ในวันที่ 3-4 และ 7 กันยายน 2552 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีกำหนดเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ ธปท. วงเงินรวม 5 หมื่นล้านบาท ให้แก่บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย และองค์กรสาธารณะที่ไม่มุ่งหวังกำไร โดยแบ่งเป็นพันธบัตรออมทรัพย์ ประเภทอายุ 4 ปี เสนออัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 3.50 ต่อปี และพันธบัตรออมทรัพย์ ประเภทอายุ 7 ปี เสนออัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได คือ ปีที่ 1-2 อยู่ที่ร้อยละ 3.00 ต่อปี ปีที่ 3-4 อยู่ที่ร้อยละ 4.00 ต่อปี ปีที่ 5-6 อยู่ที่ร้อยละ 5.00 ต่อปี และปีที่ 7 เสนอที่ร้อยละ 6.00 ต่อปี (คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4.29 ต่อปี) ซึ่ง ธปท.ระบุว่า การออกพันธบัตรออมทรัพย์ในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อช่วยให้การบริหารสภาพคล่องในตลาดเงินของประเทศอยู่ในระดับที่เหมาะสม พร้อมกับเพื่อเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้กับผู้มีเงินออม รวมทั้งเปิดโอกาสให้องค์กรสาธารณะที่ไม่มุ่งหวังกำไร ซึ่งรวมถึงสหกรณ์ และมูลนิธิต่างๆ มีโอกาสลงทุนในทางเลือกที่มีความเสี่ยงต่ำและให้ผลตอบแทนในระดับที่ดีโดยมีรายได้ดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ แม้คาดว่าพันธบัตรออมทรัพย์ ธปท.น่าที่จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุนโดยเฉพาะผู้ที่ต้องการออมเงินระยะยาวซึ่งพอใจกับผลตอบแทนที่ระดับดังกล่าว แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยก็มีมุมมองเกี่ยวกับประเด็นการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ ธปท.ในครั้งนี้ ดังนี้
? การเตรียมตัวรับมือโดยผู้เล่นในตลาด ทำให้ผลกระทบต่อสภาพคล่องอาจมีจำกัดในระยะสั้น
เนื่องจากการออกพันธบัตรออมทรัพย์ ธปท.วงเงิน 5 หมื่นล้านบาทในครั้งนี้ เป็นการเสนอขายพันธบัตรออมทรัพย์ล็อตที่ 2 ของปี ซึ่งทิ้งระยะไม่ห่างกันมากนัก (ประมาณ 1 เดือนครึ่ง) จากการออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งวงเงินถึง 8 หมื่นล้านบาทของรัฐบาล (ที่นับว่าเป็นการออกพันธบัตรออมทรัพย์ล็อตแรกของปีนี้) ประกอบกับเงื่อนไขการกำหนดวงเงินซื้อขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นจาก 1 หมื่นบาทต่อรายของพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง มาเป็น 5 หมื่นบาทต่อรายของพันธบัตรออมทรัพย์ ธปท. รวมทั้งกลุ่มเป้าหมายและประเภทอายุพันธบัตรที่มีความแตกต่างกันของพันธบัตรออมทรัพย์ทั้งสอง จึงอาจทำให้ผู้มีเงินออม ซึ่งได้ลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ล็อตแรกของรัฐบาลและผลิตภัณฑ์การออมอื่นๆ ของภาคเอกชนไปก่อนหน้านี้ มีเงินออมเหลือในจำนวนที่ลดลงสำหรับการจัดสรรเงินมาลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ ธปท.ครั้งนี้
อีกทั้ง ประสบการณ์ที่ผู้เล่นในตลาด อันหมายความถึงธนาคารพาณิชย์ ที่ระดมเงินผ่านช่องทางเงินฝากและผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ รวมถึงผู้ระดมเงินผ่านทางเลือกอื่นๆ อาทิ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) และบริษัทเอกชน เป็นต้น ได้เผชิญผลกระทบจากการออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งของรัฐบาลมาแล้ว ทำให้ผู้เล่นเหล่านั้นมีการปรับตัวเพื่อเตรียมรับมือกับการออกพันธบัตรออมทรัพย์ ธปท.ในครั้งนี้ไปแล้วล่วงหน้าระดับหนึ่ง เห็นได้จากการที่ธนาคารพาณิชย์ได้มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์การออมพิเศษ ทั้งเงินฝากระยะยาว ตั๋วแลกเงิน ผลิตภัณฑ์ประกันภัย (Bancassurance) ที่มีความหลากหลายและให้ผลตอบแทนจูงใจเพื่อรักษาฐานลูกค้า ในขณะเดียวกัน บลจ.ต่างก็ยังมีการเสนอกองทุนรวมหลายประเภทที่น่าสนใจออกมาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ เมื่อประกอบกับการที่ ธปท.น่าจะนำเงินที่ระดมได้จากการออกพันธบัตรออมทรัพย์ ธปท.ในครั้งนี้ ไปรองรับการครบกำหนดของพันธบัตรออมทรัพย์ช่วยชาติ ประเภทอายุ 7 ปี วงเงิน 5.4 หมื่นล้านบาท ที่กระทรวงการคลังได้ออกตามแผนการชดเชยภาระหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินในปี 2545 (FIDF 3) ซึ่งได้ครบกำหนดการไถ่ถอนไปเมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า ผลกระทบจากการออกพันธบัตรออมทรัพย์ ธปท. ต่อสภาพคล่องในระบบการเงิน คงจะมีค่อนข้างจำกัดในระยะสั้น เนื่องจากโดยสุทธิแล้วสภาพคล่องไม่ได้ถูกดูดซับออกไปจากระบบเหมือนกับการออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งซึ่งรัฐบาลมีแผนนำเงินที่ได้ไปใช้เพื่อการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ
? แนวโน้มสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย ปัจจัยสำคัญยังอยู่ที่ความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
แม้ว่าในระยะสั้น ผลกระทบจากการออกพันธบัตรออมทรัพย์ ธปท.ในครั้งนี้ อาจมีค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงตัวเลขสินทรัพย์สภาพคล่อง (ตามความหมายกว้าง) ของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ยังมีอยู่สูงถึงประมาณ 2 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2552 (ซึ่งเป็นเดือนที่มีการออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งของรัฐบาล) ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะธนาคารพาณิชย์มีการเสนอผลิตภัณฑ์การออมพิเศษที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไปออกมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ เพื่อรักษาฐานเงินทุนและฐานลูกค้าของตนไว้ ขณะเดียวกัน สินเชื่อก็ยังคงไม่ขยายตัวเพราะเพิ่งจะเข้าสู่ช่วงแรกเริ่มของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม หากมองไปในระยะข้างหน้า ปัจจัยที่คงจะมีอิทธิพลต่อทิศทางสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยนั้น คงจะหนีไม่พ้นประเด็นเรื่องความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลต่อความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจเอกชน โดยหากเศรษฐกิจสามารถรักษาโมเมนตัมการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้ในระยะข้างหน้า ความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจก็น่าที่จะทยอยกลับมาฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ ทั้งสินเชื่อเพื่อการขยายการผลิตในบางภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มมีคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศกลับเข้ามา และสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน ตามแนวโน้มการปรับตัวสูงขึ้นของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลพยายามเร่งผลักดันการขยายสินเชื่อตามโครงการ Fast Track ผ่านการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจต่างๆ ด้วยแล้ว บรรยากาศการแข่งขันด้านสินเชื่อก็น่าที่จะทยอยกลับมาคึกคักมากขึ้นในระยะถัดไป
นอกจากนี้ ในด้านเงินฝากนั้น ภาวะการแข่งขันกับทางเลือกการลงทุนอื่นๆ ที่น่าจะยังคงมีความเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง คงจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ยังมีแนวโน้มต้องเผชิญกับความท้าทายในการบริหารจัดการสภาพคล่องให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุดในแต่ละช่วงเวลา นั่นหมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ น่าจะยังมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์การออมพิเศษที่ให้ผลตอบแทนจูงใจออกมาอย่างสม่ำเสมอในระยะที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า และหากการแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์ รวมถึงกับทางเลือกการลงทุนอื่น มีความรุนแรงมากขึ้นๆ (ในขณะที่การขยายสินเชื่อสามารถฟื้นตัวได้ตามที่คาดหวัง) คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในท้ายที่สุดแล้วอาจมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารพาณิชย์อาจจะจำเป็นต้องพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เป็นการทั่วไป ก่อนหน้าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.
โดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า พันธบัตรออมทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ที่มีกำหนดเปิดจำหน่ายในระหว่างวันที่ 3-4 และ 7 กันยายน 2552 นี้ น่าจะยังคงได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุน อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปัจจุบันทางเลือกการออมของนักลงทุนนับว่ามีเพิ่มขึ้นมาก โดยนอกเหนือจากพันธบัตรออมทรัพย์ ธปท.แล้ว ยังมีความเป็นไปได้ที่ในระยะข้างหน้ารัฐบาลอาจจะมีการออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งเพิ่มเติมอีก รวมทั้งทางเลือกการออมที่เสนอโดยภาคเอกชนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น หุ้นกู้ กองทุนตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศ ตั๋วแลกเงิน รวมถึงผลิตภัณฑ์เงินฝากระยะยาวพิเศษ ซึ่งก็น่าที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ออมในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันได้หลากหลายมากขึ้น
สำหรับผลกระทบต่อสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การออกพันธบัตรออมทรัพย์ ธปท.ดังกล่าว คงจะมีผลกระทบต่อฐานะสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากคาดว่า ธปท.คงจะนำเงินที่ระดมได้จากการออกพันธบัตรออมทรัพย์ไปรองรับการครบกำหนดของพันธบัตรออมทรัพย์ช่วยชาติที่กระทรวงการคลังออกไปในปี 2545 และได้ครบกำหนดในวันที่ 2 กันยายน 2552 ที่ผ่านมา ในขณะที่ คาดว่าบรรดาสถาบันการเงินต่างๆ คงจะยังต้องติดตามสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการฟื้นตัวตามมาของการขยายสินเชื่อ และทำการจัดเตรียมสภาพคล่องไว้สำหรับรองรับการดำเนินธุรกิจท่ามกลางภาวะดังกล่าว โดยการทยอยนำเสนอผลิตภัณฑ์การออมในรูปแบบต่างๆ ที่ให้ผลตอบแทนจูงใจอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาฐานลูกค้าและสมดุลสภาพคล่องไว้รองรับการเติบโตทางธุรกิจเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น