ดอกมะลิ : ราคาพุ่ง…ต้อนรับวันแม่แห่งชาติ

วันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี ซึ่งถือเป็นวันแม่แห่งชาติ ประชาชนส่วนใหญ่ต่างก็รำลึกถึงพระคุณของแม่ แสดงความกตัญญู และความรักที่มีต่อแม่ และหนึ่งในสัญลักษณ์ที่ประชาชนส่วนใหญ่จะนำมาใช้แสดงถึงความรัก ความกตัญญูที่มีต่อแม่ นั่นคือ “ดอกมะลิ” ซึ่งถือได้ว่า ดอกมะลินั้น จัดเป็นดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนในวันแม่ และในช่วงวันแม่แห่งชาติของทุกปี ทำให้ความต้องการดอกมะลิสดมีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นกว่าในช่วงเวลาปกติ ส่งผลให้ราคาดอกมะลิสดเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว

นอกจากนี้ ในช่วงวันแม่ ดอกไม้ประดิษฐ์รูปดอกมะลิในลักษณะต่าง ๆ รวมไปถึงบรรดาสินค้าต่าง ๆ ที่เกี่ยวโยงกับวันแม่ เช่น บัตรอวยพร เสื้อยืด เป็นต้น ก็พลอยได้รับอานิสงส์ ทำให้ขายดิบขายดีตามไปด้วย

การผลิต และการตลาดของดอกมะลิ
ดอกมะลิ จัดเป็นไม้ดอกที่ให้ผลผลิตทั้งปี ส่วนใหญ่ใช้ภายในประเทศ โดยนำมาร้อยเป็นพวงมาลัย ทำดอกไม้แห้ง สกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย พื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกดอกมะลิเพื่อการค้าในประเทศมีประมาณ 8,000 ไร่ โดยแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญของไทยส่วนใหญ่กระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยจังหวัดนครสวรรค์ เป็นจังหวัดที่มีการปลูกดอกมะลิมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ นครปฐม นครราชสีมา ขอนแก่น ศรีสะเกษ อุดรธานี เพชรบุรี นครศรีธรรมราช และสงขลา

ผลผลิตของดอกมะลิจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอายุของต้นมะลิ กล่าวคือ ถ้าต้นมะลิอายุ 1 ปี ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 1,000 -2,000 ลิตร /ไร่ อายุ 2 ปี ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 3,000 – 4,000 ลิตร/ไร่ อายุ 3 ปี ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 3,000 ลิตร/ไร่ และหลังจากนั้นแล้วผลผลิตจะเริ่มลดลงเรื่อย ๆ

ตลาดใหญ่ที่เป็นแหล่งจำหน่ายดอกมะลิอยู่ที่ปากคลองตลาด ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมและกระจายดอกมะลิไปยังร้านดอกไม้โดยทั่วไปตามตลาดต่าง ๆ ซึ่งดอกมะลิจะให้ดอกมากในช่วงฤดูร้อน และฤดูฝน ส่วนในช่วงฤดูหนาวให้ดอกน้อยที่สุด ดังนั้น ราคาของดอกมะลิในช่วงฤดูหนาวจะมีราคาที่แพงกว่าฤดูอื่น ๆ โดยในช่วงฤดูหนาวบางปี ดอกมะลิจะมีราคาสูงถึงประมาณลิตรละ 600-700 บาท (ราคาจากปากคลองตลาด) หรือเคยสูงถึงลิตรละ 1,000 บาท ส่วนฤดูร้อน และฤดูฝน ราคาดอกมะลิเฉลี่ยลิตรละ 30 บาท นอกจากนี้ราคาดอกมะลิยังขึ้นอยู่กับเทศกาลต่าง ๆ กล่าวคือ ราคาดอกมะลิช่วงวันธรรมดาลิตรละ 100 บาท วันพระ หรือวันโกนลิตรละ 150 บาท ตรุษจีน และปีใหม่บางปีลิตรละ 700-1,000 บาท เกษตรกรแต่ละรายมีรายได้เฉลี่ยในการปลูกดอกมะลิขายประมาณ 40,000-50,000 บาท/ไร่/เดือน หรือวันละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละฤดูกาล โดยวันที่ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกดอกมะลิเพื่อการค้ามีรายได้มากจะเป็นวันพระ วันสงกรานต์ วันตรุษจีน วันปีใหม่ และวันแม่

วันแม่ปี ’52…คาดดอกมะลิสดราคาพุ่ง
สำหรับปี 2552 ในช่วงวันแม่แห่งชาติที่กำลังจะมาถึงนี้ คาดว่า ราคาดอกมะลิพุ่งสูงขึ้นถึงลิตรละ 400-600 บาท หรืออาจจะสูงถึงลิตรละ 600-800 บาท หากเข้าใกล้ช่วงวันแม่มากขึ้น ซึ่งมีราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีราคาลิตรละ 400 บาท ส่งผลให้ราคาพวงมาลัยดอกมะลิในช่วงวันแม่ปีนี้เพิ่มสูงขึ้น โดยพวงมาลัยมะลิพวงเล็กจากพวงละ 10-15 บาท เป็นพวงละประมาณ 35-40 บาท พวงมาลัยมะลิพวงใหญ่จากพวงละ 90-100 บาท เป็นพวงละประมาณ 250-300 บาท เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยจากการขายดอกมะลิในช่วงก่อนถึงวันแม่ 2-3 วัน ประมาณวันละไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท โดยสาเหตุที่ทำให้ราคาดอกมะลิมีราคาเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงปกติเกือบ 2 เท่า มีดังนี้

ช่วงวันแม่แห่งชาติ ตามปกติ ในช่วงเทศกาลสำคัญ ๆ สินค้า หรือผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับเทศกาลนั้น ๆ จะมีราคาเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว และ ดอกมะลิ ก็มีราคาเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงวันแม่แห่งชาติ เนื่องจากดอกมะลิจัดเป็นดอกไม้ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ในวันแม่แห่งชาติ ประชาชนมีความต้องการซื้อดอกมะลิมากราบไหว้แม่กันมากขึ้น ส่งผลให้ช่วงนี้ราคาดอกมะลิเพิ่มสูงขึ้นตามเทศกาลวันแม่แห่งชาติ โดยเฉพาะปีนี้ คาดว่า ราคาดอกมะลิสดจะเพิ่มสูงขึ้นถึงประมาณลิตรละ 400-800 บาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีราคาลิตรละ 400 บาท

สภาพดิน ฟ้า อากาศ ในช่วงวันแม่ปี 2552 นี้ เกษตรกรที่ปลูกดอกมะลิ ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม-ต้นเดือนสิงหาคม มีฝนตกอย่างต่อเนื่องเกือบทุกวัน ทำให้ต้นมะลิไม่ออกดอก ประกอบกับการดูแลรักษาต้นมะลิที่ค่อนข้างยุ่งยาก เกษตรกรบางรายจึงลดจำนวนการปลูกดอกมะลิลง บางรายที่เคยจัดส่งดอกมะลิเป็นประจำ มีการเลิกปลูกในปีนี้ ทำให้ปริมาณดอกมะลิมีไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันแม่แห่งชาติที่จะถึงนี้ ส่งผลให้ราคาดอกมะลิจึงเพิ่มสูงขึ้นมาก

ดอกมะลิประดิษฐ์…หลากหลายรูปแบบ ได้รับความนิยมมากขึ้น
เนื่องจากวันแม่ในปีนี้ พวงมาลัยดอกมะลิมีราคาเพิ่มสูงขึ้นมาก ส่งผลให้มีพ่อค้า และแม่ค้าบางรายมีการปรับกลยุทธ์ และหันมาทำธุรกิจค้าขายสินค้าดอกมะลิประดิษฐ์ในวันแม่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งดอกมะลิประดิษฐ์เหล่านี้ยังได้รับความนิยมจากประชาชนเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่เน้นประหยัดการใช้จ่ายกันมากขึ้น ซึ่งดอกมะลิประดิษฐ์บางประเภทมีราคาที่ไม่แพงมากนัก เมื่อเทียบกับพวงมาลัยดอกมะลิ หรือบางคนเน้นซื้อดอกมะลิประดิษฐ์ที่สามารถเก็บไว้เป็นที่ระลึกได้นาน ๆ ส่งผลให้ดอกมะลิประดิษฐ์เป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้น โดยดอกมะลิประดิษฐ์ที่มีขาย และเป็นที่นิยมในช่วงวันแม่ ได้แก่

เข็มกลัดดอกมะลิ เข็มกลัดดอกมะลิมี 2 ประเภท คือ เข็มกลัดดอกมะลิดอกเดี่ยว และเข็มกลัดดอกมะลิเป็นช่อ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นที่นิยมในกลุ่มนักเรียน โดยในปี 2552 นี้ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยจัดทำเข็มกลัดดอกมะลิออกมาในหลายขนาด โดยราคาส่วนใหญ่จะเฉลี่ยประมาณ 10-50 บาท

กระเช้าดอกมะลิ กระถางดอกมะลิ มีหลากหลายรูปแบบให้เลือกซื้อ ไม่ว่าจะเป็นกระเช้าขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ หรือแม้แต่จัดเป็นกระถางต่าง ๆ อย่างสวยงาม โดยราคาขายเฉลี่ยประมาณ 120-1,000 บาท

บัตรอวยพรดอกมะลิ เป็นที่นิยมมอบให้แม่พร้อมกับผลิตภัณฑ์ดอกมะลิอื่น ๆ โดยมีการเขียนข้อความบอกรักแม่ลงไปในบัตรอวยพร และนอกจากนี้ภายในบัตรอวยพรยังมีกลอนที่แต่งขึ้นมาอย่างไพเราะเพื่อมอบให้กับแม่อีกด้วย สามารถเก็บไว้เป็นความทรงจำได้นาน โดยราคาบัตรอวยพรเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10-20 บาท

ต้นดอกมะลิสดกระถาง ถือเป็นผลิตภัณฑ์อีกประเภทหนึ่งที่ประชาชนนิยมให้แม่ในการแสดงความรัก ซึ่งราคาต้นดอกมะลิกระถางในช่วงวันแม่นี้ เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 100-250 บาทต่อกระถาง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของต้นดอกมะลิ และจำนวนดอก เป็นต้น

ดอกมะลิ : มูลค่าการส่งออกเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 2 ล้านบาท
นอกจากความต้องการดอกมะลิภายในประเทศแล้ว ปัจจุบันไทยมีการส่งออกดอกมะลิไปยังต่างประเทศ โดยมูลค่าการส่งออกดอกมะลิในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 2 ล้านบาท โดยการส่งออกมะลิเกือบทั้งหมดอยู่ในรูปของพวงมาลัย กล่าวคือ ส่งออกในรูปพวงมาลัยร้อยละ 85.0 ส่งออกในรูปของดอกมะลิร้อยละ 10.0 และส่งออกในรูปของต้นมะลิร้อยละ 5.0 สำหรับตลาดพวงมาลัยที่สำคัญคือ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ส่วนตลาดของดอกมะลิ และต้นมะลิที่สำคัญ คือ เนเธอร์แลนด์ สหรัฐฯ และเบลเยี่ยม เป็นต้น โดยประเทศที่นำเข้าดอกมะลิจากไทยเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในงานต่าง ๆ เช่น การนำพวงมาลัยดอกมะลิมากราบไหว้พระในวันสำคัญทางศาสนา นอกจากนี้ ยังมีการนำเอาดอกมะลิมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น การผลิตเป็นสบู่ หรือการผลิตเป็นเครื่องหอมในร้านสปาต่างๆ เป็นต้น อีกทั้ง ชาวต่างชาติบางกลุ่มที่ชื่นชอบดอกมะลิ เนื่องด้วยดอกมะลิมีลักษณะเด่นเฉพาะตัว ที่สำคัญ คือ มีกลิ่นที่หอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และรูปทรงที่สวยงาม จึงนิยมซื้อต้นมะลิไปปลูก และประดับตามอาคาร บ้านเรือนอีกด้วย สำหรับแนวโน้มการส่งออกดอกมะลิของไทยในปี 2552 นี้ คาดว่า จะมีปริมาณการส่งออกไม่มากนัก ทั้งนี้เนื่องจาก ผลผลิตดอกมะลิในปีนี้มีปริมาณน้อย และไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ ส่งผลให้ส่งออกไปยังต่างประเทศลดลง ส่วนตลาดใหม่ที่น่าจับตามอง ได้แก่ มาเลเซีย สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ สหราชอาณาจักร เป็นต้น

บทสรุป
วันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี ซึ่งถือเป็นวันแม่แห่งชาติ ประชาชนส่วนใหญ่ต่างก็รำลึกถึงพระคุณของแม่ แสดงความกตัญญู และความรักที่มีต่อแม่ และหนึ่งในสัญลักษณ์ที่ประชาชนส่วนใหญ่จะนำมาใช้แสดงถึงความรัก ความกตัญญูที่มีต่อแม่ นั่นคือ “ดอกมะลิ” ซึ่งถือได้ว่า ดอกมะลินั้น จัดเป็นดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนในวันแม่ และในช่วงวันแม่แห่งชาติของทุกปี ทำให้ความต้องการดอกมะลิสดมีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นกว่าในช่วงเวลาปกติ ส่งผลให้ราคาดอกมะลิสดเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว

สำหรับปี 2552 ในช่วงวันแม่แห่งชาติที่กำลังจะมาถึงนี้ คาดว่า ราคาดอกมะลิพุ่งสูงขึ้นถึงลิตรละ 400-600 บาท หรืออาจจะสูงถึงลิตรละ 600-800 บาท หากเข้าใกล้ช่วงวันแม่มากขึ้น ซึ่งมีราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีราคาลิตรละ 400 บาทเกษตรกรมีรายได้จากการขายดอกมะลิในช่วงวันแม่เฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท จากปกติมีรายได้เฉลี่ยวันละ 1,000 บาท โดยสาเหตุที่ทำให้ราคาดอกมะลิในช่วงวันแม่แห่งชาติในปี 2552 นี้ มีราคาเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงปกติเกือบ 2 เท่า คือ อยู่ระหว่างช่วงวันแม่แห่งชาติ สภาพดิน ฟ้า อากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้ต้นดอกมะลิไม่ออกดอก และเกษตรกรบางรายลดจำนวนปลูกดอกมะลิลง ทำให้ราคาดอกมะลิในปีนี้เพิ่มสูงขึ้นมาก ส่งผลให้มีพ่อค้า และแม่ค้าบางรายมีการปรับกลยุทธ์ และหันมาทำธุรกิจค้าขายผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับดอกมะลิในวันแม่เพิ่มมากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ดอกมะลิที่มีขาย และเป็นที่นิยมในช่วงวันแม่ ได้แก่ เข็มกลัดดอกมะลิ กระเช้าดอกมะลิ กระถางดอกมะลิ บัตรอวยพรดอกมะลิ ต้นดอกมะลิสดกระถาง เป็นต้น

นอกจากความต้องการดอกมะลิภายในประเทศแล้ว ในปัจจุบันไทยมีการส่งออกดอกมะลิทั้งในรูปของดอกมะลิ ต้นมะลิและในรูปของพวงมาลัย โดยมูลค่าการส่งออกดอกมะลิในช่วง2-3 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 2 ล้านบาท โดยการส่งออกเกือบทั้งหมดอยู่ในรูปของพวงมาลัย กล่าวคือ ส่งออกในรูปพวงมาลัยร้อยละ 85.0 ส่งออกในรูปของดอกมะลิร้อยละ 10.0 และส่งออกในรูปของต้นมะลิร้อยละ 5.0 โดยตลาดพวงมาลัยที่สำคัญคือ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ส่วนตลาดของดอกมะลิ และต้นมะลิที่สำคัญ คือ เนเธอร์แลนด์ สหรัฐฯ และเบลเยี่ยม เป็นต้น สำหรับตลาดใหม่ที่น่าจับตามอง ได้แก่ มาเลเซีย สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ สหราชอาณาจักร เป็นต้น โดยประเทศที่นำเข้าดอกมะลิจากไทยเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในงานต่าง ๆ เช่น การนำพวงมาลัยดอกมะลิมากราบไหว้พระในวันสำคัญทางศาสนา นอกจากนี้ ยังมีการนำเอาดอกมะลิมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น การผลิตเป็นสบู่ หรือการผลิตเป็นเครื่องหอมในร้านสปาต่างๆ เป็นต้น อีกทั้งชาวต่างชาติบางกลุ่มที่ชื่นชอบดอกมะลิ เนื่องด้วยดอกมะลิมีลักษณะเด่นเฉพาะตัว ที่สำคัญ คือ มีกลิ่นที่หอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และรูปทรงที่สวยงาม จึงนิยมซื้อต้นมะลิไปปลูก และประดับตามอาคาร บ้านเรือนอีกด้วย