ในช่วงปลายปี 2552 (11 ธันวาคม 2552) มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของธุรกิจกองทุนรวมเติบโต 18.9% จากสิ้นปี 2551 โดยได้รับแรงหนุนจากการเริ่มทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางการพุ่งทะยานขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นไทย สหรัฐฯ และจีนถึง 59.1% 17.7% และ 71.0% ตามลำดับ (ณ วันที่ 18 ธ.ค. 2552) ขณะที่ ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญ เช่น ทองคำก็พุ่งทะยานขึ้นทำระดับสูงสุดครั้งใหม่ที่ 1,214.55 ดอลลาร์ฯ ต่อออนซ์ ในวันที่ 2 ธ.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ กองทุนรวมที่มี NAV ขยายตัวสูงที่สุด (เติบโตมากกว่า 80%) คือ กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกองทุนรวมตราสารหนี้/พันธบัตรต่างประเทศ (เกาหลีใต้) โดยสาเหตุที่ทำให้กองทุนรวมประเภทดังกล่าวได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมากเพราะสามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินและสูงกว่าพันธบัตรในประเทศ นอกจากนี้ การที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ก็ช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กองทุนรวมประเภท Money Market Fund เนื่องจากให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ช่วงเดือนก.ค. 2552 เป็นต้นมา ธุรกิจกองทุนรวมเผชิญความท้าทายทั้งจากการแข่งขันระหว่างบลจ.และการแข่งขันกับช่องทางการลงทุนอื่นๆ ที่มีมากขึ้น อาทิ พันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาล หุ้นกู้ภาคเอกชน ตลอดจนเงินฝากประจำแบบพิเศษที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าปกติ ทั้งนี้ เมื่อมองไปข้างหน้านั้น คาดว่าบลจ.อาจต้องสรรหาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ให้เข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะตลาดที่กำลังเผชิญอยู่ เพื่อที่จะให้สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุนที่มีทางเลือกการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น
ภาพรวมธุรกิจกองทุนรวมปี 2552
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวม ณ วันที่ 11 ธันวาคม 2552 ขยายตัว 18.9% จากสิ้นปี 2551 ซึ่งมีมูลค่าเท่ากับ 1,815,222.8 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจาก 1,526,811.5 ล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2551 โดยจำนวนรวมของกองทุนทั้งหมด ณ วันที่ 11 ธันวาคม 2552 พบว่ามีทั้งสิ้น 1,264 กอง ขณะที่ เมื่อพิจารณาแยกประเภทตามนโยบายการลงทุนพบว่า NAV กองทุนรวมประเภทตราสารทุนเติบโต 27.3% (เทียบกับการขยายตัว 15.6% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552) โดยได้รับอานิสงส์จากการพุ่งทะยานอย่างต่อเนื่องของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่กองทุนรวมประเภทตราสารหนี้มี NAV ที่ขยายตัว 20.9% โดยได้รับปัจจัยหนุนมาจากการที่นักลงทุนบางส่วนอาจยังคงมีความกังวลต่อความเปราะบางของเศรษฐกิจ จึงให้ความสนใจในกองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง ดังเช่น กองทุนรวมประเภทตราสารหนี้ ส่วนกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) นั้น แม้ว่า NAV ในช่วง 11 เดือนของปี 2552 จะขยายตัว 13.3% ซึ่งเป็นอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2551 ที่ 17.6% เนื่องจากการปรับลดอัตราค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ลงตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 1/2552 ซึ่งเป็นจังหวะที่เศรษฐกิจซบเซา เพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อที่ชะลอลงของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ที่เติบโตเพียง 1.3% จากสิ้นปี 2551 ก็ถือว่ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) เริ่มกลับมาสร้างผลตอบแทนที่ดึงดูดใจให้กับนักลงทุนได้อีกครั้ง โดยจากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 16 ธ.ค. 2552 พบว่ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) สามารถสร้างอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปีได้ประมาณ 7.9%
เมื่อพิจารณาแยกเป็นกองทุนรวมแบบพิเศษ พบว่า กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) เป็นกองทุนที่มี NAV ขยายตัวสูงมากถึง 85.9% (ณ วันที่ 11 ธันวาคม 2552 เทียบกับ ณ สิ้นปี 2551) โดยปัจจัยหลักที่ช่วยหนุนให้กองทุน FIF ได้รับความสนใจจากนักลงทุนและเติบโตอย่างมาก (สังเกตุได้จากมีจำนวนกองทุน FIF เพิ่มขึ้น 247 กองทุน จากปี 2551) คือ อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนดังกล่าวที่ดีกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรและอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในประเทศ เพราะนอกจากจะได้รับอัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรต่างประเทศที่สูงแล้ว ก็ยังได้รับกำไรเพิ่มเติมจากผลต่างของอัตราแลกเปลี่ยนด้วย อาทิ ดอลลาร์/บาท และ ดอลลาร์/วอน (ในกรณีการลงทุนในพันธบัตรเกาหลีใต้) ส่วน NAV ของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ปรับขึ้น 31.3% และ 60.1% ตามลำดับ โดยมีสาเหตุหลักๆ มาจากการขยับขึ้นมากกว่า 50% ของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยนับจากต้นปี 2552 ขณะที่อีกส่วนหนึ่งมาจากการเข้าซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนทั้งสองประเภทในช่วงปลายปี เพื่อที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
แนวโน้มธุรกิจกองทุนรวมในปี 2553:
ในปี 2553 ธุรกิจกองทุนรวมอาจต้องเผชิญสภาวะแวดล้อมและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้นระหว่างช่วงรอยต่อของวัฏจักรเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย และทิศทางของค่าเงินสกุลหลัก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้นำเสนอปัจจัยที่อาจมีอิทธิพลต่อภาวะการลงทุนในตลาดกองทุนรวม ดังนี้
ประการแรก ความชัดเจนของการฟื้นตัวของประเทศฝั่งตะวันตกในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐฯ ซึ่งคงต้องยอมรับว่าในสัปดาห์ที่สามของเดือนธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าที่คาด อาทิ ยอดค้าปลีก สต๊อกสินค้าคงคลัง และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2552 ซึ่งช่วยหนุนการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่คาดไว้ (ถึงแม้ว่านักวิเคราะห์บางส่วนจะยังคงคาดการณ์จังหวะการเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาส 1/2554 ก็ตาม) โดยการคาดการณ์ดังกล่าวนอกจากจะหนุนให้เงินดอลลาร์ฯ ปรับแข็งค่าขึ้นแล้ว ก็ยังผลให้เกิดการเทขายทำกำไรในสินทรัพย์เสี่ยง อาทิ หุ้น ทองคำ และน้ำมัน ทั้งนี้ เมื่อมองไปในระยะถัดไป ทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ต่างๆ ดังกล่าว คงจะแปรผันตามข้อมูลเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่จะออกมาในอนาคต ซึ่งจะช่วยยืนยันว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจดังกล่าว เป็นไปอย่างยั่งยืนและต่อเนื่องหรือไม่ โดยหากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลาดก็คงจะเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากขึ้นและในระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้เงินดอลลาร์ฯ เดินหน้าแข็งค่าขึ้นต่อ สวนทางกับราคาสินทรัพย์อื่นๆ ที่คงจะเผชิญข้อจำกัดของการปรับขึ้นมากขึ้น ตามความต้องการลงทุนของนักลงทุนที่ลดลง อย่างไรก็ตาม หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาในเชิงลบ ซึ่งตอกย้ำโดยตัวเลขการว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมทั้งหากเฟดออกมาส่งสัญญาณว่าคงจะยังไม่ปรับขึ้นอัตรานโยบายในอนาคตอันใกล้ ก็น่าจะส่งผลให้เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลง ขณะที่ จะเป็นโอกาสให้นักลงทุนกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางการไทยนั้น คาดว่าอาจยังไม่ถูกปรับขึ้นภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ตราบใดที่แรงกดดันเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำตามอุปสงค์ในการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ยังคงมีอยู่อย่างจำกัด
ประการที่สอง ข่าวปัญหาฟองสบู่ราคาสินทรัพย์ในหลายประเทศในแถบเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่นักลงทุนในตลาดโลกเพิ่งเผชิญผลกระทบจากปัญหาการเลื่อนชำระหนี้ของบริษัทในดูไบ การประกาศลดค่าเงินด่องของทางการเวียดนาม รวมทั้งการกล่าวเตือนล่าสุดถึงโอกาสการปรับฐานที่รุนแรงของราคาสินทรัพย์ของฮ่องกงโดยทางการฮ่องกง ซึ่งหากความกังวลดังกล่าว ก่อตัวมากขึ้น ตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์ในหลายประเทศเอเชียที่อาจยังอยู่ในจังหวะขาขึ้นอยู่ (ตามแรงหนุนจากสภาพคล่องในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับสูงและอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ) ก็อาจส่งผลกระทบให้นักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนในกองทุนรวมที่ไปลงทุนในต่างประเทศ (FIF) บางประเภทได้
ประการที่สาม ประเด็นทางการเมืองและสถานการณ์การลงทุนในประเทศ อาทิ ความคืบหน้าของคำสั่งศาลปกครองในการระงับ 65 โครงการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยล่าสุดศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้โครงการลงทุนจำนวน 1 โครงการถูกถอดออกจาก 65 โครงการที่ถูกระงับการดำเนินกิจการชั่วคราว เนื่องจากเป็นโครงการที่ได้รับอนุญาตก่อนที่รัฐธรรมนูญปี 2550 จะมีผลบังคับใช้ นอกจากนี้ ในวันที่ 22 ธ.ค.2552 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาว่ามีโครงการลงทุนจำนวน 19 โครงการ ซึ่งมีโอกาสที่ศาลปกครองจะทุเลาคำสั่งระงับโครงการชั่วคราว และอาจจะทำให้จำนวนโครงการลงทุนที่ถูกระงับการดำเนินการลดลง กระนั้นก็ดี เนื่องจากโครงการลงทุนส่วนใหญ่ยังคงอยู่ภายใต้การถูกระงับการดำเนินโครงการตามคำสั่งของศาลปกครอง ผนวกกับความไม่แน่นอนในสถานการณ์ของภาคการลงทุนอื่นๆ อาทิ การออกใบอนุญาต 3G ที่ยังขาดความชัดเจน ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศลงทุนและการระดมทุนของภาคเอกชนในปี 2553 อีกทั้งอาจมีผลสืบเนื่องมายังอุปทานของหุ้นกู้ที่จะเข้าสู่ตลาดในปี 2553 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับปี 2552 ที่มีการเสนอขายหุ้นกู้ภาคเอกชนสูงเป็นประวัติการณ์ หลังจากที่ธุรกิจเอกชนต้องการล็อคอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ
ประการสุดท้าย การครบกำหนดอายุไถ่ถอนกองทุนรวมพันธบัตรเกาหลีใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภทอายุ 6-12 เดือน ซึ่งออกเสนอขายมาตั้งแต่กลางปี 2552 และจะทยอยครบกำหนดอายุกองทุนในช่วงไตรมาสที่ 1/2553 เป็นต้นไป ซึ่งทำให้บลจ.จำเป็นต้องสรรหาผลิตภัณฑ์กองทุนรวมอื่นๆ มาทดแทน
ดังนั้น จากตัวแปรต่างๆ ข้างต้น คงจะเป็นโจทย์ที่ท้าทาย บลจ.ในการคัดสรรผลิตภัณฑ์ลงทุนที่เหมาะสมมาเสนอให้กับลูกค้า ซึ่งนอกจากบลจ.จะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมในเรื่องของช่วงเวลาในการออกเสนอขายกองทุนแล้ว ผลิตภัณฑ์การลงทุนของกองทุนรวมก็ต้องมีลักษณะที่สามารถทำการตลาด (Marketing) ได้ง่ายและสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งคงจะต้องยอมรับว่าลูกค้าส่วนใหญ่ที่ลงทุนในกองทุนรวมยังคงมีความสามารถในการรับความเสี่ยงที่จำกัด ขณะที่คาดหวังต่ออัตราผลตอบแทนของกองทุนรวมที่ระดับสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์
ทั้งนี้ ภายใต้สภาวะที่เศรษฐกิจยังคงมีความไม่แน่นอน ตลอดจนเงื่อนไขที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศยังไม่ปรับขึ้น และพฤติกรรมของผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวมส่วนใหญ่ที่สามารถแบกรับความเสี่ยงได้ในขอบเขตที่จำกัดดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ากองทุนรวมที่มีโอกาสได้รับการผลักดันออกสู่ตลาด คือ
กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) เนื่องจากกองทุนประเภทนี้ เป็นกองทุนรวมแบบตราสารหนี้ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นๆ อาทิเช่น ครบกำหนดไม่เกิน 1 ปี (โดยส่วนใหญ่แล้วจะลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ) ซึ่งมีระดับความเสี่ยงต่ำ อีกทั้งมีการรักษาสภาพคล่องส่วนหนึ่งอยู่เสมอ เพราะ Money Market Fund จะแบ่งเงินลงทุนออกเป็นส่วนๆ เพื่อลงทุนในตราสารหลายชนิดที่มักมีวันครบกำหนดอายุไม่เท่ากัน นอกจากนี้ การมีสภาพคล่องเหลืออยู่ตลอดเวลา จะช่วยทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุน Money Market Fund สามารถไถ่ถอนหน่วยลงทุนได้ทุกวันทำการใกล้เคียงกับผู้ถือหน่วยออมเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์ (อาจจะยังล่าช้ากว่าบัญชีออมทรัพย์ตรงที่ต้องส่งคำสั่งถอนเงินล่วงหน้า 1 วัน ก่อนรับเงิน) เท่ากับว่าผู้ถือหน่วยลงทุนยังมีความคล่องตัวอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับการฝากบัญชีออมทรัพย์ แต่สามารถคาดหวังผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์เล็กน้อย (กองทุนรวมตลาดเงิน สร้างอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปี ประมาณ 1.10% เทียบกับ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีที่อยู่ระหว่าง 0.65-1.00% ก่อนหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%) รวมทั้งเป็นการพักเงินลงทุนในจังหวะที่ภาวะการลงทุนอาจยังไม่มีความชัดเจนมากนัก ซึ่งคุณสมบัติพิเศษต่างๆ ดังกล่าว น่าจะช่วยให้กองทุนประเภทนี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ ท่ามกลางความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจจากทั้งในและนอกประเทศที่น่าจะยังดำเนินต่อเนื่องไปในอีก 6 เดือนข้างหน้าเป็นอย่างน้อย และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์ที่น่าจะยังไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2553
กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชน ภายใต้มุมมองที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศน่าจะยังไม่ปรับขึ้นไปจนถึงช่วงกลางปีหน้า ทำให้คาดการณ์ว่าน่าจะมีอุปทานของหุ้นกู้ภาคเอกชนออกมาในปี 2553 (แม้ว่าจะลดลงจากปี 2552 โดยเปรียบเทียบ) โดยคงจะเป็นการออกหุ้นกู้เพื่อชดเชยและ/หรือรีไฟแนนซ์หนี้เดิม ขณะที่อันดับความน่าเชื่อถือ (Rating) โดยเฉลี่ยของหุ้นกู้นั้น แม้อาจไม่ได้อยู่ในระดับที่ดีกว่าในปี 2552 แต่ก็น่าจะยังคงอยู่ในระดับน่าลงทุน (Investment Grade) ทั้งนี้ สาเหตุที่คาดว่าผลิตภัณฑ์หุ้นกู้ภาคเอกชนน่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่บลจ.เลือกนำเสนอให้กับลูกค้า เนื่องจากสามารถสร้างอัตราผลตอบแทนให้กับนักลงทุนในระดับที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในประเภทอายุเดียวกัน อาทิ หุ้นกู้ในท้องตลาด เรทติ้ง AAA อายุ 3-5 ปี จ่ายดอกเบี้ยเฉลี่ย 4.08%, เรทติ้ง AA จ่ายดอกเบี้ยเฉลี่ย 3.88%, เรทติ้ง A จ่ายดอกเบี้ยเฉลี่ย 4.04% และหุ้นกู้เรทติ้ง BBB จ่ายดอกเบี้ยเฉลี่ย 4.04% ต่อปี (ข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ณ วันที่ 18 ธ.ค. 2552) แต่ทั้งนี้เพื่อรองรับโอกาสการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต นักลงทุนก็ควรเน้นลงทุนระยะสั้น ถึง ปานกลาง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียโอกาสในการลงทุนในจังหวะที่อัตราดอกเบี้ยเริ่มปรับขึ้น
กองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ อาทิ พันธบัตรเกาหลีใต้ ซึ่งอาจยังพอมีอัตราผลตอบแทนที่แข่งขันได้กับช่องทางการออมดั้งเดิมอย่างเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์ แม้ว่าแนวโน้มอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ดังกล่าว อาจลดความน่าดึงดูดลงในปี 2552 อันเป็นผลจากต้นทุนการทำสัญญาสวอปอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงขึ้น (Swaps) ซึ่งอาจบดบังผลประโยชน์จากโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางเกาหลีใต้ที่ในขณะนี้ตลาดคาดว่าอาจเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 1/2553 นอกเหนือจากพันธบัตรเกาหลีใต้ดังกล่าว คาดว่า บลจ.คงจะทยอยนำเสนอกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลประเทศใหม่ๆ ภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือ คือ ประเทศดังกล่าวจะต้องมีการจัดอันดับเครดิตที่สูงกว่าไทย ระดับอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่น่าดึงดูด รวมทั้งมีการดูแลความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนด้วย อันจะช่วยให้กองทุนพันธบัตรดังกล่าว ได้รับความสนใจจากนักลงทุนรายย่อยเหมือนดังเช่นพันธบัตรเกาหลีที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา
กองทุนรวมที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี อาทิ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ซึ่งน่าจะได้รับการทยอยนำเสนอตั้งแต่ต้นปี แทนที่จะเป็นช่วงฤดูกาลสิ้นปี ทั้งนี้ ตราบใดที่จังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังไม่ขยับเข้ามาในอนาคตอันใกล้ คาดว่าดัชนีตลาดหุ้นก็ยังมีโอกาสแกว่งตัวในทิศทางขาขึ้นอยู่ (Sideway Up) แม้ว่าจะมีความผันผวน และเผชิญกับโอกาสการปรับฐานเป็นระยะ จากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงปะปน และความกังวลเกี่ยวกับปัญหาฟองสบู่ในเอเชียที่อาจตามมาด้วยการดำเนินมาตรการต่างๆ ของทางการเอเชียที่อาจกระทบต่อเนื่องมายังกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย เป็นต้น ดังนั้น บลจ. จึงอาจกระตุ้นและส่งเสริมให้นักลงทุนทยอยเข้าสะสมหน่วยลงทุนในจังหวะที่ดัชนีตลาดหุ้นมีการปรับฐานลงไป อันจะเพิ่มโอกาสการรับกำไรจากการขายหลักทรัพย์ (Capital Gains) ในอนาคต ตลอดจนได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกด้วย
กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) โดยคาดว่าในปีหน้ากองทุนรวมอสังริมทรัพย์ประเภทที่ลงทุนในโรงงานและศูนย์การค้าจะมีการเพิ่มทุนโดยการลงทุนเพิ่มเติมในสินทรัพย์ รวมเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท อันจะเป็นอุปทานใหม่ที่เข้าสู่ตลาด อย่างไรก็ตาม นักลงทุนที่ต้องการลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ในตลาดแรก (IPO) ดังกล่าว อาจต้องคำนึงถึงโอกาสที่ราคาหน่วยลงทุนอาจลดต่ำลง เมื่อมีการจดทะเบียนหน่วยลงทุนในตลาดรอง (ตลาดหลักทรัพย์) แต่ทั้งนี้ การลงทุนในตลาดแรก ก็มีข้อดีตรงที่สามารถเข้าซื้อหน่วยลงทุนในปริมาณที่ค่อนข้างสูงได้ และในกรณีที่พื้นฐานเศรษฐกิจเข้มแข็งมากขึ้น นักลงทุนก็มีโอกาสรับผลตอบแทนในระดับที่ค่อนข้างสูง (เฉลี่ยประมาณ 11.0% ต่อปี สำหรับกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่ลงทุนในศูนย์การค้า และ 7.0% สำหรับกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่ลงทุนในโรงงาน) ขณะที่ การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ในตลาดรอง นักลงทุนควรที่จะคำนึงถึงสภาพคล่องของหน่วยลงทุนซึ่งจะถูกกำหนดจากปริมาณอุปสงค์และอุปทานของการลงทุน รวมทั้งราคาหน่วยลงทุนที่มักจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งคงจะได้รับอิทธิพลจากคาดการณ์ของนักลงทุนต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ตลอดจนอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในอนาคต
ส่วนกองทุนรวมประเภทอื่นๆ อาทิ กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ทองคำ และน้ำมันก็อาจได้รับการผลักดันจาก บลจ.เช่นกัน โดยเฉพาะหากสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังไม่ชัดเจน รวมทั้งสภาพคล่องในตลาดเงินของโลกยังคงมีอยู่มาก อย่างไรก็ตาม หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางการสหรัฐฯ ขยับขึ้น ก็คงจะส่งผลให้เงินดอลลาร์ฯ มีทิศทางที่ปรับแข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังตลาดหุ้น ราคาทองคำ และราคาน้ำมันได้ ทำให้เมื่อถึงเวลาดังกล่าว บลจ.อาจต้องปรับกลยุทธ์และแผนการนำเสนอผลิตภัณฑ์กองทุนรวมให้เหมาะสมกับสภาวะตลาดอีกครั้ง
สรุปโดยรวม มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวม ณ วันที่ 11 ธันวาคม 2552 ขยายตัว 18.9% จากสิ้นปี 2551 ซึ่งมีมูลค่าเท่ากับ 1,815,222.8 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจาก 1,526,811.5 ล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2551 โดยจำนวนรวมของกองทุนทั้งหมด ณ วันที่ 11 ธันวาคม 52 พบว่ามีทั้งสิ้น 1,264 กอง โดยเมื่อพิจารณาตามนโยบายการลงทุน พบว่ากองทุนรวมเกือบทุกประเภท NAV ปรับเพิ่มขึ้น นำโดย กองทุนรวมประเภทตราสารทุน กองทุนรวมประเภทตราสารหนี้ ขณะที่เมื่อพิจารณาแยกเป็นกองทุนรวมแบบพิเศษ พบว่า กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) เป็นกองทุนที่มี NAV ขยายตัวมากที่สุดถึง 85.9% ตามมาด้วย กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ NAV เติบโต 60.1%
สำหรับแนวโน้มธุรกิจกองทุนรวมในปี 2553 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าธุรกิจกองทุนรวมจะมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นและอาจต้องเผชิญสภาวะแวดล้อมและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของทิศทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย และค่าเงิน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้นำเสนอปัจจัยที่อาจมีอิทธิพลต่อภาวะการลงทุนในกองทุนรวม ดังนี้ ประการแรก ความชัดเจนของการฟื้นตัวของประเทศฝั่งตะวันตกในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐฯ ซึ่งคงต้องติดตามการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจในอนาคต โดยหากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าที่คาด ตลาดก็คงจะเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากขึ้นและในระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้เงินดอลลาร์ฯ เดินหน้าแข็งค่าขึ้นต่อ สวนทางกับราคาสินทรัพย์อื่นๆ ที่คงจะเผชิญข้อจำกัดของการปรับขึ้นมากขึ้น ตามความต้องการลงทุนของนักลงทุนที่ลดลง อย่างไรก็ตาม หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาในเชิงลบ รวมทั้งหาก เฟดออกมาส่งสัญญาณว่าคงจะยังไม่ปรับขึ้นอัตรานโยบายในอนาคตอันใกล้ ก็น่าจะส่งผลให้เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลง ขณะที่ จะเป็นโอกาสให้นักลงทุนกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง ประการที่สอง ข่าวปัญหาฟองสบู่ราคาสินทรัพย์ในหลายประเทศ ได้สร้างความวิตกให้กับการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งอาจจำกัดความต้องการลงทุนในกองทุนรวมที่ไปลงทุนในต่างประเทศ (FIF) บางประเภท ประการที่สาม ประเด็นทางการเมืองและสถานการณ์การลงทุนในประเทศ อาทิ การระงับโครงการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และ การเลื่อนการออกใบอนุญาต 3G ซึ่งคงจะกระทบต่อบรรยากาศลงทุนและการระดมทุนของภาคเอกชนในปี 2553 ขณะเดียวกัน ก็อาจจะส่งผลต่ออุปทานของหุ้นกู้เอกชนที่จะเข้าสู่ตลาดในปี 2553 ประการสุดท้าย การครบกำหนดอายุไถ่ถอนกองทุนรวมพันธบัตรเกาหลีใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภทอายุ 6-12 เดือน ซึ่งออกเสนอขายมาตั้งแต่กลางปี 2552 และจะทยอยครบกำหนดอายุกองทุนในช่วงไตรมาสที่ 1/2553 เป็นต้นไป ซึ่งทำให้บลจ.อาจต้องสรรหาผลิตภัณฑ์กองทุนรวมอื่นๆ มาทดแทน
ดังนั้น จากตัวแปรต่างๆ ข้างต้น คงจะเป็นโจทย์ที่ท้าทาย บลจ.ในการคัดสรรผลิตภัณฑ์ลงทุนที่เหมาะสมมาเสนอให้กับลูกค้า ซึ่งนอกจากบลจ.จะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมในเรื่องของช่วงเวลาในการออกเสนอขายกองทุนแล้ว ผลิตภัณฑ์การลงทุนของกองทุนรวมก็ต้องมีลักษณะที่สามารถทำการตลาดได้ง่ายและสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งคงจะต้องยอมรับว่าลูกค้าส่วนใหญ่ที่ลงทุนในกองทุนรวมยังคงมีความสามารถในการรับความเสี่ยงที่จำกัด ขณะที่คาดหวังต่ออัตราผลตอบแทนของกองทุนรวมที่ระดับสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ ภายใต้สภาวะที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนดังกล่าว ตลอดจนเงื่อนไขที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศยังไม่ปรับขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ากองทุนรวมที่มีโอกาสได้รับการผลักดันออกสู่ตลาด คือ กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชน กองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ และกองทุนรวมที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ขณะที่ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) อาจได้รับแรงหนุนจากอุปทานใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดในอนาคตอันใกล้ ส่วนกองทุนรวมประเภทอื่นๆ อาทิ กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ทองคำ และน้ำมันก็อาจยังลงทุนได้ หากสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังไม่ชัดเจน รวมทั้งสภาพคล่องในตลาดเงินของโลกยังคงมีอยู่มาก อย่างไรก็ตาม หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางการสหรัฐฯ ขยับขึ้น ก็คงจะส่งผลให้เงินดอลลาร์ฯ มีทิศทางที่ปรับแข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจกระทบไปยังทิศทางของตลาดหุ้น ราคาทองคำ และราคาน้ำมันได้ ทำให้เมื่อถึงเวลาดังกล่าว บลจ.อาจต้องปรับการนำเสนอผลิตภัณฑ์กองทุนรวมให้เหมาะสมกับสภาวะตลาดอีกครั้ง