ประกันราคาสินค้าเกษตร : เกษตรกรได้รับประโยชน์…ลดภาระรัฐบาล

โครงการประกันราคาพืชเศรษฐกิจ 3 ชนิด คือ ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่รัฐบาลกำหนดเริ่มดำเนินการในฤดูการเพาะปลูกปี 2552/53 นับเป็นปีแรกที่รัฐบาลปรับมาตรการแทรกแซงตลาดพืชผลการเกษตรจากโครงการรับจำนำมาใช้โครงการประกันราคา ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วโครงการประกันราคานั้นมีข้อดีกว่าโครงการรับจำนำหลายประการ โดยเฉพาะการบิดเบือนราคาตลาดที่น้อยกว่า โดยเน้นการปล่อยให้กลไกการตลาดสามารถดำเนินการได้มากกว่าการแทรกแซงโดยการรับจำนำสินค้าเกษตร อีกทั้งยังเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการบริหารจัดการสต็อก และการที่ต้องรับภาระขาดทุนในการระบายสต็อกของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการประกันราคา เนื่องจากเป็นปีแรกที่เริ่มดำเนินการ ซึ่งจะต้องมีการวางขั้นตอนไว้อย่างรัดกุม มีการตรวจสอบในทุกขั้นตอน ทั้งนี้เพื่อความโปร่งใส เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และเป็นไปตามหลักการที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย รวมทั้ง การประกันราคาสินค้าเกษตรนี้ยังต้องเกี่ยวข้องกับเกษตรกรจำนวนมาก ดังนั้น การดำเนินการในขั้นตอนต่างๆจึงอาจจะต้องใช้เวลา เนื่องจากยังมีหลายประเด็นที่เจ้าหน้าที่ในฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในทางปฏิบัติ ทำให้ก่อนที่มาตรการประกันราคาสินค้าจะดำเนินการได้จริง และมีผลในทางปฏิบัติรัฐบาลอาจจะต้องเตรียมมาตรการอื่นมารองรับไปก่อน โดยเฉพาะเมื่อผลผลิตเกษตรเริ่มทยอยเข้าสู่ตลาด

ขั้นตอนการดำเนินงาน
จากการที่รัฐบาลมีนโยบายเปลี่ยนมาตรการแทรกแซงการตลาดพืชผลทางการเกษตร จากโครงการรับจำนำมาเป็นโครงการประกันราคา โดยเริ่มดำเนินการในฤดูการเพาะปลูก 2552/53 สำหรับพืชเศรษฐกิจ 3 ชนิด คือ ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานไว้ดังนี้

1.เกษตรกรที่ปลูกพืชทั้ง 3 ชนิดขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการรับจำนำพืชผล โดยแจ้งขึ้นทะเบียนกับเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งประจำอยู่ที่สำนักงานเกษตรอำเภอหรือที่ศูนย์บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีประจำตำบล ให้เสร็จภายในเดือน กันยายนนี้ โดยหลักฐานสำคัญที่ต้องนำมาด้วยคือ โฉนด สัญญาเช่า หรือใบแสดงสิทธิทำกิน รวมทั้งการแจ้งชนิดและจำนวนพืชที่ปลูก ซึ่งในขั้นตอนนี้รัฐบาลจะรับทราบข้อมูลจำนวนเกษตรกร และพื้นที่ปลูกของพืชแต่ละชนิด ซึ่งปริมาณการผลิตนั้นคำนวณจากปริมาณผลผลิตเฉลี่ยของแต่ละพืช

2.”คณะกรรมการตรวจสอบระดับตำบล” ซึ่งประกอบไปด้วยองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และประชาชนในหมู่บ้าน(ไม่ได้กำหนดจำนวนขั้นต่ำไว้เช่นเดียวกับการทำประชาคมของกระทรวงมหาดไทยที่จะยอมรับมตินั้นต้องมีจำนวนร้อยละ 80.0 ของคนในท้องที่นั้น) ต้องมาลงชื่อยอมรับการทำประชาคม ทั้งนี้เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของพื้นที่และประเภทการผลิต หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรออก “ใบรับรองผลการขึ้นทะเบียนผู้ปลูก” ซึ่งขั้นตอนการทำประชาคมที่ต้องผ่านการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบระดับตำบลนี้จะเป็นการกรองชั้นแรกสำหรับตรวจสอบการแจ้งข้อมูลพื้นที่และชนิดของพืชที่ปลูก

3.เกษตรกรนำใบรับรองผลการขึ้นทะเบียนผู้ปลูกไปติดต่อทำ “สัญญาประกันราคา” กับพนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)ที่สาขาใกล้บ้าน หรือที่จุดนัดหมายอื่นๆที่ทางธ.ก.ส.กำหนดเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและค่าเดินทางให้เกษตรกร

ราคาที่ระบุไว้ในสัญญาประกันราคานั้นจะเป็นราคาประกันที่กระทรวงเกษตรฯประกาศ โดยเกณฑ์การใช้คำนวณราคาประกันรัฐบาลจะพิจารณาจากราคาก่อนฤดูการเพาะปลูก ต้นทุนการผลิตของชาวนา บวกกับกำไรที่เกษตรกรสามารถอยู่ได้ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในการกำหนดราคาประกันที่อาจต้องแตกต่างกันตามคุณภาพและประเภทของสินค้า และเป็นราคาที่เป็นที่ยอมรับของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าสินค้าเกษตร ตั้งแต่เกษตรกร พ่อค้า โรงงานแปรรูป ผู้ส่งออก ผู้บริโภคในประเทศ ซึ่งราคาประกันนั้นต้องผ่านการรับรองของคณะรัฐมนตรีก่อนการประกาศเป็นราคาประกัน โดยในปีเพาะปลูก 2552/53 ราคาประกันข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อยู่ที่กิโลกรัมละ 7.10 บาท หัวมันสำปะหลังกิโลกรัมละ 1.70 บาท สำหรับข้าวกำหนดราคารับประกันข้าวเปลือกปทุมธานี1 เท่ากับ10,000 บาท/ตัน กำหนดปริมาณประกันราคา 25 ตัน/ครัวเรือน ข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% ราคา 10,000 บาท/ตัน กำหนดปริมาณประกันราคา 25 ตัน/ครัวเรือน ส่วนข้าวหอมมะลิประกันราคาที่ 15,300 บาท/ตัน กำหนดปริมาณประกันราคา 14 ตัน/ครัวเรือน ข้าวเปลือกหอมจังหวัด 14,300 บาท/ตัน กำหนดปริมาณประกันราคา 16 ตัน/ครัวเรือน ข้าวเปลือกเหนียว 9,500 บาท/ตันกำหนดปริมาณประกันราคา 16 ตัน/ครัวเรือน

หลังจากนั้น กระทรวงพาณิชย์จะประกาศ “ราคาตลาดอ้างอิง” สำหรับพืชเศรษฐกิจทั้ง 3 ชนิดในโครงการประกันราคาทุกวันที่ 1 และวันที่ 16 ของแต่ละเดือน ซึ่งราคาอ้างอิงนี้จะคำนวณจากการสำรวจราคาในพื้นที่ของกระทรวงพาณิชย์ โดยผลต่างระหว่างราคาประกัน(ที่ระบุในสัญญา)กับราคาอ้างอิงนี้จะเป็นปัจจัยที่กำหนดขนาดของการทดแทนที่จะต้องจ่ายให้แก่เกษตรกร

ความคืบหน้าในการดำเนินการ…ยังอยู่ในขั้นตอนการขึ้นทะเบียน
ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 8 กันยายน 2552 คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่ประสานการดำเนินงานโครงการประกันราคาพืชผลทางการเกษตร รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการประกันราคาพืชผลทางการเกษตร ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการขึ้นทะเบียนเกษตรกรในโครงการประกันราคา ดังนี้

ในแต่ละขั้นตอนการดำเนินงาน รัฐบาลยังต้องเร่งเข้าไปแก้ไขเพื่อผลักดันโครงการประกันราคา คือ
1.ขั้นตอนการแจ้งขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการประกันราคา
เนื่องจากปีนี้เป็นปีแรกของการดำเนินปรับเปลี่ยนนโยบายจากมาตรการจำนำมาเป็นมาตรการประกันราคา รวมทั้งระยะเวลาดำเนินการและการเตรียมการต่างๆมีค่อนข้างจำกัด ในขณะที่จำนวนเกษตรกรที่จะต้องแจ้งขึ้นทะเบียนมีเป็นจำนวนมาก ทำให้กรมส่งเสริมการเกษตรต้องระดมเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกรให้แล้วเสร็จภายในกรอบระยะเวลาเดิม คือวันที่ 30 กันยายน 2552 นี้ โดยในส่วนของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จ แต่ในส่วนของข้าวซึ่งมีจำนวนเกษตรกรมากกว่า ทางคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.)ขยายระยะเวลาออกไปเป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ตุลาคม 2552 สำหรับพื้นที่ปลูกข้าวในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนพื้นที่ปลูกข้าวในภาคใต้ให้ขยายระยะเวลาการขึ้นทะเบียนเกษตรกรไปจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 นอกจากนี้ เพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นภายหลัง กรมส่งเสริมการเกษตรมีคำสั่งให้เกษตรจังหวัดไปช่วยเป็นพี่เลี้ยงเจ้าหน้าที่ภาคสนามในการสำรวจข้อมูล หากข้อมูลของเกษตรกรรายใดมีความผิดพลาดก็จะถูกยกเลิก โดยจะให้กลับไปสำรวจใหม่ทันที

จากหลักเกณฑ์ของโครงการประกันราคานั้นไม่ได้รับประกันราคาผลผลิตทั้งหมด แต่กำหนดเงื่อนไขปริมาณผลผลิตขั้นสูงของพืชแต่ละชนิดที่สามารถจะเข้าสู่โครงการรับประกันได้ ดังนั้น เมื่อเกษตรกรแจ้งเนื้อที่ปลูก และชนิดพืชที่ปลูกแล้ว ข้อมูลพื้นฐานสำคัญที่ทางราชการต้องมีคือ เกณฑ์ผลผลิตเฉลี่ยของแต่ละพื้นที่ ปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯยังไม่ได้แจ้งเกณฑ์ผลผลิตเฉลี่ยรายจังหวัดให้เจ้าหน้าที่และเกษตรกรในพื้นที่ทราบ แต่ก็ได้มีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้วสำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง โดยใช้เกณฑ์ผลผลิตเฉลี่ยทั้งประเทศ แต่สำหรับเกณฑ์ผลผลิตเฉลี่ยของข้าวนั้นยังเป็นปัญหา เนื่องจากพันธุ์ข้าวในแต่ละท้องที่แตกต่างกัน รวมทั้งบางพื้นที่ทำนา 2 หรือ 3 ครั้ง ซึ่งทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งในเรื่องนี้ยังคงเป็นปัญหาที่ต้องเร่งดำเนินการต่อไป

นอกจากนี้ ประเด็นปัญหาอีกประการหนึ่ง คือ เรื่องความไม่ชัดเจนในเรื่องเอกสารสิทธิ์ของเกษตรกรบางราย ซึ่งทำให้เกษตรกรดังกล่าวอาจจะยังไม่สามารถไปแจ้งขึ้นทะเบียนได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่และคณะกรรมการตรวจสอบระดับตำบล ยังคงอยู่ระหว่างการหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการประสานการดำเนินงานฯ ได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯเร่งรัดเสนอคณะกรรมการนโยบายสินค้าเกษตรเพื่อให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการกำหนดแนวทางการรับรองให้เกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกินสามารถเข้าร่วมโครงการประกันราคา
2.ขั้นตอนการตรวจสอบความถูกต้องของจำนวนพื้นที่ ชนิดพืชที่ปลูก และปริมาณผลผลิตที่เกษตรกรแจ้ง ตามขั้นตอนของโครงการประกันราคาสินค้า หลังจากที่เกษตรกรมาแจ้งขึ้นทะเบียนแล้ว ยังต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องของจำนวนพื้นที่ ชนิดพืชที่ปลูก และปริมาณผลผลิตโดยผ่านการทำประชาคมจาก”คณะกรรมการตรวจสอบระดับตำบล” ซึ่งประกอบไปด้วยองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และประชาชนในหมู่บ้าน ที่ต้องมาลงชื่อยอมรับการทำประชาคม ทั้งนี้เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของพื้นที่และประเภทการผลิต หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรออก “ใบรับรองผลการขึ้นทะเบียนผู้ปลูก” ซึ่งยังคงอยู่ระหว่างการดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเร่งรัดให้คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คณะกรรมการฯ ระดับจังหวัด) แต่งตั้งคณะทำงานระดับอำเภอและตำบลเพื่อดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2552 โดยให้เพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบรับรองข้อมูลทะเบียนเกษตรกรและทะเบียนการปลูกพืชเศรษฐกิจด้วย รวมทั้ง มอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯและ ธ.ก.ส.ใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม ตรวจสอบพื้นที่ระดับตำบลที่คาดว่าอาจมีการรายงานจำนวนพื้นที่ขึ้นทะเบียนฯ มากกว่าพื้นที่จริงทางกายภาพ และแจ้งให้คณะกรรมการฯ ระดับจังหวัดตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง

3.ขั้นตอนการทำสัญญากับธ.ก.ส. เมื่อเกษตรกรได้รับ”ใบรับรองผลการขึ้นทะเบียนผู้ปลูก”เกษตรกรไปติดต่อทำ “สัญญาประกันราคา” กับธ.ก.ส.ที่สาขาใกล้บ้าน หรือที่จุดนัดหมายอื่นๆที่ทางธ.ก.ส.กำหนด ซึ่งในสัญญาประกันราคาจะมีข้อมูลสำคัญ คือ เวลาที่เกษตรกรสามารถใช้สิทธิประกันราคา ทั้งนี้สำหรับมันสำปะหลัง เกษตรกรทำสัญญากับธ.ก.ส.เดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 2552 เกษตกรสามารถใช้สิทธิประกันราคาได้หลังวันทำสัญญาแล้ว 45 วันแต่ไม่เกิน 6 เดือน นับจากวันทำสัญญาแต่ไม่เกิน 31 พฤษภาคม 2553 ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำสัญญากับธ.ก.ส.เดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 2552 เกษตรกรใช้สิทธิภายใน 15 วันแต่ไม่เกิน 3 เดือนนับจากวันทำสัญญา ซึ่งจะไม่เกิน 28 กุมภาพันธ์ 2553 อย่างไรก็ตาม ในส่วนของข้าว เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจะสามารถใช้สิทธิ์ประกันราคาได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552-กุมภาพันธ์ 2553

ทั้งนี้คาดว่าในขั้นตอนต่อไปเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. คงจะต้องเร่งเข้าไปประสานในพื้นที่เกี่ยวกับขั้นตอนการทำสัญญาและสิทธิในการรับเงินชดเชยส่วนต่างของผู้เข้าร่วมโครงการประกันราคา ขณะที่คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด คงจะต้องมีการแต่งตั้งคณะทำงานระดับอำเภอและตำบลเพื่อที่จะเข้าไปช่วยตรวจสอบข้อมูลทะเบียนฯ และการทำสัญญาประกันราคาของ ธ.ก.ส.

นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญที่รัฐบาลต้องดำเนินการควบคู่กันไป คือ การประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับเกษตรกรในเรื่องกลไกการทำงานของมาตรการประกันราคา ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งอาจจะเป็นประเด็นปัญหาตามมาในภายหลังได้

5.การจำหน่ายผลผลิตและการรับเงินของเกษตรกร ปัจจุบันเกษตรกรบางส่วนยังอาจจะยังคงมีความเข้าใจว่าต้องมีการส่งมอบผลิตผลเช่นเดียวกับที่เคยปฏิบัติในโครงการรับจำนำพืชผลทางการเกษตรที่ผ่านมา รวมทั้งยังอาจจะไม่เข้าใจเรื่องการใช้ราคาอ้างอิงกับราคาที่ซื้อขายในตลาดเพื่อที่จะนำไปคิดค่าชดเชยส่วนต่างจากราคาประกัน

ทั้งนี้ ภายใต้กลไกประกันราคานี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการประกันราคามีสิทธิ์ตัดสินใจได้ 2 กรณี คือ
-กรณีที่เกษตรกรไม่ใช้สิทธิ์การประกันราคา
เกษตรกรก็นำผลผลิตจำหน่ายในราคาตลาด ซึ่งกรณีนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อราคาตลาดนั้นสูงกว่าราคาประกันที่ระบุไว้ในสัญญา และสูงกว่าราคาอ้างอิง โดยอาจจะเกิดขึ้นเมื่อมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบทำให้ผลผลิตลดลงอย่างมาก ทั้งความผันผวนของสภาพอากาศ และปัญหาโรคและแมลงศัตรูระบาด หรือความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งจะดึงให้ราคาตลาดปรับตัวสูงขึ้น

-กรณีที่เกษตรกรใช้สิทธิ์การประกันราคา ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อราคาอ้างอิงต่ำกว่าราคาประกัน อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติคาดว่าการตัดสินใจของเกษตรกรจะพิจารณาเปรียบเทียบราคาอ้างอิงกับราคาตลาดด้วย กล่าวคือ

-กรณีที่ราคาอ้างอิงต่ำกว่าราคาตลาด กรณีนี้เกษตรกรอาจจะตัดสินใจขายสินค้าเกษตรทันที เนื่องจากจะได้รับประโยชน์สูงสุด โดยเกษตรกรจะได้รับเงินสองก้อน คือ เงินก้อนแรกเกษตรกรจะได้รับเงิน “ส่วนต่างราคา” (ส่วนต่างราคาระหว่างราคาประกันที่ระบุในสัญญากับราคาตลาดอ้างอิงที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศ)คูณกับปริมาณผลผลิตเฉพาะที่อยู่ในประกันที่ระบุไว้ในสัญญาของเกษตรกรแต่ละราย โดยธ.ก.ส.โอนเข้าบัญชีเงินฝากที่เปิดไว้กับ ธ.ก.ส.ทันทีในวันใช้สิทธิ์ที่ระบุไว้ตามสัญญาประกัน ส่วนเงินก้อนที่สองคือ เงินที่เกษตรกรได้จากการขายผลผลิตที่ระดับราคาตลาดในวันที่เกษตรกรจำหน่ายผลผลิต

-กรณีราคาอ้างอิงสูงกว่าราคาตลาด ซึ่งหมายความว่า การประกันราคาที่เกษตรกรได้รับยังไม่พอที่จะชดเชยปัญหาที่ราคาตลาดตกต่ำ กรณีนี้อาจเกิดขึ้นได้เมื่อราคาอ้างอิงของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งคำนวณจากข้อมูลราคาย้อนหลังในช่วง 2 สัปดาห์ก่อน อาจไม่สะท้อนราคาตลาดในขณะนั้น ทำให้เป็นไปได้ว่า ในบางช่วงราคาอ้างอิงอาจจะสูงกว่าราคาตลาดในบางพื้นที่ได้ ซึ่งการตัดสินใจของเกษตรกรจะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในกรณีนี้คาดว่าเกษตรกรคงเลือกที่จะรอโดยการเก็บสต็อกสินค้าไว้ เพื่อดึงให้สินค้าเข้าตลาดช้าลง โดยไม่จำหน่ายสินค้าออกมาพร้อมกันในช่วงต้นฤดูการผลิต ซึ่งจะเป็นการดึงให้ราคาตลาดสูงขึ้นใกล้เคียงหรือสูงกว่าราคาอ้างอิง อย่างไรก็ตาม การจะสามารถดำเนินการดังกล่าวได้นั้น เกษตรกรจะต้องมียุ้งฉางที่ดีพอในการเก็บรักษาผลผลิตเกษตรให้คงสภาพดีรอจังหวะในการขอใช้สิทธิ์และการจำหน่ายสินค้าในตลาดทั้งนี้เพื่อให้ได้ราคาดีที่สุด สำหรับเกษตรกรที่ไม่สามารถเก็บผลผลิตเพื่อรอจังหวะการจำหน่าย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของการไม่มียุ้งฉาง หรือมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงิน อาจจะมีทางเลือกหากสามารถที่จะตกลงขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าให้กับโรงงานแปรรูป ไม่ว่าจะเป็นโรงสี ลานมัน โรงงานอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ฯลฯ ซึ่งจะเป็นการโอนหน้าที่การดูแลผลผลิตไปเก็บไว้ในโกดังของโรงงานแปรรูป แต่ทางเลือกนี้จะสำเร็จได้เฉพาะในกรณีที่มีการคาดการณ์ว่าราคาสินค้ามีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่หากพ่อค้าคนกลางไม่แน่ใจว่าราคาจะปรับเพิ่มขึ้นหรือจะยังคงผันผวน เกษตรกรก็อาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการฝากสินค้าเกษตรไว้ในโกดังของโรงงานแปรรูปดังกล่าว

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าประเด็นที่มีความสำคัญประเด็นหนึ่ง ก็คือ การประกาศราคาอ้างอิงของกระทรวงพาณิชย์ ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน ซึ่งราคานี้มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นราคาที่นำไปเปรียบเทียบส่วนต่างระหว่างราคาอ้างอิงกับราคาประกันที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งรัฐบาลต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรในกรณีที่ราคาอ้างอิงต่ำกว่าราคาประกัน

นอกจากนี้ ประเด็นที่รัฐบาลต้องชี้แจงคือ โครงการประกันราคานี้เป็นการให้ความคุ้มครองเพียงบางส่วน เนื่องจากราคาตลาดอาจเคลื่อนไหว ต่างไปจากราคาอ้างอิงได้ในบางกรณีหรือในบางพื้นที่ ทำให้เกษตรกรยังคงต้องระมัดระวังในการเลือกจังหวะเวลาที่จะขายผลผลิต แม้ว่าจะได้รับความการคุ้มครองความเสี่ยงส่วนหนึ่ง(ผลต่างระหว่างราคาประกันกับราคาอ้างอิง)แล้วก็ตาม ขณะที่มาตรการประกันราคานี้เน้นการให้ความคุ้มครองต่อเกษตรกรรายย่อยเป็นหลัก ส่วนเกษตรกรบางรายที่ปริมาณผลผลิตเกินกว่าที่รัฐบาลกำหนดรับประกัน ซึ่งเป็นเกษตรกรรายใหญ่ ก็ต้องรับความเสี่ยงในเรื่องราคาจำหน่ายในส่วนของผลผลิตส่วนที่เกินไม่ได้อยู่ในโครงการประกันราคา

ปัญหาในทางปฏิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น…เร่งเตรียมรับมือ
นอกจากปัญหาต่างๆในขั้นตอนการดำเนินงานตามโครงการประกันราคาพืชผลเศรษฐกิจ 3 ชนิดแล้ว ยังมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาต่างๆที่อาจจะเกิดตามมา ซึ่งรัฐบาลต้องเตรียมรับมือกับปัญหาเหล่านี้ด้วย

1.เกษตรกรตกสำรวจ ซึ่งหมายถึงเกษตรกรที่ไม่ได้มาขึ้นทะเบียนในระยะเวลาที่กำหนด หรือไม่ได้ไปทำสัญญากับ ธ.ก.ส.ในระยะเวลาที่กำหนด เนื่องด้วยเป็นปีแรกในการดำเนินการตามโครงการประกันราคา และระยะเวลาที่จำกัด ในการเตรียมการต่างๆดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความถูกต้องสมบูรณ์ของทะเบียนเกษตรกรและกระบวนการประชาคม ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องไปยังการทำสัญญาประกันราคาและการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างด้วย ทั้งนี้แนวทางการแก้ปัญหาในเบื้องต้น คือ การขึ้นทะเบียนเกษตรกร โดยภาครัฐจะต้องเป็นฝ่ายรุกเข้าหาเกษตรกร เร่งรัดให้เกษตรกรตื่นตัวมาลงทะเบียน และอำนวยความสะดวกให้อย่างเต็มที่ รวมถึงการเข้าไปแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆที่เกิดขึ้น ทั้งในขั้นตอนขึ้นทะเบียนและขั้นตอนการทำสัญญาประกันราคากับ ธ.ก.ส. ทั้งนี้เพื่อให้จำนวนเกษตรกรที่มีสิทธิ์ที่จะเข้าร่วมโครงการประกันราคานี้ตกสำรวจน้อยที่สุด

2.แหล่งที่มาของเงินจ่ายชดเชยเกษตรกร สำหรับโครงการประกันราคาในฤดูกาลผลิตปี 2552/53 รัฐบาลคาดว่าจะใช้งบประมาณจากโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งได้จัดงบประมาณไว้แล้วสำหรับกรณีการประกันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง เพื่อเตรียมจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้แก่เกษตรกร รวมจำนวน 18,000 ล้านบาท ขณะที่ข้าวคาดว่าต้องใช้เงินชดเชยอีกประมาณ 25,000 ล้านบาท รวมพืชเกษตรทั้ง 3 ชนิดรัฐบาลได้เตรียมเงินไว้ช่วยเหลือเกษตรกรประมาณ 43,000 ล้านบาท

3.ความแตกต่างของสินค้า เนื่องจากสินค้าเกษตรที่รัฐบาลเลือกเข้าโครงการประกันราคา คือ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ซึ่งทั้งสามสินค้านี้นับว่าเป็นพืชผลเศรษฐกิจสำคัญ แต่ก็มีข้อแตกต่างกันอย่างมากทางด้านการตลาด กล่าวคือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตลาดส่วนใหญ่เป็นตลาดในประเทศ ทั้งนี้เพื่อป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ ส่วนมันสำปะหลัง แม้ว่าจะมีปริมาณการใช้ในประเทศน้อยกว่าการส่งออก แต่มูลค่าการส่งออกนั้นไม่สูงมาก เมื่อเกิดปัญหากับตลาดส่งออก โดยเฉพาะการแข่งขันที่รุนแรงจากเวียดนามดังเช่นที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตลาดในประเทศไม่มากนัก แต่สำหรับข้าวนั้นแบ่งเป็นตลาดในประเทศและตลาดส่งออกประมาณครึ่งต่อครึ่ง ปัจจุบันเผชิญการแข่งขันอย่างรุนแรงในตลาดโลก โดยเฉพาะจากเวียดนาม เดิมนั้นภายใต้มาตรการรับจำนำมีการดึงปริมาณข้าวส่วนหนึ่งออกจากตลาดไปเก็บเป็นสต็อกข้าวของรัฐบาลเพื่อรอเวลาระบายออกสู่ตลาดต่างประเทศ นับเป็นการแยกตลาดในประเทศและตลาดส่งออกที่ชัดเจน แต่ในการใช้มาตรการประกันราคานั้นความผันผวนของตลาดโลกอาจจะส่งผลรุนแรงต่อตลาดในประเทศผ่านทางตลาดส่งออก ทำให้ราคาส่งออกข้าวอาจมีความผันผวนรุนแรงได้ในบางช่วง ซึ่งรัฐบาลคงต้องเตรียมรับมือกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับตลาดข้าวด้วย เนื่องจากราคาประกันนั้นเป็นราคาที่คำนวณโดยอิงกับต้นทุนการผลิตของชาวนา และคำนึงถึงปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นในด้านต่างๆที่จะกระทบต่อปริมาณการผลิต แต่อาจจะยังไม่ได้ครอบคลุมไปถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากความผันผวนของตลาดส่งออกที่สามารถส่งผลกระทบต่อตลาดในประเทศ
4.การเตรียมมาตรการเสริม การปรับมาตรการแทรกแซงตลาดผลผลิตทางการเกษตรดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลให้บรรดาอุตสาหกรรมต่อเนื่องพืชผลเกษตรทั้งสามชนิดมีแนวโน้มความต้องการสภาพคล่องทางการเงินเพิ่มขึ้นเพื่อเก็บสต็อกผลผลิตทางการเกษตรเมื่อเกษตรกรนำผลผลิตจำหน่ายออกสู่ตลาด ซึ่งปัญหาในส่วนนี้ ธ.ก.ส.ได้เตรียมงบประมาณไว้ต่างหากอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท อันเป็นผลจากการหารือกับผู้ประกอบการทั้งโรงสี ลานมัน และโรงงานอาหารสัตว์ ที่ล้วนคาดว่าจะมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ฉะนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวธ.ก.ส. จึงเตรียมเงินส่วนหนึ่งเพื่อปล่อยสินเชื่อให้แก่บรรดาผู้ประกอบการที่เป็นกระบวนการทางการตลาดของพืชเศรษฐกิจทั้ง 3 ชนิดนี้ นอกจากนี้ ธ.ก.ส.จะจัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในโครงการ Fast Track สำหรับอุดหนุนให้โรงสีมารับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการประกันราคาสินค้าข้าวเปลือกนาปี ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2552 สำหรับสินเชื่อโครงการ Fast Track เป็นกิจกรรมหนึ่งในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่จะช่วยเหลือให้โรงสีได้รับเงินทุนหมุนเวียนที่มีอัตราดอกเบี้ยพิเศษ คือ โรงสีที่ขอใช้สินเชื่อในชื่อบุคคลจะเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 6.75 แต่หากยื่นขอกู้ในลักษณะกลุ่มสถาบันก็จะเสียอัตราดอกเบี้ยคิดดอกเบี้ยอัตราพิเศษเพียงร้อยละ 4.75 ต่อปีเท่านั้น โดยใช้ข้าวที่โรงสีรับซื้อในโครงการมาใช้เป็นหลักประกัน ซึ่งโครงการสินเชื่อฟาสต์แทร็กจะเริ่มปล่อยกู้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2552 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2552 อย่างไรก็ตาม ธ.ก.ส.ได้ร้องขอให้สมาคมโรงสีเข้ารวบรวมและคัดเลือกโรงสีคุณภาพดีในแต่ละท้องถิ่นที่ประสงค์จะร่วมมือกับรัฐบาล และต้องการใช้บริการสินเชื่อดังกล่าว เพื่อแจ้งข้อมูลให้ ธ.ก.ส. ภายในเดือนกันยายนนี้
บทสรุป
แนวคิดในการปรับเปลี่ยนมาตรการแทรกแซงตลาดพืชผลการเกษตรจากโครงการรับจำนำมาเป็นโครงการประกันราคา โดยจุดประสงค์หลัก คือ ต้องการให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินการแทรกแซงตลาดของรัฐบาลอย่างแท้จริง และลดภาระของรัฐบาลในการบริหารจัดการสต็อกพืชผล รวมถึงลดภาระขาดทุนเมื่อมีการระบายสต็อกของรัฐบาล และปล่อยให้การซื้อขายผลผลิตอิงกับราคาตลาดมากขึ้น หรือลดการบิดเบือนกลไกตลาด เมื่อเทียบกับมาตรการรับจำนำที่มีการดึงสินค้าเกษตรออกไปจากตลาดจำนวนมาก โดยรัฐบาลเริ่มดำเนินการกับพืชเศรษฐกิจ 3 ชนิด คือ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง สำหรับฤดูการเพาะปลูก 2552/53 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปีนี้เป็นปีแรกของการดำเนินการ ทำให้ขั้นตอนการดำเนินการตั้งแต่การจดทะเบียนเกษตรกร การตรวจสอบความถูกต้อง การดำเนินการทำสัญญากับธ.ก.ส. อาจต้องใช้เวลาในการดำเนินการมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในขณะที่การดำเนินการในขั้นตอนต่างๆก็ต้องเป็นไปอย่างรัดกุม รอบคอบ และสามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการควบคู่กันไปคือ การประชาสัมพันธ์หรืออบรมชี้แจงให้บรรดาเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเข้าใจกลไกในการดำเนินการระบบประกันราคาอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง นอกจากนี้ ความสำเร็จของโครงการประกันราคา คือ การที่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเข้าใจถึงจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการใช้สิทธิ์การประกัน โดยต้องเปรียบเทียบระหว่างราคาตลาดและราคาอ้างอิงกับราคาประกันตามสัญญาที่ได้ทำไว้ และอาจต้องรอจังหวะในการขายสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดเพื่อที่จะได้รับผลประโยชน์สูงสุด แม้ว่าจะมีการประกันราคาจากภาครัฐ(เพื่อชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันกับราคาอ้างอิง)แล้วก็ตาม โดยในขณะที่รอราคานั้นเกษตรกรก็ควรจะต้องสามารถบริหารจัดการสต็อกสินค้าเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อรักษาคุณภาพของสินค้าในขณะที่รอจำหน่าย ซึ่งก็เป็นการชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการมียุ้งฉางในระดับท้องถิ่น สำหรับรัฐบาลนั้นคงต้องมีการติดตามการดำเนินการในขั้นตอนต่างๆอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เพื่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งการเตรียมมาตรการเสริม โดยเฉพาะวงเงินสินเชื่อสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งโรงสี ลานมัน และโรงงานอาหารสัตว์ ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนสภาพคล่องที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ ภาครัฐอาจจะยังต้องติดตามสถานการณ์ราคาในตลาดส่งออกด้วย เพราะอาจจะส่งผลย้อนกลับมาให้เกิดความผันผวนต่อราคาในประเทศได้ โดยเฉพาะข้าวที่มีทั้งมูลค่าและสัดส่วนของการส่งออกที่สูง และมีเกษตรกรที่เกี่ยวข้องด้วยจำนวนมาก