ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ที่ถือว่ารุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ส่งผลให้เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของจีนในปีนี้ต้องประสบภาวะหดตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากธุรกิจต่างประเทศได้ชะลอขยายการลงทุนเนื่องจากปัญหาทางสภาพคล่องทางการเงิน สะท้อนจากมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของจีนในเดือนกรกฎาคม 2552 ที่หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 โดยมีอัตราหดตัวเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 35.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) เหลือ 5.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 6.7 ในเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้มูลค่า FDI ในจีนหดตัวร้อยละ 20.3 (YoY) เหลือ 48.3 พันล้านดอลล่าสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน เป็นที่น่าสังเกตว่า การลงทุนนอกประเทศของจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2546 โดยจีนมีมูลค่าการลงทุนออกนอกประเทศในปี 2551 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 21.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2550 เป็น 52.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (รวมการลงทุนในภาคการเงินที่มีมูลค่า 11.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการออกไปลงทุนนอกประเทศของจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่มูลค่าการลงทุนออกนอกประเทศของจีนยังค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับมูลค่าเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในจีน โดยในปี 2551 มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากประเทศของจีนสูงกว่าการไหลออกของการลงทุนทางตรงของจีนเกือบเท่าตัว อย่างไรก็ตาม คาดว่ามูลค่าการลงทุนนอกประเทศของจีนมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยการลงทุนออกนอกประเทศของจีนในปีนี้น่าจะยังคงเติบโตได้ เนื่องจากธุรกิจในจีนประสบปัญหาจากวิกฤตการเงินโลกครั้งนี้ไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศตะวันตก และความมีศักยภาพด้านการเงินน่าจะทำให้ธุรกิจจีนแสวงหาโอกาสการขยายการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น
ปัจจัยสนับสนุนการออกไปลงทุนต่างประเทศของจีน
ในเดือนมิถุนายน 2552 ทางการจีนประกาศผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อให้บริษัทจีนออกไปลงทุนต่างประเทศได้สะดวกขึ้น ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2552 โดยได้ขยายแหล่งเงินทุนของบริษัทจีนที่จะสามารถใช้เป็นเงินสำหรับการออกไปลงทุนนอกประเทศได้มากขึ้นและอนุญาตให้ใช้เป็นเงินทุนเพื่อโอนไปต่างประเทศโดยไม่ต้องขออนุมัติจากทางการก่อน บริษัทจีนยังสามารถใช้เงินสนับสนุนการออกไปลงทุนต่างประเทศโดยการซื้อเงินตราต่างประเทศหรือกู้ยืมจากธนาคารท้องถิ่น และอนุญาตให้ใช้รายได้จากการลงทุนในต่างประเทศลงทุนต่อได้ ซึ่งก่อนหน้านั้นในเดือนมีนาคม ทางการจีนได้ประกาศเพิ่มอำนาจให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารถอนุมัติการลงทุนต่างประเทศได้เพื่อลดกระบวนการของภาครัฐ คาดว่าทางการจีนจะทยอยออกมาตรการเพื่อกระตุ้นให้ธุรกิจในจีนออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น
การไหลออกของเงินทุนไปต่างประเทศของจีนมีส่วนช่วยลดมูลค่าเกินดุลชำระเงินระหว่างประเทศของจีนซึ่งถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาการแข็งค่าของเงินหยวนในภาวะที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลซ้ำเติมต่อภาคส่งออกของจีนที่ต้องประสบภาวะหดตัวจากอุปสงค์ในตลาดต่างประเทศที่ยังคงซบเซาในปัจจุบัน นอกจากนี้ ปัจจัยสนับสนุนสำคัญของศักยภาพการลงทุนนอกประเทศของจีน ได้แก่ การที่จีนเป็นประเทศที่มีเงินสำรองต่างประเทศสูงที่สุดในโลกราว 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่จีนนำเงินสำรองต่างประเทศไปลงทุนในพันธบัตรสหรัฐฯ แต่ปัจจุบันการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้สินทรัพย์ในรูปสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ของจีนต้องเผชิญกับมูลค่าที่ลดลงตามไปด้วย ทางการจีนพยายามกระจายความเสี่ยงด้วยการหันไปลงทุนด้านอื่นๆ มากขึ้น รวมถึงการสนับสนุนให้วิสาหกิจภาครัฐของจีนที่มีบทบาทสำคัญด้านการลงทุนในต่างประเทศให้ออกไปลงทุนนอกประเทศมากขึ้น
นอกจากมาตรการผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศแล้ว ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้การลงทุนโดยตรงของจีนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ (1) ยุทธศาสตร์ของทางการจีนที่ต้องการออกไปแสวงหาความมั่นคงด้านแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติด้านพลังงานในต่างประเทศซึ่งจำเป็นต่อการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีนในฐานะที่เป็นประเทศที่บริโภคพลังงานเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เช่น การเข้าไปลงทุนผลิตน้ำมันในแอฟริกา ตะวันออกกลาง และรัสเซีย รวมถึงการลงทุนด้านเหมืองแร่ในออสเตรเลีย (2) การเข้าไปลงทุนผลิตสินค้าเกษตรในต่างประเทศทั้งพืชพลังงานและพืชเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตในภาคอุตสาหกรรม แหล่งลงทุนสำคัญ ได้แก่ ภูมิภาคอินโดจีนซึ่งมีแหล่งผลิตทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ ได้แก่ กัมพูชา (ลงทุนผลิตสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป และเหมืองแร่) ลาว (ลงทุนผลิตยางพารา) รวมถึงพม่าที่เข้าไปลงทุนสำรวจก๊าซและทำเหมืองแร่ (3) การออกไปลงทุนในแหล่งผลิตที่มีต้นทุนแรงงานต่ำกว่า เช่น เวียดนาม และแอฟริกา (4) การลงทุนในต่างประเทศเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกด้านการดำเนินธุรกิจ เช่น การทำธุรกิจบริการด้านการขนส่งและประกันภัย โดยส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติที่เข้าไปลงทุนผลิตในจีนเพื่อส่งออก รวมถึงบริษัทท้องถิ่นในจีนที่มีขนาดใหญ่และส่งออกในสัดส่วนสูงซึ่งจำเป็นต้องใช้บริการเหล่านี้ รวมถึงการออกไปลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและโลจีสติกส์ในเส้นทางเศรษฐกิจและคมนาคมของภูมิภาคเพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (5) การลงทุนในต่างประเทศของวิสาหกิจภาครัฐในจีนที่เคยมีบทบาทสูงในภาคธุรกิจจีนด้วยอำนาจการผูกขาด แต่เริ่มมีบทบาทเริ่มลดลงจากการทยอยเปิดเสรีภาคธุรกิจของทางการจีน ทำให้วิสาหกิจเหล่านี้จำเป็นต้องออกไปแสวงหาโอกาสการสร้างรายได้ของธุรกิจในต่างประเทศมากขึ้น
บทบาทการลงทุนของจีนในอาเซียนและไทย
อานิสงส์จากความตกลงด้านการลงทุนและการเปิดเสรีภาคบริการระหว่างอาเซียนกับจีนที่คาดว่าจะช่วยส่งเสริมบทบาทด้านการลงทุนของจีนในอาเซียนและไทยทั้งด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยความตกลงด้านการลงทุนที่ได้มีการลงนามในที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับจีนในวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นความตกลงที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนทั้งอาเซียนและจีนในการจัดตั้งธุรกิจว่าจะได้รับการคุ้มครองด้านการลงทุนจากทางการของอีกฝ่าย เช่น การได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันของนักลงทุนกรณีการชดเชยค่าเสียหายแก่นักลงทุนกรณีเกิดเหตการณ์ความไม่สงบ ส่วนการเปิดเสรีภาคบริการระหว่างอาเซียนกับจีนรอบที่ 2 ที่อยู่ระหว่างการเจรจาจะครอบคลุมสาขาบริการทั้ง 12 สาขาและมีระดับการเปิดเสรีในกิจกรรมเพิ่มขึ้นในแต่ละสาขา เทียบกับการเปิดสาขาบริการรอบที่ 1 ที่ยังครอบคลุมกิจกรรมในสาขาต่างๆ ไม่มากนัก โดยการเปิดเสรีภาคบริการรอบที่ 1 ระหว่างอาเซียนกับจีนครอบคลุมกิจการรมบางด้านในสาขาวิชาชีพ การศึกษา บริการด้านสุขภาพ การท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้าทางเรือ คาดว่าการเจรจาเปิดเสรีภาคบริการรอบที่ 2 น่าจะได้ข้อสรุปในปีนี้ และอาจมีผลบังคับใช้ได้ในปี 2553 ทำให้อาเซียนเป็นแหล่งลงทุนที่เปิดกว้างมากขึ้นสำหรับนักลงทุนจากจีน สาขาที่อาเซียนและไทยมีแนวโน้มเปิดให้นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจขนส่งสินค้า
บทบาทด้านการลงทุนของจีนในอาเซียนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นคาดว่าจะส่งผลให้สัดส่วนการลงทุนของจีนในอาเซียนเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป จากในปัจจุบันจีนยังเข้ามาลงทุนในอาเซียนไม่มากนัก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.4 ของมูลค่า FDI ทั้งหมดในอาเซียนในปี 2551 เมื่อเทียบกับสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ที่มีมูลค่าการลงทุนในอาเซียน สัดส่วนร้อยละ 20.6 ร้อยละ 12.6 และร้อยละ 5.3 ตามลำดับ ขณะที่อาเซียนมีการลงทุนภายในกันเอง สัดส่วนร้อยละ 18.4 ในปี 2551 สำหรับประเทศไทยถือเป็นแหล่งลงทุนของต่างชาติที่สำคัญอันดับต้นๆ ของภูมิภาคอาเซียน โดยอุตสาหกรรมของไทยที่มีศักยภาพและคาดว่ายังมีโอกาสเติบโตได้น่าจะดึงดูดให้นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ที่สำคัญ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอาหาร รวมทั้งภาคธุรกิจบริการด้านท่องเที่ยว และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ ไทยถือเป็นประเทศที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนมีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียน สัดส่วนร้อยละ 16.3 ในปี 2551 รองจากสิงคโปร์ ที่มีสัดส่วนร้อยละ 38 ประเทศอาเซียนอื่นๆ ที่มีมูลค่า FDI รองลงมา ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา พม่า บรูไน และลาว ตามลำดับ
สำหรับการลงทุนของจีนในไทยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้นั้น แม้ว่าจะมีปัจจัยลบจากภาวะเศรษฐกิจจีนในครึ่งแรกของปีนี้ที่เติบโตชะลอเหลือร้อยละ 7.1 (YoY) จากที่ขยายตัวร้อยละ 9.0 ในปี 2551 เนื่องจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้ภาคส่งออกของจีนทรุดตัวรุนแรง ภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่ส่งผลให้ภาคธุรกิจในจีนประสบผลกำไรที่ปรับลดลง แต่มูลค่าโครงการลงทุนของจีนที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในไทยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ยังคงเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปี 2551 โดยโครงการลงทุนของจีนที่ยื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าโครงการลงทุน โดยขยายตัวร้อยละ 43 และร้อยละ 182 ตามลำดับ จำนวนโครงการลงทุนที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนของจีนเพิ่มขึ้นจาก 7 โครงการเป็น 10 โครงการ มูลค่าโครงการลงทุนเพิ่มขึ้นจาก 180 ล้านบาท เป็น 507.5 ล้านบาท สาขาการลงทุนที่นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นสูงที่สุด ได้แก่ สินค้าเกษตร เพิ่มขึ้นร้อยละกว่า 1,600 จาก 20 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 เป็น 355 ล้านบาท ภาคบริการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 100 จากที่ไม่มีการลงทุนในภาคบริการในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 แต่ได้เข้ามาลงทุนมูลค่าโครงการสาขาบริการ 93.1 ล้านบาท ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เคมีภัณฑ์และกระดาษ เพิ่มขึ้นร้อยละ 414 จาก 9.6 ล้านบาท เป็น 49.4 ล้านบาท สินค้าเหล็กและเครื่องจักร เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 จาก 7.7 ล้านบาท เป็น 10 ล้านบาท
สำหรับโครงการลงทุนของจีนในไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้นจากในช่วงครึ่งแรกของปี สะท้อนจากความสนใจของนักลงทุนจีนที่ต้องการเข้ามาลงทุนในไทย โดยการประชุมเจรจาจับคู่ระหว่างนักธุรกิจไทยและจีนในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาที่สามารถเจรจาได้ข้อสรุป 53 คู่ มูลค่าการค้าการลงทุนรวมราว 2.1 แสนล้านบาท และนำไปสู่การลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) รวม 9 คู่ ในหลายสาขาลงทุน เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ การผลิตกรดมะนาว และการผลิตไก่แปรรูปปรุงสุก โดยบางโครงการลงทุนของจีนน่าจะเริ่มทยอยลงทุนในไทยได้ในปีนี้ สำหรับในระยะต่อไปการลงทุนของจีนในไทยยังได้รับปัจจัยบวกจากความตกลงด้านการลงทุนและการเปิดเสรีภาคบริการระหว่างอาเซียนและจีนที่คาดว่าจะทำให้มูลค่าการลงทุนของจีนในไทยเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง สาขาที่คาดว่าจะมีนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมเบา รวมทั้งธุรกิจภาคบริการหลายสาขา ได้แก่ โรงแรม ศูนย์บริการสุขภาพ ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ และธุรกิจสปา
สรุป ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ส่งผลให้เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของจีนในปีนี้ต้องประสบภาวะหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะเดียวกันการลงทุนนอกประเทศของจีนเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2546 และคาดว่าการลงทุนของจีนในต่างประเทศในปีนี้ยังคงเติบโตได้ดี เนื่องจากธุรกิจในจีนได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกครั้งนี้ไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศตะวันตก และความมีศักยภาพด้านเงินทุนน่าจะทำให้ธุรกิจจีนแสวงหาโอกาสการขยายการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากในช่วงตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา วิสาหกิจของจีนหลายรายต่างออกไปลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะการลงทุนด้านพลังงาน นอกจากนี้แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้โดยได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและภาคส่งออกของจีนที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่กระเตื้องขึ้น น่าจะส่งผลให้การลงทุนในต่างประเทศของธุรกิจจีนขยายตัวได้ดีขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับยังมีแรงสนับสนุนจากมาตรการส่งเสริมของทางการจีนให้ธุรกิจออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นโดยการผ่อนคลายกฎระเบียบการออกไปลงทุนในต่างประเทศและการอำนวยความสะดวกด้านการขออนุมัติการลงทุนในต่างประเทศตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา
นอกจากปัจจัยสนับสนุนข้างต้นที่คาดว่าน่าจะส่งผลดีต่อมูลค่า FDI ของจีนให้เข้ามาลงทุนในประเทศอาเซียนและไทยมากขึ้นแล้ว ยังมีปัจจัยบวกจากการลงนามความตกลงด้านการลงทุนระหว่างอาเซียนและจีนในวันที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2553 จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นด้านการลงทุนระหว่างกัน ส่วนความตกลงการเปิดเสรีภาคบริการรอบที่ 2 ระหว่างอาเซียนกับจีนที่อยู่ระหว่างการเจรจาและคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้และมีผลบังคับใช้ในปี 2553 ซึ่งการเปิดเสรีภาคบริการรอบที่ 2 นี้จะครอบคลุมกิจกรรมสาขาบริการที่กว้างขึ้นเมื่อเทียบกับการเปิดเสรีภาคบริการรอบแรก ทำให้นักลงทุนจากจีนมีโอกาสเข้ามาแสวงหาโอกาสลงทุนในภาคบริการของอาเซียนและไทยได้สะดวกขึ้นในระยะต่อไป
สำหรับการลงทุนของจีนในไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในฐานะที่ไทยเป็นแหล่งลงทุนสำคัญอันดับต้นๆ ของอาเซียน โดยมีมูลค่า FDI ในไทยสูงเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และถือว่าไทยเป็นแหล่งลงทุนที่มีศักยภาพในหลายสาขา เช่น ยานยนต์/ชิ้นส่วน คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอาหาร ภาคบริการด้านท่องเที่ยว ก่อสร้าง และบริการด้านสุขภาพ ทั้งนี้ นักลงทุนจีนได้ให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยหลายสาขา โดยคาดว่าการลงทุนของจีนในไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้น่าจะขยายตัวดีขึ้นจากช่วงครึ่งแรกของปีนี้ที่มีโครงการลงทุนของจีนที่เข้ามาขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 507.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 182 จากช่วงเดียวกันของปี 2551 (YoY) สะท้อนจากการประชุมเจรจาจับคู่ทางธุรกิจระหว่างไทยกับจีนในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาที่มีนักลงทุนจีนให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยหลายสาขา โดยคาดว่าบางโครงการที่มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) แล้วรวม 9 คู่ น่าจะเริ่มทยอยลงทุนในไทยได้ในปีนี้ สาขาที่คาดว่าจะมีนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมเบา รวมทั้งธุรกิจภาคบริการหลายสาขา ได้แก่ โรงแรม ศูนย์บริการสุขภาพ ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ และธุรกิจสปา