ระยองปลูกป่าชายเลนเฉลิมพระเกียรติวันแม่

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน)
เปิดเผยถึงโครงการโครงการปลูกป่าชายเฉลิมพระเกียรติว่า ไออาร์พีซี ร่วมกับเทศบาลนครระยอง, กลุ่ม
อนุรักษ์ป่าชายเลน เทศบาลระยอง, ชมรมรักษ์ลุ่มน้ำระยอง, โรงเรียนระยองวิทยาคมปากน้ำ, โรงเรียน
นครระยองวิทยาคม, โรงเรียนเทศบาลวัดปากน้ำ, กลุ่มสตรีอำเภอเมือง 11 ตำบล และพนักงานไออาร์พีซี
รวมกว่า 500 คน ร่วมกันปลูกป่าซ่อมแซม กำหนดเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำป่าชายเลน อาทิ ปูแสม กุ้ง
หอย ปู ปลา รวมทั้งการเก็บขยะบริเวณป่าชายเลน ณ ศูนย์เรียนรู้ระบบนิเวศน์ป่าชายเลน ชุมชนสมุทรเจดีย์
เทศบาลระยอง

“เป็นเจตนาดั้งเดิมของไออาร์พีซีในการร่วมมือกับชาวบ้านอนุรักษ์ระบบนิเวศน์รอบๆ โรงงาน เพราะป่า
ชายเลนในบางจุดที่เริ่มมีสภาพเสื่อมโทรม เราจึงคิดที่จะฟื้นฟูให้มีสภาพสมบูรณ์ เพื่อที่จะรักษาสิ่งแวดล้อม
ที่ดีไว้ให้ลูกหลาน รวมถึงเพื่อให้สิ่งแวดล้อม ชุมชน และโรงงาน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
โดยไออาร์พีซีจะช่วยเหลือในเรื่องของอุปกรณ์และทุนทรัพย์”

นายวรวิทย์ ศุภโชคชัย นายกเทศมนตรีเทศบาลนครระยอง กล่าวถึงแนวคิดวว่า ผืนป่าชายเลนในเขต
รับผิดชอบมีเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ ปัจจุบันสิ่งแวดล้อมรอบๆ โดยเฉพาะเรื่องป่าชายเลนดีขึ้นมาก สัตว์น้ำ
ที่เคยหายไปก็กลับมาเหมือนเดิม เช่น ปูกล้ามดาบ ปูดำ ปลาตีน นกท้องถิ่น ซึ่งน้ำ และ พื้นดินใต้น้ำจะ
เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์และระบบนิเวศน์ ชาวบ้านเริ่มให้ความสนใจเริ่มหวงแหน แผ่นดินที่เคยเป็น
เลนกลับกลายมาเป็นป่า มีความเขียนชะอุ่ม ใครจะเข้าหาปูหาปลาชาวบ้านก็จะขับไล่ เพราะบริเวณป่า
ชายเลนจะเป็นที่อนุบาลสัตว์ เป็นแหล่งของตัวอ่อนและการวางไข่

” มีปราชญ์ชาวบ้านที่อาศัยอยู่แถวป่าชายเลน ไปเก็บฝักพันธุ์พืชมาเพาะไว้ แล้วทำเป็นแหล่งศึกษา
พันธุ์พืช ชาวบ้านก็ไปเก็บไม้มาทำสะพาน เห็นแล้วก็ชื่นใจ จึงขอทุนสนับสนุนจากบริษัทเอกชน ซึ่ง
ทางเทศบาลก็ได้รับความร่วมมือกับบริษัท ไออาร์พีซี พัฒนาพลิกฟื้นผืนป่าให้เคียงคู่กับโรงงาน”

นายคิน นาวงศ์ อายุ 73 ปี ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลน เปิดเผยว่า เมื่อก่อนสภาพป่าชายเลนนั้น
ไม่ดี น้ำเสีย ป่าเสื่อมโทรม จึงเกิดแนวคิดในการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ระบบนิเวศน์ป่าชายเลน ชุมชนสมุทรเจดีย์ซึ่งได้ร่วมกับชาวบ้านและนักเรียนในละแวกใกล้เคียง 10 แห่ง โดยครูจะให้นักเรียนมาปลูกป่าชายเลน
ศึกษาระบบนิเวศน์ และปฏิบัติจริง มีการประเมินผลในระยะ 3 เดือน ต่อมาก็คิดสร้างสะพานทางเดิน
เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและศึกษาป่า แต่กลุ่มฯไม่มีเงินทุนที่จะไปซื้อไม้ จึงได้ขอคำปรึกษาจากบริษัท
เอกชน ให้เข้ามาช่วยสนับสนุนไม้และเงินทุน ทำเป็นทางเดิน เพื่อให้เด็กและชาวบ้านได้รับความสะดวก
เพลิดเพลินในการศึกษาและท่องเที่ยวป่าชายเลน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรดาน้องๆ นักเรียนต่างอารมณ์ดีกับการศึกษาธรรมชาติ ทั้งขุด ทั้งปักต้นกล้า
พันธุ์ไม้ต่างๆ อาทิ โกงกาง ลำพูน ลำแพน “น้องอาร์ต” ด.ช.ณัฐพล จุนาพงศ์ นักเรียชั้นป.5 โรงเรียน
เทศบาลวัดปากน้ำ กล่าวว่า เมื่อ 2 เดือนที่แล้วเพิ่งจะมาปลูกป่าชายเลนที่นี่กับเพื่อนๆ สนุกมากๆ
และได้ประโยชน์อีกหลายอย่าง เพราะการปลูกป่าชายเลนจะช่วยทำให้ลดภาวะโลกร้อนได้
และสัตว์น้ำทะเลจะได้มีที่อยู่อาศัย ซึ่งทุกวันนี้ป่าชายเลนเริ่มหายไปมากจึงอยากให้ทุกคนช่วยกันปลูก
ป่าชายเลนจะได้ไม่หมด

สาวน้อยหน้าใส หัวใจนักอนุรักษ์อย่าง “น้องไลลา” ด.ญ.ลักษณ์นารา เอี่ยมสำอางค์ ชั้น.ม.2
โรงเรียนเดียวกัน ก็ไม่น้อยหน้า กล่าวว่า แม้ไม่เคยปลูกป่าชายเลนมาก่อน แต่ก็ไม่เคยคิดจะทำลาย
ธรรมชาติโดยเฉพาะต้นไม้ เพราะต้นไม้ทำให้เราร่มรื่น สดชื่น แจ่มใสดีใจที่ได้มาปลูกป่าร่วมกับเพื่อนๆ
จากนี้ไปจะชวนเพื่อนๆ และที่บ้านให้ช่วยกันปลูกป่า จะได้ช่วยลดภาวะโลกร้อนและสัตว์น้ำจะได้มีที่อยู่
อาศัย คอยหลบศัตรูที่จะเข้าไปทำร้ายพวกเขา

“อยากให้ทุกคนช่วยกันปลูกป่าชายเลนเยอะๆ พวกปู หอย และปลาตีนจะได้มีที่อยู่อาศัยกัน พวกเรา
ก็จะได้มีเกาะไว้คอยป้องกันน้ำท่วม และไม่เพียงแต่ปลูกป่าชายเลนเท่านั้น อยากให้ปลูกต้นไม้ไว้ทุกที่
โลกจะได้ไม่ร้อนมากไปกว่านี้ และอยากให้ทุกคนหยุดตัดไม้ทำลายป่าเสียที เพราะทุกวันนี้ป่าไม้ของเรา
แทบจะไม่เหลืออีกแล้ว วันนี้หนูจึงมาปลูกป่าชายเลนให้โลกของเรา” “น้องกี้” ด.ญ.นิตศรา งันเกาะ
อายุ 14 ปี เพื่อนห้องเดียวกับน้องไลลา กล่าว