ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ไทย1ประกาศผลประกอบการไตรมาส 3/2552 ที่ออกมาใกล้เคียงกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยมีกำไรสุทธิตามงบการเงินรวม จำนวน 2.58 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และร้อยละ 18.5 จากไตรมาส 2/2552 (QoQ) เช่นเดียวกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ขยับขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 3.35 ในไตรมาส 2/2552 มาที่ร้อยละ 3.45 ถึงแม้ว่าสินเชื่อในไตรมาส 3/2552 จะยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่องจากช่วงครึ่งแรกของปีก็ตาม
กำไรสุทธิที่เติบโตขึ้นในไตรมาส 3/2552 ที่ผ่านมา…สะท้อนการปรับตัวของแบงก์มากกว่าเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว
เมื่อพิจารณาในรายละเอียด จะพบว่ากำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่เพิ่มขึ้นจากทั้งไตรมาสก่อนหน้าและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนนั้น น่าจะสะท้อนความพยายามในการปรับตัว เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ย มากกว่าที่จะได้รับอานิสงส์จากสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เริ่มชัดเจนขึ้นในไตรมาส 3/2552 เนื่องจากธุรกิจหลักอย่างการปล่อยสินเชื่อสุทธิยังคงหดตัวจากไตรมาสก่อนหน้า
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2552 (Quarter-on-Quarter) นั้น กำไรสุทธิของไตรมาส 3/2552 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.5 หรือ 4.03 พันล้านบาท เป็นผลมาจาก
การกันสำรองหนี้เสียที่ลดลงถึง 6.5 พันล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนผลของการเปลี่ยนแปลงวิธีการตั้งสำรองของธนาคารพาณิชย์บางแห่ง รวมถึงปริมาณการกันสำรองหนี้เสียที่ลดลง หลังจากที่นโยบายบริหารคุณภาพสินทรัพย์ในลักษณะอนุรักษ์นิยมในช่วงที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จในการควบคุมการปรับขึ้นของปริมาณเอ็นพีแอล ดังจะเห็นได้จากเอ็นพีแอล2ของไตรมาส 3/2552 ที่มีจำนวน 3.87 แสนล้านบาท (5.72% ของสินเชื่อรวม) ใกล้เคียงกับของไตรมาส 2/2552 ที่มีจำนวน 3.86 แสนล้านบาท (5.76% ของสินเชื่อรวม)
รายได้ดอกเบี้ยสุทธิได้ปรับตัวสูงขึ้น หลังจากที่ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยได้ปรับตัวลดลงมากกว่าการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลรับ ตามปริมาณเงินฝากที่ลดลงและการทยอยรับรู้ต้นทุนเงินฝากเฉลี่ยประเภท 3 เดือน 6 เดือน และ 24 เดือนที่ลดลงจากการปรับลดของอัตราดอกเบี้ยประเภทดังกล่าวเฉลี่ยในไตรมาส 2/2552 ไตรมาส 1/2552 และไตรมาส 3/2550 ตามลำดับ ขณะที่ รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลที่ลดลง ส่วนหนึ่งสะท้อนผลของการหดตัวของสินเชื่อจากไตรมาสก่อนหน้า และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยของไตรมาส 3/2552 ที่ต่ำกว่าของไตรมาส 2/2552 เล็กน้อย (เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไทยส่วนใหญ่ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในช่วงกลางไตรมาส 2/2552) ซึ่งการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อดังกล่าวบางส่วน ถูกชดเชยด้วยเงินปันผลจากการลงทุนในกองทุนรวมวายุภักษ์ในไตรมาสนี้
รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น นำโดยรายได้ค่าธรรมเนียมที่ขยายตัวร้อยละ 8.4 จากไตรมาสก่อนหน้า อันคาดว่าจะเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของค่าธรรมเนียมจากธุรกิจนายหน้าประกันภัยผ่านธนาคาร (Bancassurance) ธุรกิจบัตรเครดิต (สอดคล้องกับจำนวนบัตรเครดิตและการใช้จ่ายเฉลี่ยของไตรมาส3ที่สูงขึ้น) บัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต และธนาคารทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ตามการรุกตลาดของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน อาทิ บริการให้คำปรึกษาและรับประกันการจำหน่ายหุ้นกู้เอกชนที่ยังคงออกมาค่อนข้างหนาตาในช่วงระหว่างไตรมาสด้วย นอกจากนี้ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ยังเป็นผลมาจากการเติบโตของกำไรจากการปริวรรต หลังจากที่ได้ปรับตัวลดลงในไตรมาส 2/2552 ที่ผ่านมา และรายได้จากการรับประกันภัยของบริษัทในเครือที่ถีบตัวสูงขึ้นมากจากไตรมาสก่อนหน้า ตลอดจนรายการพิเศษอย่างกำไรจากการจำหน่ายทรัพย์สินรอการขาย กำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์ หนี้สูญรับคืน หรือกำไรจากการเข้าซื้อกิจการ เป็นต้น
ความพยายามในการเพิ่มรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ซึ่งมีความสำคัญรองลงมาจากรายได้ดอกเบี้ยดังกล่าว ได้ส่งผลให้สัดส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 30.8 ในไตรมาส 2/2552 มาที่ร้อยละ 31.9 ในไตรมาส 3/2552 สวนทางกับรายได้หลักอย่างรายได้ดอกเบี้ยที่ลดความสำคัญลงมาที่ร้อยละ 68.1 จากร้อยละ 69.2 ในไตรมาส 2/2552
เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2551 (Year-on-Year) นั้น กำไรสุทธิของไตรมาส 3/2552 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 หรือ 1.98 พันล้านบาท เป็นผลมาจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ทั้งนี้ แม้ว่าค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้น แต่ก็สามารถชดเชยด้วยรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิที่เติบโตมากกว่า โดยเมื่อพิจารณาในรายละเอียด พบว่ารายการหลักๆ ของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ล้วนแต่ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรายได้ค่าธรรมเนียมรับ (ขยายตัวร้อยละ 15.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน) กำไรจากการปริวรรต กำไรจากเงินลงทุน (หลังจากที่ในไตรมาส 3/2551 ธนาคารพาณิชย์ประสบผลขาดทุนจากเงินลงทุนในตราสารหนี้ประเภท CDO จากปัญหาซับไพร์มในสหรัฐฯ) และรายได้จากการรับประกันภัย
อย่างไรก็ตาม รายได้ดอกเบี้ยสุทธิซึ่งสะท้อนธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์นั้น กลับลดความสดใสลง โดยหดตัวร้อยละ 3 จากปีก่อน คิดเป็นการลดลงจำนวนประมาณ 2.1 พันล้านบาท ตามอิทธิพลของการหดตัวของสินเชื่อ (ขณะที่เงินฝากเพิ่มขึ้น) และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่ธนาคารพาณิชย์ยังไม่สามารถทยอยรับรู้ผลต่อต้นทุนอย่างเต็มที่ในทันที ในทำนองเดียวกัน ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยก็ขยับลดลงชัดเจนจากร้อยละ 3.75 ในไตรมาส 3/2551 มาเหลือเพียงร้อยละ 3.45 ในไตรมาส 3/2552 อันยังคงตอกย้ำถึงผลกระทบจากการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อเนื่องมายังธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการกันสำรองก็ยังปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนด้วย
แนวโน้มธุรกิจแบงก์ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 … ยังเผชิญหลากปัจจัยที่ไม่แน่นอน
สำหรับแนวโน้มธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 นั้น แม้หลายฝ่ายจะมีมุมมองว่าทิศทางความสามารถในการทำกำไรน่าจะปรับตัวดีขึ้น แต่ปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงมีอยู่ อาจมีผลในการลดทอนความสดใสของความสามารถในการทำกำไรในระยะอันใกล้ได้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีข้อสังเกตที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว ดังนี้
แนวโน้มสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการลงทุนของภาคธุรกิจ ยังขึ้นกับทิศทางของเศรษฐกิจ แม้สัญญาณบวกทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นเมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2552 จะผลักดันให้ภาคการส่งออกของไทยปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2552 เป็นต้นมา และน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ซึ่งหมายความถึงความต้องการสินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital Loans) จากภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ที่สูงขึ้นตามไปด้วย เช่นเดียวกับความต้องการสินเชื่อรายย่อยที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่คงจะปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ความต้องการสินเชื่อประเภท Term Loans ที่ใช้ในการลงทุนอาจยังผันแปรตามความต่อเนื่องและระดับโมเมนตัมของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ซึ่งในกรณีที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีความชัดเจนและต่อเนื่องจริง ก็คงจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ จนนำมาสู่การตัดสินใจขยายการลงทุน และความต้องการสินเชื่อเพื่อการลงทุนจากธนาคารพาณิชย์ได้
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่แนวโน้มเศรษฐกิจ ยังเผชิญความเสี่ยงหลากหลายประการดังเช่นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก (หลังผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของบางประเทศเริ่มแผ่วลงไป) ปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ รวมถึงปัญหาความไม่ชัดเจนเกี่ยวข้องกับ 76 โครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดนั้น แนวโน้มความต้องการสินเชื่อเพื่อการลงทุนดังกล่าวของภาคธุรกิจ ก็อาจถูกเลื่อนออกไป อันอาจทำให้แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อในไตรมาสสุดท้ายของปี ไม่ได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างที่เดิมคาดหวังเอาไว้ โดยยอดสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นปี 2552 อาจหดตัว หรือไม่เปลี่ยนแปลงจากสิ้นปีก่อน (YoY)
นอกจากนี้ ยังต้องจับตาการแข่งขันระดมเงินฝากที่อาจเข้มข้นขึ้น และผลตอบแทนจากสภาพคล่องที่อาจยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งอาจกดดันส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า โดยในไตรมาสสุดท้ายของทุกปี มักเป็นช่วงที่การแข่งขันระหว่างเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ กับช่องทางการออมและลงทุนประเภทอื่นๆ จะทวีความเข้มข้นขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลของการลงทุนเพื่อแสวงหาประโยชน์ด้านการลดหย่อนภาษี อาทิ การลงทุนในกองทุน LTF และ RMF รวมถึงประกัน ประกอบกับจะมีการออกพันธบัตรออมทรัพย์เพิ่มเติมด้วย
ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าว ประกอบกับ การแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์ที่รุนแรง ก็อาจกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งทยอยออกผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษ หรือตั๋วแลกเงิน เพื่อตรึงฐานเงินฝากและสภาพคล่องไว้ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อต้นทุนของเงินทุนของธนาคารพาณิชย์ในช่วงไตรมาส 4/2552 โดยจะขึ้นกับปริมาณเงินฝากที่ระดมได้และความรุนแรงของการแข่งขันด้านราคา ขณะที่ สภาพคล่องส่วนเกินที่มีอยู่เป็นจำนวนมากนั้น ก็น่าจะที่ยังคงให้ผลตอบแทนในอัตราที่ต่ำต่อเนื่องจากช่วงก่อนหน้า ตราบใดที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ท้ายที่สุดแล้ว อาจส่งผลต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในไตรมาส 4/2552
ทั้งนี้ทั้งนั้น ความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจที่อาจยังมีอิทธิพลเชิงลบต่อสินเชื่อเพื่อการลงทุนของภาคธุรกิจ ผนวกกับผลกระทบจากการแข่งขันด้านเงินฝากที่น่าจะทวีความเข้มข้นขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ดังกล่าว คาดว่าจะลดทอนผลบวกจากการทยอยครบกำหนดของเงินฝากประจำ (ประเภท 6 และ 12 เดือน อันเป็นผลจากการลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำดังกล่าวในช่วงก่อนหน้า) ที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถรับรู้ต้นทุนเงินฝากประจำที่ลดลงได้ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ก็อาจทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ของธนาคารพาณิชย์ไทยอาจจะไม่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) มากอย่างที่เห็นในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา โดยสำหรับทั้งปี 2552 นั้น ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยอาจอยู่ในกรอบประมาณร้อยละ 3.34-3.37 ซึ่งลดลงค่อนข้างมากจากร้อยละ 3.62 ในปี 2551 สอดคล้องกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ
การพึ่งพิงรายได้ค่าธรรมเนียมยังคงมีความจำเป็น ภายใต้มุมมองที่การเพิ่มรายได้ดอกเบี้ยสุทธิยังเผชิญข้อจำกัดต่างๆ ดังกล่าว ทำให้การประคับประคองผลประกอบการในภาพรวม ยังต้องอาศัยตัวช่วยที่สำคัญอย่างรายได้ค่าธรรมเนียม ซึ่งก็น่าจะยังคงสามารถรักษาการเติบโตจากไตรมาสก่อนในอัตราที่เข้าใกล้ระดับทศนิยมสองตำแหน่งได้ โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจ Bancassurance ตามฤดูกาลลงทุนในประกันเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี และค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบัตรพลาสติก ที่น่าจะได้รับประโยชน์จากเทศกาลการใช้จ่ายในช่วงปลายปี กระนั้นก็ดี ภาพรวมของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในไตรมาส 4/2552 อาจได้รับผลกระทบ หากรายการพิเศษที่ปรากฏขึ้นในไตรมาส 3/2552 ขาดความต่อเนื่อง อาทิ กำไรจากการจำหน่ายทรัพย์สินรอการขาย หรือสินทรัพย์อื่นๆ
ปัญหาคุณภาพหนี้คงจะต้องได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเอ็นพีแอลมักเป็นตัวแปรตาม (Lagging Indicators) ที่จะเปลี่ยนแปลงตามหลังการปรับตัวทางเศรษฐกิจ นั่นคือ แม้ว่าเศรษฐกิจในภาพรวมจะเริ่มฟื้นตัวขึ้น แต่ก็ยังไม่น่าจะมีผลดีต่อคุณภาพหนี้ในทันที ขณะที่ ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจในบางภาคส่วน อาจยังคงเผชิญความยากลำบากจากปัญหาสภาพคล่องและพิษวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 อยู่ ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์จึงอาจยังมีความจำเป็นจะต้องจับตาและบริหารคุณภาพหนี้อย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันก็อาจยังต้องติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดและการดำเนินการของภาครัฐเกี่ยวกับกรณี 76 โครงการมาบตาพุด ว่าจะส่งผลกระทบต่อสินเชื่อที่ให้กับโครงการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดดังกล่าวประมาณ 9 หมื่นล้านบาท4 หรือไม่
โดยสรุปแล้ว ในไตรมาส 3/2552 ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ไทย 12 แห่งรายงานผลกำไรสุทธิ (ก่อนสอบทาน ตามงบการเงินรวม) จำนวน 2.58 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และร้อยละ 18.5 จากไตรมาส 2/2552 ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ก็ขยับขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 3.35 ในไตรมาส 2/2552 มาที่ร้อยละ 3.45
แม้ฐานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ไทยจะปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้ว จะพบว่ามีสาเหตุมาจากความพยายามในการปรับตัว เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการกันสำรองหนี้เสียที่ลดลง หลังจากที่นโยบายบริหารคุณภาพสินทรัพย์ในลักษณะอนุรักษ์นิยมในช่วงที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จในการควบคุมการปรับขึ้นของปริมาณเอ็นพีแอล รวมทั้งจากการทยอยรับรู้ต้นทุนเงินฝากเฉลี่ยที่ลดลงจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงก่อนหน้านี้ และการเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม เพื่อชดเชยรายได้หลักที่ชะลอลง ขณะที่ อานิสงส์จากสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เริ่มชัดเจนขึ้นในช่วงไตรมาส 3/2552 ยังไม่ได้ส่งผลดีต่อธุรกิจหลักอย่างการปล่อยสินเชื่อในไตรมาสนี้ ดังจะเห็นได้จากสินเชื่อที่ยังคงหดตัวจากไตรมาสก่อนหน้า
สำหรับแนวโน้มธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 นั้น คาดว่าจะยังคงขึ้นกับทิศทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อเพื่อการลงทุนของภาคธุรกิจ ซึ่งจะเพิ่มขึ้นได้ก็ต่อเมื่อความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นภาคธุรกิจต่างๆ คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ รวมถึงปัญหาความไม่ชัดเจนเกี่ยวข้องกับ 76 โครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นอกจากนี้ ยังต้องจับตาการแข่งขันระดมเงินฝากที่อาจเข้มข้นขึ้นในช่วงปลายปี (เนื่องจากเงินฝากจะเผชิญการแข่งขันกับทางเลือกในการออมอื่นๆ ที่สูงขึ้น อาทิ ฤดูกาลลงทุนในกองทุน LTF และ RMF รวมถึงประกัน เพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี) ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อทั้งต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่คาดว่าอัตราผลตอบแทนของสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์น่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องจากช่วงก่อนหน้า ตราบใดที่ ธปท.ยังไม่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งปริมาณสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูงแต่กลับสร้างผลตอบแทนต่ำนี้ อาจกลายเป็นปัจจัยที่จำกัดโอกาสการเติบโตของความสามารถในการทำกำไรในภาพรวมได้ ปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว อาจทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ของธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี อาจจะไม่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) มากอย่างที่เห็นในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสำหรับทั้งปี 2552 นั้น คาดว่าจะอยู่ในกรอบประมาณร้อยละ 3.34-3.37 ซึ่งลดลงค่อนข้างมากจากร้อยละ 3.62 ในปี 2551 สอดคล้องกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ
ภายใต้มุมมองที่การเพิ่มรายได้ดอกเบี้ยสุทธิยังเผชิญข้อจำกัดต่างๆ ดังกล่าว ทำให้การประคับประคองผลประกอบการในภาพรวม ยังต้องอาศัยตัวช่วยที่สำคัญอย่างรายได้ค่าธรรมเนียม ขณะที่ ธนาคารพาณิชย์ยังมีความจำเป็นจะต้องติดตามคุณภาพหนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเอ็นพีแอลมักเป็นตัวแปรตามหลังเศรษฐกิจ (Lagging Indicator) ทำให้อาจยังไม่ได้รับอานิสงส์ในเชิงบวกจากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นในทันที อีกทั้ง ยังมีความไม่แน่นอนจากคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดและการดำเนินการของภาครัฐเกี่ยวกับกรณี 76 โครงการมาบตาพุด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสินเชื่อของธนาคารได้