FTA อาเซียน-จีน…โอกาสขยายธุรกิจบริการของไทย

การเปิดเสรีด้านการค้าบริการระหว่างอาเซียนและจีนกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาการเปิดตลาดรอบที่สองครอบคลุมการค้าบริการ 12 สาขา โดยคาดว่าน่าจะสามารถสรุปผลการเจรจาได้ก่อนเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนกับจีนในเดือนตุลาคมซึ่งมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ การเปิดเสรีภาคบริการระหว่างอาเซียนกับจีนภายใต้กรอบข้อตกลงการจัดทำเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN-China Free Trade Area) เป็นปัจจัยสำคัญในการเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะนักลงทุนในประเทศสมาชิกต่างๆ ในอาเซียน รวมถึงประเทศไทยเข้าไปขยายการลงทุนในภาคบริการของจีนได้มากขึ้น ขณะเดียวกันนักลงทุนจีนก็สามารถเข้ามาขยายธุรกิจบริการในอาเซียนและไทยได้มากขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ กรอบข้อตกลง FTA อาเซียน-จีนซึ่งได้ลงนามไปเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2545 ครอบคลุมการเปิดเสรีด้านสินค้า ด้านการบริการและการลงทุน รวมถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต่างๆ สำหรับการเปิดเสรีด้านการค้าบริการนั้น อาเซียนและจีนได้ลงนามความตกลง ฯ พร้อมข้อผูกพันการเปิดตลาดภาคบริการรอบแรกเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2550 โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม 2550 เป็นต้นมา ส่งผลให้โอกาสการลงทุนในธุรกิจบริการระหว่างประเทศต่างๆ ในอาเซียน รวมทั้งประเทศไทยและจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายกฎระเบียบและเงื่อนไขด้านการลงทุนในด้านธุรกิจบริการให้แก่กัน โดยไทยได้ผ่อนคลายกฎระเบียบให้แก่นักลงทุนจากประเทศสมาชิกอาเซียนและจีนเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยโดยเพิ่มการเปิดสาขาธุรกิจบริการวิชาชีพได้แก่ การศึกษา ท่องเที่ยว การบริการสุขภาพ และการขนส่งทางเรือ โดยนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยสามารถถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 49 ขณะที่ทางฝ่ายจีนได้เสนอให้มีการลดกฎระเบียบให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนครอบคลุมธุรกิจบริการสาขากิจกรรมด้านคอมพิวเตอร์ บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ และบริการขนส่งสินค้าทางถนน อย่างไรก็ตาม หลังจากการเปิดตลาดภาคบริการรอบแรกระหว่างอาเซียนและจีน พบว่า การเข้าไปลงทุนของนักลงทุนไทยในภาคบริการของจีนยังไม่มีผลที่เป็นรูปธรรมชัดเจนมากนัก คาดว่าเนื่องจากยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเปิดตลาดภาคบริการและส่วนใหญ่ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยและจีนจะอยู่ในภาคการค้าสินค้ามากกว่า อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเปิดตลาดภาคบริการเพิ่มเติมในรอบที่สองนี้ ซึ่งครอบคลุมกิจกรรมในสาขาบริการที่กว้างและลึกขึ้นน่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนในธุรกิจภาคบริการระหว่างไทยและจีนให้ขยายตัวได้ดีขึ้น

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างร้อนแรงของจีนไม่เพียงส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมของจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ยังส่งผลให้อุตสาหกรรมภาคบริการของจีนได้รับการพัฒนาและเติบโตอย่างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากข้อผูกพันขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ที่ได้เปิดโอกาสให้ธุรกิจบริการในประเทศจีนขยายตัวได้ดีขึ้น เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาขยายการลงทุนและแข่งขันกับผู้ประกอบการในท้องถิ่นของจีนได้อย่างเสรีมากขึ้น โดยปัจจุบันจีนถือเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตแข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคเอเชียท่ามกลางภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยมีปัจจัยเอื้อหนุนสำคัญมาจากความพยายามของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศโดยการออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศส่งผลให้เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้สามารถเติบโตได้ดีขึ้นเป็นร้อยละ 7.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (yoy) เทียบกับไตรมาสแรกที่เติบโตชะลอเหลือร้อยละ 6.1 ในไตรมาสแรก (yoy) โดยรายงาน Consensus Forecast เดือนกรกฎาคม คาดการณ์ว่า ในปี 2552 เศรษฐกิจจีนจะยังคงเติบโตร้อยละ 7.5 แม้ว่าจะชะลอตัวลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 9 ในปีก่อนหน้า และคาดว่าในปี 2553 ทิศทางเศรษฐกิจจีนจะปรับตัวดีขึ้นเป็นร้อยละ 8.5 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ประเด็นที่น่าสนใจคือ โอกาสที่เพิ่มขึ้นของการขยายธุรกิจบริการของไทยและประเทศต่างๆ ในอาเซียน รวมถึงจีนภายใต้กรอบความตกลง FTA อาเซียน-จีน โดยผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากกรอบข้อตกลง ฯ ในการขยายการลงทุนด้านธุรกิจภาคบริการในประเทศจีนและในขณะเดียวไทยยังได้รับประโยชน์จากการเข้ามาลงทุนในธุรกิจภาคบริการของนักลงทุนจีน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สรุปภาพรวมธุรกิจภาคบริการในจีนและแนวโน้มของการค้าบริการในปี 2553 รวมถึงโอกาสของผู้ประกอบการไทยและจีนในธุรกิจบริการภายใต้กรอบการค้า FTA อาเซียน-จีน ดังนี้

ภาพรวมของธุรกิจภาคบริการในจีน
ภาคบริการของจีนเป็นธุรกิจที่เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547-2550 โดยในปี 2550 มูลค่าของธุรกิจบริการในประเทศจีนทะลุ 960 หมื่นล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 11.4 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 จากปี 2549 อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจโลกในปีที่ผ่านมา จีนต้องประสบปัญหาภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจภายในและภาคส่งออกของจีนชะลอตัวลงทำให้การขยายตัวของอุตสาหกรรมภาคบริการของจีนในปี 2551 ที่ผ่านมา ชะลอตัวเหลือร้อยละ 9.5 เป็นมูลค่า 1,204.87 หมื่นล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 40 ของจีดีพี อีกทั้ง ข้อมูลจากสำนักสถิติแห่งชาติจีน เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 การเติบโตของธุรกิจภาคบริการจีนยังคงขยายตัวแต่ชะลอลงเหลือร้อยละ 7.4 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่า 290.7 หมื่นล้านหยวน ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับและพัฒนาธุรกิจบริการของจีน ทางคณะกรรมการปฏิรูปและพัฒนาแห่งชาติของจีนได้ออกนโยบายสนับสนุนการลงทุนในส่วนของธุรกิจบริการและปรับปรุงการจัดการของธุรกิจบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการปฏิรูปและเปิดการค้าเสรีในภาคธุรกิจบริการในประเทศจีนมากขึ้น ซึ่งทางการจีนได้ดำเนินนโยบายพัฒนาธุรกิจบริการที่กำหนดไว้ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (2549-2553) ทั้งนี้ ธุรกิจบริการสำคัญของจีน ได้แก่ ธุรกิจภาคการเงินและการธนาคาร ธุรกิจประกันภัย โทรคมนาคม โลจิสติกส์ โรงพยาบาล ท่องเที่ยว โรงแรมและร้านอาหาร ค้าปลีกและค้าส่ง และการศึกษา เป็นต้น

แนวโน้มของธุรกิจบริการในจีน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธุรกิจบริการของจีนในปี 2552 มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2551 ตามภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ แม้ว่าจะมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นจากระดับต่ำสุดในไตรมาสแรก ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอยู่ในภาวะซบเซา โดยคาดว่าแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกน่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปี 2552 ถึงต้นปี 2553 อีกทั้ง จากการที่ทางการจีนได้ทยอยออกนโยบายต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อภายในประเทศให้กลับฟื้นทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลังตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาส่งผลให้ภาคบริการสำคัญในจีนยังขยายตัวได้ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งสะท้อนได้จากยอดค้าปลีกในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ที่ยังขยายตัวร้อยละ 15 แม้จะชะลอตัวก็ตาม อีกทั้งในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ของปีนี้ มูลค่าค้าปลีกและค้าส่งเติบโตร้อยละ 14.7 ส่วนธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารขยายตัวกว่าร้อยละ 18 ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการของภาครัฐเหล่านี้น่าจะช่วยให้ทิศทางธุรกิจบริการของจีนปรับตัวดีขึ้น กอปรกับการขยายตัวทางรายได้ของประชากรชาวจีนทั้งในเขตเมืองและชนบทที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคชั้นกลางและสูงที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองสำคัญ ๆ ของประเทศ อาทิ มหานครปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และ เซินเจิ้น รวมถึงกลุ่มผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ทางตอนกลางและภาคตะวันตกของประเทศจีนอาทิ มณฑลยูนนาน กว่างซี และเสฉวน เป็นต้น ซึ่งทางรัฐบาลจีนได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาความเจริญออกสู่พื้นที่เหล่านี้โดยการสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและปรับปรุงระบบคมนาคม น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนธุรกิจภาคบริการของจีนให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการที่เติบโตขึ้นของผู้บริโภค โดยเฉพาะธุรกิจภาคบริการในสาขาก่อสร้าง โลจิสติกส์ ท่องเที่ยว โรงแรมและร้านอาหาร เป็นต้น ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนาประเทศของทางการจีน ได้ตั้งเป้าขยายสัดส่วนของธุรกิจภาคบริการเพิ่มเป็นกว่าร้อยละ 50 ของจีดีพี ภายในปี 2563

สำหรับแนวโน้มธุรกิจบริการของผู้ประกอบการไทยในตลาดจีนคาดว่า การเจรจาเปิดตลาด FTA อาเซียน-จีนรอบที่สองที่ครอบคลุมการเปิดสาขาธุรกิจบริการทั้งหมด 12 สาขา เพิ่มเติมกิจกรรมหลายๆ ด้านจากที่จีนเปิดตลาดให้ไทยก่อนหน้านี้ในรอบแรกอาทิ ธุรกิจการศึกษา ธุรกิจโรงพยาบาล ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจสปา ธุรกิจโรงแรมและนำเที่ยว น่าจะทำให้ไทยและประเทศอาเซียนอื่นๆ มีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดจีนดีขึ้น และเพิ่มโอกาสขยายธุรกิจไปยังประเทศจีน โดยคาดว่าธุรกิจภาคบริการของไทยที่มีศักยภาพน่าจะได้รับประโยชน์ภายใต้ความข้อตกลง FTA อาเซียน-จีน ในภาคการค้าบริการได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ธุรกิจสปา ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจโลจิสติกส์และธุรกิจด้านการศึกษา เป็นต้น การเข้าสู่ตลาดภาคบริการในจีนได้มากขึ้นในสาขาต่าง ๆ ข้างต้นจากข้อตกลง FTA ดังกล่าวน่าจะทำให้ธุรกิจบริการไทยได้รับผลดีจากการเติบโตของภาคการบริโภคภายในจีนที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องตามนโยบายสนับสนุนของทางการจีนที่ตั้งเป้าหมายให้ภาคบริการมีบทบาทสำคัญมากขึ้นต่อเศรษฐกิจจีน

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนและผู้ประกอบการไทยในปัจจุบันยังคงประสบอุปสรรคและปัญหาในการเข้าไปลงทุนและประกอบธุรกิจภาคบริการในจีน โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจุบันสาขาบริการที่มีศักยภาพที่นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในจีนส่วนใหญ่ยังคงอยู่ภายใต้ข้อผูกพันการเปิดตลาดจีนในกรอบ WTO เท่านั้น ส่วนสาขาที่เปิดภายใต้กรอบ FTA อาเซียน-จีนซึ่งยังไม่มีการเปิดตลาดในกรอบ WTO ยังมีนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในจีนค่อนข้างน้อย ทั้งนี้ ตัวอย่างอุปสรรคจากกฎระเบียบของจีนในสาขาบริการที่จีนเปิดให้อาเซียนและไทยภายใต้กรอบ FTA อาเซียน-จีน เช่น กฎระเบียบและขั้นตอนทางกฎหมายภายในประเทศของการลงทุนธุรกิจสปาในจีนดังนี้

กฎระเบียบและขั้นตอนทางกฎหมายของธุรกิจสปาภายในประเทศจีน
• ต้องมีใบอนุญาตต่าง ๆ ได้แก่ ใบอนุญาตความปลอดภัยจากหน่วยงานความมั่นคงสาธารณะ ใบอนุญาตสาธารณสุข จากหน่วยงานสาธารณสุขและใบอนุญาตประกอบกิจการจาก SAIC ระดับอำเภอขึ้นไป
• สถานประกอบการมาตรฐาน เช่น มีความสว่างเหมาะสม ติดกระจกใส มีระบบป้องกันอัคคีภัย และระบบรักษาความปลอดภัย เป็นต้น
• คุณสมบัติผู้ให้บริการ หนังสือผ่านการอบรมวิชาชีพด้านสุขภาพและสาธารณสุขและหนังสือรับรองคุณสมบัติของการทำงานและใบรับรองระดับชั้นความรู้ในการฝึกอบรมวิชาชีพ

*** ที่มา: สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) โครงการวิจัยเรื่อง ”เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนและการเข้าสู่ตลาดจีนของภาคบริการไทย”

นอกจากอุปสรรคด้านใบอนุญาตการจัดตั้งธุรกิจและมาตรฐานการให้บริการและผู้ให้บริการแล้ว ยังมีปัญหาด้านภาษาที่ใช้สื่อสารกันระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการในประเทศจีน อีกทั้งยังมีอุปสรรคด้านการนำเข้าผลิตภัณฑ์สปาและเครื่องสำอางที่ใช้ประกอบการให้บริการซึ่งทางการจีนมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด

สำหรับโอกาสการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนชาวจีนในไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ภายใต้ข้อตกลง FTA อาเซียน-จีน ด้านการค้าบริการไม่เพียงเอื้อหนุนโอกาสดำเนินธุรกิจภาคบริการสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปลงทุนในจีนเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันยังช่วยสร้างโอกาสในการเพิ่มการจ้างงานในประเทศและช่วยพัฒนาประเทศจากการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนชาวจีน โดยปัจจุบันมีนักลงทุนชาวจีนให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจโรงแรมในไทยเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจบริการด้านการศึกษาและการท่องเที่ยวซึ่งได้ผ่อนคลายกฎระเบียบให้แก่นักลงทุนจีนไปบ้างแล้ว อีกทั้ง กิจกรรมในสาขาบริการหลายด้านที่ไทยมีแนวโน้มเปิดให้นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนได้มากขึ้น ภายใต้การเจรจาเปิดตลาดภาคบริการรอบที่สองของ FTA อาเซียน-จีน เช่น ภาคก่อสร้างและธุรกิจขนส่งสินค้า โดยคาดว่า ธุรกิจภาคบริการที่จีนเข้ามาลงทุนน่าขยายตัวมากขึ้นในไทยจากข้อตกลงFTA อาเซียน-จีน ด้านการค้าบริการที่ทยอยเปิดเพิ่มเติม ซึ่งอาจจะเพิ่มการแข่งขันของธุรกิจภาคบริการในไทยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นน่าจะเป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยเร่งพัฒนาศักยภาพในการให้บริการเพื่อตั้งรับกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในอนาคตจากการเปิดเสรีภาคบริการที่ขยายสาขามากขึ้น และครอบคลุมหลายประเทศมากขึ้นในระยะต่อไป ขณะเดียวกันการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนจีนในภาคบริการของไทยยังช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศและช่วยเพิ่มการจ้างงานด้วย

สรุป การเปิดเสรีด้านการค้าบริการระหว่างอาเซียนและจีนกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาการเปิดตลาดรอบที่สอง โดยคาดว่าจะสามารถสรุปผลการเจรจาได้ก่อนเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนกับจีนในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งการเปิดเสรีภาคบริการระหว่างอาเซียนกับจีนภายใต้กรอบข้อตกลงการจัดทำเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN-China Free Trade Area) เป็นปัจจัยสำคัญในการเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะนักลงทุนในประเทศสมาชิกต่างๆ ในอาเซียน รวมถึงประเทศไทยเข้าไปขยายการลงทุนในภาคบริการของจีนได้มากขึ้นจากการผ่อนคลายกฎระเบียบและเงื่อนไขด้านการลงทุนในด้านธุรกิจบริการให้แก่กัน ขณะเดียวกันนักลงทุนจีนก็มีโอกาสขยายการลงทุนภาคบริการในอาเซียนและไทยมากขึ้นเช่นกัน โดยปัจจุบันจีนถือเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตแข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคเอเชียท่ามกลางภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2 สามารถขยายตัวได้ดีขึ้นเป็นร้อยละ 7.9 จากไตรมาสแรกที่ชะลอลงในระดับต่ำสุดที่ร้อยละ 6.1 โดยรายงาน Consensus Forecast เดือนกรกฎาคม คาดการณ์ว่า ในปี 2552 เศรษฐกิจจีนจะยังคงเติบโตได้ที่ร้อยละ 7.5 แม้จะชะลอตัวลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 9 ในปีก่อนหน้า และคาดว่าในปี 2553 ทิศทางเศรษฐกิจจีนจะปรับตัวดีขึ้นเป็นร้อยละ 8.5 ซึ่งน่าจะช่วยขับเคลื่อนภาคบริการของจีนให้ขยายตัวได้ดีขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ภายใต้กรอบความตกลง FTA อาเซียน-จีนด้านภาคบริการนี้ได้ช่วยเพิ่มความทัดเทียมด้านการแข่งขันในตลาดจีนระหว่างประเทศไทยและประเทศต่างๆ ในอาเซียน กับประเทศเอเชียอื่นๆ ที่ค่อนข้างเข้าไปมีบทบาทในภาคบริการหลายสาขาในจีนจากการจัดทำความตกลงความร่วมมือหรือการเปิดเสรีภาคบริการกับจีนได้แก่ ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน อีกทั้ง ผู้ประกอบการไทยยังสามารถใช้ประโยชน์จากกรอบข้อตกลงฯ ในการขยายการลงทุนด้านการค้าบริการในประเทศจีน ซึ่งการค้าบริการของจีนเป็นธุรกิจที่เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547-2550 จากนโยบายพัฒนาธุรกิจบริการที่กำหนดไว้ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (2549-2553) และการปฏิรูปและเปิดการค้าเสรีของภาคธุรกิจบริการในประเทศจีนมากขึ้น โดยธุรกิจบริการสำคัญของจีน ได้แก่ ธุรกิจภาคการเงินและการธนาคาร ธุรกิจประกันภัย โทรคมนาคม โลจิสติกส์ โรงพยาบาล ท่องเที่ยว โรงแรมและร้านอาหาร ค้าปลีกและค้าส่ง และการศึกษา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจโลกในปีที่ผ่านมา จีนต้องเผชิญกับภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจภายในและภาคส่งออกของจีนชะลอตัวลง ทำให้การขยายตัวของอุตสาหกรรมภาคบริการของจีนในปี 2551 ที่ผ่านมา ชะลอตัวเหลือร้อยละ 9.5 โดยมีมูลค่า 1,204.87 หมื่นล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40.1 ของจีดีพี อีกทั้ง ข้อมูลจากสำนักสถิติแห่งชาติจีน เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 การเติบโตของธุรกิจภาคบริการจีนมีมูลค่าเป็น 290.7 หมื่นล้านหยวน ขยายตัวชะลอลงเหลือร้อยละ 7.4 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธุรกิจบริการในประเทศจีนในปี 2552 มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2551 ตามภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน แม้ว่ามีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอยู่ในภาวะซบเซาแม้จะมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตาม ทางการจีนได้ทยอยออกนโยบายต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อภายในประเทศให้กลับฟื้นทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลังตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาซึ่งคาดว่าน่าจะส่งผลให้ทิศทางธุรกิจบริการของจีนปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ กอปรกับการขยายตัวทางรายได้ของประชากรชาวจีนทั้งในเขตเมืองและชนบทที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ธุรกิจบริการขยายตัวได้ดีขึ้น ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนาประเทศของทางการจีนได้ตั้งเป้าขยายสัดส่วนของธุรกิจภาคบริการเพิ่มเป็นกว่าร้อยละ 50 ของจีดีพี ภายในปี 2563 จากปัจจุบันที่ภาคบริการมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 40 ของจีดีพี

สำหรับแนวโน้มธุรกิจบริการของผู้ประกอบการไทยในตลาดจีนคาดว่า ภายใต้ข้อตกลง FTA อาเซียน-จีน ด้านการค้าบริการที่มีกำหนดเปิดตลาดมากขึ้นเป็นลำดับ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาเปิดตลาดรอบที่สองนั้นน่าจะทำให้ไทยและประเทศอาเซียนอื่นๆ มีขีดความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นในตลาดจีนเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ได้แก่ ฮ่องกง มาเก๊าและไต้หวัน รวมทั้งเพิ่มโอกาสขยายธุรกิจไปยังประเทศจีน ทั้งนี้ การเจรจาเปิดตลาด FTA อาเซียน-จีนรอบที่สองที่ครอบคลุมการเปิดสาขาธุรกิจบริการทั้งหมด 12 สาขาเพิ่มเติมจากที่จีนเปิดตลาดให้ไทยก่อนหน้านี้ในรอบแรก คาดว่าธุรกิจภาคบริการของไทยที่จะได้รับประโยชน์ภายใต้ความข้อตกลง FTA อาเซียน-จีน เพิ่มเติมในภาคการค้าบริการได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ธุรกิจสปา ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจโลจิสติกส์และธุรกิจด้านการศึกษา เป็นต้น การเข้าสู่ตลาดภาคบริการในจีนได้มากขึ้นในสาขาต่าง ๆ ข้างต้นจากข้อตกลง FTA ดังกล่าวน่าจะทำให้ธุรกิจบริการไทยได้รับผลดีจากการเติบโตของภาคการบริโภคภายในจีนที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องตามนโยบายสนับสนุนของทางการจีนที่ตั้งเป้าหมายให้ภาคบริการมีบทบาทสำคัญมากขึ้นต่อเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจบริการไทยต้องตั้งรับกับกฎระเบียบ/ข้อกำหนดในสาขาบริการในจีนที่ถือเป็นอุปสรรคหนึ่งในการดำเนินธุรกิจภาคบริการในจีน เช่น มาตรฐานการให้บริการและมาตรฐานแรงงานในภาคบริการ นอกจากนี้ ธุรกิจไทยยังน่าจะได้รับผลดีจากแนวโน้มการขยายตัวของภาคบริการในจีนที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้ความต้องการบริการสาขาต่างๆ น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจให้บริการด้านการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งที่ทางการจีนสนับสนุนแผนปฏิรูประบบการดูแลสุขภาพโดยตั้งเป้าหมายขยายระบบการประกันสุขภาพขั้นพื้นฐานให้ครอบคลุมประชาชนอย่างน้อยร้อยละ 90 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศกว่า 1,300 ล้านคน ภายในปี 2554

สำหรับโอกาสการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนชาวจีนในไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ภายใต้ข้อตกลง FTA อาเซียน-จีน ด้านการค้าบริการไม่เพียงเอื้อหนุนโอกาสการดำเนินธุรกิจภาคบริการสำหรับผู้ประกอบการไทยให้เข้าไปลงทุนในจีนเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันยังช่วยสร้างโอกาสในการเพิ่มการจ้างงานในประเทศและช่วยพัฒนาประเทศจากการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนชาวจีน โดยกิจกรรมในสาขาบริการหลายด้านที่ไทยมีแนวโน้มเปิดให้นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนได้มากขึ้นภายใต้การเจรจาเปิดตลาดภาคบริการรอบที่ 2 อาทิ ภาคก่อสร้างและธุรกิจขนส่งสินค้า น่าจะส่งผลให้ธุรกิจภาคบริการของจีนขยายตัวมากขึ้นในไทยเช่นกัน