มหกรรมฟุตบอลโลก 2010 ที่ระเบิดขึ้นระหว่างวันที่ 11 มิถุนายน – 11 กรกฎาคม น่าจะสร้างความคึกคักให้กับผู้สนใจติดตามชมเกมส์การแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกาะติดผ่านสื่อสมัยใหม่ รวมถึงการร่วมสนุกชิงรางวัลที่หลายภาคธุรกิจงัดกลยุทธ์มาใช้เพื่อส่งเสริมการขายกันอย่างเข้มข้น
ทั้งนี้ผลสำรวจของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เกี่ยวกับพฤติกรรมการชิงโชคของชาวกรุงในช่วงฟุตบอลโลก 2010 จำนวนตัวอย่าง 644 ราย และพฤติกรรมการติดตามฟุตบอลโลก 2010 ของคนกรุงเทพฯ จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 552 ราย ในระหว่างวันที่ 4-18 มิถุนายน 2553 พบว่า คนกรุงฯบางส่วนใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ และอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นกว่าในช่วงปกติ ซึ่งนอกจากผู้ประกอบการในธุรกิจโทรคมนาคมน่าจะได้ผลดีจากปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้นแล้ว ก็น่าจะมีเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อสมัยใหม่เพิ่มขึ้นด้วย
พูดคุย เกาะติดข่าวสาร ลุ้นรางวัล…กระตุ้นปริมาณการใช้มือถือ
ผลการสำรวจพบว่า ในช่วงฟุตบอลโลก 2010 กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 18 ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่สูงกว่าในช่วงปกติ ซึ่งกลุ่มเพศชายที่อายุตั้งแต่ 15-19 ปี ถึงกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 34.4 เป็นกลุ่มที่มีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของการใช้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ร้อยละ 57.5 เป็นการพูดคุยกับเพื่อนเรื่องฟุตบอลโลก ซึ่งอาจจะมีทั้งการพูดคุยผ่านการโทรทั่วไป และการพูดคุยผ่านสมาร์ทโฟนแบบที่มีการแลกรหัสประจำเครื่องที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในวัตถุประสงค์อื่นๆด้วย ทั้งการรับข่าวสารความเคลื่อนไหว การเล่นพนัน การรับผลการแข่งขันฟุตบอล การส่งข้อความชิงโชคร่วมรายการ และการโอนเงินพนัน โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เพิ่มขึ้นในช่วงฟุตบอลโลก น่าจะช่วยกระตุ้นการใช้บริการเสริมที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ชูเป็นกลยุทธ์หลักในการทำการตลาดในปีนี้
รับทราบข่าวสาร…ผ่านเอสเอ็มเอส เอ็มเอ็มเอส
ในช่วงฟุตบอลโลกฟีเวอร์นี้ คาดว่า จะมีผู้สมัครรับข่าวกีฬาผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ใช้สามารถสมัครบริการได้ทันทีผ่านเลขหมายโทรศัพท์ ซึ่งมีให้เลือกทั้งข้อความสั้น (เอสเอ็มเอส) และข้อความมัลติมีเดีย (เอ็มเอ็มเอส) ที่เพิ่มลูกเล่นให้การนำเสนอข่าวมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น โดยเสียค่าใช้จ่าย 30-50 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการของผู้ให้บริการแต่ละราย ซึ่งน่าจะสร้างรายได้ให้แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และสำนักข่าวได้ในระหว่างที่มีการแข่งขัน
ติดตามความเคลื่อนไหว…กระตุ้นปริมาณการใช้โมบายอินเทอร์เน็ต
แม้ว่าการถ่ายทอดการแข่งขันทั้ง 64 แมทซ์ ผู้ชมจะสามารถติดตามได้จากฟรีทีวี แต่เนื่องจากเวลาการถ่ายทอดที่เริ่มตั้งแต่ 18.00น. ซึ่งผู้ชมส่วนมากน่าจะอยู่ในระหว่างการเดินทางกลับบ้าน ดังนั้นการติดตามความเคลื่อนไหวขณะแข่งขันด้วยการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่จึงสามารถตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการเกาะติดการแข่งขันบางส่วนได้
โดยผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.4 มีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อเกาะติดการแข่งขัน โดยอาจจะมีทั้งการพูดคุยกับเพื่อนผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ และการติดตามรายงานผลแบบประตูต่อประตูผ่านเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งผู้ให้บริการน่าจะได้ประโยชน์จากปริมาณการใช้ EDGE GPRS หรือ 3G ที่เพิ่มขึ้น จึงอาจเป็นโอกาสดีที่ผู้ให้บริการจะทำการตลาด เช่น การนำเสนออินเทอร์เน็ตซิม และแพคเกจโมบายอินเทอร์เน็ตราคาพิเศษ ซึ่งอาจทำให้ได้ลูกค้าบริการเสริมกลุ่มใหม่ๆเพิ่มขึ้นได้
สำหรับปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า รายได้จากบริการโมบายอินเทอร์เน็ตน่าจะขยายตัวได้สูงถึงกว่าร้อยละ 30 จากปี 2552 ที่ขยายตัวร้อยละ 26.7 หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดในปี 2553 ประมาณ 8,200-8,700 ล้านบาท ซึ่งกระแสฟุตบอลโลกน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนช่วยผลักดันการเติบโตดังกล่าว
คนกรุงแห่เอสเอ็มเอส ชิงรางวัล…คาดเงินสะพัดกว่า 60 ล้านบาท
ในระยะหลังหลายธุรกิจได้ปรับช่องทางการชิงรางวัลจากการใช้ไปรษณียบัตร และการส่งชิ้นส่วนทางไปรษณีย์ มาสู่ช่องทางเอสเอ็มเอสมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าแล้ว ธุรกิจยังอาจได้ส่วนแบ่งรายได้จากค่าเอสเอ็มเอสตามอัตราที่ตกลงกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อีกด้วย ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วเอสเอ็มเอสชิงรางวัลจะมีค่าบริการอยู่ที่ 3-6 บาท/ครั้ง
สำหรับการแข่งขันฟุตบอลโลกในปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า คนกรุงฯน่าจะเข้าร่วมสนุกทายผลประมาณ 2.5-2.6 ล้านราย โดยในจำนวนนี้มีผู้ร่วมทายผลผ่านทางเอสเอ็มเอสถึงร้อยละ 24.6 มีงบประมาณเฉลี่ยราว 100 บาทต่อราย ซึ่งน่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดในบริการเอสเอ็มเอสชิงโชคถึงกว่า 60 ล้านบาท
อินเทอร์เน็ต…สื่อออนไลน์สุดฮิต
สำหรับเทศกาลฟุตบอลโลก 2010 ผลสำรวจของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า คนกรุงร้อยละ 23.3 ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นกว่าในช่วงปกติ ซึ่งในจำนวนนี้มีถึงร้อยละ 70.1 เป็นเพศชาย โดยวัตถุประสงค์ในการใช้อินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ร้อยละ 65.6 ใช้เพื่อติดตามผล/รายงานผลการแข่งขัน ร้อยละ 38.3 ใช้เพื่อคุยกับเพื่อนเรื่องฟุตบอลโลก ร้อยละ 8.9 ใช้เพื่อเล่นพนัน ที่เหลือร้อยละ 5.1 3.1 และ 5.4 ใช้เพื่อซื้อของที่ระลึก โอนเงินพนันบอล และอื่นๆ ตามลำดับ
นอกจากนี้ยังพบว่า คนกรุงร้อยละ 14.9 จะเกาะติดกระแสฟุตบอลโลกครั้งนี้ผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่ามหกรรมฟุตบอลโลก 2006 ที่อยู่ที่ร้อยละ 11.2 ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการติดตามข่าวสารผ่านอินเทอร์เน็ตน่าจะมี 2 ช่องทางหลักๆ ดังนี้
เว็บไซต์ นับตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน ที่เป็นวันแรกในการเปิดสนามการแข่งขันอย่างเป็นทางการ จนถึงวันที่ 22 มิถุนายน พบว่า สถิติจำนวนการเข้าชมเว็บไซต์กีฬาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่วันละประมาณ 5.3 ล้านเพจวิว ซึ่งโดยปกติจะอยู่ที่วันละประมาณ 4-4.5 ล้านเพจวิว ในขณะที่คำว่า “ดูทีวีออนไลน์” ได้ติดอันดับคำค้นหาสูงสุดอันดับต้นๆ แซงหน้าคำค้นหาที่เกี่ยวกับเกมส์ที่อยู่อันดับสูงสุดเสมอมา โดยมีจำนวนครั้งในการค้นหาเฉลี่ยกว่า 4 หมื่นครั้งต่อวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงแรกของการเปิดมหกรรมการแข่งขันมียอดค้นหาสูงถึงกว่า 9 หมื่นครั้งต่อวัน ขณะที่ช่วงสัปดาห์ก่อนเปิดการแข่งขันมีการค้นหาไม่เกิน 2 หมื่นครั้งต่อวัน (ข้อมูลจากบริษัท ศูนย์วิจัยนวัตกรรมอินเทอร์เน็ตไทย จำกัด : www.truehits.net)
โซเชียลเน็ตเวิร์ก ด้วยจุดเด่นของโซเชียลเน็ตเวิร์กในการแพร่กระจายข้อมูลอย่างรวดเร็วทวีคูณ อีกทั้งยังสามารถเกาะติดการแข่งขันแบบชิดติดขอบสนามได้จากบุคคลที่อยู่ ณ สถานที่แข่งขัน ที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายกว่า 1,200 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งอาจมีภาพบรรยากาศที่ไม่ได้ออกอากาศผ่านสื่อทั่วไป และยังสามารถติดตามบทวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญในวงการลูกหนัง หรือจากนักข่าวกีฬาที่เดินทางไปยังประเทศแอฟริกาใต้ อีกทั้งยังเป็นช่องทางในการแสดงความคิดเห็นระหว่างบุคคลในเครือข่าย ทำให้คาดว่าฟุตบอลโลกปีนี้น่าจะทำให้จำนวนสมาชิกในโซเชียลเน็ตเวิร์ก และจำนวนข้อมูลไหลเวียนในเครือข่ายของผู้ที่อยู่ในแวดวงกีฬา เช่น นักข่าว และกูรูด้านฟุตบอล เพิ่มขึ้นกว่าในช่วงเวลาปกติ
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แม้ปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตของคนกรุงที่เพิ่มขึ้นในช่วงฟุตบอลโลก อาจไม่มีผลต่อรายได้ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่จะเสียค่าบริการแบบเหมาจ่ายรายเดือน แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าอินเทอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในปัจจุบัน ดังนั้นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตควรให้ความสำคัญกับการขยายช่องสัญญาณ (Bandwidth) เพื่อรองรับกับการใช้งานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่มีเหตุการณ์สำคัญที่เป็นที่สนใจของคนส่วนใหญ่ และเพื่อรองรับคอนเทนต์ใหม่ๆที่มีปริมาณการรับส่งข้อมูลในระดับสูง เช่น การชมคลิปวีดีโอออนไลน์
ในขณะเดียวกันก็เป็นการกระตุ้นให้สื่อต่างๆต้องเร่งปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่อโทรทัศน์ ที่หากผู้ชมเปลี่ยนมารับข่าวผ่านสื่อสมัยใหม่ อย่างเว็บไซต์และโซเชียลเน็ตเวิร์ก ย่อมกระทบถึงเม็ดเงินโฆษณาในสื่อหลัก โดยตลอด 5 เดือนแรกของปี งบโฆษณาผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตมีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 40 ซึ่งถือว่าสื่อที่มาแรงที่สุดในปีนี้ ในขณะที่สื่ออื่นๆ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยเพียงร้อยละ 11 หรือบางสื่อ เช่น นิตยสาร วิทยุ มีอัตราการเติบโตที่ติดลบ (ข้อมูลจาก บริษัท เดอะนีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด)
กล่าวโดยสรุปได้ว่า จากผลสำรวจของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เกี่ยวกับพฤติกรรมของคนกรุงเทพฯในการชิงโชคและการติดตามการแข่งขันในช่วงฟุตบอลโลก 2010 พบว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่ และอินเทอร์เน็ต เป็นช่องทางหนึ่งที่คนกรุงฯใช้ในการเกาะติดการแข่งขัน โดยคนกรุงฯร้อยละ 18 ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นกว่าช่วงปกติ ในขณะที่ร้อยละ 23.3 ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นกว่าช่วงปกติ
โดยพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของที่เพิ่มขึ้นนั้นส่วนมากจะเป็นการพูดคุยกับเพื่อน และการเกาะติดการแข่งขัน ส่วนการลุ้นรางวัลผ่านทางเอสเอ็มเอสยังคงได้รับความนิยมจากคนกรุงฯโดยคาดว่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดถึงกว่า 60 ล้านบาท ซึ่งหากรวมรายได้จากการโทรและบริการเสริมประเภทอื่น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า น่าจะมีเม็ดเงินสะพัดในการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของคนกรุงเทพฯกว่า 100 ล้านบาท ในขณะที่การใช้อินเทอร์เน็ตในช่วงฟุตบอลโลก ส่วนมากจะเป็นการติดตามผล หรือรายงานการแข่งขัน จากเว็บไซต์ต่างๆ และโซเชียลเน็ตเวิร์กที่เป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน โดยจะมีทั้งการเชื่อมต่อผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์เคลื่อนที่
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า พฤติกรรมของคนกรุงฯในช่วงกระแสฟุตบอลโลกฟีเวอร์ในปีนี้ น่าจะนำมาซึ่งโอกาสทางการตลาดของหลายภาคธุรกิจ เช่น ธุรกิจบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่น่าจะมีรายได้ทั้งบริการเสียงและบริการเสริมที่เพิ่มขึ้น สำนักข่าวต่างๆที่อาจขยายการจำหน่ายสู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้น รวมถึงสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมของการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางในการติดตามข่าวสาร ซึ่งอาจก่อให้เกิดเม็ดเงินโฆษณาในสื่อออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นด้วย