ตลาดข้าวแอฟริกา : โอกาสขยายการส่งออกข้าว…อานิสงส์อินเดียงดส่งออก

ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 การส่งออกข้าวของไทยเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากเวียดนาม โดยเฉพาะตลาดข้าวขาว เนื่องจากราคาข้าวส่งออกของเวียดนามต่ำกว่าไทยมาก ทำให้มูลค่าการส่งออกข้าวของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 หดตัวลงเหลือ 3,281.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วหดตัวร้อยละ 29.5 อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลอินเดียประกาศงดส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติในช่วงต้นเดือนกันยายน 2552 นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการส่งออกข้าวของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2552 ถึงช่วงกลางปี 2553 ซึ่งจะเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวกลางปีของอินเดียจะออกสู่ตลาด ทำให้อินเดียต้องตัดสินใจอีกครั้งว่าจะกลับมาส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบัสมาติหรือไม่ ดังนั้นในช่วงที่อินเดียงดการส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบัสมาติจะทำให้ผู้ส่งออกข้าวของไทยมีโอกาสในการขยายตลาดข้าวได้เพิ่มมากขึ้นแทนที่การส่งออกข้าวของอินเดีย โดยเฉพาะตลาดข้าวในทวีปแอฟริกา กล่าวคือ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 มูลค่าการส่งออกข้าวไปยังตลาดแอฟริกา 1,590.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วหดตัวร้อยละ 16.3 ซึ่งเมื่อเทียบกับทวีปอื่นๆแล้ว นับว่าการส่งออกข้าวไปตลาดแอฟริกาหดตัวน้อยที่สุด ในช่วงที่เหลือของปี 2552 ไปจนถึงกลางปีหน้า นับเป็นโอกาสของผู้ส่งออกข้าวไทยที่จะเร่งขยายการส่งออกข้าวไปยังทวีปแอฟริกา อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องกังวลคือ การแข่งขันจากเวียดนาม ถ้าเวียดนามหันมาเจาะขยายตลาดทวีปแอฟริกาเช่นกัน

ภูมิภาคแอฟริกาเป็นตลาดข้าวขนาดใหญ่ และความต้องการบริโภคข้าวของแอฟริกามีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดข้าวของแอฟริกาเป็นที่สนใจของประเทศผู้ส่งออกข้าวที่สำคัญของโลก ไม่ว่าจะเป็นไทย เวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการส่งออกข้าวขาวของไทยไปยังตลาดแอฟริกาต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากเวียดนามเช่นเดียวกับการส่งออกข้าวของไทยไปยังตลาดอื่นๆ ส่วนการส่งออกข้าวนึ่ง ปลายข้าว และข้าวหอมมะลิในปี 2552 มีโอกาสในการขยายตลาดในแอฟริกา เนื่องจากเวียดนามไม่ได้เน้นการส่งออกข้าวนึ่งและปลายข้าว รวมทั้ง คู่แข่งสำคัญอีกประเทศหนึ่งของไทย คือ อินเดียก็งดส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบัสมาติ จึงนับเป็นโอกาสของไทย โดยเฉพาะการส่งออกข้าวนึ่ง ซึ่งตั้งแต่ช่วงต้นปีประเทศต่างๆในแอฟริกาชะลอการนำเข้าข้าวนึ่งจากไทย โดยรอข้าวนึ่งของอินเดีย เนื่องจากราคาข้าวนึ่งของไทยนั้นสูงกว่าอินเดีย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ต้องกังวล คือ การขยายการผลิตข้าวนึ่งของบรรดาโรงสีต่างๆในประเทศไทย เนื่องจากเกรงว่าในระยะยาวจะเกิดปัญหาผลผลิตข้าวนึ่งเกินความต้องการ อันเป็นผลมาจากข้าวนึ่งนั้นพึ่งพาตลาดส่งออกทั้งหมด รวมทั้งในขณะนี้มีกระแสข่าวว่าทั้งเวียดนามและจีนต่างก็หันมาขยายการผลิตข้าวนึ่งเช่นกัน ทำให้อาจจะเกิดปัญหาการแข่งขันรุนแรงมากขึ้นในตลาดส่งออกข้าวนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงปี 2553

ส่วนข้าวหอมมะลิในตลาดแอฟริกานั้น ในช่วงที่เหลือของปีนี้นับเป็นโอกาสของไทยในการขยายตลาด เนื่องจากที่ผ่านมาไทยต้องแข่งขันกับข้าวบัสมาติของอินเดีย แต่ในปีนี้ประเทศในแถบแอฟริกาหันมานำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากราคาข้าวบัสมาติของอินเดียอยู่ในเกณฑ์สูงมาก อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ต้องกังวลสำหรับการขยายตลาดข้าวหอมมะลิในอนาคตคือ กรณีที่ศูนย์วิจัยและค้นคว้าเกษตรกรรม มหาวิทยาลัยหลุยเซียนา ประเทศสหรัฐฯ ประกาศอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการค้นคว้าและพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ที่มีคุณภาพทัดเทียมกับข้าวหอมมะลิของไทย และตั้งชื่อคล้ายกันว่าแจสแมน(JAZZMAN) เพื่อแข่งขันกับข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งใช้ชื่อจัสมิน(JASMINE) แม้ว่าข้าวแจสแมนของสหรัฐฯ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการค้นคว้าและวิจัย ผลผลิตยังมีน้อยและยังไม่ออกสู่ตลาด แต่สิ่งที่ผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยต้องติดตามลักษณะของเมล็ด กลิ่น คุณภาพความเนียมนุ่มหลังหุงเสร็จว่าใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลิของไทยหรือไม่ รวมถึงราคาจัดจำหน่าย ทั้งนี้เพื่อประเมินสถานการณ์การแข่งขันของข้าวหอมมะลิของไทยในอนาคต

ตลาดข้าวไทยปี 2552…ช่วง 8 เดือนแรกหดตัว รอจังหวะส่งออกช่วงที่เหลือของปี
ภาวะส่งออกข้าวไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 หดตัวมากเป็นประวัติการณ์ กล่าวคือ มูลค่าการส่งออกข้าวเหลือเพียง 3,281.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วลดลงร้อยละ 29.5 โดยเฉพาะข้าวขาว ซึ่งเป็นข้าวที่ไทยส่งออกประมาณร้อยละ 20.0 ต้องเผชิญการแข่งขันอย่างรุนแรงกับเวียดนาม โดยเวียดนามแย่งสัดส่วนตลาดข้าวของไทยไปได้อย่างมาก เนื่องจากราคาข้าวส่งออกของไทยสูงกว่าเวียดนามตันละ 130-140 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ข้าวนึ่ง ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกประมาณร้อยละ 30.0 ประเทศต่างๆในแอฟริกาที่เป็นตลาดนำเข้าสำคัญก็ยังคงชะลอการนำเข้า แม้อินเดียหยุดส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบัสมาติมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2551 โดยรอดูท่าทีว่าอินเดียจะกลับเข้าตลาดเมื่อใด เนื่องจากราคาข้าวนึ่งของอินเดียถูกกว่าไทยประมาณ 60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน อย่างไรก็ตาม เมื่ออินเดียประกาศงดส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบัสมาติต่อไปจนถึงกลางปี 2553 เพราะประสบภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตข้าวลดลงมากเป็นประวัติการณ์ กล่าวคือ ผลผลิตข้าวในปีเพาะปลูก 2552/53 ที่คาดว่าจะมีปริมาณ 99 ล้านตัน ลดลงเหลือเพียง 82 ล้านตัน จึงทำให้ผู้นำเข้าข้าวนึ่งที่รอซื้อจากอินเดียหันมาสั่งซื้อจากผู้ส่งออกของไทย ส่วนเวียดนามคาดว่าจะชะลอการส่งออก หลังจากเวียดนามเร่งส่งออกข้าวในช่วงระยะ 2 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งการที่รัฐบาลเปลี่ยนมาตรการแทรกแซงตลาดจากมาตรการจำนำราคาเป็นมาตรการประกันราคา โดยชดเชยเงินให้กับเกษตรกรโดยตรง ราคาข้าวเป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น ซึ่งคาดว่าผู้ส่งออกข้าวขาวของไทยจะแข่งขันกับเวียดนามได้ดีขึ้น จึงทำให้คาดว่าการส่งออกข้าวในช่วงที่เหลือของปีนี้ไปจนถึงกลางปี 2553 สถานการณ์ส่งออกข้าวไทยมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น

ในช่วงต้นปี 2552 มีการตั้งเป้าส่งออกข้าวไว้ที่ประมาณ 8-8.5 ล้านตัน แต่คาดว่าปริมาณการส่งออกข้าวของไทยน่าจะเพิ่มขึ้นได้ถึง 9 ล้านตัน และปี 2553 จะส่งออกได้มากกว่า 10 ล้านตัน ซึ่งอาจจะทำลายสถิติปริมาณการส่งออกในปี 2551 ที่ส่งออกได้ 10 ล้านตัน เนื่องจากสามารถส่งออกแทนที่เวียดนาม โดยเฉพาะในตลาดแอฟริกา โดยข้าวนึ่งมาเป็นตัวนำตลาดในปี 2552-2553 ชดเชยข้าวขาวที่ถูกเวียดนามแย่งตลาดไป ทำให้ราคาข้าวเปลือกในประเทศไม่ตกลงมากนัก จากการที่ผู้ส่งออกกว้านซื้อข้าวเพื่อนำไปผลิตข้าวนึ่ง ปัจจุบันซื้อขายตันละประมาณ 9,500-10,000 บาท ต่ำกว่าราคารับจำนำประมาณตันละ 1,000 บาท ดังนั้น ตลาดที่ผู้ส่งออกข้าวของไทยต้องจับตามองคือ ตลาดแอฟริกา โดยคาดว่าสัดส่วนการส่งออกข้าวไปยังตลาดแอฟริกามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2552 ถึงกลางปี 2553

คาดการณ์ว่าในช่วงที่เหลือของปี 2552 ต่อเนื่องถึงกลางปี 2553 ภาวะการส่งออกข้าวมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นทั้งข้าวขาว และข้าวนึ่ง ส่วนข้าวประเภทอื่นๆที่น่าจับตามองคือ ข้าวเหนียว โดยเฉพาะการส่งออกไปยังจีน เนื่องจากคาดว่าจีนมีแนวโน้มความต้องการข้าวเหนียวเพิ่มขึ้น โดยในปี 2553 จีนมีการจัดงานเซี่ยงไฮ้เอ็กซ์โปในเดือนพฤษภาคม และงานเอเซียนเกมส์ในเดือนพฤศจิกายน รวมทั้งรัฐบาลจีนประกาศให้ปี 2553 เป็นปีท่องเที่ยวจีน

ตลาดข้าวในแอฟริกา…ผลิตข้าวไม่เพียงพอความต้องการบริโภค
จากข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ปริมาณการบริโภคข้าวในภูมิภาคแอฟริกามีแนวโน้มเติบโตเกือบ 7 เท่าตัวในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นเป็น 22.07 ล้านตันในปี 2552/53 จากที่เคยอยู่ในระดับ เพียง 3.0 ล้านตันในปี 2503 ในขณะที่ปริมาณการบริโภคข้าวของโลกนั้นมีแนวโน้มเติบโตเกือบ 1 เท่าตัวเท่านั้น

ในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมานี้ปริมาณการบริโภคข้าวของภูมิภาคแอฟริกาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 2.5 ต่อปี จาก 19.98 ล้านตันข้าวสารในปี 2548/49 เป็น 22.07 ล้านตันข้าวสารในปี 2552/53 ซึ่งอัตราเพิ่มขึ้นของการบริโภคข้าวในเขตแอฟริกาเหนืออยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าในเขตซับซาฮาร่าหรือบริเวณตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า กล่าวคือ ในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมาอัตราการบริโภคข้าวเฉลี่ยของแอฟริกาเหนืออยู่ในระดับร้อยละ 5.0 ในขณะที่เขตซับซาฮาร่าอยู่ในระดับ 2.0 เท่านั้น เมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตข้าวของภูมิภาคแอฟริกาแล้วจะเห็นได้ว่าแอฟริกายังผลิตข้าวได้ไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภค ทำให้ต้องพึ่งพิงการนำเข้า แม้ว่าอัตราการขยายตัวของปริมาณการผลิตข้าวของแอฟริกาเฉลี่ยในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมาจะอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะในเขตซับซาฮาร่าที่มีอัตราการขยายตัวของปริมาณการผลิตในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมาร้อยละ 4.5 ในขณะที่เขตแอฟริกาเหนืออยู่ในระดับร้อยละ 1.4 เท่านั้น

ดังนั้นเมื่อพิจารณาปริมาณการนำเข้าข้าวของภูมิภาคแอฟริกาแล้ว อัตราการขยายตัวของปริมาณการนำเข้าในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับเพียงร้อยละ 0.5 โดยคาดว่าในปี 2552/53 ปริมาณการนำเข้าเท่ากับ 7.8 ล้านตัน โดยปริมาณการนำเข้าข้าวของภูมิภาคแอฟริการ้อยละ 96.0 อยู่ในเขตซับซาฮาร่า อย่างไรก็ตาม ปริมาณการนำเข้าข้าวในเขตแอฟริกาเหนือนั้นมีอัตราการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าเขตซับซาฮาร่า กล่าวคือ อัตราการขยายตัวของปริมาณนำเข้าข้าวเฉลี่ย 5 ปีของเขตแอฟริกาเหนือสูงถึงร้อยละ 8.6 ในขณะที่เขตซับซาฮาร่าอยู่ในระดับร้อยละ 0.2 เท่านั้น

คาดการณ์กันว่าในระยะต่อไปภูมิภาคแอฟริกาจะเป็นภูมิภาคสำคัญในการผลักดันการบริโภคข้าวในตลาดโลก โดยภูมิภาคแอฟริกาบริโภคข้าวประมาณร้อยละ 5 ของปริมาณการผลิตข้าวทั้งโลก ในขณะที่ปริมาณการผลิตข้าวในแอฟริกาต่ำกว่าร้อยละ 3 ของโลก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนุนที่ทำให้ภูมิภาคแอฟริกาเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตของปริมาณการบริโภคข้าวที่รวดเร็วที่สุดในโลก ได้แก่

-การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ในช่วงระยะ 5 ทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนประชากรของภูมิภาคแอฟริกาเพิ่มขึ้น 2.7 เท่าตัว (จาก 289 ล้านคนในปี 2503 เป็น 943 ล้านคนในปี 2549) เมื่อเทียบกับประชากรโลกที่มีการขยายตัวเพียง 1.7 เท่าตัว(จาก 3,082 ล้านคนในปี 2503 เป็น 6,593 ล้านคนในปี 2549) คาดการณ์แนวโน้มประชากรของภูมิภาคแอฟริกาในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,270 ล้านคน หรือมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.3 ต่อปี ในขณะที่ประชากรของโลกในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นเป็น 7,656 ล้านคน หรือมีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.2 ต่อปี

-การขยายตัวของเขตเมือง(Urbanization) ในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวของเขตเมืองในภูมิภาคแอฟริกาสูงกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วโลก กล่าวคือ อัตราการขยายตัวของเขตเมืองในภูมิภาคแอฟริกานั้นสูงถึง 5 เท่าตัว ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 2 เท่าตัวเท่านั้น ซึ่งในภูมิภาคแอฟริกานั้นค่าสหสัมพันธ์(Correlation)ระหว่างการขยายตัวของเขตเมืองกับการบริโภคข้าวในภูมิภาคแอฟริกาเท่ากับ 0.996 คาดการณ์ว่าในปี 2573 อัตราการขยายตัวของเขตเมืองในภูมิภาคแอฟริกายังคงสูงถึงร้อยละ 65 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกที่อยู่ในระดับเพียงร้อยละ 28 เท่านั้น

จากปัจจัยหนุนการขยายตัวของปริมาณการบริโภคข้าวในแอฟริกา คาดการณ์ว่าปริมาณการบริโภคข้าวของภูมิภาคแอฟริกาจะเพิ่มขึ้นอีก 38 ล้านตันในปี 2563 ในขณะที่คาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตข้าวของแอฟริกาจะอยู่ในระดับเพียง 20.5 ล้านตันเท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่าในปี 2563 ภูมิภาคแอฟริกาจะต้องนำเข้าข้าวประมาณ 17.5 ล้านตัน นับเป็นโอกาสของบรรดาประเทศผู้ส่งออกข้าวที่จะส่งออกข้าวไปยังภูมิภาคแอฟริกา

การส่งออกข้าวไทยไปยังแอฟริกา…ข้าวนึ่ง ปลายข้าว และข้าวหอมมะลิมีโอกาสขยายตัว
ทวีปแอฟริกาถือเป็นตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทย โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 มูลค่าการส่งออกไปยังทวีปแอฟริกา 1,590.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วหดตัวร้อยละ 16.3 โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 48.5 ของมูลค่าการส่งออกข้าวทั้งหมดของไทย ประเภทข้าวที่ไทยส่งออกไปยังทวีปแอฟริกาแยกออกได้เป็น ข้าวนึ่งร้อยละ 48.5 ข้าวขาวร้อยละ 22.2 ปลายข้าวร้อยละ 17.5 ข้าวหอมมะลิร้อยละ 11.3 และข้าวกล้องร้อยละ 0.5 โดยการส่งออกข้าวขาวไปยังตลาดแอฟริกานั้นไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากเวียดนามเช่นเดียวกับตลาดอื่นๆ ส่วนข้าวนึ่ง ปลายข้าว และข้าวหอมมะลิในปี 2552 มีโอกาสในการขยายตลาด เนื่องจากเวียดนามไม่ได้เน้นการส่งออกข้าวนึ่งและปลายข้าว รวมทั้งคู่แข่งสำคัญอย่างอินเดียยังงดส่งออกอีกด้วย สำหรับข้าวนึ่งในช่วง 8 เดือนแรกประเทศต่างๆในแอฟริกาชะลอการนำเข้า เนื่องจากรอดูท่าทีของอินเดียที่คาดการณ์ว่าจะกลับมาส่งออกข้าวนึ่งอีกครั้ง แต่เมื่ออินเดียประกาศชัดเจนว่าจะไม่ส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบัสมาติ ทำให้คาดว่าการส่งออกข้าวนึ่งของไทยจะกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้งตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ไปจนถึงกลางปีหน้า ซึ่งต้องรอดูผลผลิตข้าวกลางปีของอินเดียอีกครั้งว่าอินเดียจะเปลี่ยนแปลงนโยบายการส่งออกหรือไม่ แต่ก็ยังต้องกังวลในเรื่องการแข่งขันจากเวียดนามและจีนที่เริ่มขยายการผลิตข้าวนึ่งเพื่อส่งออกเช่นกัน ส่วนข้าวหอมมะลินั้นไทยต้องแข่งขันกับข้าวบัสมาติของอินเดีย แต่ในปี 2552 นี้ราคาข้าวบัสมาติของอินเดียอยู่ในเกณฑ์สูงมาก ทำให้ประเทศต่างๆในแอฟริกาหันมานำเข้าข้าวจากไทย

-แอฟริกาตะวันตก ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 มูลค่าการส่งออกข้าวไปยังประเทศแถบแอฟริกาตะวันตกเท่ากับ 1,106.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วหดตัวร้อยละ 19.4 อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการส่งออกข้าวไปยังตลาดกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันตกนั้นสูงถึงร้อยละ 71.1 ประเทศที่เป็นลูกค้านำเข้าข้าวของไทยที่สำคัญ โดยมีอัตราการขยายตัวของการส่งออกในเกณฑ์สูง คือ ไนจีเรีย(ขยายตัวร้อยละ 53.2) เซเนกัล(ร้อยละ 52.0) มาลี(ร้อยละ 33.2) และมอริเตเนีย(ร้อยละ 177.1) อย่างไรก็ตาม การส่งออกข้าวไปยังบางประเทศในตลาดกลุ่มนี้ก็ลดลง โดยเฉพาะ เบนิน กินี กานา โตโก และเซียร์ราลีโอน ประเภทของข้าวที่ไทยส่งออกไปยังกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันตก คือ ข้าวนึ่ง ข้าวหอมมะลิ ปลายข้าวโดยเฉพาะปลายข้าวหอมมะลิ และข้าวขาว โดยประเภทข้าวที่ยังมีแนวโน้มส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง คือ ข้าวนึ่ง ข้าวหอมมะลิ และปลายข้าวหอมมะลิ

-แอฟริกาใต้ ตลาดกลุ่มประเทศแอฟริกาใต้นี้นับว่าเป็นตลาดกลุ่มเดียวที่มูลค่าการส่งออกข้าวยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 มูลค่าการส่งออกข้าวไปยังตลาดแอฟริกาใต้ 255.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 โดยตลาดที่ส่งออกข้าวเกือบทั้งหมดคือ ประเทศแอฟริกาใต้ แม้ว่าการส่งออกไปยังนามิเบียจะหดตัว แต่ปริมาณการส่งออกข้าวไปยังไม่มากนัก ส่วนประเทศอื่นๆในแถบแอฟริกาใต้คือ บอสวา-นา เลโซโท และสวาซิแลนด์ยังไม่มีการนำเข้าข้าวจากไทย ประเภทข้าวที่ส่งออกไปยังประเทศแถบแอฟริกาใต้ คือ ข้าวนึ่ง และข้าวขาว ประเด็นที่น่าสนใจคือ การส่งออกข้าวขาวไปยังประเทศในแถบนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน กล่าวคือ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2552 การส่งออกข้าวขาวของไทยขยายตัวถึง 15.8 เท่าตัว แม้ว่าปัจจุบันปริมาณการส่งออกข้าวขาวไปยังประเทศแถบนี้ยังไม่มากเท่ากับข้าวนึ่ง แต่ก็นับว่าเป็นแนวโน้มการขยายตัวของตลาดข้าวขาวที่น่าจับตามอง นอกจากนี้ โอกาสในการขยายตลาดข้าวหอมมะลิในตลาดแถบนี้ก็ยังเปิดกว้างทั้งความนิยมบริโภคข้าวหอมมะลิของคนในประเทศแถบนี้ และนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในแถบนี้

-แอฟริกากลาง ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 มูลค่าการส่งออกข้าวไปยังประเทศกลุ่มแอฟริกากลางเท่ากับ 126.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วหดตัวร้อยละ 5.8 โดยเฉพาะการลดการนำเข้าของประเทศแคเมอรูน อังโกลา และกาบอง อย่างไรก็ตาม ประเทศในกลุ่มแอฟริกากลางนี้ที่ยังเพิ่มการนำเข้าข้าวจากไทย คือ คองโก(ร้อยละ 35.9) และอิเควทอเรียกินี( 13.4 เท่าตัว) ประเภทข้าวที่ไทยส่งออกไปยังประเทศแถบแอฟริกากลางส่วนใหญ่จะเป็นข้าวขาว ข้าวหอมมะลิ และข้าวนึ่ง นับว่าเป็นตลาดส่งออกข้าวขาว และข้าวหอมมะลิที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกข้าวของไทยในอนาคต

-แอฟริกาตะวันออก ประเทศในกลุ่มแอฟริกาตะวันออกมีอยู่ด้วยกันถึง 19 ประเทศ ซึ่งถือว่ามากที่สุดในกลุ่มประเทศในเขตต่างๆของแอฟริกา ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 มูลค่าการส่งออกข้าวไปยังประเทศกลุ่มแอฟริกาตะวันออกเท่ากับ 89.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วหดตัวร้อยละ 19.0 เนื่องจากประเทศโมซัมบิก ซึ่งเป็นประเทศที่นำเข้าข้าวจากไทยมากที่สุดลดการนำเข้า อย่างไรก็ตาม ประเทศในกลุ่มแอฟริกาตะวันออกที่ยังเพิ่มการนำเข้าข้าวจากไทย คือ จูบิติ(3.8 เท่าตัว) คอโมรอส(1.8 เท่าตัว) และเคนยา(1.8 เท่าตัว) แม้ว่าในปัจจุบันประเทศเหล่านี้ยังมีปริมาณการนำเข้าข้าวจากไทยไม่มากนัก แต่อัตราการขยายตัวของการนำเข้าข้าวแล้วยังเป็นโอกาสของผู้ส่งออกข้าวของไทยในการเจาะขยายตลาดเพิ่มขึ้น ประเด็นที่น่าสนใจของกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันออก คือ อัตราการขยายตัวของข้าวขาวเกรดต่ำ(ข้าวขาวต่ำว่า 35%)มีอัตราการขยายตัวในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2552 ถึง 232.5 เท่าตัว ส่วนข้าวนึ่งก็มีอัตราการขยายตัวถึง 1.1 เท่าตัว

-แอฟริกาเหนือ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 มูลค่าการส่งออกข้าวไปยังประเทศกลุ่มแอฟริกาเหนือเท่ากับ 12.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วหดตัวถึงร้อยละ 79.9 ซึ่งกลุ่มประเทศแถบแอฟริกาเหนือนั้น ผู้ส่งออกข้าวของไทยเข้าไปเจาะขยายตลาดค่อนข้างน้อย และเป็นตลาดข้าวที่ในปี 2552 มีอัตราการหดตัวมากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศแอฟริกาในเขตอื่นๆ อันเป็นผลมาจากการลดการนำเข้าข้าวของประเทศลิเบีย และแอลจีเรีย ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวสำคัญของกลุ่มประเทศแอฟริกาเหนือ อย่างไรก็ตาม ประเทศในกลุ่มแอฟริกาเหนือที่เป็นความหวังในการขยายตลาดข้าวของไทย คือ ตูนิเซีย(อัตราการขยายตัว 2.6 เท่าตัว) และอียิปต์(ร้อยละ 75.9) ประเภทของข้าวที่ส่งออกไปยังกลุ่มประเทศแอฟริกาเหนือส่วนใหญ่เป็นข้าวนึ่ง และมีข้าวขาวไม่มากนัก ประเด็นที่น่าสนใจคือ ข้าวหอมมะลิของไทยเริ่มเป็นที่นิยมในตลาดแถบนี้ ซึ่งผู้ส่งออกข้าวของไทยน่าจะเข้าไปศึกษาตลาดเพื่อเจาะขยายตลาดข้าวหอมมะลิในอนาคต

บทสรุป
แม้ว่าการส่งออกข้าวในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 เผชิญกับภาวะยากลำบาก เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงจากเวียดนาม ซึ่งเวียดนามสามารถแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดข้าวจากไทยไปได้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะตลาดข้าวขาว อันเป็นผลมาจากราคาข้าวของเวียดนามต่ำกว่าไทยเฉลี่ยตันละ 130-140 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการส่งออกข้าวนึ่งก็มีแนวโน้มหดตัวเช่นกัน โดยประเทศผู้นำเข้าโดยเฉพาะประเทศในแถบแอฟริกาต่างรอข้าวนึ่งของอินเดียที่ราคาถูกกว่าข้าวนึ่งไทยประมาณ 60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน อย่างไรก็ตาม หลังจากที่อินเดียประกาศงดส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบัสมาติต่อไปในเดือนกันยายน 2552 ทำให้ประเทศผู้นำเข้าในแถบแอฟริกาต่างหันมานำเข้าข้าวนึ่งจากไทย นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าการเปลี่ยนมาตรการแทรกแซงตลาดของรัฐบาลจากมาตรการรับจำนำมาเป็นมาตรการประกันราคา ส่งผลให้ราคาข้าวส่งออกของไทยจะสามารถแข่งขันกับเวียดนามได้ดีขึ้น ดังนั้น การส่งออกข้าวของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2552 ต่อเนื่องถึงกลางปี 2553 น่าจะมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น โดยข้าวนึ่งจะมีเป็นพระเอกในการส่งออกแทนข้าวขาว รวมทั้ง คาดการณ์ว่าไทยมีโอกาสขยายตลาดส่งออกข้าวเหนียวไปยังตลาดจีนเพิ่มขึ้น

การส่งออกข้าวของไทยไปยังตลาดในทวีปแอฟริกามีโอกาสขยายตัวอย่างมาก โดยเฉพาะการขยายตลาดข้าวนึ่งเข้าไปแทนที่อินเดียที่ประกาศงดส่งออกข้าวขาว(ข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ) โดยเฉพาะในช่วงที่เหลือของปี 2552 ไปจนถึงกลางปีหน้า อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องกังวลคือ การแข่งขันจากเวียดนาม ถ้าเวียดนามหันมาเจาะขยายตลาดทวีปแอฟริกาเช่นกัน

นอกจากนี้ การที่ปริมาณการผลิตข้าวของอินเดียลดลงมากเป็นประวัติการณ์นั้น ส่งผลให้ข้าวบัสมาติที่อินเดียยังส่งออกนั้นมีราคาอยู่ในเกณฑ์สูง จึงเป็นโอกาสของการส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยไปยังตลาดในแอฟริกาที่เคยนำเข้าข้าวบัสมาติจากอินเดีย ส่วนการส่งออกปลายข้าวไปยังแอฟริกาก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ ผู้ส่งออกข้าวของไทยยังมีโอกาสในการขยายการส่งออกปลายข้าว ซึ่งตลาดปลายข้าวนี้ ไทยไม่ต้องเผชิญการแข่งขันกับเวียดนาม เนื่องจากในแต่ละปีเวียดนามส่งออกปลายข้าวน้อยมาก

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาแยกตามกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกาแล้วจะเห็นได้ว่าผู้ส่งออกข้าวของไทยยังมีโอกาสในการเจาะขยายตลาดข้าวได้อีกมาก แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าผู้ส่งออกข้าวต้องเข้าไปศึกษาพฤติกรรมและรสนิยมการบริโภคข้าวของแต่ละประเทศ ซึ่งจะทำให้โอกาสในการประสบความสำเร็จในการเจาะขยายตลาดเพิ่มขึ้น โดยในปี 2553 จีนมีการจัดงานเซี่ยงไฮ้เอ็กซ์โปในเดือนพฤษภาคม และงานเอเซียนเกมส์ในเดือนพฤศจิกายน รวมทั้งรัฐบาลจีนประกาศให้ปี 2553 เป็นปีท่องเที่ยวจีน

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ยังต้องกังวลในการขยายตลาดข้าวนึ่ง คือ โรงสีข้าวของไทยต่างเร่งขยายกำลังการผลิตข้าวนึ่ง ทำให้เกรงว่าในอนาคตจะเกิดปัญหาข้าวนึ่งล้นตลาด ถ้าในช่วงกลางปี 2553 อินเดียกลับมาส่งออกข้าวนึ่งได้อีกครั้ง รวมทั้ง เวียดนามและจีนเริ่มหันมาขยายการผลิตข้าวนึ่งเช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากผลผลิตข้าวนึ่งทั้งหมดนั้นพึ่งพิงตลาดส่งออก และการขยายตลาดข้าวนึ่งคุณภาพดีเพื่อการส่งออกไปยังตลาดยุโรปนั้นก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนข้าวหอมมะลินั้น ยังต้องติดตามข้าวพันธุ์ใหม่ของสหรัฐฯคือ แจสแมน(JAZZMAN) ที่คิดค้นมาเพื่อแข่งขันกับข้าวหอมมะลิไทย แม้ว่าข้าวแจสแมนของสหรัฐฯ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการค้นคว้าและวิจัย ผลผลิตยังมีน้อยและยังไม่ออกสู่ตลาด แต่สิ่งที่ผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยต้องติดตามลักษณะของเมล็ด กลิ่น คุณภาพความเนียมนุ่มหลังหุงเสร็จว่าใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลิของไทยหรือไม่ รวมถึงราคาจัดจำหน่าย ทั้งนี้เพื่อประเมินสถานการณ์การแข่งขันของข้าวหอมมะลิของไทยในอนาคต เนื่องจากปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ที่อยู่ในเกณฑ์สูง ทำให้มีแนวโน้มเป็นไปได้ว่าราคาจำหน่ายจะต่ำกว่าข้าวหอมมะลิของไทย ซึ่งจะส่งผลในการแข่งขันในตลาดข้าวหอมในอนาคต