สสว.ชี้ผลประกอบการ SMEs ไตรมาสแรกสะดุด ผลจากสถานการณ์การเมืองและราคาน้ำมัน

สสว. ร่วมกับ ธนาคารกสิกรไทย สมาคมผู้ส่งออกทางเรือ และเอไอเอส สรุปรายงานสถานการณ์ SMEs ไตรมาสแรกของปี ภายในหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายของ SMEs ไทย” ชี้ไตรมาสแรก ออกอาการสะดุดเพราะการเมือง บวกราคาน้ำมันพุ่ง

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเอสเอ็มอี (สสว.) กล่าวว่า ในปี 2552 ที่ผ่านมา มีกิจการ SMEs ที่จัดตั้งใหม่ จำนวนทั้งสิ้น 41,220 ราย ซึ่งลดลงจากปี 2551 ทั้งปีร้อยละ 3.57 ขณะที่ในปี 2553 ตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.พ. 2553 มีจำนวนการจัดตั้งกิจการเพิ่มขึ้น โดยมีสาเหตุเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่มีสัญญาณการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น การบริโภคในประเทศมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง เริ่มมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมไตรมาสที่ 1/2553 มีมูลค่า 2,567.0 พันล้านบาท โดยมีการขยายตัวร้อย 12.0 ขณะที่ผลิตภัณฑ์มอลรอบของ SMEs ไตรมาศที่ 1/2553 มีมูลค่า 955.2 พันบ้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11.0 โดยในส่วนของ SMEs มีปัจจัยบวก ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ระยะที่ 1 ประชาชนมีกำลังซื้อสูงขึ้น จากอัตราการว่างงานที่ลดลง จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี การส่งออกที่ฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ขณะเดียวกัน แนวโน้มดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TSSI) ของผู้ประกอบการ SMEs ด้านการลงทุนและการจ้างงาน มีทิศทางและแนวโน้มการเคลื่อนไหวสอดคล้องต่อเนื่องไปในทิศทางเดียวกันมาโดยตลอด ซึ่งจะมีค่าทรงตัวอยู่ใกล้เคียงกับค่าฐานที่ 100 โดยแนวโน้มดัชนีความเชื่อมั่น TISI ด้านผลประกอบการ มีทิศทางการปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2552 จนถึงต้นปี 2553 หลังจากนั้นค่อยๆ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องในช่วงเดือนก.พ.-มี.ค. 53 เนื่องจากยอดขายลดลง

“ดัชนี TISI ในช่วงต้นปี 2553 ดัชนีลดลงเป็น 2 เดือน ติดต่อกัน ตามการลดลงขององค์ประกอบดัชนีด้านยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ โดยมีสาเหตุมาจากการชุมนุมที่ยืดเยื้อและความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองที่อาจเกิดความรุนแรง ทำให้ผู้บริโภคมีการชะลอการใช้จ่ายลง รวมถึงปัญหาภัยแล้ง” นายยุทธศักดิ์ กล่าว

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีทิศทางการปรับตัวที่ดีขึ้น โดยเฉพาะองค์ประกอบด้านการผลิต และคำสั่งซื้อที่เร่งผลิตเพื่อรองรับการหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์เดือนเมษายน 2553

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) มีแนวโน้มการปรับตัวในทิศทางที่ลดลงในช่วงก.พ.-มี.ค. 2553 โดยมีปัจจัยลบมาจากการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มนปช. และระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่เพิ่มขึ้นสูง

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) SMEs ในไตรมาสแรกของปี 2553 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

“อัตราการขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม SMEs ในเดือนมีนาคม 2553 มีการเติบโตเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อนในเดือนเดียวกัน โดยสาขาการผลิตที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ สาขาการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ สาขาการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ และสินค้าที่เกี่ยวข้อง สาขาการผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน สาขาการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์อื่นๆ สาขาการผลิตเครื่องแต่งกาย ยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ทำจากขนสัตว์ เป็นต้น” นายยุทธศักดิ์ กล่าว

นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทย ให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการที่เป็นเอสเอ็มอีมาโดยตลอด ช่วงที่ผ่านมาได้ให้การสนับสนุนทั้งเงินทุน ความรู้ การฝึกอบรมต่างๆ เพื่อให้เอสเอ็มอีของไทยมีความแข็งแกร่ง เติบโตอย่างมั่นคง

ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ (ม.ค.-มีค..) ธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อเอสเอ็มอีไปแล้ว 49,165 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 85% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยภาคธุรกิจที่มีการขอสินเชื่อมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและค้าวัสดุก่อสร้างในโครงการภาครัฐ 10,886 ล้านบาท กลุ่มสินค้าเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การส่งออกอาหาร 14,551 ล้านบาท และกลุ่มธุรกิจภาคบริการ 7,811 ล้านบาท และกลุ่มธุรกิจอื่นๆ 15,917 ล้านบาท

นอกจากนั้นยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน K-SME Start-Up Solution เพื่อให้การสนับสนุนแก่กลุ่มเอสเอ็มอีที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจ โดยในไตรมาสแรกมีสมาชิก 15,000 ราย คิดเป็นยอดสินเชื่อ 240 ล้านบาท

“ที่ผ่านมา ธนาคารได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเอสเอ็มอี (สสว.) ดำเนินโครงการก่อร่างสร้างตัวเพื่อเอสเอ็มอีรายใหม่ ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน เพื่อสนับสนุนด้านวิทยากรในการบรรยายและข้อมูลต่างๆ ในหลักสูตรสัมมนา โดยปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 7,000 ราย นอกจากนั้น ยังให้ความรู้แก่เอสเอ็มอี โดยการจัดอบรมโครงการ K-SME Care ซึ่งเป็นหลักสูตรอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพแก่เอสเอ็มอี ที่จัดมา 4 ปี มีผู้เข้าร่วมอบรมแล้วประมาณ 5,000 ราย และการจัดทำรายการ SME ตีแตก ซึ่งเป็นรายการรูปแบบ Edutainment เกี่ยวกับเอสเอ็มอีโดยตรงที่ได้รับความนิยมสูงสุดในขณะนี้” นายปกรณ์ กล่าว

นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง โดยให้ความช่วยเหลือด้วยการยืดระยะเวลาชำระเฉพาะดอกเบี้ย (Grace Period) แก่ลูกค้าสูงสุด 1 ปี ขยายเทอมของตั๋วการใช้เงิน (PN, TR, PC) ออกไป 3 เดือน โดยไม่ต้องมีเอกสารการสั่งซื้อรองรับ และให้วงเงินกู้เพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกค้าเป็นจำนวนเงินสูงสุด 2 ล้านบาทต่อราย สำหรับลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

“ในปีนี้ ธนาคารจะเน้นนำเสนอบริการทางการเงินที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และเป็นที่หนึ่งในใจผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ร่วมถึงร่วมกับสสว.ในการพัฒนาหลักสูตรการอบรมสัมมนาต่างๆ เพื่อส่งเสริมศักยภาพให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เริ่มต้นทำธุรกิจสามารถทำธุรกิจให้ยั่งยืนต่อไป” นายปกรณ์ กล่าว

นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานสภาผู้ส่งออกทางเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 ที่ผ่านมา พบว่ามีปริมาณสินค้าส่งออกจากประเทศในแถบเอเชียเป็นจำนวนมาก เนื่องจากประเทศในสหภาพยุโรปสั่งซื้อสินค้าเพิ่มเพื่อนำไปทดแทนสินค้าคงคลังที่ได้มีการอุปโภคบริโภคไปในช่วงวิกฤต 2 ปีที่ผ่านมา แต่สำหรับในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ปริมาณสินค้าส่งออกน่าจะทรงตัวแต่ก็ยังไม่อาจจะคาดเดาสถานการณ์ได้” นายไพบูลย์ กล่าว

โดยในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 นี้ คาดว่าค่าระวางเรือยังคงมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น แต่อาจจะลดระดับการปรับอัตราลง โดยเฉพาะในเส้นทางไทย-ยุโรป ที่ได้มีการปรับขึ้นของอัตราค่าระวางเรือในช่วงกว้างตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งจากการสอบถามจากสายเรือหลายๆ สาย พบว่าค่าระวางเรือในแต่ละสาย จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละสายเรือ

โดยค่าระวางในเส้นทางไทย-ยุโรป จะยังทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกันกับช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ในอัตรา USD2000-2200/ ตู้ 20 ฟุต และ USD4000-4500/ ตู้ 40 ฟุต

ส่วนเส้นทางไทย-สหรัฐ คาดว่าอัตราค่าระวางเรือในเส้นทางสายนี้ จะมีการปรับขึ้นในอัตรา USD800-1000/ตู้ ในรอบการต่อสัญญาซื้อระวางเรือของปี 2553 (1 พฤษภาคม 2553 -30 เมษายน 2554) เนื่องจากในปี 2552 ที่ผ่านมาอัตราค่าระวางเรือในเส้นทางนี้ได้มีการปรับลดลงเป็นอย่างมากตามสภาวะกลไกการตลาด สืบเนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แม้ว่าในช่วงปลายปี 2552 สภาพเศรษฐกิจเริ่มมีการส่งสัญญาณการฟื้นตัว แต่อัตราค่าระวางเรือในเส้นทางสายนี้ก็ไม่สามารถปรับขึ้นได้เนื่องจากเป็นไปในลักษณะการเซ็นสัญญาซื้อขายระวางเรือในอัตราเดียวตลอดทั้งปี

ขณะที่เส้นไทยไทย-ญี่ปุ่น คาดว่าอัตราค่าระวางเรือในเส้นทางสายนี้จะมีการปรับขึ้นในอัตรา USD800-1000/ตู้ ในรอบการต่อสัญญาซื้อระวางเรือของปี 2553 (1 พฤษภาคม 2553 -30 เมษายน 2554) เนื่องจากในปี 2552 ที่ผ่านมาอัตราค่าระวางเรือในเส้นทางนี้ได้มีการปรับลดลงเป็นอย่างมากตามสภาวะกลไกการตลาดสืบเนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แม้ว่าในช่วงปลายปี 2552 สภาพเศรษฐกิจเริ่มมีการส่งสัญญาณการฟื้นตัว แต่อัตราค่าระวางเรือในเส้นทางสายนี้ก็ไม่สามารถปรับขึ้นได้เนื่องจากเป็นไปในลักษณะการเซ็นสัญญาซื้อขายระวางเรือในอัตราเดียวตลอดทั้งปี

“ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 ที่ผ่านมา พบว่ามีปริมาณสินค้าส่งออกจากประเทศในแถบเอเชียเป็นจำนวนมาก เนื่องจากประเทศในสหภาพยุโรปสั่งซื้อสินค้าเพิ่มเพื่อนำไปทดแทนสินค้าคงคลังที่ได้มีการอุปโภคบริโภคไปในช่วงวิกฤต 2 ปีที่ผ่านมา แต่สำหรับในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ปริมาณสินค้าส่งออกน่าจะทรงตัวแต่ก็ยังไม่อาจจะคาดเดาสถานการณ์ได้” นายไพบูลย์ กล่าว

นายพีรเวท กิจบูรณะ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานการตลาดลูกค้า SMEs และลูกค้าส่วนภูมิภาค บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เอไอเอส และสำนักงานเอสเอ็ม (สสว.) ได้มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดมาโดยตลอดในการพัฒนาช่องทางด้านการติดต่อสื่อสารล้ำสมัย อาทิ AIS Family SIM, SMEs Inter SIM, SMEs News Alert, m-Market Place ฯลฯ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศที่เป็นสมาชิกของสสว. ซึ่งที่ผ่านมาช่องทางของไอเอสสามารถอยู่เคียงข้างผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี

และจากสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ที่แม้ปัจจุบันจะเริ่มคลี่คลาย แต่ก็เชื่อว่าจะทำให้มีผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่มากก็น้อย ดังนั้น เอไอเอสจึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น โดยออกมาตรการช่วยเหลือเครื่องมือด้านเทคโนโลยีสื่อสารเพื่ออำนวยความสะดวก ให้แก่ ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นสมาชิกสสว. และใช้แพคเกจ AIS Family SIM (รวมถึงสมัครใหม่) ซึ่งได้รับความเดือดร้อน และแสดงความจำนงขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานสสว. ด้วยโปรโมชั่นพิเศษ คือ ฟรีค่าบริการรายเดือนๆ ละ 199 บาท นาน 3 เดือน และฟรีค่าบริการส่ง SMS ผ่านเว็บไซด์ด้วยบริการ Smart Messaging จำนวน 100 ข้อความต่อเดือน นาน 3 เดือน

นอกจากนี้ เอไอเอสยังได้ช่วยเหลือลูกค้าหรือบุคคลทั่วไปที่จดทะเบียนในนามบริษัท ซึ่งได้รับความเดือดร้อนและได้ไปแสดงความจำนงขอรับความช่วยเหลือกับหน่วยงานภาครัฐคือ ศูนย์บริการประชาชน สำนักปลัดนายกรัฐมนตรี ด้วยการมอบค่าโทรฟรี จำนวน 200 นาที นาน 2 เดือน โดยลูกค้าจะได้รับสิทธินี้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องติดต่อกลับมาที่เอไอเอส ซึ่งเอไอเอสจะดำเนินการหลังจากที่ได้รับรายชื่อผู้ได้รับผลกระทบซึ่งขึ้นทะเบียนจากภาครัฐแล้ว
“แม้มาตรการดังกล่าว อาจจะไม่สามารถเยียวยาความเดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด แต่เราก็เชื่อว่าจะเป็นกำลังใจให้ลูกค้าและคนไทยทุกท่านมีพลังในการก้าวไปข้างหน้าต่อไป” นายพีรเวท กล่าว