กรีซถูกลดอันดับเครดิต…เพิ่มความเสี่ยงยูโรโซน

ความกังวลต่อวิกฤตด้านการคลังของประเทศสมาชิกยูโรโซนบางประเทศ อาทิ กรีซ และโปรตุเกส เพิ่มมากขึ้น แม้ว่ากรีซกำลังดำเนินการเจรจาเกี่ยวกับแผนการช่วยเหลือทางการเงิน 4.5 หมื่นล้านยูโร กับประเทศสมาชิกยูโรโซนและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) อยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้ การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซและโปรตุเกสอย่างรุนแรง โดยสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (S&P) เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 ได้ส่งผลให้ความเสี่ยงของวิกฤตกรีซและโปรตุเกสยกระดับขึ้น และทำให้ความวิตกต่อการลุกลามของปัญหาไปยังประเทศอื่นๆ ในยูโรโซนยังคงเป็นจุดสนใจหลักของตลาดการเงินทั่วโลก ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยทำการรวบรวมประเด็นแวดล้อมล่าสุดของปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซและประเทศอื่นๆ ในยูโรโซน ไว้ดังนี้ :-

ประเด็นแวดล้อมล่าสุดของปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซและประเทศอื่นๆ ในยูโรโซน
ฐานะการคลังของกรีซและประเทศอื่นๆ ในยูโรโซนย่ำแย่กว่าที่เคยประเมินไว้
สำนักงานสถิติยุโรปทำการปรับทบทวนยอดขาดดุลงบประมาณปี 2552 ของประเทศสมาชิกยูโรโซนหลายประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งยอดขาดดุลการคลังของกรีซและไอร์แลนด์ ซึ่งถูกปรับทบทวนขึ้นเป็น 13.6% (จาก 12.7%) และ 14.3% (จาก 12.5%) ของจีดีพีแต่ละประเทศ ตามลำดับ ขณะที่ ยอดขาดดุลงบประมาณของกลุ่มยูโรโซนรวมอยู่ที่ 6.3% ของจีดีพีในปี 2552 และอาจขยับขึ้นเป็น 6.9% ของจีดีพีในปี 2553 ซึ่งนับเป็นการทุบสถิติยอดขาดดุลงบประมาณที่สูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการใช้เงินยูโรร่วมกัน

ยอดขาดดุลงบประมาณที่ถูกปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ แนวโน้มทางการคลังที่ไม่มีสัญญาณบวกอย่างชัดเจน ทำให้สมาชิกยูโรโซนหลายประเทศเผชิญความเสี่ยงต่อการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยล่าสุดสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (S&P) ปรับลดอันดับเครดิตของกรีซถึง 3 ขั้นลงสู่ระดับ “BB+” ซึ่งต่ำว่าอันดับที่น่าลงทุน (Junk Territory) ขณะที่ อันดับเครดิตของโปรตุเกสถูกปรับลดลง 2 ขั้นสู่ระดับ “A-” โดยมีแนวโน้มเครดิตเป็น “เชิงลบ” ซึ่งเป็นนัยว่า ยังมีความเสี่ยงที่จะมีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงอีกครั้งในระยะข้างหน้า หากฐานะการคลังที่อ่อนแอยังไม่ได้รับการแก้ไข
ความกังวลต่อวิกฤตหนี้จะลุกลามในยูโรโซนผลักดันให้ต้นทุนการระดมทุน/ค่าพรีเมี่ยมป้องกันความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น ในกรณีของกรีซ ความเข้มข้นของวิกฤตส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของกรีซอยู่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีถึงประมาณ 7.12% ซึ่งนับเป็นค่าความแตกต่างที่กว้างที่สุดนับตั้งแต่ปี 2541 ขณะที่ ความแตกต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีระหว่างทั้ง 2 ประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 15.0% และสำหรับโปรตุเกสนั้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของโปรตุเกสทะยานขึ้นอย่างมากหลังการประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ และทำให้ค่าความแตกต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีระหว่างโปรตุเกสกับเยอรมนีทะยานขึ้นอย่างมากมาอยู่ที่ระดับประมาณ 2.70%
ส่วน Credit Default Swap (CDS) ที่สะท้อนพรีเมี่ยมป้องกันการผิดนัดชำระหนี้ของกรีซและโปรตุเกส พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในประวัติการณ์ ที่ระดับ 821 bps. และ 370 bps. ตามลำดับ ขณะที่ ค่า CDS สำหรับสเปน และไอร์แลนด์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศสมาชิกยูโรโซนที่มีปัญหาด้านการคลังก็ปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกัน ซึ่งเป็นนัยว่า ความเสี่ยงต่อการลุกลามของวิกฤตหนี้ภาครัฐจากกรีซไปยังโปรตุเกส และประเทศสมาชิกอื่นๆ ในยูโรโซน อาจเพิ่มมากขึ้นในระยะข้างหน้า

ความเสี่ยงในระยะข้างหน้า…ประเมินโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย
แม้แผนความช่วยเหลือทางด้านการเงินสำหรับกรีซจากยูโรโซนและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) อาจถูกผลักดันออกมาในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า และน่าจะทันเวลาในการรับมือกับโจทย์ระดมทุนเพื่อไถ่ถอนพันธบัตรรัฐบาลกรีซ (มูลค่า 8.5 พันล้านยูโร) ที่จะครบกำหนดในวันที่ 19 พฤษภาคม นี้ อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมุมมองเช่นเดิมว่า ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่กรีซดังกล่าวเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น และมีความเป็นไปได้ว่า สหภาพยุโรปอาจต้องเตรียมแผนการรับมือเพิ่มเติมหากประเทศสมาชิกอื่นๆ ในยูโรโซนต้องเผชิญกับปัญหาระดมทุน และต้นทุนการกู้เงินที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกับกรีซ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า พัฒนาการของวิกฤตหนี้สาธารณะ และฐานะการคลังที่อ่อนแอของประเทศสมาชิกอื่นๆ ในยูโรโซน ยังไม่น่าจะมีสัญญาณดีขึ้นอย่างชัดเจนในระยะหลายเดือนข้างหน้า เนื่องจากเครื่องมือในการแก้ไขเยียวยาประเทศสมาชิกยูโรโซนที่มีปัญหาทางด้านการคลัง ณ ขณะนี้ มีไม่มากนัก โดยแผนการรัดเข็มขัดทางด้านการคลังที่เข้มงวดอาจทำได้ยากในทางปฎิบัติ ขณะที่ กลไกนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนก็ต้องเป็นไปตามแนวทางของธนาคารกลางยุโรปที่ทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและการเงินของยูโรโซนโดยรวม นั่นหมายความว่า ประเทศสมาชิกยูโรโซนที่มีฐานะการคลังที่อ่อนแอ (อาทิ กรีซ และโปรตุเกส) ไม่มีกลไกในการกดอัตราดอกเบี้ย และลดค่าเงินให้ต่ำไปกว่าประเทศสมาชิกอื่นๆ ในยูโรโซน เพื่อสะท้อนปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่าโดยเปรียบเทียบ ดังนั้น เมื่อเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจไม่อาจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อาจกดดันให้ฐานะการคลังย่ำแย่ลงไปอีก ซึ่งก็จะสวนทางกับความกังวลต่อความสามารถในการชำระหนี้ และ/หรือความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับโครงสร้างหนี้ภาครัฐที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้นภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว

ทั้งนี้ ประเด็นความเสี่ยง และ/หรือเหตุการณ์สำคัญจากวิกฤตด้านการคลังในยูโรโซน ที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในระยะข้างหน้า ประกอบด้วย

เอกภาพของยูโรโซนในการเร่งรัดแก้ไขปัญหาของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าทีของรัฐบาลเยอรมนีท่ามกลางแรงคัดค้านแผนการช่วยเหลือกรีซจากประชาชนในประเทศ ทั้งนี้ พัฒนาการของวิกฤตกรีซที่รุนแรงขึ้น อาจทำให้ยูโรโซน/IMF จำเป็นต้องเพิ่มขนาดความช่วยเหลือกรีซให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นไปอีกเพื่อพลิกฟื้นความเชื่อมั่น นอกจากนี้ ต้นทุนการระดมทุนของประเทศสมาชิกยูโรโซนหลายๆ ประเทศที่เพิ่มขึ้นอันเป็นผลกระทบจากวิกฤตกรีซ อาจส่งผลให้สหภาพยุโรปจำเป็นต้องกระจายความช่วยเหลือไปยังประเทศที่มีปัญหาการคลังอื่นๆ เช่นเดียวกับกรีซอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การยืนหยัดของระบบยูโรโซน / การยกเครื่องเพื่อสร้างกลไกรองรับวิกฤตของประเทศสมาชิกในอนาคต แม้กรีซจะเป็นประเทศที่มีขนาดสัดส่วนเพียง 2.6% ของเศรษฐกิจยูโรโซนโดยรวม แต่พัฒนาการของวิกฤตกรีซที่รุนแรงขึ้น ได้สร้างแรงกดดันต่อค่าเงินยูโรอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และเป็นปรากฎการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่า กฎระเบียบ และข้อจำกัดของเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในแถบยูโรโซนซึ่งอยู่ภายใต้กรอบเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและการเงินเดียวกันนั้น ทำให้ประเทศสมาชิกที่มีปัญหาการคลัง เช่น กรีซ ต้องเผชิญกับสภาวะที่ยากลำบากในการเยียวยาปัญหา เนื่องจากไม่สามารถปรับลดค่าเงินและอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้เอง
ทั้งนี้ แม้การลุกลามของวิกฤตไปยังประเทศสมาชิกยูโรโซนอื่นๆ และ/หรือการถอนตัวของประเทศใดประเทศหนึ่งออกยูโรโซน อาจเป็นชนวนเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบยูโรโซน แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้มีการสร้างกลไกรองรับวิกฤต อาทิ แผนการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือของยุโรป (European Monetary Fund: EMF) ขึ้นในอนาคต

เจ้าหนี้ของกรีซอาจต้องแบกรับความสูญเสีย หากกรีซจำต้องขอเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งนี้ ต้นทุนการระดมทุนของกรีซที่น่าจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงท่ามกลางวิกฤต อาจส่งผลทำให้ความเสี่ยงต่อการเลื่อนนัดชำระหนี้ เจรจาปรับโครงสร้างหนี้ และ/หรือผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลกรีซ เพิ่มสูงขึ้นในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากแผนการช่วยเหลือทางการเงินสำหรับกรีซผูกเงื่อนไขการรักษาวินัยทางการคลังที่มีความเข้มงวด จนทำให้เศรษฐกิจของกรีซต้องเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรง ทั้งนี้ S&P ประเมินว่า ผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลกรีซอาจเผชิญกับความสูญเสียเป็นมูลค่ามากถึง 2.0 แสนล้านยูโร หากรัฐบาลกรีซผิดนัดชำระหนี้

แม้วิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก ซึ่งเป็นภาคต่อของวิกฤตซับไพร์มในสหรัฐฯ ได้ยุติลงแล้ว พร้อมๆ กับการฟื้นตัวขึ้นจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในหลายๆ ภูมิภาคของโลก แต่ก็คงต้องยอมรับว่า ตลาดการเงินโลก ณ ขณะนี้ ยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงในหลายๆ ด้าน อาทิ ความกังวลต่อเส้นทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ภาวะฟองสบู่ของประเทศในแถบเอเชีย รวมถึงวิกฤตด้านการคลังของประเทศสมาชิกยูโรโซนบางประเทศ ซึ่งกำลังเป็นประเด็นหลักที่กระทบการปรับตัวของตลาดการเงินทั่วโลก และเป็นแรงหนุนสำคัญของค่าเงินดอลลาร์ฯ (แต่เป็นแรงกดดันต่อค่าเงินยูโร) อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2552 เป็นต้นมา

สำหรับผลกระทบต่อไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การลากยาวของวิกฤตกรีซ และการกระจายตัวของวิกฤตไปยังประเทศสมาชิกยูโรโซนอื่นๆ อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ตามหลังการฟื้นตัวของภูมิภาคอื่นๆ และน่าจะทำให้แรงกดดันในช่วงขาลงของค่าเงินยูโรยังคงไม่หมดไปในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่า การส่งออกของไทยไปยังยุโรปอาจต้องเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจยูโรโซน และแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินยูโรเมื่อเทียบกับเงินบาท (เงินบาทแข็งค่าขึ้นราว 12% เมื่อเทียบกับเงินยูโร แต่แข็งค่าขึ้นเพียง 3.2% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ นับจากต้นปี 2553) ไปพร้อมๆ กัน

อย่างไรก็ดี หากย้อนกลับมามองสถานการณ์ของประเทศไทย ก็คงจะทำให้เบาใจไปได้ในระดับหนึ่งว่า แม้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศของไทย อาจทำให้ไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลง แต่กรณีของไทยน่าที่จะมีความแตกต่างไปจากวิกฤตหนี้ของกรีซ เนื่องจากฐานะทางการคลังของไทยค่อนข้างเข้มแข็ง (ระดับหนี้สาธารณะของไทยยังคงต่ำกว่า 50% ของจีดีพี โดยอยู่ที่ระดับ 44.2% ในเดือนม.ค. 2553) การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลสามารถทำได้เกินเป้าหมาย สภาพคล่องยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ ระดับหนี้ต่างประเทศมีไม่มากนัก ซึ่งปัจจัยแวดล้อมดังกล่าวน่าจะทำให้รัฐบาลไทยไม่เผชิญกับปัญหาการระดมทุนแบบที่กรีซเผชิญอยู่ ขณะที่ ธปท.เอง ก็มีความยืดหยุ่นในการปรับเครื่องมืออัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนให้สอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งทำให้เชื่อมั่นได้ว่า หากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศคลี่คลายลง เศรษฐกิจไทยก็คงจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง