.39 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 ตามมาด้วยสภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดเล็กและกลุ่มธนาคารขนาดกลางที่ลดลงใกล้เคียงกันจำนวน 2.63 หมื่นล้านบาท และ 2.49 หมื่นล้านบาท มามียอดคงค้างที่ 2.50 แสนล้านบาท และ 4.93 แสนล้านบาท ตามลำดับ

• เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2551 สินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ยังคงเพิ่มขึ้นประมาณ 1.45 แสนล้านบาท โดยมาจากการเพิ่มขึ้นของสภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่เป็นหลัก จำนวน 1.95 แสนล้านบาท ขณะที่ สภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดกลางและกลุ่มธนาคารขนาดเล็กลดลง 2.99 หมื่นล้านบาท และ 2.06 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การลดลงจากเดือนก่อนหน้าของสินทรัพย์สภาพคล่องในงบดุลของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย (ตามความหมายกว้าง) เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันในเดือนมิถุนายน 2552 เป็นการยืนยันว่าสภาพคล่องกำลังอยู่ในทิศทางที่ลดลง และยังน่าที่จะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในระยะที่เหลือของปีนี้ ทั้งนี้เนื่องจากคาดว่าความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจอาจเริ่มกลับมาขยายตัวตามโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับเงินฝากอาจยังคงต้องเผชิญกับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องตามภาวะการแข่งขันที่เป็นผลมาจากความต้องการระดมทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์การออมที่ให้ผลตอบแทนจูงใจในรูปแบบต่างๆ ทั้งพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน หุ้นไอพีโอ ตลอดจนกองทุนรวม ดังนั้น เพื่อที่จะบริหารสภาพคล่องให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์แวดล้อมทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะทยอยเปลี่ยนแปลงไปในเชิงบวกมากขึ้นในอนาคต รวมทั้งเพื่อรักษาฐานลูกค้า ธนาคารพาณิชย์คงจะทยอยออกผลิตภัณฑ์เงินออมพิเศษที่ให้ผลตอบแทนดึงดูดใจมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไปเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้ออม แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางการอาจจะยังไม่ปรับขึ้นในระยะอันใกล้นี้ก็ตาม