ส่งออกกุ้งไทยครึ่งหลังปี’53 แนวโน้มสดใส … คาดหนุนการส่งออกทั้งปีโตร้อยละ 25

จากแนวโน้มเศรษฐกิจในหลายประเทศเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงปี 2553 จึงคาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการนำเข้ากุ้งในตลาดโลกจะขยายตัวเพิ่มขึ้น อีกทั้ง จากการที่สหรัฐฯซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหาการรั่วไหลของน้ำมันจากแท่นขุดเจาะในอ่าวเม็กซิโกตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในรัฐหลุยส์เซียน่าที่ถือเป็นแหล่งทำประมงที่สำคัญ ที่มีมูลค่าการผลิตอาหารทะเลประมาณ 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 79,200 ล้านบาท มีสัดส่วนเป็น 1 ใน 3 ของผลผลิตอาหารทะเลทั้งหมดของสหรัฐฯ และยังเป็นแหล่งผลิตกุ้งได้ปีละประมาณ 45 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 69 ของปริมาณการผลิตกุ้งทั้งหมดของสหรัฐฯ ทั้งนี้ ยังคาดการณ์ว่าการรั่วไหลของน้ำมันจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารทะเลของสหรัฐฯให้ชะลอตัวต่อเนื่องไปอีกในช่วงที่เหลือของปีนี้ ขณะที่ความต้องการนำเข้ากุ้งและผลิตภัณฑ์ของสหรัฐฯก็ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพื่อชดเชยกับปริมาณผลผลิตที่ลดลง

นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์อับดับ 1 ของไทย โดยครองสัดส่วนตลาดส่งออกประมาณร้อยละ 42 ของการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ของไทย ซึ่งในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวประมาณร้อยละ16 ขณะเดียวกันไทยก็เป็นแหล่งนำเข้ากุ้งและผลิตภัณฑ์อับดับ 1 ของสหรัฐฯเช่นกัน ประกอบกับคู่แข่งสำคัญในการส่งออกกุ้ง คือ อินโดนีเซียได้ประสบปัญหาโรคไวรัสกล้ามเนื้อขุ่น หรือ Infection Myonecrosis (IMN) ระบาดในกุ้ง ส่วนจีนก็ประสบกับภาวะอากาศหนาวจัดมากกว่าทุกปีในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา ดังนั้น คาดว่าในภาวะที่ความต้องการนำเข้ากุ้งและผลิตภัณฑ์ในหลายประเทศยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผลผลิตกุ้งในปีนี้มีแนวโน้มลดลงจากปัจจัยต่างๆดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงส่งผลดีต่อภาคการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้

การส่งออกขยายตัว…อานิสงส์เศรษฐกิจโลกฟื้น และความต้องการนำเข้าของสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้น
ในปี 2553 มีแนวโน้มที่ความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับปัจจัยในด้านผลผลิตกุ้งปีนี้ที่คาดว่าจะมีปริมาณลดลง ยิ่งเป็นการส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกกุ้งแช่เย็นและแช่แข็งอันดับหนึ่งของโลก ด้วยปริมาณการส่งออก 220,453.7 ตัน ในปี 2552 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.9 ของปริมาณการส่งออกทั้งโลกที่มีปริมาณ 1,591,704 ตัน ส่วนผู้ส่งออกในอันดับรองลงมา ได้แก่ จีน(ร้อยละ 9.7) อินเดีย(ร้อยละ 8.1) เอกวาดอร์(ร้อยละ 8.0) อินโดนีเซีย(ร้อยละ 6.9) และเดนมาร์ก(ร้อยละ 6.5) ตามลำดับ

จากตัวเลขการส่งออกกุ้งแช่เย็น/แช่แข็ง/กระป๋องและปรุงแต่งของไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2553 มีมูลค่า 807.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.9 ตลาดส่งออกสำคัญ คือ สหรัฐฯ(ร้อยละ 42.0) ญี่ปุ่น(ร้อยละ 22.2) แคนาดา(ร้อยละ 5.7) อังกฤษ(ร้อยละ 3.5) และเยอรมนี(ร้อยละ 3.4) ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกในตลาดหลัก 5 อันดับรวมกัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 76.8 ของมูลค่าการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ของไทย และมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 15.4 เทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยสามารถแยกเป็นการส่งออกกุ้งแช่เย็นและแช่แข็งในสัดส่วนร้อยละ 51.0 และกุ้งกระป๋องและปรุงแต่งร้อยละ 49.0

ด้านการส่งออกไปสหรัฐฯซึ่งเป็นตลาดหลักอันดับหนึ่งของผลิตภัณฑ์กุ้งไทย(ครองสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 42.0) ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 339.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 16.0 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยแยกเป็นมูลค่าการส่งออกกุ้งแช่เย็นและแช่แข็ง 145.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และส่งออกในรูปผลิตภัณฑ์กุ้งแปรรูปเป็นมูลค่า 193.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐฯตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่สามารถควบคุมได้ คาดว่ามีปริมาณการรั่วไหลของน้ำมันถึงวันละประมาณ 20,000-40,000 บาร์เรล (หรือ 840,000-1.7 ล้านแกลลอน หรือ 3.2-6.4 ล้านลิตร) โดยปริมาณสะสมในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาอาจมีมากกว่า 1.76 ล้านบาร์เรล และแผ่กระจายครอบคลุมพื้นที่ผิวน้ำในอ่าวเม็กซิโกไปแล้วมากกว่า 25,000 ตารางกิโลเมตร ส่งผลให้ทางการสหรัฐฯต้องสั่งปิดน่านน้ำและห้ามทำการประมงในเขตพื้นที่ดังกล่าวไปประมาณ 1 ใน 3 ของอ่าว จึงเป็นการส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมกุ้งของสหรัฐฯ เนื่องจากบริเวณอ่าวเม็กซิโกเป็นแหล่งผลิตกุ้งที่สำคัญ อีกทั้ง ช่วงที่เริ่มมีการรั่วไหลยังเป็นช่วงเริ่มฤดูกาลจับกุ้งของสหรัฐฯด้วย จึงคาดว่าอาจส่งผลให้ผลผลิตกุ้งของสหรัฐฯมีปริมาณลดลงประมาณ 45,000 ตันในปีนี้

นอกจากนี้ ไทยยังจะได้รับอานิสงส์จากการส่งออกไปยังตลาดที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณผลผลิตกุ้งของสหรัฐฯที่ลดลง อาทิ ตลาดยุโรปและญี่ปุ่น เพราะถือเป็นตลาดส่งออกในอันดับต้นของไทยอยู่เดิม ทำให้ต้องนำเข้ากุ้งจากไทยเพิ่มขึ้น เห็นได้จากตัวเลขการส่งออกของไทยไปทั้ง 2 ตลาด ดังนี้

ตลาดยุโรป ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ไทยส่งออกกุ้งแช่เย็นและแช่แข็งไปยุโรปเป็นมูลค่า 60.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 85.7 เป็นผลจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบกุ้งของผู้ผลิตในหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่มุ่งเจาะและขยายสู่ตลาดยุโรปควรศึกษามาตรฐานการกำหนดคุณภาพ และการตรวจสอบผลิตภัณฑ์กุ้งนำเข้าโดยละเอียด เนื่องจากยุโรปเป็นกลุ่มประเทศที่ค่อนข้างมีมาตรฐานเข้มงวดเกี่ยวกับการนำเข้ากุ้ง

ตลาดญี่ปุ่น ถือเป็นตลาดส่งออกกุ้งที่สำคัญของไทยในอันดับ 2 รองจากตลาดสหรัฐฯ โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ไทยส่งออกกุ้งแช่เย็นและแช่แข็งไปญี่ปุ่นเป็นมูลค่า 90.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนกุ้งกระป๋องและปรุงแต่งมีมูลค่าส่งออก 88.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 1.1 ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการเร่งพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ และรักษามาตรฐานการผลิตอย่างต่อเนื่อง ก็คาดว่าความต้องการนำเข้ากุ้งและผลิตภัณฑ์ทุกประเภทในตลาดญี่ปุ่นก็น่าจะขยายตัวเป็นบวกได้ เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคของชาวญี่ปุ่นจะเน้นรับประทานอาหารที่มีคุณภาพ และมีมาตรฐานรับรอง

ภาวะการผลิตกุ้งของไทยปี ’53…แนวโน้มผลผลิตทรงตัว
ถึงแม้ว่าในช่วงปลายปี 2552 ถึงต้นปี 2553 กุ้งไทยจะเผชิญกับปัญหาโรคตัวแดงดวงขาวระบาด ทางแถบพื้นที่เพาะเลี้ยงทางภาคใต้และภาคตะวันออก แต่ก็สามารถควบคุมการระบาดได้

สภาพอากาศที่แปรปรวนได้ส่งผลให้ปริมาณกุ้งลดลงในช่วงต้นปี จึงทำให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรต้องปรับประมาณการผลผลิตกุ้งจากการเพาะเลี้ยงของไทยในปี 2553 ลดลง โดยคาดว่าจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 540,000 ตัน ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 88 ได้จากการเพาะเลี้ยง สัดส่วนที่เหลือเป็นการจับตามธรรมชาติ โดยร้อยละ 85-90 ของผลผลิตกุ้งทั้งหมดจะใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อการส่งออก และอีกร้อยละ 10-15 ใช้เพื่อการบริโภคในประเทศ

ปัจจุบันเกษตรกรหันมาเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนการเลี้ยงถึงร้อยละ 99 เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่เพาะเลี้ยงง่าย มีโรคระบาดน้อย และให้ผลผลิตสูงกว่าเมื่อเทียบกับการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ

ระดับราคา…สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หากเปรียบเทียบจากระดับราคากุ้งเฉลี่ย (ราคาเฉลี่ยจากตลาดสดและกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้ง แหล่งใหญ่ 4 แห่งทั่วประเทศ) โดยเปรียบเทียบ ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2553 กับวันเดียวกันของปี 2552 จะพบว่าราคากุ้งขาวแวนาไมขนาดกลาง(น้ำหนัก 51-60 ตัวต่อกิโลกรัม)ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.2 จากราคากิโลกรัมละ 107 บาท ขึ้นมาอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 130.75 บาท

ประเด็นเด่น…หนุนส่งออกกุ้งไทยปี ’53 อาจพุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 25
นอกเหนือจากปัจจัยด้านเศรษฐโลกที่เริ่มฟื้นตัว ยังคงมีปัจจัยสำคัญหลายด้านที่มีส่วนช่วยกระตุ้นให้อุตสาหกรรมการส่งออกกุ้งของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

ปริมาณผลผลิตกุ้งของคู่แข่งที่ลดลง จากปัญหาการระบาดของโรคไวรัสกล้ามเนื้อขุ่น หรือ Infection Myonecrosis (IMN) ในช่วงปีที่แล้วต่อเนื่องถึงปีนี้ ในประเทศอินโดนีเซียและบราซิล โดยเฉพาะอินโดนีเซียซึ่งถือเป็นคู่แข่งสำคัญในการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ไปตลาดสหรัฐฯและญี่ปุ่น ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจส่งผลให้ผลผลิตกุ้งของทั้ง 2 ประเทศมีปริมาณลดลงไปอย่างน้อยประมาณร้อยละ 40 จึงเป็นโอกาสดีที่ไทยจะสามารถขยายปริมาณการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์เข้าไปทดแทนในตลาดที่ได้รับผลกระทบ

การเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วในสหรัฐฯที่ปัจจุบันยังไม่สามารถหยุดการรั่วไหลดังกล่าวได้ ประกอบกับสหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกกุ้งอันดับหนึ่งของไทย อีกทั้ง การรั่วไหลของน้ำมันที่เกิดขึ้นในบริเวณใกล้เคียงรัฐหลุยส์เซียน่านั้น เป็นการส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณผลผลิตอาหารทะเลของสหรัฐฯ เนื่องจากรัฐดังกล่าวถือเป็นแหล่งผลิตอาหารทะเล 1 ใน 3 ของผลผลิตอาหารทะเลของสหรัฐฯ รวมทั้งเป็นแหล่งให้ผลผลิตกุ้งถึงร้อยละ 69 ของปริมาณผลผลิตกุ้งในสหรัฐฯ ดังนั้น คาดว่าการรั่วไหลของน้ำมันที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ น่าจะเป็นการส่งผลดีต่อภาคการส่งออกกุ้งของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ รวมทั้งตลาดอื่นๆที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณการผลิตอาหารทะเลของสหรัฐฯ

การที่สหรัฐฯประกาศพิจารณาการเก็บภาษีเอดีจากไทยใหม่ จึงอาจมีโอกาสที่ไทยจะเสียภาษีเอดีในอัตราที่ต่ำลงกว่าปีที่แล้ว ซึ่งในการพิจารณาเบื้องต้นระบุอัตราภาษีเฉลี่ยทั้งประเทศที่เรียกเก็บจากไทยร้อยละ 3.19 ซึ่งลดลงจากการพิจารณารอบที่แล้ว และด้วยปัญหาด้านผลผลิตกุ้งของสหรัฐฯที่มีแนวโน้มลดลงมากในปีนี้ จึงอาจมีส่วนช่วยผลักดันให้การพิจารณาอัตราการจัดเก็บภาษีเอดีของสหรัฐฯรอบนี้เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยมากขึ้นด้วย

การขยายช่องทางการส่งออกของผู้ประกอบการ ที่เน้นขยายตลาดอาหารทะเลไปยังประเทศในแถบแอฟริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และรัสเซีย เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง นอกจากนี้ การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2010 ในประเทศแอฟริกาใต้จะเป็นการช่วยกระตุ้นให้ความต้องการบริโภคอาหารทะเลเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งจากภาคบริการ ภาคการท่องเที่ยว และธุรกิจร้านอาหารต่างๆที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ แม้ว่าจะคาดการณ์ว่าในปี 2553 เป็นปีที่เอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมกุ้งของไทย แต่ก็ยังมีประเด็นที่เกษตรกรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพึงระวัง คือ ปริมาณผลผลิตกุ้งที่อาจเพิ่มสูงขึ้นจนล้นตลาดในช่วงปลายปี จากการเร่งผลิตเนื่องด้วยราคาที่จูงใจ และอาจทำให้กุ้งที่ผลิตได้มีขนาดตัวเล็กไม่ได้คุณภาพ ดังนั้น เกษตรกรและผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญในด้านการเพาะเลี้ยง โดยเน้นที่คุณภาพ และขนาดกุ้ง รวมทั้งควรให้ความสำคัญในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม กระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และความปลอดภัยในด้านการปนเปื้อนของผลิตภัณฑ์/การบรรจุ/ระบบการขนส่ง ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น และต่างหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในการควบคุมผลิตภัณฑ์นำเข้า ประกอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยต้องเข้มงวดในการป้องกันโรคระบาดในกุ้งจากต่างประเทศไม่ให้แพร่กระจายเข้ามาในไทย เพื่อไม่ให้เป็นการเสียโอกาสการทำตลาดในช่วงนี้ และมีประเด็นที่ต้องเฝ้าจับตา คือ ความผันผวนของค่าเงินบาทที่อาจแข็งค่าขึ้น จนส่งผลให้ความสามารถในการส่งออกของไทยด้อยกว่าคู่แข่ง

สรุป
จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว สอดคล้องกับที่ตลาดต่างประเทศเริ่มมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ต่างๆมากขึ้น จึงเป็นการส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการผลิตกุ้งของไทยด้วยเช่นกัน ประกอบกับยังมีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตกุ้งในปีนี้มีแนวโน้มลดต่ำลง ทั้งจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยในหลายประเทศ อาทิ จีนที่เผชิญกับอากาศหนาวจัดในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา รวมถึงอินโดนีเซียและบราซิลยังประสบกับปัญหาโรคไวรัสกล้ามเนื้อขุ่น หรือ Infection Myonecrosis (IMN) ระบาด ส่วนสหรัฐฯก็ประสบปัญหาน้ำมันรั่วไหลในอ่าวเม็กซิโก จึงเป็นที่คาดว่าสหรัฐฯจะยังคงขาดแคลนอาหารทะเลไปอีกในระยะ 6 เดือนข้างหน้านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมกุ้งของไทยจะได้รับอานิสงส์จากปัจจัยต่างๆดังกล่าวประกอบกัน ทำให้มูลค่าการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ในปีนี้น่าจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 25 หรืออาจสูงกว่านั้นหากมีปัจจัยทางด้านราคาเป็นตัวช่วยหนุนให้มูลค่าการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้นไปอีก