FTA กรอบอาเซียน ช่วยดึงดูด FDI … ไทยเผชิญการแข่งขัน

การลดภาษีสินค้าปกติภายใต้กรอบอาเซียน (AFTA) เหลือร้อยละ 0 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 สำหรับประเทศอาเซียนเดิม 6 ประเทศ ส่งผลให้การส่งออกสินค้าภายในกลุ่มอาเซียน 6 ประเทศ สัดส่วนกว่าร้อยละ 95 แทบจะไม่มีอุปสรรคด้านภาษีศุลกากร ขณะเดียวกันการจัดทำความตกลง FTA ที่ลดภาษีสินค้าระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ช่วยสนับสนุนให้สินค้าส่งออกของอาเซียนเข้าสู่ตลาดประเทศเหล่านี้ได้สะดวกขึ้น ส่วนความ ตกลง FTA อาเซียน-จีนเป็นอีกหนึ่งความตกลงที่ภาษีสินค้าปกติลดเหลือร้อยละ 0 ในวันที่ 1 มกราคม 2553 เช่นกัน ครอบคลุมสินค้าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมด ขณะที่สินค้าอ่อนไหวของจีนที่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรยังคงภาษีในระดับสูง คาดว่านักลงทุนจีนมีแนวโน้มจะเข้ามาลงทุนจัดตั้งฐานการผลิตในอาเซียนและไทยเพื่อใช้ประโยชน์จากแหล่งวัตถุดิบและส่งออกสินค้าแปรรูปกลับไปจีนโดยได้ผลดีจากภาษีเหลือร้อยละ 0 หรือส่งออกไปยังตลาดอาเซียนและประเทศคู่เจรจาของอาเซียนโดยได้รับประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ FTA กรอบต่างๆ ของอาเซียน โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

เปิดเสรีภายในอาเซียน … ดึงดูด FDI
นอกจากการลดภาษีสินค้าปกติภายใต้กรอบอาเซียน (AFTA) เหลือร้อยละ 0 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 สำหรับประเทศอาเซียนเดิม 6 ประเทศแล้ว การเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุนของอาเซียนภายใต้ความตกลงการค้าภาคบริการของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Services : AFAS) และความตกลงด้านการลงทุนของอาเซียน (ASEAN Investment Area : AIA) ที่มีความคืบหน้าเป็นลำดับ ตามเป้าหมายการจัดตั้งเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีฐานการผลิตและตลาดร่วมกัน โดยเป็นการเปิดเสรีทั้งด้านสินค้า ภาคบริการ การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะ รวมถึงการเคลื่อนย้ายทุนที่เสรีมากขึ้น ทำให้ธุรกิจในอาเซียนสามารถเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตได้อย่างเสรี คาดว่านักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาจัดตั้งฐานการผลิตเพื่อแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและโอกาสการขยายตลาดในอาเซียนที่ประกอบด้วยประชากรรวมกว่า 580 ล้านคน และขยายการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ที่จัดทำความตกลง FTA กับอาเซียนด้วย

แม้ว่าในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้มูลค่า FDI จากประเทศนอกอาเซียนที่มีบทบาทสำคัญด้านการลงทุนในอาเซียนปรับลดลงไปจนทำให้มูลค่า FDI โดยรวมของอาเซียนในปี 2551 ลดลงเหลือ 60,174 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 69,481 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2550 แต่มูลค่าการลงทุนจากประเทศอาเซียนด้วยกันเองยังคงปรับเพิ่มขึ้นในปี 2551 ทั้งนี้ มูลค่า FDI ของอาเซียนจนถึงปี 2551 (FDI Inward Stock) อยู่ที่ 663,210 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 614,690 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2550 และเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2546 เทียบกับมูลค่า FDI ของเอเชียโดยรวมและมูลค่า FDI ของโลกจนถึงปี 2551 ที่ปรับลดลง เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ธุรกิจประสบปัญหาการเงินตึงตัวโดยเฉพาะธุรกิจของประเทศในกลุ่มจี 3 อย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น จึงทำให้ถอนการลงทุนกลับประเทศ เป็นที่น่าสังเกตว่า มูลค่าการลงทุน FDI ของอาเซียนจากประเทศอาเซียนด้วยกันเองที่เพิ่มขึ้นในปี 2551 เป็นการเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนทางตรงที่ไหลเข้าอินโดนีเซียและเวียดนามค่อนข้างชัดเจน เนื่องจากข้อได้เปรียบด้านต้นทุนด้านแรงงานในสองประเทศนี้ค่อนข้างต่ำ ประกอบกับความมั่นคงทางการเมืองที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศ

ปัจจุบันอาเซียนเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญของไทย การลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ภายใต้ AFTA ทำให้การนำเข้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปและสินค้าทุนจากอาเซียนเพื่อการผลิตในไทยไม่มีต้นทุนด้านภาษี โดยมูลค่านำเข้าของไทยจากอาเซียนใกล้เคียงกับมูลค่านำเข้าของไทยจากญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนราวร้อยละ 18 ของการนำเข้าทั้งหมดของไทยในปี 2552 สินค้านำเข้าสำคัญจากอาเซียนเป็นการนำเข้าเพื่อใช้ในการผลิตภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ สินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป สัดส่วนร้อยละ 35 ของการนำเข้าของไทยทั้งหมดจากอาเซียนในปี 2552 รองลงมาเป็นเชื้อเพลิง สัดส่วนร้อยละ 27 และสินค้าทุน สัดส่วนร้อยละ 26 โดยสินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป ที่สำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ จากมาเลเซีย และอินโดนีเซีย สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ (อินโดนีเซีย ลาว ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย) ไม้ซุง/ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ (มาเลเซีย พม่า ลาว อินโดนีเซีย) และสัตว์น้ำสด/แช่เย็น/แช่แข็ง/แปรรูป/กึ่งแปรรูป (อินโดนีเซีย เวียดนาม) สินค้าเชื้อเพลิงสำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ จากพม่า น้ำมันดิบจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม สินค้าทุนที่สำคัญ ได้แก่ คอมพิวเตอร์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ (มาเลเซีย เวียดนามและฟิลิปปินส์) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย)

FTA อาเซียน-จีน … ผลักดันจีนลงทุนในอาเซียนและไทย
ขณะเดียวกันความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียน-จีน (ASEAN-China FTA) เป็นอีกความตกลง FTA ของอาเซียนที่มีความคืบหน้าค่อนข้างมากโดยภาษีของสินค้าปกติลดลงเหลือร้อยละ 0 ในวันที่ 1 มกราคม 2553 ครอบคลุมสินค้าราวร้อยละ 90 ส่วนสินค้าที่เหลืออีกร้อยละ 10 เป็นสินค้ากลุ่มอ่อนไหวที่ยังคงภาษีไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่จีนยังต้องการปกป้องผู้ผลิตภายใน เช่น ยางพารา น้ำมันปาล์ม ข้าว กาแฟ และน้ำตาล ที่อยู่ในกลุ่มสินค้าอ่อนไหวของจีนซึ่งจะต้องปรับลดภาษีเหลือร้อยละ 20 ในปี 2555 และเหลือร้อยละ 0-5 ในเดือนมกราคม 2561 การที่จีนปรับลดภาษีสินค้าปกติเหลือร้อยละ 0 แล้ว ขณะที่สินค้าขั้นต้นหลายรายการยังมีภาษีอยู่ จะสนับสนุนให้จีนเข้ามาจัดตั้งฐานการผลิตในอาเซียนและไทยเพื่อส่งออกกลับไปประเทศโดยได้สิทธิภาษีเป็นร้อยละ 0 เช่น ภาษีผลิตภัณฑ์ยางของจีนปรับลดลงเหลือร้อยละ 0 ตั้งแต่ปี 2551 ส่งผลให้นักลงทุนจีนมีแนวโน้มเข้ามาจัดตั้งฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ยางในอาเซียนรวมทั้งไทยมากขึ้นและส่งออกกลับไปจีนได้โดยได้สิทธิประโยชน์ภาษีเป็นร้อยละ 0 แทนการนำเข้ายางพาราจากอาเซียนและไทยเพื่อแปรรูปในจีนที่ยังต้องเสียภาษีในระดับสูง

นอกจากนี้ สินค้าหลายรายการที่อาเซียนยังไม่ได้ลดภาษีให้กับจีนภายใต้ FTA อาเซียน-จีน เช่น สินค้าบางรายการในหมวดสิ่งทอ และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือเป็นสินค้าอ่อนไหวของอาเซียนที่อาเซียนยังคงภาษีไว้เพื่อปกป้องตลาดภายในประเทศ ขณะที่ภาษีการส่งออกภายในอาเซียนด้วยกันภายใต้ AFTA เหลือร้อยละ 0 แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเร่งลดภาษีของอาเซียน 9 สาขาที่ภาษีของสมาชิกเดิม 6 ประเทศเหลือร้อยละ 0 ตั้งแต่ปี 2550 ได้แก่ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งทอและเสื้อผ้า อิเล็กทรอนิกส์ เกษตรแปรรูป สินค้าประมง สินค้า IT และสินค้าสุขภาพ ถือเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้นักลงทุนจีนเข้ามาจัดตั้งฐานการผลิตในอาเซียนมากขึ้นเพื่อส่งออกไปภายในอาเซียน 6 ประเทศโดยได้สิทธิภาษีเป็นร้อยละ 0 หรือส่งออกไปยังประเทศที่อาเซียนมีความตกลง FTA ด้วย ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งจีนยังไม่มีความตกลง FTA กับประเทศเหล่านี้ ซึ่งนอกจากจะได้รับผลดีจากการขยายตลาดส่งออกจากอานิสงส์ของการปรับลดภาษีภายใต้ FTA แล้ว ยังได้ประโยชน์จากแหล่งวัตถุดิบสะสมในอาเซียน (Rule of Origins : ROOs) ด้วย

ปัจจัยหนุนที่คาดว่าจะทำให้มูลค่าเงินลงทุนโดยตรงจากจีนเข้ามาในอาเซียนและไทยเพิ่มขึ้น นอกจากการเปิดเสรีสินค้าระหว่างอาเซียนกับจีนแล้ว ยังมีสาเหตุสำคัญจากการเปิดเสรีภาคบริการภายใต้ FTA อาเซียน-จีน ที่อยู่ระหว่างการเจรจาเปิดเสรีรอบที่ 2 ที่ครอบคลุมกิจกรรมในสาขาบริการที่กว้างขึ้น ซึ่งนอกจากจะผลักดันให้ธุรกิจในอาเซียนออกไปลงทุนในจีนได้สะดวกขึ้นแล้ว ยังกระตุ้นให้นักลงทุนจีนเข้ามาจัดตั้งธุรกิจภาคบริการในอาเซียนสะดวกขึ้นจากการลดกฎระเบียบและเงื่อนไขการจัดตั้งธุรกิจ คาดว่าจะกระตุ้นให้การลงทุนของจีนในอาเซียนเติบโตได้ดีขึ้น

ปัจจัยสนับสนุนอีกประการ ได้แก่ การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งของจีน แม้เศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวรุนแรงที่เริ่มต้นในไตรมาสที่ 4/2551 ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนในไตรมาสแรกชะลอเหลือร้อยละ 6.1 แต่ก็สามารถขยายตัวสูงขึ้นเป็นลำดับเป็นร้อยละ 7.9 และร้อยละ 8.9 ในไตรมาสที่ 2-3 คาดว่าเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 ของจีนจะมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นเป็นกว่าร้อยละ 10.0 ส่งผลให้จีดีพีของจีนในปี 2552 มีแนวโน้มเติบโตกว่าร้อยละ 8.0 เนื่องจากอานิสงส์ของมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนของทางการจีน ที่ทำให้ความต้องการภายในจีนยังเติบโตได้ ขณะเดียวกันเงินทุนสำรองต่างประเทศในระดับสูงของจีน โดยในปี 2552 เงินสำรองต่างประเทศของจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เป็น 2.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงที่สุดในโลก ทำให้ทางการจีนสนับสนุนให้วิสาหกิจจีนและธุรกิจเอกชนจีนออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ทำให้จีนมีแนวโน้มเข้ามาใช้ประโยชน์จากการจัดตั้งฐานการผลิตในอาเซียนและขยายตลาดส่งออกได้มากขึ้นในฐานะที่อาเซียนอยู่ในห่วงโซ่การผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สนับสนุนให้ธุรกิจจีนที่มีศักยภาพทางการเงินออกไปแสวงหาโอกาสการลงทุนนอกประเทศ มูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ (Overseas Direct Investment : ODI) ของจีนที่ไม่รวมสาขาการเงินคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2552 จาก 41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2551

สำหรับมูลค่าโครงการลงทุนของจีนที่เข้ามายื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทยในปี 2552 มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 21 โครงการในปี 2551 เป็น 25 โครงการ และมูลค่าโครงการลงทุนเพิ่มขึ้นจาก 1.5 พันล้านบาทในปี 2551 เป็น 43.18 พันล้านบาท คาดว่ามูลค่า FDI ของจีนในไทยและในอาเซียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่จีนยังมีบทบาทด้านการเข้ามาลงทุนในอาเซียนไม่มากนัก โดยคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.9 ของมูลค่าการลงทุนสะสมในอาเซียนในช่วงระหว่างปี 2549-2551 ขณะที่นักลงทุนต่างชาติที่มีบทบาทสำคัญในอาเซียน ได้แก่ สหภาพยุโรป อาเซียน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ โดยมีมูลค่า FDI สะสมในระหว่างปี 2549-2551 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23 ร้อยละ 15 ร้อยละ 14 และร้อยละ 7 ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า การเปิดเสรี FTA ภายใต้กรอบอาเซียนต่างๆ จะส่งผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมไทยที่สามารถนำเข้าวัตถุดิบ/สินค้ากึ่งสำเร็จรูปเข้ามาใช้ในการผลิตโดยมีอัตราภาษีลดลง ทำให้มีต้นทุนการผลิตลดต่ำลง แต่ขณะเดียวกันภาคเกษตรของไทยก็ต้องได้รับผลกระทบเนื่องจากการปรับลดภาษีภายใต้ความตกลงฯ ทำให้สินค้าเกษตรจากประเทศอาเซียนเข้ามาไทยมากขึ้นเช่นกัน สำหรับอุตสาหกรรมของไทยที่มีศักยภาพที่น่าจะได้รับผลดีจากการลดภาษีตามความตกลง FTA ที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร เช่น อาหารทะเลแปรรูปที่นำเข้าสินค้าประมงจากอินโดนีเซียและเวียดนาม หรือการเข้าไปลงทุนผลิตของไทยในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาและลาวตามโครงการ Contract Farming ในสินค้าหลายรายการ เช่น มันฝรั่ง ข้าวโพดหวาน ถั่วเหลืองและยูคาลิปตัส และส่งกลับเข้ามาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารของไทย อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม เช่น การนำเข้าเมล็ดกาแฟและชาที่ปรับลดภาษีเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตกาแฟ/ชาสำเร็จรูป อุตสาหกรรมยานยนต์ การนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์จากประเทศอาเซียนที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกันมีอัตราภาษีลดลง อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ในปัจจุบันไทยนำเข้าอุปกรณ์และส่วนประกอบจากมาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ทำให้ต้นทุนต่ำลงจากการปรับลดภาษี

นอกจากการหาแนวทางลดผลกระทบจากการเปิดเสรี FTA ต่อภาคธุรกิจในประเทศโดยเฉพาะภาคเกษตรแล้ว ภาครัฐควรหาแนวทางช่วยให้ธุรกิจไทยได้ใช้ประโยชน์จากการลดภาษีภายใต้ความตกลง FTA ต่างๆ ให้มากที่สุด เพื่อประโยชน์สูงสุดจากการเปิดเสรี หนึ่งในกระบวนการสำคัญที่จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า ได้แก่ ขั้นตอนการขอหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin) เพื่อใช้สิทธิประโยชน์จากการลดภาษีในกรอบ FTA ต่างๆ ซึ่งควรมีความชัดเจนและเข้าใจง่าย สะดวกและรวดเร็ว เพื่อลดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจ ซึ่งน่าจะช่วยให้การใช้ประโยชน์จากช่องทางส่งออกภายใต้ FTA มีความคล่องตัวมากขึ้น สำหรับการดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติเข้าอาเซียนโดยใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีกรอบอาเซียนนั้น เป็นโจทย์สำคัญที่ไทยต้องแข่งขันดึงดูด FDI กับประเทศอาเซียนอื่นๆ ทั้งอินโดนีเซียและเวียดนามที่มีข้อได้เปรียบจากต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่าและความมีเสถียรภาพทางการเมือง ขณะที่อุตสาหกรรมไทยที่ยกระดับการพัฒนาไปสู่เทคโนโลยีที่สูงขึ้นก็จะต้องแข่งขันกับประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ไทยต้องแข่งขันดึงดูด FDI กับประเทศอาเซียนอื่นๆ มากขึ้น ขณะเดียวกันความพร้อมทางเทคโนโลยี การลงทุนในการวิจัยและพัฒนาของและนวัตกรรมใหม่ๆ ของไทยยังไม่มากนัก อีกทั้งปัญหาภายในจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและปัญหามาบตาพุดในปัจจุบันถือเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกดดันให้บรรยากาศด้านการลงทุนของไทยมีความน่าดึงดูดลดลงในสายตานักลงทุนต่างชาติ และอาจทำให้ไทยเสียโอกาสในการดึงดูดเงินลงทุนในภาวะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในปีนี้

สรุป
การเปิดเสรีตามความตกลง FTA ของอาเซียนที่มีอัตราภาษีสินค้าปกติมากกว่าร้อยละ 95 ลดลงเหลือร้อยละ 0 ในวันที่ 1 มกราคม 2553 ที่ผ่านมาส่งผลให้ภาคธุรกิจในอาเซียนสามารถใช้ประโยชน์จากการนำเข้าวัตถุดิบ/สินค้ากึ่งสำเร็จรูปภายในกลุ่มด้วยต้นทุนที่ลดลงจากการปรับลดหรือยกเลิกภาษี และเป็นการดึงดูด FDI ให้เข้ามาจัดตั้งฐานการผลิตในอาเซียนและไทยมากขึ้น เพื่อประโยชน์จากการใช้วัตถุดิบในอาเซียนและสามารถส่งออกไปยังประเทศอาเซียนอื่นๆ ที่เหลือ รวมทั้งประเทศนอกกลุ่มอาเซียนที่จัดทำความตกลง FTA กับอาเซียน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ โดยได้รับประโยชน์จากการลดภาษีภายใต้กรอบ FTA ต่างๆ ซึ่งทำให้ตลาดส่งออกขยายกว้างขวางมากขึ้น อุตสาหกรรมไทยที่มีศักยภาพและน่าจะได้รับผลดีจากการลด/ยกเลิกภาษีสินค้าขั้นต้นและกึ่งวัตถุดิบ ที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม ยานยนต์ และคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ภาคเกษตรของไทยต้องได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าที่เข้าสู่ตลาดไทยได้มากขึ้นเช่นกัน สำหรับผลดีจากการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้าอาเซียนนั้น แม้ไทยถือเป็นประเทศหนึ่งในอาเซียนที่มีศักยภาพในการผลิตภาคอุตสาหกรรมหลายสาขาที่นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุน แต่ไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่ไทยต้องเผชิญปัญหาภายในที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ได้แก่ ความไม่แน่นอนทางการเมืองและปัญหามาบตาพุด ซึ่งทำให้บรรยากาศความน่าลงทุนของไทยลดลงในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะปัญหามาบตาพุดที่ถือเป็นโจทย์ท้าทายสำคัญที่ทางการไทยควรพิจารณาเร่งดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว