กรุงเทพฯ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2552 – บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ฟื้นตัวจากผลกระทบของฤดูกาลในไตรมาส 2 รายได้จากการให้บริการและ EBITDA ของกลุ่มทรู เติบโตต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทรูมูฟยังมีผลประกอบการเพิ่มขึ้นอย่างมั่นคง เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ ผ่านมาและปีก่อนหน้า ขณะเดียวกัน การออกหุ้นกู้สกุลเงินบาทได้รับการตอบสนองจากตลาดดีมาก ส่งผลให้ความน่าเชื่อถือทางการเงินของกลุ่มทรูปรับตัวดีขึ้น
รายได้จากการให้บริการโดยรวม (ไม่รวมค่าเชื่อมโยงโครงข่าย หรือ IC) ของกลุ่มทรู ในไตรมาสนี้ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.4 จากไตรมาสที่ผ่านมา เป็น 13 พันล้านบาท เนื่องจากการเติบโตของทรูมูฟและทรูวิชั่นส์หลัง การปรับตัวดีขึ้นตามฤดูกาล ทำให้ EBITDA (กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดจ่าย) โดยรวมเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 0.9 เป็น 4.8 พันล้านบาท หลังหักรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในไตรมาส 2 ที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายด้านคอนเทนท์ของทรูวิชั่นส์ หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า รายได้จากการให้บริการโดยรวม (ไม่รวมค่า IC) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เนื่องจากการเติบโตของทรูมูฟและทรูออนไลน์ นอกจากนี้ EBITDA โดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 เนื่องจากรายได้จากการให้บริการที่เพิ่มขึ้น และความสำเร็จในการควบคุมรายจ่ายค่า IC สุทธิได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ทรูรายงานผลกำไรสุทธิจำนวน 123 ล้านบาท ในไตรมาส 3
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร กล่าวว่า “ในไตรมาส 3 กลุ่มทรูมีความก้าวหน้าในหลายๆ ด้าน โดยผลประกอบการของทรูมูฟปรับตัวดีขึ้นมาก จากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของบริการที่ไม่ใช่เสียง (Non-voice) ในขณะที่บริการโทรศัพท์ข้ามแดนระหว่างประเทศ (International Roaming – IR) เริ่มฟื้นตัว รวมทั้งความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของทรูมูฟในการบริหารค่า IC สำหรับบริการบรอดแบนด์ มีรายได้เติบโตต่อเนื่อง และสามารถเพิ่มยอดผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิในอัตราก้าวกระโดดในไตรมาสนี้ นอกจากนั้น ทรูวิชั่นส์ยังได้รับอนุญาตจากบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ให้ดำเนินการหารายได้จากการรับทำการโฆษณาในช่องรายการของทรูวิชั่นส์ ซึ่งจะส่งผลให้มีการผลิตคอนเทนท์ต่างๆ เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ชมได้รับชมรายการที่หลากหลายยิ่งขึ้น ในขณะที่ รายได้จากโฆษณาจะสามารถพัฒนาเป็นแหล่งรายได้ใหม่ที่มีความสำคัญต่อไปในอนาคต”
แม้ในปีนี้ บริษัทต้องดำเนินธุรกิจท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ท้าทาย แต่บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถบรรลุ เป้าหมายรายได้โดยรวมของปี 2552 ที่วางไว้ รวมทั้งยังคงประสบความสำเร็จในการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่าง ต่อเนื่อง สำหรับในไตรมาส 4 คาดว่าทรูมูฟจะได้รับประโยชน์จากการที่ตลาดโทรศัพท์ข้ามแดนระหว่างประเทศปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่บริการแบบรายเดือนและบริการที่ไม่ใช่เสียงจะยังคงเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป นอกจากนี้ การเปิดให้บริการบรอดแบนด์ความเร็ว 16 Mbps ซึ่งเป็นความเร็วที่สูงสุดในประเทศ ควบคู่กับการให้บริการทรูวิชั่นส์ สำหรับลูกค้าทั่วไป จะมีส่วนช่วยให้ลูกค้ามีความผูกพันกับบริการมากขึ้น และเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำตลาดบรอดแบนด์ของบริษัทได้เป็นอย่างดี”
สำหรับ ทรูมูฟ รายได้จากการให้บริการ (ไม่รวมค่า IC) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 จากไตรมาส 2 เป็น 5.9 พันล้านบาท เนื่องจากการเติบโตของบริการที่ไม่ใช่เสียง (Non-voice) และการฟื้นตัวของบริการโทรศัพท์ข้ามแดนระหว่างประเทศ นอกจากนี้ EBITDA ยังเพิ่มขึ้นอย่างมากถึงร้อยละ 17.7 เป็น 1.8 พันล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นและความสามารถในการควบคุมค่าใช้จ่ายและค่า IC ได้อย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า รายได้จากการให้บริการโดยรวมเติบโตร้อยละ 6.8 ส่วนใหญ่มาจากบริการแบบรายเดือน และ EBITDA ยังเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอัตราร้อยละ 32.3 ด้วยรายได้จากการให้บริการที่เพิ่มขึ้นและรายจ่ายค่า IC สุทธิที่ลดลง
แม้ว่าตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเข้าใกล้จุดอิ่มตัว แต่ ทรูมูฟสามารถเพิ่มยอดผู้ใช้บริการรายใหม่ในไตรมาส 3 ได้ 117,559 ราย ทำให้มีจำนวนผู้ใช้บริการรวมทั้งสิ้น 15.4 ล้านราย ในขณะที่บริการแบบรายเดือนยังคงเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 จากไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 22.5 จากปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เป็นผลจากการดำเนินกลยุทธ์คอนเวอร์เจนซ์ และการจำหน่ายสมาร์ทโฟน อาทิ iPhone 3G และ 3G S รวมทั้ง แบล็คเบอร์รี่ นอกจากนั้น รายได้จากบริการที่ไม่ใช่เสียงยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอัตราร้อยละ 15.5 จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการบริการด้านข้อมูลเพิ่มขึ้น และเมื่อเทียบกับ ไตรมาสที่ผ่านมา รายได้จากบริการที่ไม่ใช่เสียงเติบโตร้อยละ 13.5 บางส่วนมาจากคอนเทนท์ที่เกี่ยวข้องกับรายการอคาเดมี แฟนเทเชีย
ทรูออนไลน์ มีรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา เป็น 6.5 พันล้านบาท โดยรายได้จากบริการบรอดแบนด์ บริการคอนเวอร์เจนซ์ และรายได้จากธุรกิจใหม่ๆ เช่น บริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ (IDD) และธุรกิจ Data Gateway เพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถชดเชยรายได้จากบริการโทรศัพท์พื้นฐานที่ ลดลง สำหรับบริการบรอดแบนด์ มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 จากปีก่อนหน้าเป็น 1.4 พันล้านบาท โดยใน ไตรมาสนี้ สามารถเพิ่มยอดผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิได้ 17,955 ราย ทำให้มีจำนวนผู้ใช้บริการบรอดแบนด์ ทั้งหมดประมาณ 665,000 ราย
ทรูวิชั่นส์ มีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า เป็น 1.64 ล้านราย ในขณะที่การเริ่มรายการฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ช่วยทำให้ยอดสมาชิกแพ็คเกจพรีเมี่ยมเติบโตขึ้น หลังจากได้รับผลกระทบจากฤดูกาลในไตรมาส 2 ยิ่งไปกว่านั้น อัตราการเปลี่ยนแพ็คเกจสำหรับลูกค้าในระดับกลาง-ล่างมาใช้แพ็คเกจที่มีราคาสูงกว่าของทรูวิชั่นส์ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 36.8 จากร้อยละ 26.3 ในปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ใน ไตรมาส 3 ทรูวิชั่นส์มีรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 จากไตรมาสที่ผ่านมา เป็น 2.3 พันล้านบาท
ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2552 กลุ่มบริษัททรูได้ชำระคืนหนี้จำนวน 4.9 พันล้านบาท ทำให้ปัจจุบันอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA ลดลงเป็น 2.9 เท่า เมื่อเทียบกับ 3.6 เท่าในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า
นายนพปฎล เดชอุดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน กล่าวเสริมว่า “สถานะทางการเงินของกลุ่มทรู ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง การออกหุ้นกู้สกุลเงินบาทเพื่อชำระคืนหนี้ของทรูออนไลน์ ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยสามารถระดมทุนได้ประมาณ 7 พันล้านบาท และหลังจากการจัดทำรีไฟแนนซิ่งให้กับธุรกิจ ทรูออนไลน์เรียบร้อยแล้ว บริษัทมีแผนที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินให้กับธุรกิจทรูมูฟและธุรกิจ ทรูวิชั่นส์ต่อไป”
ทรูยืนยันให้การสนับสนุนการเข้าร่วมขบวนการคัดเลือกเพื่อรับใบอนุญาต 3G บนคลื่นความถี่ 2.1GHz ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ โดยนายศุภชัยกล่าวย้ำว่า “บริษัทจะเข้าร่วมขบวนการคัดเลือกใบอนุญาต 3G และมี แนวทางในการระดมทุนหลายแนวทาง รวมทั้งการใช้กระแสเงินสด ซึ่งมีจำนวนกว่า 10,000 ล้านบาท ณ ปลายไตรมาส 3 ปี 2552 เนื่องจากเล็งเห็นศักยภาพของบริการ 3G และมีความพร้อมที่จะให้ลูกค้าได้สัมผัส ประสบการณ์ 3G ที่ครบถ้วนสมบูรณ์แบบ ด้วยคอนเทนต์ โครงข่าย และบริการต่างๆ บนแพลตฟอร์ม หลากหลาย ภายใต้ยุทธศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ของกลุ่มทรู”