กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) … ผลกระทบต่อธุรกิจกองทุนรวม

หลังจากที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เสนอหลักการและร่างกฎหมายของการจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. เข้าสู่การพิจารณาของกระทรวงการคลังนั้น ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ลงนามเห็นชอบในกฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เป็นที่เรียบร้อยแล้วในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และคาดว่าจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อผลักดันเป็นกฎหมายต่อไปภายในปี 2552 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันด้านรายได้ให้กับแรงงานนอกระบบทั่วประเทศ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการออมของภาคประชาชน ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็จะจ่ายเงินสมทบให้ตามสิทธิเป็นลำดับขั้นตามช่วงอายุของผู้ออมเพื่อเป็นการสร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรมให้กับผู้ที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองและหลักประกันทางสังคมตามกฎหมายต่างๆ จากภาครัฐ ซึ่งผู้จัดการกองทุนของกอช. จะนำเงินออมไปกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น หุ้น พันธบัตร เงินฝาก หรืออสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น และให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่สมาชิกเมื่อสิ้นสมาชิกภาพ (อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์)

ระบบการออมระยะยาวเพื่อการเกษียณอายุและระบบประกันสุขภาพในประเทศไทย
ปัจจุบันเครื่องมือการออมผ่านระบบกองทุนการออมระยะยาวและระบบประกันสุขภาพในประเทศไทยมีอยู่หลายประเภท ซึ่งล้วนมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศมีเครื่องมือการออมระยะยาวในการรองรับความต้องการออมของแรงงานอย่างทั่วถึงทุกกลุ่มอาชีพและระดับรายได้ในการเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานมีรายได้จากการออมเงินไว้ใช้ภายหลังวัยทำงาน นอกจากนี้ก็ยังช่วยให้แรงงานทุกกลุ่มอาชีพได้รับความคุ้มครองตามกฏหมายด้านการรักษาพยาบาล ชราภาพ และการว่างงาน ทั้งนี้ สำหรับระบบประกันสุขภาพในประเทศไทยนั้น จะให้ความสำคัญกับความเสมอภาคของประชาชน กล่าวคือ จะเป็นการเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุขโดยทั่วกัน โดยอาจกล่าวได้ว่าประชากรเกือบทั้งหมดของประเทศได้รับการดูแลหรือมีสิทธิในระบบประกันสุขภาพขั้นพื้นฐาน (แม้ว่าขอบเขตของสิทธิอาจมีความแตกต่างบ้างตามประเภทของสิทธิ)อาทิ การประกันระบบรักษาพยาบาลในกองทุนประกันสังคมสำหรับแรงงานทั่วประเทศ (กปส.) และโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) สำหรับประชาชนที่ไม่ได้รับความคุ้มครองใดๆ จากภาครัฐ ตลอดจนระบบรักษาพยาบาลของข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ ขณะที่ระบบการออมระยะยาวเพื่อการเกษียณอายุจะมีทั้งการออมภาคบังคับและภาคสมัครใจ ซึ่งสมาชิกของกองทุนเหล่านี้ก็จะแตกต่างกันตามโครงสร้างแรงงาน อาทิ ข้าราชการจะได้รับสิทธิจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งปัจจุบันจะเป็นการออมภาคบังคับ เช่นเดียวกับการประกันชราภาพภายใต้กองทุนประกันสังคม ซึ่งดูแลสมาชิกที่เป็นแรงงานในระบบหรือลูกจ้างบริษัทเอกชน ขณะที่ลูกจ้างบริษัทเอกชนยังมีสิทธิในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งเป็นการออมแบบสมัครใจอีกด้วย โดยสมาชิกภายใต้ระบบการออมระยะยาวที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ครอบคลุมประมาณ 30% ของแรงงานทั้งหมด

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในส่วนของกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) นั้นมีข้อแตกต่างจากเครื่องมือการออมอื่นๆที่มีอยู่แล้วข้างต้นตรงที่เป็นการออมแบบสมัครใจและมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวเพื่อการชราภาพสำหรับสมาชิกเฉพาะผู้ที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีหลักประกันทางสังคมตามกฎหมายต่างๆ (แรงงานนอกระบบมีอยู่ประมาณ 24-25 ล้านคน หรือ ประมาณ 70% ของแรงงานทั้งหมด) ซึ่งผู้จัดการกองทุนของกอช.จะนำเงินออมไปกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น หุ้น พันธบัตร เงินฝาก หรืออสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ตามนโยบายการลงทุนที่กอช.กำหนด เพื่อที่จะสามารถให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่สมาชิกเมื่อสิ้นสมาชิกภาพได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ (อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์) กระนั้นก็ดี กอช.ยังไม่ได้ครอบคลุมไปยังระบบการรักษาพยาบาลให้กับแรงงานนอกระบบ ซึ่งทั้งนี้หากสมาชิกกอช.ต้องการความคุ้มครองด้านสวัสดิการรักษาพยาบาล อาจต้องใช้สิทธิภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีอยู่แล้วแทน (บัตรทอง) สำหรับรายได้หลังเกษียณที่สมาชิกกองทุนจะได้รับนั้น เนื่องจากกอช.เป็นการออมแบบสมัครใจ ดังนั้นรายได้หลังเกษียณของสมาชิกของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป (ไม่เหมือนสิทธิการรักษาพยายาลตามหลักประกันสุขภาพประเภทต่างๆ ที่จะเท่าเทียมกันระหว่างสมาชิกของแต่ละประเภทสวัสดิการ) ซึ่งจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ดังนี้

• ระยะเวลาและความต่อเนื่องของการออมเงิน ทั้งนี้ ยิ่งสมาชิกกอช.ออมเงินตั้งแต่อายุน้อย (20-30 ปี) ไปจนถึงอายุ 60 ปีอย่างต่อเนื่อง ก็จะยิ่งทำให้รายได้หลังเกษียณเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ

• จำนวนเงินที่จ่ายสะสม เนื่องจากกอช.กำหนดให้สมาชิกจ่ายเงินสะสมขั้นต่ำเดือนละ 100 บาท และจ่ายสะสมเพิ่มตามความสมัครใจได้อีกเดือนละ 100-1,000 บาท โดยหากสามารถนำส่งเงินสะสมเข้ากอช.ในอัตราที่สูงกว่าเงินสะสมขั้นต่ำมากขึ้นเท่าใด ก็จะส่งผลให้รายได้หลังเกษียณเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

ทั้งนี้ อาจจะสามารถกล่าวได้ว่าการจัดตั้งกอช.น่าจะส่งผลดีหลายประการ อาทิ การสร้างหลักประกันด้านรายได้ให้กับแรงงานนอกระบบทั่วประเทศและช่วยส่งเสริมการออมของภาคประชาชน รวมทั้งยังเป็นกลไกลที่ช่วนในการระดมเงินทุน ซึ่งจะส่งผลในการช่วยพัฒนาตลาดทุนของประเทศ นอกจากนี้ก็ยังส่งผลดีต่อธุรกิจบลจ.ในด้านรายได้ค่าธรรมเนียมที่จะได้รับ หากถูกคัดเลือกให้เข้าไปบริหารสินทรัพย์ของกองทุนดังกล่าว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สำหรับการบังคับใช้พรบ.กองทุนการออมแห่งชาติที่จะเริ่มในช่วงต้นปี 2553 นั้น อาจต้องรอความชัดเจนในหลายๆ ประเด็น ดังต่อไปนี้

– ขนาดและการเติบโตของเงินนำส่งเข้ากองทุน
ทั้งนี้ จากการประมาณการของทางการว่าหากมีสมาชิกเข้าสู่ระบบการออมทรัพย์ของกอช. 100% ของกลุ่มเป้าหมาย พบว่าปีแรกเงินออมเริ่มต้นจะมีประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาท โดยผู้ออมจ่ายสะสมขั้นต่ำเดือนละ 100 บาท และจ่ายสะสมเพิ่มตามความสมัครใจได้อีกเดือนละ 100-1,000 บาท ขณะที่รัฐบาลมีภาระต้องสมทบเงินเข้ากองทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท ต่อปี ซึ่งถ้าแรงงานนอกระบบทั้งหมดจำนวน 24-25 ล้านคน ให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกอช. ก็จะช่วยให้เงินออมในระยะยาวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม หากมีผู้เข้าระบบต่ำกว่าเป้าหมายเนื่องจากมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมไม่มากนัก หรืออาจจะยังคงไม่เข้าใจถึงผลประโยชน์ที่ตนจะได้รับจากการออมระยะยาวดังกล่าว ก็อาจกระทบต่อขนาดและการเติบโตของเงินกองทุนให้ลดลงไปตามลำดับ นอกจากนี้ สำหรับเงินนำส่งเข้ากองทุนนั้น แม้เงินสะสมรายเดือนที่สมาชิกส่งเข้ากอช.จะเป็นอัตราที่ค่อนข้างต่ำ แต่เนื่องจากสมาชิกบางรายมีรายได้น้อยและไม่แน่นอน ขณะที่บางเดือนอาจไม่มีรายได้เข้ามาเลย ก็อาจทำให้การส่งเงินสะสมเข้ากองทุนเป็นไปอย่างไม่สม่ำเสมอ ซึ่งทางการอาจต้องมีข้อกำหนดที่ชัดเจนเกี่ยวกับการผ่อนปรนในกรณีที่สมาชิกขาดส่งเงินสะสม โดยอาจให้สมาชิกส่งเงินตามรายได้ที่เข้ามา อาทิ ผ่อนส่งเงินรายงวดหรือรายปี เป็นต้น

– นโยบายการลงทุน
สำหรับกรอบนโยบายการลงทุนนั้น คาดว่ากอช.คงจะกำหนดให้การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในรูปของสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เพื่อเป็นหลักประกันว่าสมาชิกจะได้รับผลประโยชน์ตามที่ควรจะเป็นภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด โดยสมาชิกจะได้รับผลประโยชน์ตามบัญชีรายตัว และได้รับการรับประกันเงินต้นจากรัฐบาล ซึ่งรวมดอกผลขั้นต่ำคาดว่าจะไม่น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 1 ปี (ประมาณ 0.65-1.00% ต่อปี ณ วันที่ 7 ก.ย. 2552 ค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง)

ทั้งนี้ จากกรณีตัวอย่างของกบข. กรอบการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง (74.4%) ประกอบด้วย ตราสารหนี้ภาครัฐ เงินฝากธนาคารพาณิชย์ หู้นกู้ภาคเอกชน เป็นต้น สำหรับการลงทุนในสัดส่วนที่เหลือ กบข.ได้จัดสรรไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความมั่นคงรองลงมา (25.6%) อาทิ ตราสารทุนไทยและต่างประเทศ ตราสารหนี้ต่างประเทศ อสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนทางเลือกอื่นๆ ทั้งนี้ กบข. สร้างอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี อยู่ที่ประมาณ 7.6% ต่อปี เทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 1 ปี อยู่ระหว่าง 0.65-1.00% ต่อปี ซึ่งกอช.สามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายการลงทุนของตนได้

– เกณฑ์การคัดเลือกบลจ.และขนาดของทรัพย์สินที่กอช.จะจัดสรรให้บลจ.รับไปบริหาร
สำหรับ เกณ์การคัดเลือกบลจ.เขาไปบริหารกอช.นั้น นอกจากคาดว่าคณะกรรมการกองทุนคงจะพิจารณาเปรียบเทียบจากการผลการดำเนินของแต่ละบลจ.เป็นหลักแล้ว ก็ยังน่าที่จะคำนึงถึงการประมูลทั้งค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการและบริการอื่นๆที่จะให้กับกอช.ด้วย ซึ่งคาดว่ากอช.คงจะกำหนดจำนวนบลจ.ที่ได้รับคัดเลือก เพื่อให้มีการแข่งขันและสามารถเปรียบเทียบผลการบริหารกองทุน ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อสมาชิก ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงประโยชน์ที่ธุรกิจกองทุนจะได้รับจากการจัดตั้งกอช. พบว่านอกจากบลจ.จะได้รับรายได้ค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของทรัพย์กอช.แล้ว ก็ยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของบลจ.อีกด้วย ในขณะที่การที่บลจ.ต่างๆ จะเสนอประมูลค่าธรรมเนียมการบริหารกอช.ในอัตราเท่าไรนั้น ก็คงขึ้นกับความคาดหวังของบลจ.เกี่ยวกับผลตอบแทนและการเติบโตของกอช.ในอนาคต

สรุปโดยรวม หลังจากที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เสนอหลักการและร่างกฎหมายของการจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. เข้าสู่การพิจารณาของกระทรวงการคลังนั้น ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ลงนามเห็นชอบในกฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เป็นที่เรียบร้อยแล้วในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และคาดว่าจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่และที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อผลักดันเป็นกฎหมายต่อไปในช่วงต้นเดือนกันยายน 2552 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันด้านรายได้ให้กับแรงงานนอกระบบทั่วประเทศ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการออมของภาคประชาชน ซึ่งคาดว่าผู้จัดการกองทุนของกอช.จะนำเงินออมไปกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น หุ้น พันธบัตร เงินฝาก หรืออสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ตามนโยบายการลงทุนที่กอช.กำหนด เพื่อที่จะสามารถให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่สมาชิกเมื่อสิ้นสมาชิกภาพได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ (อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์) ทั้งนี้ อาจจะกล่าวได้ว่าการจัดตั้งกอช.น่าที่จะส่งผลดีหลายประการ อาทิ การสร้างหลักประกันด้านรายได้ให้กับแรงงานนอกระบบทั่วประเทศและช่วยส่งเสริมการออมของภาคประชาชน ตลอดจนยังเป็นกลไกลที่ช่วนในการระดมเงินทุนซึ่งจะส่งผลในการช่วยพัฒนาตลาดทุนของประเทศ นอกจากนี้ก็ยังส่งผลดีต่อธุรกิจบลจ.ในด้านรายได้ค่าธรรมเนียมที่จะได้รับ หากถูกคัดเลือกให้เข้าไปบริหารทรัพย์สินของกองทุนดังกล่าว เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับการบังคับใช้พรบ.กองทุนการออมแห่งชาติที่จะเริ่มในช่วงต้นปี 2553 นั้น อาจต้องรอความชัดเจนในหลายๆ ประเด็น ดังต่อไปนี้ ประการแรก ขนาดและการเติบโตของเงินนำส่งเข้ากองทุน ซึ่งถ้าแรงงานนอกระบบทั้งหมดจำนวน 24-25 ล้านคน ให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกอช. ก็จะช่วยให้เงินออมในระยะยาวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม หากมีผู้เข้าระบบต่ำกว่าเป้าหมายเนื่องจากมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมไม่มากนัก ก็อาจกระทบต่อขนาดและการเติบโตของเงินกองทุนให้ลดลงไปตามลำดับ ส่วนในกรณีที่สมาชิกขาดส่งเงินสะสมเข้ากองทุน เนื่องจากสมาชิกบางรายมีรายได้น้อยและไม่แน่นอน ขณะที่บางเดือนอาจไม่มีรายได้เข้ามาเลย ก็อาจทำให้การส่งเงินสะสมเข้ากองทุนเป็นไปอย่างไม่สม่ำเสมอ ดังนั้น ทางการอาจต้องมีข้อกำหนดที่ชัดเจนเกี่ยวกับการผ่อนปรนการสะสมเงินเข้ากองทุน โดยสมาชิกอาจจ่ายเป็นรายงวดหรือรายปี เป็นต้น ประการที่สอง นโยบายการลงทุน สำหรับกรอบนโยบายการลงทุนนั้น คาดว่ากอช.คงจะกำหนดให้การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในรูปของสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เพื่อเป็นหลักประกันว่าสมาชิกจะได้รับผลประโยชน์ตามที่ควรจะเป็นภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ประการสุดท้าย เกณฑ์การคัดเลือกบลจ.และขนาดของทรัพย์สินที่กอช.จะจัดสรรให้บลจ.รับไปบริหาร สำหรับ เกณ์การคัดเลือกบลจ.เขาไปบริหารกอช.นั้น คาดว่านอกจากคณะกรรมการกองทุนจะพิจารณาเปรียบเทียบจากการผลการดำเนินของแต่ละบลจ.เป็นหลักแล้ว ยังอาจคำนึงถึงการประมูลทั้งค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการและบริการอื่นๆที่จะให้กับกอช.ด้วย ขณะที่คาดว่ากอช.คงจะกำหนดจำนวนบลจ.ที่ได้รับคัดเลือกให้บริหารกองทุน เพื่อให้มีการแข่งขันและสามารถเปรียบเทียบผลการดำเนินงาน ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อสมาชิกกองทุนในที่สุด