ธุรกิจบริการโทรคมนาคมปี 53 : ฟื้นตัว แต่ยังมีหลายประเด็นที่ต้องติดตาม

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2552 อาจกระทบต่อธุรกิจบริการโทรคมนาคมไม่มากนักเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น เนื่องจากโทรคมนาคมถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นในยุคโลกาภิวัฒน์ สำหรับปี 2553 การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจน่าจะทำให้ธุรกิจบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงน่าจะขยายตัวได้ แต่ทั้งนี้อาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่มากขึ้น ในขณะที่ธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำ และโทรศัพท์พื้นฐาน อาจประสบกับการหดตัวของรายได้ จากการเข้ามาแทนที่ของเทคโนโลยีที่สูงกว่า ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า โดยรวมแล้วตลาดบริการโทรคมนาคมปี 2553 น่าจะเติบโตในอัตราร้อยละ 3.2-5.3 เมื่อเทียบกับปี 2552 ที่น่าจะหดตัวประมาณร้อยละ 2.1 หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดประมาณ 255,000-260,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นมูลค่าจากตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ร้อยละ 60-65 ตลาดบริการโทรศัพท์พื้นฐานร้อยละ 10-11 ตลาดบริการอินเทอร์เน็ตร้อยละ 8-9 ที่เหลือเป็นตลาดบริการโทรคมนาคมอื่นๆ เช่น บริการ IP Service บริการประชุมทางไกล อย่างไรก็ดีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม และข้อกฎหมายในหลายเรื่อง อาจเป็นอุปสรรคต่อการนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้าสู่ตลาดในช่วงปีนี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้ให้บริการต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ธุรกิจบริการโทรคมนาคมปี 52 : หดตัวลงเล็กน้อย ตามภาวะเศรษฐกิจ

ปี 2552 ตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พบว่า การชะลอตัวของภาคการท่องเที่ยวอันเนื่องจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกและการระบาดของไข้หวัดใหญ่ H1N1 ทำให้รายได้จากบริการข้ามแดนอัตโนมัติในครึ่งปีแรกหดตัวลงถึงร้อยละ 25-26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ซึ่งการหดตัวอย่างรุนแรงดังกล่าวถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้รายได้ของผู้ให้บริการลดลง อย่างไรก็ดีการขยายตัวประมาณร้อยละ 13-15 ของรายได้จากบริการเสริมที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 15-16 ของรายได้ทั้งหมด น่าจะช่วยประคับประคองมูลค่าตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ลดลงจากปี 2551 ไม่มากนัก

สำหรับตลาดบริการโทรศัพท์พื้นฐานก็น่าจะหดตัวลงเช่นกัน ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจ และจากการเข้ามาแทนที่ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยรายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้ (ARPU) น่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 300 บาทต่อเลขหมาย ลดลงร้อยละ 9.43 จากปี 2551 ที่อยู่ที่ 331.25 บาทต่อเลขหมาย ในขณะที่ตลาดบริการอินเทอร์เน็ต น่าจะเป็นธุรกิจที่ขยายตัวได้ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ เนื่องจากการขยายตัวของจำนวนผู้ใช้งานที่น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 17-18 ล้านคน ขยายตัวจากปีที่แล้วประมาณร้อยละ 10 อีกทั้งอินเทอร์เน็ตยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงาน ดังนั้นผู้ใช้ที่ชำระค่าบริการแบบเหมาจ่าย และลูกค้าองค์กร จึงน่าจะมีปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้น

โดยรวมแล้ว แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2552 จะส่งผลต่อการชะลอตัวของการบริโภคและการลงทุน แต่ก็ถือว่าตลาดบริการโทรคมนาคมได้รับผลกระทบน้อยกว่าอุตสาหกรรมอื่น เนื่องจากโทรคมนาคมถือเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตและการทำธุรกิจ ประกอบกับหลายภาคธุรกิจได้นำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้นเพื่อลดต้นทุนในภาวะที่รายได้ลดลง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดบริการโทรคมนาคมปี 2552 น่าจะมีมูลค่าไม่เกิน 247,000 ล้านบาท หดตัวประมาณร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับปี 2551 ที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 6.57

บริการโทรคมนาคมปี 53 : ฟื้นตัว แต่ยังรอเทคโนโลยีใหม่ๆ และอีกหลากประเด็นที่รอข้อสรุป

มูลค่าตลาดบริการโทรคมนาคมน่าจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในปี 2553 จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ คาดว่า ปริมาณการใช้งาน (MOU) น่าจะเพิ่มขึ้น ทั้งจากบริการข้ามแดนอัตโนมัติและการโทรในประเทศ ที่น่าจะกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงปี 2551 ส่วนการใช้บริการเสริมน่าจะขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหนุนจากราคาสมาร์ตโฟนที่ถูกลง ทั้งนี้คาดว่ารายได้จากบริการเสริมน่าจะบทบาทต่อรายได้ของผู้ให้บริการมากขึ้น จนมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 17-19 ของรายได้ทั้งหมด และคาดว่าตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะมีมูลค่าประมาณ 161,000-165,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.0-4.5 จากปี 2552 ที่คาดว่าหดตัวลงร้อยละ 2 หรือมีมูลค่าไม่เกิน 158,000 ล้านบาท

แม้การเปิดประมูล 3G ความถี่ 2.1 GHz ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้บริการเสริม จะยังไม่มีกำหนดการที่แน่ชัด แต่การชูจุดขายด้านเทคโนโลยีใหม่ น่าจะเป็นกลยุทธ์ในการทำการตลาดที่สำคัญของผู้ให้บริการในปีนี้ โดยปัจจุบันผู้ให้บริการบางรายก็สามารถให้บริการ 3G ความถี่เดิมได้แล้ว ซึ่งประสิทธิภาพอาจไม่ทัดเทียม 3G ความถี่ใหม่ แต่ก็รองรับการรับส่งข้อมูลได้ดีกว่าเทคโนโลยี EDGE และ GPRS ที่ใช้อยู่เดิม โดยการให้บริการ 3G ของผู้ให้บริการเอกชนจะครอบคลุมบางพื้นที่ในกรุงเทพ เชียงใหม่ ชลบุรี หัวหิน เท่านั้น ส่วนรัฐวิสาหกิจรายหนึ่งที่ให้บริการ 3G ความถี่เดิม ด้วยระบบ CDMA ซึ่งปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ 51 จังหวัดในภูมิภาค ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการซื้อกิจการของคู่สัญญาสัมปทานรายหนึ่ง หากการเจรจาสำเร็จ จะสามารถขยายพื้นที่การให้บริการเพิ่มอีก 25 จังหวัดในภาคกลางรวมถึงกรุงเทพ ซึ่งผู้ให้บริการคาดว่าจะให้บริการได้ครอบคลุมทั้งประเทศได้ประมาณกลางปี 2553

สำหรับรัฐวิสาหกิจอีกรายที่เปิดให้บริการ 3G เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2552 พร้อมทั้งผู้เช่าโครงข่ายในลักษณะ MVNO (Mobile Virtual Network Operator) อีก 5 รายใหม่ ถือว่าเป็นเทคโนโลยี 3G ที่มีประสิทธิภาพของคลื่นทัดเทียมกับ 3G ความถี่ใหม่ที่จะเปิดประมูล แต่การให้บริการในระยะแรกยังจำกัดเฉพาะกรุงเทพ และปริมณฑล และมีจำนวนเลขหมายรวมเพียง 500,000 เลขหมาย โดยผู้ให้บริการมีแผนที่จะขยายการให้บริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และเพิ่มจำนวนเลขหมาย ด้วยงบลงทุน 20,000 ล้านบาท

การก้าวเข้ามามีบทบาทในเชิงธุรกิจมากขึ้นของรัฐวิสาหกิจทั้งสองราย และการเข้ามาของผู้ให้บริการรายใหม่ทั้ง 5 ราย น่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการแข่งขันในตลาด โดยผู้ให้บริการน่าจะเน้นกลยุทธ์สำหรับบริการเสริม เพื่อชดเชยกับรายได้จากบริการเสียงที่เริ่มอิ่มตัว ทั้งนี้บริการคงสิทธิเลขหมายที่คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือน สิงหาคม อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงส่วนแบ่งตลาดอยู่บ้าง เนื่องจากประสิทธิภาพการใช้งาน 3G ในแต่ละเครือข่ายมีความแตกต่างกัน

ปี 2553 ตลาดบริการอินเทอร์เน็ตน่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องในอัตราสองหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (broadband) ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานเพียง 2-2.5 ล้านราย หรือไม่ถึงร้อยละ 4 ของจำนวนประชากร ซึ่งแสดงถึงโอกาสการขยายตลาดได้อีกมาก ส่วนตลาดบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำน่าจะลดบทบาทลง เนื่องจากการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้อินเทอร์เน็ตที่มีอัตราความเร็วในการใช้งานดีขึ้น แต่เสียค่าบริการถูกลง

สำหรับปีนี้ คาดว่า กลยุทธ์ด้านราคาและคุณภาพการใช้งานน่าจะยังคงเป็นกลยุทธ์หลักของผู้ให้บริการ รวมถึงอาจขยายความร่วมมือไปยังธุรกิจอื่น เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นิคมอุตสาหกรรม ในการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงพิเศษ เพื่อเพิ่มกลุ่มลูกค้าองค์กร โดยเทคโนโลยีที่คาดว่าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น จะมีทั้งแบบใช้สาย เช่น ADSL ผ่านโทรศัพท์พื้นฐาน เทคโนโลยี PLC ผ่านสายไฟฟ้า เทคโนโลยี FTTH ผ่านใยแก้วนำแสง และเทคโนโลยีไร้สายใหม่ๆ ทั้ง 3G และ WiMAX ที่ยังรอความคืบหน้าในการจัดสรรใบอนุญาต

แม้ธุรกิจบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอินเทอร์เน็ต น่าจะเติบโตได้ดีในปี 2553 แต่สำหรับตลาดบริการโทรศัพท์พื้นฐานกลับน่าจะมีทิศทางที่หดตัวลง จากการเข้ามาแทนที่ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ อย่างไรก็ดีในแง่ของจำนวนผู้ใช้งานน่าจะอยู่ในระดับทรงตัว คืออยู่ในช่วง 6.5-7 ล้านเลขหมาย เนื่องจากโทรศัพท์พื้นฐานยังคงมีบทบาทในการติดต่อสื่อสารสำหรับสำนักงาน และจุดเด่นในการคิดอัตราค่าบริการระหว่างโทรศัพท์พื้นฐานด้วยกันที่ไม่แปรผันตามระยะเวลาการใช้งาน อีกทั้งโทรศัพท์พื้นฐานยังถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

ประเด็นเชิงนโยบายและปัญหาที่รอข้อสรุป

ในปี 2553 มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโทรคมนาคมมากมาย ซึ่งอาจส่งผลกระทบทั้งแผนการลงทุน ฐานะทางการเงิน และภาวะการแข่งขันของผู้ให้บริการ ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้รวบรวมไว้ ดังนี้

การเปิดประมูล 3G ความถี่ 2.1 GHz ซึ่งขณะนี้ยังรอการตีความของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาถึงอำนาจในการจัดสรรความถี่ของ กทช. ซึ่งหาก กทช. ไม่มีอำนาจในการจัดสรรแล้ว การเปิดประมูล 3G คงต้องชะลอออกไปจนกว่าการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะแล้วเสร็จ ซึ่งน่าจะส่งผลให้การจัดสรรใบอนุญาต WiMAX ก็น่าจะล่าช้าออกไปเช่นกัน อย่างไรก็ตามหากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า กทช. มีอำนาจในการจัดสรรความถี่แล้ว อาจมีประเด็นอื่นที่ยังต้องพิจารณา เช่น คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลที่มีผู้ถือหุ้นต่างชาติ และราคาเริ่มต้นประมูลที่เหมาะสม

แนวคิดการแปรสัญญาสัมปทาน เนื่องจากความกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับรัฐวิสาหกิจเจ้าของสัมปทานที่ต้องขาดส่วนแบ่งรายได้ที่ถือว่าเป็นรายได้หลัก หากผู้ให้บริการเอกชนที่เป็นคู่สัญญาย้ายลูกค้าจากระบบสัมปทานไปยังระบบ 3G ใหม่ที่มีใบอนุญาตเอง ซึ่งการแปรสัญญาสัมปทานอาจทำให้เอกชนต้องเสียผลประโยชน์บางอย่างเพื่อชดเชยกับระยะเวลาสัมปทานที่เหลืออยู่ เช่น การให้รัฐวิสาหกิจเข้ามาถือหุ้นบางส่วนในบริษัทใหม่ที่เอกชนจะตั้งขึ้นเพื่อให้บริการ 3G ความถี่ใหม่

การตรวจสอบการแก้ไขสัญญาสัมปทานในอดีต ที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มองว่า การแก้ไขสัญญาอาจไม่ผ่านกระบวนการตามพระราชบัญญัติให้เอกชนร่วมงานและดำเนินกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ซึ่งหากผลการพิจารณาร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะรัฐมนตรี เห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวไม่ถูกต้อง อาจทำให้ผู้ให้บริการเอกชนต้องถูกเรียกเก็บผลประโยชน์คืนตามความเสียหาย ซึ่งทาง สคร. ประเมินมูลค่าเบื้องต้นถึงกว่า 2 แสนล้านบาท

การขยายลงทุนของรัฐวิสาหกิจทั้งสองรายที่ดำเนินกิจการในธุรกิจโทรคมนาคม อาจต้องผ่านการพิจารณาและอนุมัติของหลายฝ่าย ทั้งคณะกรรมการบริหารของบริษัทเอง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะกระทรวงต้นสังกัด และกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งอาจมีผลต่อความคล่องตัวในการวางแผนการลงทุน การออกกลยุทธ์ และศักยภาพในการแข่งขัน

โดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2553 ธุรกิจโทรคมนาคมน่าจะเป็นธุรกิจหนึ่งที่เติบโตได้ดี อันเนื่องจากการขยายตัวของตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และตลาดบริการอินเทอร์เน็ต โดยมีปัจจัยบวกทั้งการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ และแนวโน้มราคาโทรศัพท์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์ที่ถูกลง รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคและธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีด้านการติดต่อสื่อสารมากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่า มูลค่าตลาดบริการโทรคมนาคมปี 2553 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 255,000-260,000 ล้านบาท พลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ร้อยละ 3.2-5.3 จากปี 2552 ที่น่าจะหดตัวประมาณร้อยละ 2.1 หรือมีมูลค่าไม่เกิน 270,000 ล้านบาท

โดยตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ คาดว่า ปริมาณการใช้งานน่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการเสริม ที่น่าจะก้าวมามีส่วนสำคัญต่อการเติบโตรายได้ของผู้ให้บริการ ด้านการแข่งขันในตลาดน่าจะทวีความรุนแรงขึ้น จากการปรับกลยุทธ์ในเชิงธุรกิจของผู้ให้บริการที่เป็นรัฐวิสาหกิจเพื่อให้สามารถแข่งขันกับเอกชนได้ นอกจากนี้ยังมีผู้ให้บริการ 3G แบบ MVNO ถึง 5 รายใหม่ ที่น่าจะเข้ามาช่วงชิงลูกค้าส่วนหนึ่ง ซึ่งบริการคงสิทธิเลขหมายที่คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนสิงหาคม อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงส่วนแบ่งตลาดอยู่บ้าง เนื่องจากประสิทธิภาพของ 3G ในแต่ละเครือข่ายแตกต่างกัน

เช่นเดียวกับการแข่งขันในตลาดบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่ถือว่าธุรกิจอยู่ในช่วงขาขึ้น ยังมีโอกาสในการขยายตลาดได้สูง โดยกลยุทธ์น่าจะยังคงเน้นการแข่งขันด้านราคาและอัตราความเร็วในการใช้งาน รวมถึงการร่วมมือกับธุรกิจอื่น เพื่อเพิ่มกลุ่มลูกค้าองค์กร ในขณะที่เทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารในยุคเก่าน่าจะค่อยๆลดบทบาทลง ทั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำ และโทรศัพท์พื้นฐาน

อย่างไรก็ดีปัจจัยกดดันตลาดยังคงเป็นการรอคอยเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่อาจต้องผ่านกระบวนการต่างๆของภาครัฐ ทั้งการตีความของกฤษฎีกาถึงอำนาจของกทช.ในการจัดสรรความถี่ และการจัดตั้ง กสทช. ที่จะมีอำนาจโดยตรงในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม รวมถึงอีกหลายประเด็นที่ผู้ให้บริการยังต้องติดตาม เช่น แนวคิดการแปรสัมปทานก่อนการเปิดประมูล 3G การตรวจสอบการแก้ไขสัญญาสัมปทานในอดีต ที่อาจส่งผลต่อฐานะทางการเงินของผู้ให้บริการเอกชน รวมถึงการพิจารณาอนุมัติการขยายการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ที่น่าจะส่งผลต่อภาวะการแข่งขันในตลาด