ฟุตบอลโลก 2010 จัดขึ้น ณ ประเทศแอฟริกาใต้ ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา และจะสิ้นสุดลงในวันที่ 11 กรกฎาคม 2553 คาดว่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่ประเทศแอฟริกาใต้ประมาณ 300,000-400,000 คน และมีเงินสะพัดในระหว่างช่วงการแข่งขันประมาณ 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งที่กล่าวมานั้นยังไม่รวมถึงผลดีที่แอฟริกาใต้จะได้รับในระยะยาว ทั้งต่อภาคธุรกิจ บริการ และการท่องเที่ยว หลังจากจบการแข่งขันไปแล้ว เนื่องจากการจัดงานครั้งนี้ถือเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ให้ชาวต่างชาติได้รู้จักประเทศแอฟริกาใต้มากขึ้น
ไทยจึงสามารถใช้โอกาสนี้เพื่อการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยให้เป็นที่รู้จักแก่ชาวแอฟริกาใต้ และชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในแอฟริกาใต้ได้อีกช่องทางหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ประมงของไทยที่มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ก็น่าจะมีโอกาสในการขยายตลาดสู่แอฟริกาใต้ได้มากขึ้นเช่นกัน
ผลิตภัณฑ์ประมง…สินค้าเด่นของไทยในตลาดแอฟริกาใต้
ซึ่งจากภาพรวมในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2553 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ประมงแปรรูปเบื้องต้น เป็นมูลค่า 770.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.0 และส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและปรุงแต่ง มูลค่า 1,192.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.4 ทั้งนี้ แนวโน้มการส่งออกที่ขยายตัวในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ เป็นสัญญาณการฟื้นตัวของการส่งออกผลิตภัณฑ์ฯดังกล่าวของไทย หลังจากที่มูลค่าการส่งออกได้ชะลอตัวลงในช่วงปีที่ผ่านมา
ถึงแม้ว่าตลาดหลักของการส่งออกผลิตภัณฑ์ประมงของไทย คือ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป แต่การส่งออกไปยังตลาดแอฟริกาใต้ก็มีแนวโน้มขยายตัวอย่างน่าสนใจ ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ประมงแปรรูปเบื้องต้น กระป๋อง และปรุงแต่ง ไปยังประเทศแอฟริกาใต้เป็นอันดับ 2 ในกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร รองจากข้าว
จากสถิติการส่งออกของไทยไปแอฟริกาใต้ ช่วง 4 เดือนแรกปี 2553 ในกลุ่มของผลิตภัณฑ์ประมงแปรรูปเบื้องต้น มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 121.0 เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ในส่วนของอาหารทะเลกระป๋องและปรุงแต่ง มีมูลค่าการส่งออกชะลอตัวลงร้อยละ 21.5 เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
หากพิจารณาในด้านการนำเข้าของแอฟริกาใต้ ช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 ในส่วนของผลิตภัณฑ์ประมงแปรรูปเบื้องต้น ทั้งในรูปสด แช่เย็น แช่แข็ง ใส่เกลือ แช่น้ำเกลือ นำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 5 รองจาก อินเดีย นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ และจีน ด้วยมูลค่านำเข้าจากไทย 2.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นสัดส่วนร้อยละ 8.6 ของการนำเข้าผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จากทุกประเทศ โดยมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 137.6 เทียบจากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว และนำเข้าอาหารทะเลกระป๋องและปรุงแต่ง จากไทยเป็นอันดับ 1 ด้วยมูลค่า 24.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แยกเป็นสัดส่วนการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากปลาร้อยละ 97.5 และ กุ้ง ปู หอย ร้อยละ 2.5 โดยมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จากไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 66.1 ของการนำเข้าจากทุกประเทศ และมีมูลค่านำเข้าลดลง ร้อยละ 18.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
แอฟริกาใต้นำเข้าอาหารทะเลกระป๋อง และปรุงแต่ง จากจีนเป็นอันดับ 2 รองจากไทย ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 นำเข้าจากจีนเป็นมูลค่า 6.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 315.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งสัดส่วนเป็นการนำเข้าปลากระป๋องร้อยละ 70.3 และ กุ้ง ปู หอย กระป๋องร้อยละ 29.7
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการที่แอฟริกาใต้นำเข้าอาหารทะเลกระป๋องจากไทยลดลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้หันไปนำเข้าจากประเทศอื่นทดแทน โดยเฉพาะจากจีน จึงเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการไทยควรติดตามและเร่งปรับตัว โดยเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในทั้งด้านคุณภาพ รสชาติ ด้วยมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับ เพื่อปรับภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ของไทยในตลาดโลก เพื่อหลีกเลี่ยงจากการแข่งขันในด้านราคา เพราะปัจจุบันผู้บริโภคในแอฟริกาใต้ ได้เริ่มหันมาใส่ใจในคุณประโยชน์ และตระหนักในความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารมากขึ้นเช่นเดียวกับผู้บริโภคทั่วโลก
ลู่ทางตลาดในแอฟริกาใต้…ประตูสู่ภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้
แม้ว่าแอฟริกาใต้เป็นตลาดส่งออกสินค้าอันดับ 1 ของไทยในทวีปแอฟริกา แต่ก็มีมูลค่าส่งออกเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.8 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย (ช่วง 4 เดือนแรกของปี 2553 อยู่ที่มูลค่า 491.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งเป็นการแสดงถึงโอกาสของการขยายตัวทางการค้าระหว่างกันมากขึ้นในอนาคต โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญ คือ การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2010 ครั้งนี้ ที่คาดว่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นภาคเศรษฐกิจของแอฟริกาใต้ให้ขยายตัวมากขึ้น รวมทั้งไทยยังใช้แอฟริกาใต้เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวชาติอื่นๆด้วยอีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าแอฟริกาใต้ไม่ได้เป็นประเทศคู่ค้าอันดับต้นๆของไทย แต่ก็ถือว่าเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพน่าสนใจ และมีบทบาททางเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาค ไทยจึงสามารถใช้แอฟริกาใต้เป็นประตูทางการค้าสู่ตลาดภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ เพราะแอฟริกาใต้นับเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งสินค้าจากท่าเรือ ทั้งที่เมือง Durban เมือง Cape Town และ Port Elizabeth สินค้าส่วนใหญ่นอกจากจะใช้เพื่อการบริโภคภายในประเทศแล้ว ยังส่งผ่านไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค โดยไม่ต้องเสียภาษีหรือเสียในอัตราที่ต่ำสำหรับการนำเข้าระหว่างกันภายในกลุ่มประเทศสมาชิก อาทิ กลุ่มประชาคมเพื่อการพัฒนาแอฟริกาตอนใต้ (Southern African Development Community -SADC) และกลุ่มสหภาพศุลกากรแอฟริกาตอนใต้ (Southern Africa Customs Union – SACU) ดังนั้น หากสินค้าไทยกลายเป็นที่รู้จักในประเทศแอฟริกาใต้แล้ว ก็เป็นเสมือนการสร้างโอกาสขยายตลาดสู่ประเทศอื่นๆในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ด้วย
สรุป
พฤติกรรมการบริโภคของชาวแอฟริกาใต้ ไม่ได้นิยมอาหารทะเลเป็นหลัก เนื่องจากอาหารทะเลเป็นอาหารที่มีราคาสูงเมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ จึงมักนิยมบริโภคในกลุ่มผู้มีรายได้ระดับกลางขึ้นไป หรือบริโภคในช่วงของการเฉลิมฉลองในเทศกาลต่างๆ ยกเว้น ปลาซาร์ดีนกระป๋องที่มีการบริโภคกันโดยทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2010 ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน –11กรกฏาคมนี้ น่าจะมีส่วนช่วยผลักดันให้ภาคการท่องเที่ยว ภาคบริการ และภาคธุรกิจในแอฟริกาใต้คึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจขายอาหาร ร้านอาหาร โรงแรม และภัตตาคารต่างๆ ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของไทยก็จัดว่ามีคุณภาพ และสะอาดปลอดภัย น่าจะเป็นที่ชื่นชอบแก่ผู้บริโภคในแอฟริกาใต้และนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ จึงนับเป็นโอกาสที่ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของไทยจะขยายตลาดส่งออกสู่แอฟริกาใต้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันแอฟริกาใต้นำเข้าอาหารทะเลกระป๋องและปรุงแต่งจากไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับหนึ่งอยู่แล้ว รวมทั้งมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ประมงแปรรูปเบื้องต้น ทั้งในรูปสด/แช่เย็น/แช่แข็ง/ใส่เกลือ/ในน้ำเกลือ จากไทยขยายตัวถึงร้อยละ 121.0 เทียบจากช่วง 4 เดือนแรกของปีที่แล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าในผลิตภัณฑ์ประเภทกุ้ง ปู หอย กระป๋อง/แปรรูป ในสัดส่วนร้อยละ 97.6
ดังนั้น ตลาดแอฟริกาใต้จึงเป็นตลาดหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผลิตภัณฑ์ประมงของไทย หากผู้ประกอบการไทยเร่งพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐาน และหันไปเจาะตลาดในแอฟริกาใต้มากขึ้น ก็น่าจะมีส่วนช่วยให้ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของไทยเติบโตได้ในตลาดแอฟริกาใต้ รวมทั้งยังเป็นช่องทางขยายตลาดสู่ประเทศใกล้เคียงในทวีปแอฟริกาตอนใต้ ซึ่งถือเป็นภูมิภาคที่มีการพัฒนาในด้านการขนส่ง รวมทั้งมีการรวมกลุ่มทางการค้าที่เอื้อประโยชน์ต่อการเสียภาษีระหว่างกันในอัตราที่ต่ำด้วย