บล.กสิกรไทยเผยผลงาน 9 เดือนแรก กำไรกว่า 134 ล้านบาท ด้านส่วนแบ่งการตลาดพุ่งขึ้น 10 อันดับ มาอยู่ที่ 18 จาก 28 เมื่อปีที่แล้ว ยันขึ้นแท่นท็อปทรีได้ใน 3 ปีแน่นอน ตอกย้ำความสำเร็จด้วยผลงานบริษัทหลักทรัพย์ยอดเยี่ยม 2 ปีซ้อน จาก SET AWARDS ปรับตัวเตรียมความพร้อมรับเปิดเสรีค่าคอมฯ ด้วยกลยุทธ์ CRM ภายใต้แนวคิด “KS… More”
นางสาวณัฐรินทร์ ตาลทอง กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KS เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานปี 52 ของบริษัท งวด 9 เดือนแรกนั้น บริษัทมีกำไรสุทธิกว่า 134 ล้านบาท เติบโตถึง 362 % จากงวด 9 เดือน ปี 2551 ที่มีกำไรสุทธิ 29 ล้านบาท เชื่อสิ้นปีผลงานเข้าเป้าหมายที่วางไว้ โดยในส่วนของธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ บริษัท มีส่วนแบ่งการตลาด (ไม่รวม proprietary trade) เฉลี่ย 10 เดือนแรก ที่ 2.64 % เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2551 ที่ 1.54 % โดยแบ่งเป็นสัดส่วนนักลงทุนบุคคล 70 % ที่เหลือมาจากนักลงทุนสถาบันในประเทศ สำหรับตลาดตราสารอนุพันธ์ (TFEX) หลังจากเริ่มให้บริการมาเมื่อไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ปัจจุบัน บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาด 1.81 % จาก 0.69 % ในปีผ่านมา และอยู่อันดับ 18 ขึ้นมา 9 อันดับ จากปี 2551 ด้านธุรกิจวาณิชธนกิจ ปีนี้ บริษัทเน้นที่งานที่ปรึกษาทางการเงินเป็นหลัก โดยตั้งแต่ต้นปี มีดีลที่จบไปแล้วทั้งสิ้น 2 ดีล มูลค่ารวมกว่า 9,000 ล้านบาท และมีดีลที่คาดว่าจะจบภายในสิ้นปี อีก 2 ดีล มูลค่าประมาณ 1,400 ล้านบาท ทำให้ทั้งปี มีมูลค่าดีลรวมทั้งสิ้นกว่า 10,000 ล้านบาท
“ความสำเร็จของ KS สะท้อนได้จาก รางวัลบริษัทหลักทรัพย์ยอดเยี่ยม (Best Securities Company Award) 2 ปีซ้อน จาก SET AWARDS โดยปัจจัยที่สนับสนุนให้ผลการดำเนินงานของเราออกมาในระดับที่น่าพอใจมาจาก 3 เรื่องหลักคือ 1.การสร้างกิจกรรมทางการตลาดโดยยึดเอาความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่แตกต่างและเหนือกว่าที่เคยได้รับจากบล.อื่นๆ ภายใต้คอนเซปต์ “KS…more” 2.การทำงานในรูปแบบ Partnership ทั้งกับบริษัทในเครือธนาคารกสิกรไทย พันธมิตรทางธุรกิจ และกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 3.การเข้าถึงความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ด้วยข้อมูลที่มีคุณภาพ ถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็วทันต่อเหตการณ์ ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนในทุกช่องทางที่ลูกค้าสัมผัส ผ่านทีมวิเคราะห์หลักทรัพย์ของบริษัทที่ได้รับการยอมรับและเชื่อถือจากลูกค้าเป็นอย่างดี ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้ผลการดำเนินงานใน 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ปรากฎออกมาเป็นที่น่าพอใจ ” นางสาวณัฐรินทร์กล่าว
สำหรับบริการใหม่ที่บริษัทมีแผนจะให้บริการในต้นปีหน้า คือ บริการนายหน้าซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรอง (Bond Trading) ซึ่ง ในขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการขอใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทั้งนี้ บริษัทได้เตรียมความพร้อมรับการเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่น โดยการเพิ่มการให้บริการใหม่ๆ ที่หลากหลาย เพื่อให้ลูกค้าได้รับบริการแบบครบวงจร (One Stop Service) ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่บริษัทจะเพิ่มความสำคัญในต้นปีหน้า คือ การขายหุ้นกู้ และกองทุนรวม รวมทั้งจะเน้นขยายฐานลูกค้าสู่ระดับกลางและพัฒนาระบบการซื้อขายออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
“เราเชื่อว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้และในต้นปีหน้าแนวโน้มเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นตามที่หลายสำนักคาดการณ์ไว้ โดยการจัดงาน SET IN THE CITY ที่เพิ่งผ่านมานั้น จะสามารถสร้างการตอบรับที่ดีและขยายฐานลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติมและบริษัทฯจะสามารถเติบโตติดอันดับ 1 ใน 3 ของโบรกเกอร์ไทยให้ได้ภายใน 3 ปีนี้อย่างแน่นอน” นางสาวณัฐรินทร์กล่าว
นางสาวณัฐรินทร์กล่าวต่อว่า ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาในปี 52 นี้ ปัจจัยลบต่างๆ ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยไม่คึกคัก จำนวนนักลงทุนไม่เพิ่มขึ้นมากนักมูลค่าการซื้อขายเบาบาง และที่สำคัญไม่มีบริษัทที่มีมาร์เก็ตแคปฯ ขนาดใหญ่เข้าเทรด นอกจากนี้ การเปิดเสรีค่าคอมฯ น่าจะทำให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่รุนแรงมากขึ้น สิ่งที่เห็นชัดเจนคือบริษัทหลักทรัพย์มีแนวโน้มการควบรวมกิจการกันเอง ซึ่งในที่สุดเรามองว่าจะเหลือเฉพาะบริษัทหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ที่มีส่วนแบ่งมากกว่า 5% บริษัทหลักทรัพย์ที่มีธนาคารเป็นพันธมิตร และบริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศ อย่างไรก็ตามอาจเกิดบริษัทหลักทรัพย์ที่เรียกว่า Discount broker ที่ไม่เน้นในเรื่องของบทวิเคราะห์ และลดต้นทุนต่างๆ ให้น้อยที่สุด
“ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในช่วงสิ้นปีจะเข้าสู่ช่วงปรับฐานหลังจากปรับเพิ่มขึ้นมามาก ทั้งนี้เป็นผลจากนักลงทุนขายทำกำไรเพื่อปิดสถานะ และเตรียมลดการลงทุนในช่วงเดือนธ.ค. อย่างไรก็ตามเราเชื่อว่านักลงทุนสถาบันในประเทศจะเป็นผู้ซื้อสุทธิจากเม็ด เงินใหม่ๆ ที่เข้ามาผ่านกองทุนรวมหุ้นระยะยาวหรือ LTF ทำ ให้เราเชื่อว่า ดัชนีสิ้นปีจะสามารถปิดตัวเหนือกว่า 700 จุดได้ โดยคาดว่าดัชนีสิ้นปีอยู่ที่ 710 จุด ซึ่งเป็นเป้าหมายทางพื้นฐานของบล.กสิกรไทย”
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) โทร : 0- 2696-0017
สุวริน (กิ๊ป) : 08-1829-6449 / 08-9609-0009
ประมาณการณ์ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทยในปี 2553
บล.กสิกรไทย คาดการณ์ว่า ผลจากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวตั้งแต่ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ส่งผลให้สภาพคล่องไหลเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น ตลาดหุ้น นักลงทุนต่างประเทศมีการซื้อสุทธิถึง 6 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามคาดว่า ดัชนี้ตลาดหลักทรัพย์ในช่วงสิ้นปี 2552 จะเข้าสู่ช่วงปรับฐานหลังจากปรับเพิ่มขึ้นมามากตั้งแต่ช่วงต้นปี
ส่วนในปี 2553 แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกที่ออกมาจะยังผสมผสานระหว่างข่าวบวก และข่าวลบ แต่หากมองในภาพรวมนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงปรับคาดการณ์การขยายตัวของ เศรษฐกิจโลกขึ้น และเราเชื่อว่าเศรษฐกิจจะยังคงมีแนวโน้มในเชิงบวกได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากแต่ละประเทศในโลกยังคงมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีความเป็นไปได้น้อยที่รัฐบาลในหลายๆ ประเทศ จะถอนมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจในอีก 12 เดือนข้างหน้า เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างยั่งยืนและมั่นคง
ส่วนเศรษฐกิจในประเทศคาดว่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ 3.0 – 3.5% ในปีหน้า จากที่คาดว่าขยายตัวติดลบ 3.0% ในปีนี้ ทั้งนี้เป็นผลจากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่จะมีเม็ดเงิน 1.4 ล้านบาทเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งปัจจัยพื้นฐานที่เป็นบวกนี้จะทำให้ตลาดหุ้นสามารถปรับเพิ่มขึ้นได้ ประกอบกับเราเชื่อว่าสภาพคล่องจะยังคงไหลเข้าตลาดหุ้นเอเชีย เนื่องจากกลุ่มประเทศในเอเชียได้รับการคาดการณ์จากนักวิเคราะห์ว่าจะฟื้นตัว เร็วที่สุด ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงในระยะกลาง เมื่อเทียบกับสกุลเงินในเอเชีย จากที่ประเทศในเอเชียจะปรับดอกเบี้ยขึ้นก่อนสหรัฐฯ จะยิ่งหนุนให้เงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดเอเชียเพิ่มขึ้น โดยในปัจจุบันมีเม็ดเงินสูงถึง 3.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในตลาดเงินสหรัฐฯ และพร้อมที่จะไหลออกมาหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ดังนั้นเราคาดว่าดัชนีมีโอกาสที่จะปรับเพิ่มขึ้นไปได้ถึง 800 จุด ในปี 2553
อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในปี 53 จะเป็นลักษณะ sideway up ไม่ ได้ปรับขึ้นขาเดียวอย่างที่เกิดขึ้นในปีนี้ ดังนั้นช่วงเวลาในการลงทุนถือว่ามีความสำคัญ โดยเราคาดว่าดัชนีมีโอกาสปรับฐานใหญ่ โดยคาดว่าจะปรับลดลง 25-30% ในช่วงไตรมาสที่ 1/53 ก่อนที่ตลาดเข้าสู่ช่วงของการ sideway ในช่วงไตรมาสที่ 2-3/53 ก่อนที่จะฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4/53 แต่จะมีปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ คือ ปัญหาของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เสถียรภาพทางการเมืองไทยและปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชา