น้ำตาลทรายปี’53 : ต้องเร่งแก้ปัญหา…จากภาวะตลาดในประเทศตึงตัว

นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2553 มาจนถึงปัจจุบัน สินค้าที่มีความจำเป็นต่อการบริโภคและถูกกล่าวถึงอย่างต่อเนื่องก็คือ น้ำตาลทราย เนื่องจากเกิดการร้องเรียนทั้งจากผู้ค้าปลีก และประชาชนผู้บริโภคว่า ปริมาณน้ำตาลทรายไม่เพียงพอต่อความต้องการ ในขณะที่ บางพื้นที่ราคาจำหน่ายขึ้นไปอยู่ในระดับสูงกว่าที่ภาครัฐกำหนดไว้ที่ระดับ 22.50 บาท/ก.ก.สำหรับน้ำตาลทรายขาวและ 23.50 บาทต่อก.ก. สำหรับน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ทั้งที่ภาครัฐเอง ได้จัดสรรน้ำตาลทรายสำหรับจำหน่ายในประเทศ(โควตา ก.) ไว้ถึง 2.1 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 1.9 ล้านตันในปีก่อนหน้า ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ โดยปัญหาน้ำตาลทรายที่เกิดขึ้นนั้น มีปัจจัยหลักมาจาก ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น จนอยู่ในระดับที่สูงกว่าราคาในประเทศ ส่งผลให้มีน้ำตาลทรายบางส่วนที่กำหนดให้ใช้ในประเทศถูกส่งออกไปต่างประเทศที่ได้ราคาสูงกว่า ประกอบกับการที่ภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าส่งออกบางส่วน ได้หันมาใช้น้ำตาลทรายในประเทศที่มีราคาต่ำ แทนการใช้น้ำตาลทรายจากโควตาส่งออกที่มีราคาสูงกว่า ทำให้เกิดการแย่งใช้น้ำตาลทรายในประเทศกันอย่างกว้างขวาง

ภาครัฐจัดสรรน้ำตาลทราย 2.1 ล้านตัน : เพียงพอสำหรับบริโภคในประเทศ
โดยปกติ ช่วงก่อนที่จะเริ่มฤดูการหีบอ้อยเพื่อผลิตเป็นน้ำตาลทรายของทุกปี ภาครัฐ โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จะกำหนดปริมาณน้ำตาลทราย เพื่อใช้บริโภคในประเทศและเพื่อการส่งออก ตามปริมาณอ้อยทั่วประเทศที่คาดว่าจะผลิตได้ในฤดูการผลิตนั้นๆ โดยแบ่งการผลิตน้ำตาลทรายไว้เป็น 3 กลุ่มคือ
น้ำตาลทรายโควตา ก. คือน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ที่กำหนดให้โรงงานน้ำตาลทรายผลิตเพื่อใช้บริโภคในประเทศ

น้ำตาลทรายโควตา ข. คือน้ำตาลทรายดิบจำนวน 800,000 ตัน ที่โรงงานน้ำตาลทรายจะต้องผลิตเพื่อส่งมอบให้บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด ส่งออกและใช้เป็นราคาอ้างอิงสำหรับปริมาณส่งออกน้ำตาลทรายทั้งหมด

น้ำตาลทรายโควตา ค. คือน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาว หรือน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์นอกเหนือจากโควตา ก. และโควตา ข. ที่โรงงานน้ำตาลทรายสามารถผลิตเพื่อส่งออกได้ด้วยตนเอง

สำหรับในปีการผลิต 2552/53 ภาครัฐได้ประเมินเบื้องต้นพบว่า ปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งประเทศมีทั้งสิ้นประมาณ 71.6 ล้านตันและผลิตน้ำตาลทรายได้ 7.62 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีการผลิตก่อนหน้าซึ่งมีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 66.5 ล้านตันผลิตน้ำตาลทรายได้ 7.19 ล้านตัน ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จึงได้มีการกำหนดปริมาณการผลิตน้ำตาลทรายปี 2552/53 (บัญชีจัดสรรขั้นต้น) โควตา ก. ไว้ที่ 2.1 ล้านตัน (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 1.9 ล้านตัน) และกำหนดปริมาณการผลิตน้ำตาลทรายโควตา ค. ไว้ที่ 4.72 ล้านตัน (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 4.49 ล้านตัน)

เป็นที่น่าสังเกตว่า จากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น รวมทั้ง การระบาดของแมลงศัตรูพืชในบางพื้นที่เพาะปลูก ทำให้คาดว่า ปริมาณผลผลิตอ้อยทั่วประเทศจะปรับลดลงมาเหลือประมาณ 69 ล้านตัน ส่วนผลผลิตน้ำตาลทรายทั่วประเทศ คาดว่า จะอยู่ที่ระดับประมาณ 7.0 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม ตามพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 กำหนดให้โรงงานต้องผลิตน้ำตาลทรายเพื่อจำหน่ายในประเทศ(โควตาก.)ให้เพียงพอต่อความต้องการก่อน จึงจะผลิตน้ำตาลทรายเพื่อส่งออก(โควตา ข. และโควตา ค.) ดังนั้น ปริมาณน้ำตาลทรายเพื่อบริโภคในประเทศจึงยังคงกำหนดไว้ที่ระดับ 2.1 ล้านตัน และโควตาข. 8 แสนตัน ส่วนที่เหลือคือ น้ำตาลทรายโควตา ค.คาดว่าจะเหลืออยู่ที่ประมาณ 4.1 ล้านตัน

การที่ภาครัฐ กำหนดปริมาณน้ำตาลทรายเพื่อบริโภคในประเทศไว้ที่ระดับ 2.1 ล้านตัน จากระดับ 1.9 ล้านตัน ในปีการผลิตก่อน เนื่องจาก มีการพิจารณาถึงปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ปริมาณความต้องการบริโภคน้ำตาลทรายจึงเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของ การบริโภคน้ำตาลทรายโดยตรงจากประชาชน ซึ่งใช้เพื่อการประกอบอาหารประจำวันตามครัวเรือน โรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร เป็นต้น และการใช้น้ำตาลทรายในภาคอุตสาหกรรม หลายประเภทอาทิ อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม นม ยาและลูกกวาด เป็นต้น ซึ่งโดยปกติ ปริมาณน้ำตาลทรายที่จัดสรรไว้เพื่อการบริโภคในประเทศ มักจะเพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งบางครั้ง ยังมีปริมาณเหลือสำรองในปีต่อๆไปอีกด้วย ดังนั้น ปัญหาการขาดแคลนน้ำตาลทรายในประเทศ จึงถือเป็นเหตุการที่ไม่ปกติและเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

น้ำตาลทรายในประเทศขาดแคลน : ปัญหาหลักเกิดจากราคาตลาดโลกพุ่ง
นับตั้งแต่ต้นปี 2553 เป็นต้นมา โดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีกระแสข่าวการร้องเรียนจากประชาชนและร้านค้าปลีก ค้าส่ง ผู้ผลิตสินค้ารายย่อย ในพื้นที่จังหวัดต่างๆหลายแห่ง เกี่ยวกับการซื้อน้ำตาลทรายได้ยาก หรือไม่ได้ตามปริมาณที่ต้องการซื้อ รวมทั้งราคาจำหน่ายยังสูงเกินราคาควบคุมที่กำหนดไว้เพียง 22.50-23.50 บาท/ก.ก. ส่งผลให้ ภาครัฐต้องออกมาให้ข้อมูลว่า ปริมาณน้ำตาลทรายจะมีเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ เนื่องจากมีน้ำตาลทรายเข้าสู่ระบบอยู่ถึงสัปดาห์ละ 4.03 หมื่นตัน มากกว่าปีก่อนที่มีสัปดาห์ละ 3.65 หมื่นตัน จากโควตาทั้งปี 2.1 ล้านตัน แต่กระแสข่าวการหาซื้อน้ำตาลทรายได้ยากกว่าช่วงปกติ ก็ยังคงมีเป็นระยะ และดูทีท่าว่าจะรุนแรงเพิ่มขึ้น จนภาครัฐต้องเร่งหาสาเหตุและวิธีแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ปริมาณน้ำตาลทรายกลับเข้าสู่ตลาดตามปกติโดยเร็ว

ราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายจากแหล่งต่างๆตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด
ประเภทน้ำตาลทราย
ราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายแบบบรรจุกระสอบ(50ก.ก.)
ราคาน้ำตาลทรายแบบบรรจุถุง 1ก.ก.*

บาท/กระสอบ
บาท/กิโลกรัม

จากโรงงาน
จากผู้ค้าส่ง

น้ำตาลทรายขาว
1,016.50
1,051.25
21.85
น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์
1,070.0
1,104.75
22.85
ที่มา : คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กระทรวงพาณิชย์
หมายเหตุ : *ยังไม่รวมค่าภาชนะบรรจุ หากรวมแล้วราคาจำหน่ายปลีกจะอยู่ที่ 22.50-23.50 บาท/ก.ก.

โดยปกติแล้ว ปัญหาการขาดแคลนน้ำตาลทรายของไทย จะเกิดขึ้นได้เพียงไม่กี่กรณี ก็คือ
กรณีที่ 1 ปริมาณผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายในประเทศ ลดต่ำลงจนไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งกรณีนี้ประเทศไทยเคยประสบมาบ้างแล้วในช่วงก่อนที่จะมีพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 เนื่องจาก ราคาอ้อยที่เกษตรกรได้รับอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ส่งผลให้ ชาวไร่อ้อยหันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากปี 2527 เป็นต้นมา ภาครัฐก็ได้เข้ามาดูแลให้เกษตรกรมีรายได้จากการผลิตอ้อยที่เป็นธรรมมากขึ้น ทั้งโดยการให้ กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อนำมาช่วยพยุงราคาอ้อย รวมถึง การปรับขึ้นราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศ ซึ่งจากมาตรการต่างๆดังกล่าว ส่งผลให้ ผลผลิตน้ำตาลทรายของไทยในปัจจุบันมีเพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ และเหลือเพื่อการส่งออกถึงประมาณร้อยละ 70 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด

กรณีที่2. หากในช่วงใด เกิดกระแสข่าวการปรับขึ้นราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายของภาครัฐ ก็อาจจะทำให้ผู้ค้าน้ำตาลทรายชะลอหรือลดการระบายน้ำตาลทรายออกสู่ตลาด เพื่อหวังเก็งกำไรจากราคาน้ำตาลทรายที่จะปรับขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาครัฐเพิ่งปรับขึ้นราคาน้ำตาลทราย 5 บาท/ก.ก. ไปเมื่อปี 2551 เพื่อนำรายได้ส่งให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ไปชำระหนี้เงินกู้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ประกอบกับ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2553 เห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นปีการผลิต 2552/53 ในอัตรา 965 บาท/ตัน ณ ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส โดยเป็นระดับราคาที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.3 เมื่อเทียบกับราคาอ้อยขั้นต้นปีการผลิตก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 830 บาท/ตัน และถือเป็นราคาอ้อยที่สูงที่สุดในรอบ 27 ปี นับตั้งแต่มีพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา ดังนั้น คาดว่า การปรับราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายในระยะนี้ จึงมีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย

กรณีที่3 ราคาน้ำตาลทรายในประเทศต่ำกว่าราคาตลาดโลก โดยปกติ ราคาน้ำตาลทรายในประเทศจะอยู่สูงกว่าราคาตลาดโลก ทั้งนี้เนื่องจาก ภาครัฐได้เข้ามากำหนดราคาน้ำตาลทรายในประเทศให้อยู่ในระดับสูง เพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ขายน้ำตาลทรายได้ราคาต่ำในตลาดต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นกว่าราคาในประเทศ ก็มีความเป็นไปได้ ที่จะเกิดการลักลอบส่งออกน้ำตาลทรายไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ซึ่งได้ราคาที่ดีกว่า หรือเกิดจากกลุ่มผู้ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบผลิตเป็นสินค้าส่งออก หันมาใช้น้ำตาลทรายในส่วนที่กำหนดให้ใช้สำหรับจำหน่ายในประเทศ(โควตา ก.) แทนน้ำตาลทรายในส่วนโควตา ค.ที่กำหนดให้ใช้สำหรับผลิตสินค้าเพื่อส่งออก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ปัญหาการขาดแคลนน้ำตาลทรายที่ใช้บริโภคในประเทศ ที่เกิดขึ้นนับจากช่วงต้นปี 2553 เป็นต้นมา เป็นผลมาจากกรณีที่ 3 ก็คือราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นกว่าราคาที่จำหน่ายในประเทศ โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกได้เริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในช่วงปี 2552 เป็นต้นมา โดยมีราคาเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ระดับ 18.71 เซนต์/ปอนด์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.2 เมื่อเทียบกับปี 2551 ซึ่งราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกอยู่ในระดับเฉลี่ย 13.84 เซนต์/ปอนด์ สำหรับปี 2553 นั้น ราคาซื้อขายน้ำตาลทรายเดือนมกราคมเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 28.94 เซนต์/ปอนด์ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ 25.29 เซนต์ต่อปอนด์ในเดือนธันวาคมปี 2552 ส่วนราคาตลาดล่วงหน้าที่นิวยอร์ค ปี 2553 ปิด ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2553 ราคาเคลื่อนไหวอยู่ที่เฉลี่ย 22-27 เซนต์/ปอนด์ โดยมีราคาสูงสุด ณ เดือนมีนาคมที่ระดับ 26.95 เซนต์/ปอนด์ ซึ่งเป็นราคาที่สูงที่สุดในรอบ 27 ปี นับจากปี 2527 เป็นต้นมา

ปัจจัย ที่ส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น เกิดจาก ผลผลิตน้ำตาลทรายของประเทศผู้ผลิตรายสำคัญปรับลดลง เนื่องจาก ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่แปรปรวน ทั้งฝนที่ตกหนัก และฝนแล้งในบางพื้นที่ อาทิ บราซิล อินเดีย จีน รวมถึงไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ผลผลิตอ้อยลดลงต่ำกว่าที่คาดไว้ 2-3 ล้านตัน ทั้งนี้ F.O. Licht ได้คาดการณ์ไว้เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553 ว่า ในปีการผลิต 2552/53 ตลาดโลกจะขาดดุลน้ำตาลทราย 8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 6 ล้านตันที่ประมาณการไว้ครั้งก่อน ในขณะที่ บริษัทที่ปรึกษา Kingsman ก็คาดว่า ในปีการผลิต 2552/53 ตลาดโลกจะขาดดุลน้ำตาลทราย 11.92 ล้านตัน ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ต้องการนำเข้าน้ำตาลทรายเพื่อชดเชยผลผลิตที่ลดลง รวมทั้ง เพื่อเก็บสำรองเข้าสต็อกไว้ยามฉุกเฉิน และเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำตาลทรายในประเทศไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นมากเกินไป จนส่งผลกระทบต่อภาคประชาชน

ภาครัฐคุมเข้ม : สยบปัญหาขาดแคลนน้ำตาลทราย
ผลจากราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากตามที่กล่าวข้างต้น ในขณะที่น้ำตาลโควตา ค. ของไทยมีราคาอยู่ที่ประมาณ 25-27 บาท/ก.ก.(ยังไม่รวมค่าพรีเมียม) ส่วนราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายหน้าโรงงานก็อยู่ที่ระดับไม่เกิน 20.3-21.4 บาท/ก.ก. และราคาจำหน่ายปลีกอยู่ที่ 22.50-23.50 บาท/ก.ก.จึงนับเป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำตาลทรายในประเทศ โดยมีปัจจัยหนุน 4 ส่วนใหญ่ๆดังนี้

1.ความต้องการใช้น้ำตาลทรายของภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐให้สามารถซื้อน้ำตาลทรายโควตา ค.(น้ำตาลทรายที่ผลิตเพื่อการส่งออก) ซึ่งมีราคาต่ำกว่าราคาน้ำตาลทรายในประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีศักยภาพทางด้านการแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบัน ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลก ได้ปรับสูงขึ้นกว่าราคาจำหน่ายในประเทศมาก จึงมีแนวโน้มที่จะมีผู้ประกอบการบางราย หันมาซื้อน้ำตาลทรายจากในประเทศ(โควตา ก.)แทน ทำให้เข้ามาแย่งซื้อน้ำตาลทรายที่กันไว้เพื่อจำหน่ายในประเทศ แข่งกับผู้ค้าส่ง รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าจำหน่ายในประเทศ

2.การลักลอบส่งออกน้ำตาลทราย ปัจจุบัน ราคาจำหน่ายน้ำตาลของประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็น พม่า ลาว กัมพูชา อยู่ในระดับสูงกว่าไทยประมาณ 2-5 บาท/ก.ก. จึงส่งผลให้เกิดปัญหาการนำน้ำตาลทรายที่ใช้ในประเทศลักลอบส่งออกตามแนวชายแดนที่ได้ราคาดีกว่าแทน

3. การเก็งกำไรของผู้ค้าน้ำตาลทรายบางกลุ่ม ภายหลังจาก มีกระแสข่าวน้ำตาลทรายที่จำหน่ายในประเทศเริ่มเกิดภาวะตึงตัว ส่งผลให้กลุ่มผู้ค้าคนกลางบางราย คาดหวังว่า จะสามารถจำหน่ายน้ำตาลทรายในราคาที่สูงขึ้น จึงได้ชะลอหรือลดการระบายน้ำตาลทรายออกสู่ตลาดเพื่อหวังเก็งกำไรจากราคาน้ำตาลทรายที่จะปรับขึ้น ส่งผลให้ น้ำตาลทรายไม่ถูกปล่อยออกสู่ตลาดตามปกติ

4.ความกังวลของกลุ่มผู้ใช้น้ำตาลทรายทั่วไป จากการที่มีกระแสข่าวตามสื่อต่างๆว่า เกิดภาวะการขาดแคลนน้ำตาลทรายที่จำหน่ายในประเทศขึ้น ส่งผลให้ ผู้ใช้น้ำตาลทรายโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบผลิตสินค้า มีการเร่งสต็อกน้ำตาลทรายเพื่อลดความเสี่ยงด้านราคาและการเกิดภาวะขาดแคลนน้ำตาลในระยะข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่หน่วยงานภาครัฐทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม ตลอดจน สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ทราบถึงปัญหาปริมาณน้ำตาลทรายจำหน่ายในประเทศในบางพื้นที่ เริ่มประสบกับภาวะตึงตัวรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ผ่านมา ภาครัฐจึงได้มีมาตรการจัดการปัญหาดังกล่าว ซึ่งสรุปได้ ดังนี้

1.กรมการค้าภายในและสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จะร่วมกันดูแลการจำหน่ายน้ำตาลทรายให้เป็นไปตามกำหนด รวมทั้งตรวจสอบมิให้มีการกักตุนน้ำตาลทรายเกิดขึ้น

  2.ขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมศุลกากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงกลาโหม เพิ่มความเข้มงวด จังหวัดที่มีเขตแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อป้องกันการลักลอบส่งออกน้ำตาลทรายโดยผิดกฎหมาย

  3.ให้คณะกรรมการน้ำตาลทราย กำกับดูแลการใช้น้ำตาลทรายโควตา ค. ของบริษัทผู้ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกให้เป็นไปตามสิทธิที่ได้รับ โดยลงโทษผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด ด้วยการตัดสิทธิการใช้น้ำตาลทรายโควตา ค. ระยะเวลา 5 ปี จากเดิมที่กำหนดโทษไว้ 1 ปี

  4.ขอความร่วมมือโรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 46 โรงงาน ระมัดระวังในการจำหน่ายน้ำตาลทรายโควตา ก. ทั้งผู้ซื้อ ผู้ค้าส่ง (ยี่ปั๊ว) และผู้ผลิตสินค้าส่งออก ที่ได้รับสิทธิซื้อน้ำตาลทรายโควตา ค. เพื่อลดโอกาสการซื้อน้ำตาลทรายไปเก็บสำรอง กักตุน หรือลักลอบขายยังประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ ภาครัฐคาดว่า จากมาตรการดังกล่าวข้างต้น จะช่วยลดปัญหาน้ำตาลทรายในประเทศตึงตัวลงได้ แต่หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ก็อาจมีมาตรการเสริมอื่นๆ อาทิ การให้ผู้ที่มีน้ำตาลทรายที่เกินกำหนด ต้องแจ้งปริมาณซื้อ-ขาย ปริมาณสต็อก สถานที่จัดเก็บ รวมถึงการใช้มาตรการควบคุมการขนย้ายน้ำตาลทราย เป็นต้น

ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลก : มีแนวโน้มปรับลดลง…ช่วยแก้ปัญหาน้ำตาลขาดตลาด
ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าราคาจำหน่ายในประเทศ เป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้เกิดปัญหาปริมาณน้ำตาลทรายไม่เพียงพอต่อความต้องการ ในขณะที่ บางพื้นที่ราคาจำหน่ายก็ขึ้นไปอยู่ในระดับสูงกว่าที่ภาครัฐกำหนด ดังนั้น ทิศทางราคาน้ำตาลในตลาดโลก จึงมีอิทธิพลอย่างสูงต่อปัญหาน้ำตาลทรายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ว่าจะคลี่คลายลงได้รวดเร็วเพียงใด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ราคาน้ำตาลตลาดโลก มีทิศทางที่ชะลอตัวลง ภายหลังจากที่ ประเทศต่างๆมีความพยายามเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำตาลตามแรงจูงใจด้านราคา ซึ่งสอดคล้องกับ F.O.Licht ได้คาดว่า ในปี 2553/54 ผลผลิตน้ำตาลที่เพิ่มมากขึ้นจากบราซิลและประเทศอื่นๆ เข่น อินเดีย และ ไทย จะทำให้ราคาน้ำตาลทรายดิบปรับตัวลดลง ในขณะที่บริษัทที่ปรึกษา Kingsman คาดว่า ในปี 2553/54 จะมีผลผลิตน้ำตาลโลกส่วนเกิน (Surplus) 3.99 ล้านตัน เทียบกับที่มีผลผลิตน้ำตาลโลกส่วนขาด (Deficit) 11.92 ล้านตัน ในปี2552/53 เพราะผลผลิตน้ำตาลของบราซิลที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่า ราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะเริ่มปรับตัวลดลงภายในเดือนเมษายน 2553 และการซื้อขายน้ำตาลในปี 2553/54 จะมีราคาระดับบนอยู่ในช่วง 20-24 เซนต์ต่อปอนด์ และราคาระดับล่างอยู่ที่ 18-20 เซนต์ต่อปอนด์ ในขณะที่ สมาคมอุตสาหกรรมนํ้าตาลของอินเดีย คาดว่า ปี 2553/54 อินเดียจะมีผลผลิตนํ้าตาล 22-23 ล้านตัน โดยเพิ่มขึ้นจากผลผลิตนํ้าตาล 15-15.5 ล้านตันของปี 2552/53 ซึ่งผลผลิตดังกล่าว ใกล้เคียงกับปริมาณการบริโภคของอินเดีย ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าน้ำตาลของอินเดีย ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำตาลรายใหญ่ของโลกลดลง

จากปัจจัยทางด้านราคาน้ำตาลตลาดโลกที่มีทิศทางปรับลดลง จะช่วยให้ปัญหาปริมาณน้ำตาลขาดแคลนของไทยบรรเทาลงได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ตามการปรับราคาน้ำตาลทรายของตลาดโลกที่จะค่อยๆปรับลดลง ดังจะพิจารณาได้จากราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายล่วงหน้า ตลาดนิวยอร์ค ในปี 2553 (ปิด ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2553) ส่งมอบเดือนมีนาคมอยู่ที่ 26.95 เซนต์/ปอนด์ ก่อนที่ราคาจะค่อยๆลดลงมาอยู่ที่ระดับ 26.33 เซนต์/ปอนด์ในเดือน พฤษภาคม 24.19 เซนต์/ปอนด์ในเดือนกรกฎาคม และ22.29 เซนต์/ปอนด์ในเดือนตุลาคม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สถานการณ์เกี่ยวกับปริมาณน้ำตาลทรายไม่เพียงพอต่อความต้องการ และบางพื้นที่ราคาจำหน่ายก็ขึ้นไปอยู่ในระดับสูงกว่าที่ภาครัฐกำหนดนั้น ไม่น่าจะขยายวงกว้างออกไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่น่าจะเริ่มคลี่คลายลงเป็นลำดับ โดยเฉพาะภายหลังจากที่บราซิลเริ่มเปิดหีบอ้อยในฤดูการผลิต 2553/54 ในช่วงเดือนมีนาคมนี้ได้ จะทำให้ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกค่อยๆปรับลดลงมา จนทำให้ผลต่างของราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกเมื่อเทียบกับราคาน้ำตาลทรายในประเทศแคบลง

บทสรุป
ประเทศไทย นับเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากบราซิล และเป็นอันดับหนึ่งในเอเชีย โดยมีปริมาณการส่งออกประมาณร้อยละ 70 ของปริมาณการผลิตน้ำตาลทรายทั้งหมดของไทย หรือประมาณ 5 ล้านตันต่อปี อีกทั้งภาครัฐ ยังได้กำหนดให้โรงงานผลิตน้ำตาลทรายสำหรับบริโภคในประเทศเป็นลำดับแรก ที่เหลือจึงผลิตสำหรับการส่งออก ดังนั้น ในภาวะปกติ ปัญหาการขาดแคลนน้ำตาลทรายในประเทศจึงเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก นอกจากจะเกิดตาม 3 กรณีดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และสำหรับในครั้งนี้ ปัญหาหลักเกิดจาก ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าระดับราคาในประเทศค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ก็คาดว่า ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกจะค่อยๆทะยอยปรับลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ภายหลังจากที่ ประเทศต่างๆมีความพยายามเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำตาลทรายตามแรงจูงใจด้านราคา ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการแก้ปัญหาน้ำตาลทรายในประเทศเวลานี้ อย่างไรก็ตาม คาดว่า การที่ภาครัฐได้ใช้มาตรการควบคุมและดูแลป้องกันไม่ให้เกิดการกักตุน และเกิดการลักลอบนำน้ำตาลทรายที่กำหนดให้ใช้ในประเทศไปส่งออก รวมทั้งการดูแลผู้ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกให้ใช้สิทธิ์ซื้อน้ำตาลทรายโควตา ค. ตามที่ได้รับอนุญาตอย่างเคร่งครัด ก็จะแก้ไขปัญหาน้ำตาลทรายขาดตลาดที่เกิดขึ้นในเวลานี้ลงไปได้ แต่ในช่วงเร่งด่วนนี้ ภาครัฐเองจะต้องเร่งเข้าไปสร้างความเชื่อมั่นให้ทุกฝ่าย ทั้งภาคประชาชน และภาคอุตสาหกรรม คลายความกังวลเกี่ยวกับปริมาณน้ำตาลทรายในประเทศที่มีเพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งจะช่วยให้การกักตุนน้ำตาลทรายบรรเทาลง และช่วยให้ปริมาณน้ำตาลทรายในตลาดกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น