กฎระเบียบป้องกันการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัว

ตั้งแต่ 1 มกราคม 2553 สหภาพยุโรปจะใช้กฎระเบียบป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal Unreported and Unregulated Fishing: IUU Fishing) เนื่องจากสหภาพยุโรปเห็นว่าไม่เป็นธรรมทางการค้ากับผู้ที่ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมุ่งเน้นที่จะลดปริมาณการลักลอบจับสัตว์น้ำผิดกฎหมายในน่านน้ำต่างๆ เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

ตลาดสหภาพยุโรปนับเป็นประเทศคู่ค้าผลิตภัณฑ์ประมงที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 3 ของไทย รองจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยในช่วงระยะ 3 ปีที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ประมงของไทยไปยังตลาดสหภาพยุโรปเฉลี่ย 866.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 24.4 ต่อปี ดังนั้นรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับกับกฎระเบียบการนำเข้าผลิตภัณฑ์ประมงใหม่ของสหภาพยุโรป โดยสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการแล้ว คือ การแต่งตั้งกรมประมงเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการออกใบรับรองสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการต่อไป คือ การขึ้นทะเบียนเรือประมง และปรับปรุงท่าเทียบเรือให้ได้มาตรฐาน รวมทั้ง เร่งทำความเข้าใจกฎระเบียบใหม่นี้สำหรับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ประมงทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อที่จะรักษาสัดส่วนตลาดผลิตภัณฑ์ประมงของสหภาพยุโรปไว้

IUU Fishing… ความเป็นมา
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติกำหนดแผนปฏิบัติการระหว่างประเทศ (International Plan of Action: IPOA) ในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดรายงาน และไร้การควบคุม (IPOA -IUU) ขึ้นตั้งแต่ปี 2544 โดยมีการกำหนดมาตรการต่างๆ คือ มาตรการของรัฐเจ้าของธงต้องดำเนินการ เช่น การจดทะเบียนเรือประมง ออกใบอนุญาตทำการประมง เป็นต้น มาตรการของรัฐท่าเรือควรมีระบบการตรวจสอบ และเก็บข้อมูลเรือประมงและไม่ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนเรือประมง IUU มาตรการรัฐชายฝั่งซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรต้องปฏิบัติ และดำเนินมาตรการตามกฎหมายทะเล ในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และมาตรการทางการค้า รัฐต่างๆควรดำเนินสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศในการป้องกันไม่ให้มีการค้าสินค้าประมงมาจากการทำประมง IUU อย่างไรก็ตาม มาตรการต่างๆดังกล่าวเป็นมาตรการสมัครใจ ทำให้การป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมง IUU ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 2 กันยายน 2552 ทางองค์การสหประชาชาติรายงานว่ามีประเทศที่ลงนามเห็นด้วยกับการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงแบบ IUU แล้ว 90 ประเทศ ดังนั้น ในอนาคตทุกประเทศจะประกาศมาตรการเพื่อนำไปสู่การป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงแบบ IUU ในขณะที่สหภาพยุโรปมีความพร้อมมากกว่าจึงนับเป็นกลุ่มประเทศแรกที่จะประกาศใช้มาตรการนี้ก่อน

คณะกรรมาธิการยุโรปได้ต่อสู้กับการประมงแบบ IUU มาเป็นระยะเวลานาน แต่ก็ยังไม่ส่งผลสำเร็จในการลดขอบเขตของการดำเนินกิจกรรมการทำประมงแบบ IUU ซึ่งปัจจุบันกำลังส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำมากมายหลายชนิดยิ่งขึ้นในทั่วโลก โดยภาพรวมคาดการณ์ว่าปริมาณกิจกรรมการประมงแบบ IUU ทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านยูโรต่อปี(ประมาณ 7,042 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี) ซึ่งทำให้สามารถนับได้ว่าการทำประมงแบบ IUU เป็นผู้ผลิตสินค้าประมงที่มากเป็นอันดับสองของโลก ที่สำคัญประชาคมยุโรปเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่มีกองเรือประมงใหญ่ที่สุดในโลกและมีกำลังการจับสัตว์น้ำมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก นอกจากนี้ ประชาคมยุโรปยังเป็นผู้นำเข้าสินค้าประมงมากเป็นอันดับ 1 ของโลกอีกด้วย โดยในปี 2550 ประชาคมยุโรปนำเข้าสินค้าประมงเกือบ 16,000 ล้านยูโร(ประมาณ 11,268 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

สหภาพยุโรปประกาศใช้มาตรการทางการค้าภายใต้ IPOA- IUU มาเป็นเครื่องมือควบคุมประมง IUU ไม่ให้เข้าไปในตลาดสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดนำเข้าผลิตภัณฑ์ประมงอันดับต้นๆของโลก โดยสหภาพยุโรปคาดว่าผลิตภัณฑ์ประมง IUU ในสหภาพยุโรปประมาณร้อยละ 7 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ประมงที่สหภาพยุโรปนำเข้าทั้งหมด ทางสหภาพยุโรปเห็นว่าไม่เป็นธรรมทางการค้ากับผู้ที่ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมุ่งเน้นที่จะลดปริมาณการลักลอบจับสัตว์น้ำผิดกฎหมายในน่านน้ำต่างๆ เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

ดังนั้น สหภาพยุโรปจึงออกประกาศกฏระเบียบคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปว่าด้วยการจัดตั้งระบบของประชาคมในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดรายงาน และไร้การควบคุม (Council Regulation (EC) No 1005/2008 of Illegal, Unregulated and Unreported Fishing: IUU Fishing) ซึ่งคณะมนตรียุโรปประกาศกฎระเบียบดังกล่าวในวันที่ 29 กันยายน 2551 และจะมีผลบังคับใช้กับสินค้าประมงที่นำเข้าสหภาพยุโรปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป ระเบียบดังกล่าวกำหนดให้สินค้าผลิตภัณฑ์ประมงทั้งที่เป็นสัตว์น้ำแปรรูปเบื้องต้น หรือพิกัดศุลกากร 03 ผลิตภัณฑ์จากปลา หรือพิกัดศุลกากร 1604 และ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำอื่นๆ หรือพิกัดศุลกากร 1605 (ยกเว้นสัตว์น้ำจืด ปลาสวยงาม สินค้าสัตว์น้ำที่มาจากการเพาะเลี้ยง และหอยสองฝาบางชนิด) ต้องมีใบรับรองการจับสัตว์น้ำ (Catch Certificate) ที่ออกโดยเรือประมงประเทศเจ้าของธงเรือ และผ่านการรับรองจากกรมประมงของไทยประกอบการนำเข้า เพื่อรับรองว่าการจับสัตว์น้ำและวัตถุดิบสัตว์น้ำมาจากเรือประมงที่ทำการประมงอย่างถูกกฎหมาย

ความสำคัญของตลาดผลิตภัณฑ์ประมงสหภาพยุโรป
สหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกสินค้าประมงสำคัญลำดับที่ 3 ของไทย รองจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยมีสัดส่วนร้อยละ 16.0 ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ประมงทั้งหมดของไทย ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 มูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์ประมงของไทยไปยังสหภาพยุโรปเท่ากับ 598.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วหดตัวร้อยละ 4.7 อันเนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน โดยสหภาพยุโรปลดการนำเข้า

อย่างไรก็ตาม สำหรับในตลาดสหภาพยุโรป(เฉพาะการค้านอกกลุ่ม) มูลค่าการนำเข้าสัตว์น้ำมีชีวิตและแปรรูปเบื้องต้น(พิกัดศุลกากร 03) ของไทยอยู่ในอันดับที่ 12 ของมูลค่าการนำเข้าสัตว์น้ำมีชีวิต และแปรรูปเบื้องต้นทั้งหมด โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 สหภาพยุโรปนำเข้าจากไทย 95.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 ประเภทของสัตว์น้ำมีชีวิตและแปรรูปเบื้องต้นที่ไทยอยู่ในอันดับต้นๆ ในตลาดสหภาพยุโรป ได้แก่ เนื้อปลาแช่แข็ง ไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 9.9 โดยครองตลาดเป็นอันดับหนึ่ง และมูลค่าการนำเข้าจากไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 มีอัตราการขยายตัวอย่างมาก กล่าวคือ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 มูลค่าการนำเข้าเนื้อปลาแช่แข็งจากไทยเพิ่มขึ้นเป็น 63.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นประมาณ 1.2 เท่าตัว

สำหรับมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากปลา(พิกัดศุลกากร 1604)ของสหภาพยุโรป ไทยครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 17.2 ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งในตลาดสหภาพยุโรป โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 มูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปลาจากไทยเท่ากับ 130.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.3 ส่วนผลิตภัณฑ์กุ้ง ปู ปลาหมึก และหอย(พิกัดศุลกากร 1605)ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 2 ของสหภาพยุโรป รองจากประเทศชิลี มีสัดส่วนตลาดร้อยละ 14.1 โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 มูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้ง ปู ปลาหมึก และหอยเพิ่มขึ้นเป็น 38.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9

ผลกระทบต่อไทย
กฎ IUU Fishing ของสหภาพยุโรปดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ประมงไทย ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการ ดังนี้

-การแต่งตั้งหน่วยงานรับผิดชอบหลัก มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 มอบหมายให้กรมประมงเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก (Competent Authority) ออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ (Catch Certificate) ที่ได้จากการทำประมงที่ไม่ใช่ IUU Fishing ส่งไปยังประชาคมยุโรป โดยหน่วยงาน Competent Authority ได้รับมอบอำนาจในการดำเนินการ ดังนี้ รับจดทะเบียนเรือประมงที่ใช้ธงรัฐตน พักและถอนใบอนุญาตจับสัตว์น้ำแก่เรือประมงของรัฐตน ออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำและตรวจรับรองความถูกต้องของใบรับรองดังกล่าว ดำเนินการ ควบคุมและบังคับใช้กฎหมายและมาตรการอนุรักษ์และการจัดการซึ่งเรือประมงของรัฐตนปฏิบัติ ดำเนินการตรวจพิสูจน์ความถูกต้องของใบรับรองการจับสัตว์น้ำเพื่อช่วยหน่วยงานที่รับผิดชอบของรัฐสมาชิก แจ้งแบบเอกสารใบรับรองการจับสัตว์น้ำ และปรับปรุงข้อมูลที่แจ้งให้เป็นปัจจุบัน

สินค้าประมงที่จะส่งออกมายังตลาดสหภาพยุโรปจะต้องมีใบรับรองการจับสัตว์น้ำที่ออกโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบของประเทศเจ้าของสัญชาติ (ประเทศเจ้าของธง) ของเรือประมงที่ใช้จับสัตว์น้ำกำกับมาด้วย ซึ่งกรมประมงได้ทำการศึกษาเส้นทางการขนส่งทางน้ำ ตั้งแต่การผลิตจากเรือประมงสู่โรงงานแปรรูป ทั้งนี้ ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อนำข้อมูลมาจัดทำร่างระบบออกใบรับรองสัตว์น้ำ รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ระบบควบคุมการทำประมงและรับรองการจับสัตว์น้ำ

-การขึ้นทะเบียนเรือประมงและปรับปรุงมาตรฐานท่าเทียบเรือ โดยตามกฎ IUU Fishing ของสหภาพยุโรปมีข้อกำหนดให้เรือประมงจากทุกประเทศจะต้องขึ้นทะเบียนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2552 ดังนั้น กรมประมงต้องมีการจดทะเบียนเรือประมงไทย 13,000 ลำ ออกใบอนุญาตทำการประมง เร่งขึ้นทะเบียนเรือประมงที่มาเทียบท่าเรือไทย และปรับปรุงพัฒนาท่าเทียบเรือให้เป็นไปตามระเบียบของอียูด้วย จากปัจจุบันไทยมีท่าเรือประมงรวม 22 แห่ง ผ่านการรับรองมาตรฐานทั่วไป 14 แห่ง ที่เหลือต้องเร่งปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน

ปัจจุบันไทยยังต้องพึ่งพิงการนำเข้าสินค้าประมงบางประเภทเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบแปรรูปเพื่อส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์ กุ้งและผลิตภัณฑ์ หมึกสดและหมึกแปรรูป และซูริมิ เนื่องจากวัตถุดิบในประเทศมีไม่เพียงพอ โดยปัจจุบัน อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าประมงของไทยใช้วัตถุดิบนำเข้าจากกว่า 50 ประเทศ ซึ่งจะต้องใช้ใบรับรอง Catch Certificate ของประเทศวัตถุดิบดังกล่าวประกอบการนำเข้า หากประเทศดังกล่าวไม่สามารถเตรียมความพร้อมได้ทันในวันที่ 1 มกราคม 2553 ก็อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ประมงของไทยด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ประมงของไทยที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า จึงควรต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่าผู้ส่งออกในประเทศคู่ค้านั้นสามารถดำเนินการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำได้หรือไม่ หากไม่สามารถดำเนินการได้ ผู้ประกอบการควรพิจารณานำเข้าวัตถุดิบจากแหล่งอื่นที่ไม่มีการทำประมงแบบผิดกฎหมายแทน

นอกจากนี้ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2552 กรมประมงจะแจกสมุดบันทึกการทำประมงให้กับชาวประมง เพื่อให้บันทึกว่า ได้ไปทำการประมงที่ไหน เมื่อไหร่ ได้สัตว์น้ำอะไร จำนวนเท่าไร แล้วนำปลาที่จับได้ไปขึ้นที่ท่าไหน สมุดบันทึกจะทำให้รู้ว่าเรือลำนี้ทำการประมงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้เจ้าของเรือรู้รายละเอียดการจับปลาของเรือตัวเอง ได้ข้อมูลที่ทันต่อเหตุการณ์ ส่งผลให้มีการบริหารจัดการทรัพยากรประมงได้อย่างถูกต้อง ที่สำคัญก็คือ การบันทึกข้อมูลลงในสมุดบันทึกยังสอดคล้องกับกฎระเบียบของสหภาพยุโรป เกี่ยวกับการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม

กรมประมงเดินทางไปเจรจาเรื่องไปร่วมประชุมเจรจาระดับทวิภาคีกับกระทรวงการประมงและกิจการทางทะเล (DG-Maritime Affairs and Fisheries) ของสหภาพยุโรป ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2552 กรมประมงในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลัก (Competent Authority) ในการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำที่ส่งไปสหภาพยุโรปตามกฏระเบียบ IUU Fishing ได้นำเสนอระบบการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ ที่กรมประมงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดทำให้ที่ประชุมรับทราบ เพื่อแสดงถึงความพร้อมในการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำของไทย

ขณะนี้ได้สั่งการให้หน่วยงานสังกัดกรมประมงเร่งดำเนินการ เพื่อให้ระบบออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำสามารถปฏิบัติได้โดยเร็วที่สุด เพื่อมิให้เกิดอุปสรรคทางการค้าต่อสินค้าประมงของไทย โดยกรมประมงจะจัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติ และเดินสายจัดฝึกอบรมแนะนำแนวทางปฏิบัติให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรับทราบ ซึ่งในครั้งแรก จะจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้ผู้ประกอบการเรือประมง และโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำที่จังหวัดสมุทรสาคร ในวันที่ 28 กันยายน 2552 ซึ่งจะเป็นการบรรยายและฝึกปฏิบัติการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ หลังจากนั้น จะเดินสายฝึกอบรมให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดชายทะเลอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ กรมประมงคาดว่า จะสามารถเริ่มทดลองดำเนินการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำได้ภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2552 หรือระยะเวลา 1 เดือน ก่อนกำหนดบังคับใช้กฏระเบียบ IUU ของสหภาพยุโรป ขณะที่ผู้ประกอบการเรือประมง แพปลา สมาคมประมง และกรมประมงต้องทำงานประสานกัน เพื่อให้มีช่องทางในการจดทะเบียนใหม่ให้ถูกต้อง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมเป็นต้นไป ผลิตภัณฑ์ประมงที่จะนำเข้ามายังสหภาพยุโรปได้จะต้องมีใบรับรองจับสัตว์น้ำกำกับมาด้วย โดยการออกใบรับรองจับสัตว์น้ำนี้ หน่วยงานรับผิดชอบหลักของประเทศเจ้าของเรือประมงจะต้องรับรองว่าการจับสัตว์น้ำเป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรการบริหารจัดการและการอนุรักษ์ระดับนานาชาติ โดยใบรับรองจับสัตว์น้ำนี้จะผ่านการรับรองสถานภาพว่าถูกต้องตามกฎหมายจากหน่วยงานรับผิดชอบหลักของประเทศเจ้าของธง และหากจำเป็นอาจรวมถึงเอกสารอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากแผนงานรับรองจับสัตว์น้ำในกรณีการนำเข้าทางอ้อมที่เกิดจากการขนถ่ายสินค้าระหว่างเรือ การส่งสินค้าผ่านหรือการแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมงในประเทศอื่น ซึ่งกฎระเบียบ IUU Fishing บังคับใช้กับการค้าขายผลิตภัณฑ์ประมงทั้งหมด ทั้งแปรรูปและยังไม่ผ่านการแปรรูป ซึ่งได้มาจากเรือประมงของประเทศที่สามที่นำเข้ามาในประชาคมโดยการขนส่งทุกประเภท รวมถึงการจับสัตว์น้ำที่ได้มาจากเรือประมงของประชาคม เพื่อที่จะส่งออกไปยังประเทศที่สามด้วย

บทสรุป
เมื่อถึงวันที่ 1 มกราคม 2553 ไทยต้องพร้อมปฎิบัติตามกฎระเบียบ IUU Fishing ของสหภาพยุโรปเนื่องจาก คณะมนตรียุโรปประกาศกฎระเบียบดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2551 โดยสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการไปแล้วคือ การแต่งตั้งกรมประมงเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ แต่ยังคงต้องเร่งดำเนินการจดทะเบียนเรือประมง และการพัฒนาปรับปรุงท่าเทียบเรือให้ได้มาตรฐานตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรป นอกจากนี้ การที่ไทยยังต้องพึ่งพิงการนำเข้าสินค้าประมงเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ประมงเพื่อการส่งออก ดังนั้น การเข้มงวดในการนำเข้าจากแหล่งประมงที่มีใบรับรองการจับสัตว์น้ำตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรปก็เป็นเรื่องที่จำเป็นเช่นกัน

การปรับระบบการผลิตสินค้าผลิตภัณฑ์ประมงให้เป็นไปตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรปนับว่ามีความจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากสหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าผลิตภัณฑ์ประมงที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 3 ของไทยรองจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น รวมทั้งสหภาพยุโรปนั้นเป็นกลุ่มประเทศที่ไทยมีโอกาสในการเจาะขยายตลาดผลิตภัณฑ์ประมง เนื่องจากสหภาพยุโรปนำเข้าผลิตภัณฑ์ประมงมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ในขณะที่สัดส่วนตลาดผลิตภัณฑ์ประมงของไทยยังนับว่าน้อยมาก?