การทำธุรกิจแฟรนไชส์นั้น เปรียบเสมือนการขับเครื่องบิน มันเป็นไปไม่ได้ที่ใครจะขับเครื่องบินเองได้โดยปราศจากการแนะนำ แต่ถ้าได้รับคำแนะนำแล้วละก้อ ระบบแฟรนไชส์ก็เหมือนเครื่องบินความเร็วสูง ที่พาคุณไปสู่การเติบโตทางธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว
สมาคมแฟรนไชส์ เปิดอบรม “ระบบแฟรนไชส์ 10 ชั่วโมง” โดยการสนับสนุนของธนาคารกสิกรไทย และนิตยสารโอกาสธุรกิจแฟรนไชส์ ในวันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน และ วันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2553 นี้ ที่ KSME Care Knowledge Center จามจุรีสแควร์ ชั้น 2
ระบบแฟรนไชส์สำคัญมากต่อการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ เพราะมีการถ่ายทอดโนว์ฮาว-ฮาวทู และสืบทอดทางธุรกิจโดยคนอื่น แต่การทำธุรกิจแฟรนไชส์ให้สำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงแม้ว่าบางคนอาจจะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจมาแล้วมากมาย แต่ไม่ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จในการทำแฟรนไชส์
สมาคมแฟรนไชส์ไทย ได้พัฒนาหลักสูตร การอบรมระบบแฟรนไชส์ 10 ชั่วโมง เพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้ที่สนใจเรื่องแฟรนไชส์ ผู้ที่ต้องการเตรียมตัวสร้างระบบแฟรนไชส์ในอนาคต รวมทั้งผู้ที่ทำระบบแฟรนไชส์อยู่ต้องการความรู้เพิ่มเติม สามารถเข้าร่วมเข้าอบรมนี้ได้ โดยมีหัวข้อดังนี้
ข้อดี-ข้อเสีย การทำระบบแฟรนไชส์
เมื่อธุรกิจของคุณประสบความสำเร็จได้ระดับหนึ่ง ควรขยายด้วยระบบแฟรนไชส์ดีหรือไม่ ข้อแตกต่างของการทำแฟรนไชส์ กับการทำธุรกิจในรูปแบบแบบอื่น ต่างกันอย่างไร
การทำแฟรนไชส์ไม่ได้เหมาะกับทุกธุรกิจ ข้อดีที่สุดของการทำแฟรนไชส์ก็คือ เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีทุนน้อยสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เพราะเป็นการขยายสาขาด้วยเงินลงทุนของผู้อื่น แต่ใช้ความชำนาญทางธุรกิจของบริษัทแม่ แต่ข้อเสียของการทำแฟรนไชส์ก็คือ จะต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้ร่วมธุรกิจไปตลอดกาล ต่างจากระบบตัวแทน ที่ไม่ยุ่งยากในการขยายธุรกิจ แต่ตัวแทนก็มักจะมีอิสระในการขายสินค้าได้หลายยี่ห้อ ดังนั้นโอกาสที่สินค้าและบริการรายใหม่ หรือรายเล็กอาจจะหายไปจากท้องตลาด เพราะคู่แข่งขันเสนอผลตอบแทนให้ตัวแทนสูงกว่า หรือตัวแทนชอบขายเฉพาะสินค้าโฆษณามากกว่า ไม่แนะนำสินค้าใหม่ คุณก็หมดโอกาสที่จะเกิดเติบโตได้ในตลาด
ทุกระบบธุรกิจ มีข้อดี-ข้อดี ทั้งสิ้น แต่ละระบบแตกต่างกัน จำเป็นหรือไม่ที่เราจะต้องทำระบบแฟรนไชส์ การเรียนรู้เรื่องนี้ จะช่วยให้สามารถตัดสินใจ เลือกรูปแบบขยายกิจการที่เหมาะสมกว่า
การศึกษาความเป็นไปได้ ในทำแฟรนไชส์
ไม่ใช่ทุกธุรกิจเหมาะสมที่จะทำแฟรนไชส์ ระบบแฟรนไชส์ก็เหมือนกับการลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ที่ต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ โดยประเมินปัจจัยต่างๆกว่า 20 ข้อ เพื่อทำให้แน่ใจว่า โอกาสของการทำแฟรนไชส์ จะปะสบความสำเร็จได้ในอนาคต เช่น เรื่อง อายุของธุรกิจ ถ้าธุรกิจที่จะทำแฟรนไชส์เพิ่งเกิดเพียง 1 ปี จะขาดความเป็นไปได้ในการทำระบบแฟรนไชส์ เพราะไม่มีความชำนาญในธุรกิจเพียงพอ ที่จะสอนผู้อื่นได้ ไม่สามารถแนะนำการแก้ปัญหาธุรกิจให้กับผู้ซื้อแฟรนไชส์ได้ ทำให้โอกาสล้มเหลวมีสูงมาก แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าคุณอยู่ในวงการธุรกิจนั้นๆนานพอ อย่างน้อยมากกว่า 5 ปี จนเชี่ยวชาญ ผ่านปัญหาที่เกิดขึ้นมากมาย และรู้วิธีการแก้ไข แน่นอนการขายแฟรนไชส์ธุรกิจของคุณ ย่อมต้องมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า
เท่านั้นยังไม่พอเรื่อง ธุรกิจของคุณ มีกำไรหรือไม่ เป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณาความเป็นไปได้ ใครก็ตาม ที่มีกิจการที่ขาดทุนอยู่ ไม่สามารถทำระบบแฟรนไชส์ได้ เพราะการขายแฟรนไชส์ ไม่ใช่การขายสินค้า การขายแฟรนไชส์ เป็นการขายระบบธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นหากธุรกิจของคุณยังไม่ประสบความสำเร็จ ถ้าขายแฟรนไชส์ออกไป เท่ากับขายความล้มเหลวไปด้วย ธุรกิจที่มีความเป็นไปได้ในการสร้างระบบแฟรนไชส์ จะต้องเป็นกิจการที่มีผลกำไรแล้ว
นอกจากนี้แล้ว ควรจะมี จำนวนสาขาที่มากกว่า 1 แห่ง นั่นเป็นเพราะ หากคุณขยายแฟรนไชส์ คุณต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการร้านสาขา และต้องมั่นใจว่า สินค้าและบริการของคุณมีความต้องการในเขตอื่นๆด้วย ไม่ใช่เฉพาะถิ่นของตัวเอง หากคุณมีสาขาอยู่แล้วมากเท่าไหร่ นั่นหมายความว่าคุณรู้เรื่องตลาดมากยิ่งขึ้น โอกาสสร้างความสำเร็จในระบบแฟรนไชส์ ก็จะมีมากขึ้นเช่นกัน
การศึกษาความเป็นไปได้ในการทำแฟรนไชส์ มีข้อที่ใช้ในการประเมินกว่า 20 ข้อ หากธุรกิจใดสอบผ่านทั้งหมด แน่ใจได้เลยว่า ลงมือทำระบบแฟรนไชส์ได้ จะมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง แต่ถ้ายังไม่ผ่าน คุณก็ควรสร้างความพร้อมเสียก่อน แฟรนไชส์ที่ไปไม่รอดส่วนใหญ่ มักขาดคุณสมบัติดังกล่าว ทำให้ต้องหยุดขยาย และหันมาปรับปรุงกันใหม่ จะดีกว่าไหม ถ้าเราได้รับรู้กันก่อนว่า การศึกษาความเป็นไปได้ในการทำระบบแฟรนไชส์ ต้องพิจารณาได้เรื่องอะไรบ้าง และควรมีคุณสมบัติอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จ
ร้านต้นแบบ
มีเจ้าของโรงงานหลายคน มีประสบการณ์ในธุรกิจสูง และมั่นใจในความสามารถในการบริหารของตัวเอง และเห็นช่องทางที่จะขยายตลาดสินค้าช่องทางใหม่ ด้วยการคิดว่าจะขายแฟรนไชส์ร้านค้าปลีกเพื่อขายสินค้าจากโรงงานของตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะล้มเหลว นั่นเป็นเพราะไม่มีร้านต้นแบบ
ร้านต้นแบบ คือตัวอย่างของรูปแบบที่จะขายแฟรนไชส์ ถ้าคุณจะขายแฟรนไชส์รูปแบบไหน คุณควรมีร้านต้นแบบ แบบนั้นแล้ว เช่น บางคนมีร้านอาหารที่ลงทุนระดับ 10 ล้าน แต่จะขายแฟรนไชส์ร้านอาหารในชื่อเดียวกัน ระดับ 3 ล้าน ก็ต้องมีร้านต้นแบบของตัวเองที่ลงทุนระดับ 3 ล้านบาท เพื่อศึกษาดูว่ารูปที่ต้องการจะขายแฟรนไชส์นั้น ต้องมีพนักงานกี่คน มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ต้องมีคนเข้าร้านกี่คน และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือตัวเลขบรรทัดสุดท้าย ในรูปแบบร้านที่จะขายแฟรนไชส์ จะทำกำไรได้ตามเป้าหมายได้จริงหรือไม่
ร้านต้นแบบ จะทำให้แน่ใจได้ว่า เมื่อคุณขายแฟรนไชส์แล้ว จะทำให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ ที่เป็นเครือข่ายของธุรกิจคุณ ดำเนินธุรกิจได้ และมีผลกำไรได้ตามที่คาดหวัง
การจัดทำคู่มือ
คู่มือ คือ คัมภีร์ ในการทำงาน หากคุณต้องการเติบโตด้วยระบบแฟรนไชส์ การจัดทำคู่มือเป็นหัวใจสำคัญ ที่ช่วยควบคุมร้านสาขาให้ปฎิบัติงานได้มาตรฐานเดียวกันทุกสาขา ซึ่งคู่มือที่จัดทำขึ้นจะมาจากรูปแบบที่พิสูจน์ความสำเร็จมาแล้ว นอกจากนี้ต้องสร้างกระบวนการอบรม และบททดสอบ เพื่อทำให้มั่นใจว่า ร้านแฟรนไชซี่ที่คุณขายออกไปนั้น สามารถปฎิบัติงานได้ ตามมาตรฐานเทียบเท่าร้านเดิมที่เป็นที่ยอมรับของลูกค้า
การอบรบระบบแฟรนไชส์ ที่สมาคมแฟรนไชส์จัดขึ้นครั้งนี้ จะมีการอบรมครอบคลุม หัวข้อที่จำเป็นต้องรู้ สำหรับผู้ต้องการสร้างระบบแฟรนไชส์ในอนาคต นอกจากหัวข้อที่กล่าวถึงในข้างต้นแล้ว ยังมีเรื่องขั้นตอนการทำระบบแฟรนไชส์,เรื่องกฎหมายและสัญญาที่เกี่ยวข้อง,การสร้างแบรนด์,การสร้างระบบมาตรฐาน,กรณีศึกษาความสำเร็จและความล้มเหลวของแฟรนไชส์
โดยมีวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้เฉพาะด้านโดยตรงมาให้ความรู้ อาทิ วิทยากรจาก 7-อีเลฟเว่น,จากสมาคมแฟรนไชส์ไทย,จากผู้เชี่ยวชาญการบริหารแฟรนไชส์ร้านอาหาร,จากบริษัท ที่ปรึกษากฎหมายชั้นนำเบเคอร์ แอนด์ แมคแคนซี่,จากธนาคารกสิกรไทย และผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์สร้างการเติบโตมาจากระบบแฟรนไชส์โดยตรง
คุณชญานิธิ แบรดี้ เจ้าของแฟรนไชส์ ควอลิตี้คิดส์ กล่าวถึงประสบการณ์ในการสร้างธุรกิจขึ้นมาจากโรงเรียนพัฒนาทักษะสมองของเด็กเแห่งแรก จนมาถึงการมีแฟรนไชส์กว่า 20 สาขา ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาว่า “การที่ได้เข้ามาอบรมเรื่องแฟรนไชส์ในโปรแกรมนี้ นับว่าเป็นโอกาสทองของชีวิต ที่ทำให้ได้ประสบการณ์ทั้งด้านวิชาการ และด้านพันธมิตร ได้รู้จักกับคณาจารย์ที่ทรงความรู้ทั้งระดับในประเทศ และต่างประเทศ เนื้อหาที่อบรมก็ครอบคลุม นำมาประยุกต์เข้ากับกิจการได้อย่างแท้จริง”
สมาคมแฟรนไชส์ไทย มีวัตถุประสงค์ ต้องการเชิญชวน ผู้ที่สนใจเรื่องแฟรนไชส์ ได้มาเรียนรู้ เรื่องการสร้างการเติบโตทางธุรกิจด้วยแฟรนไชส์ จากโปรแกรม “อบรมระบบแฟรนไชส์ 10 ชั่วโมง” เพื่อกระจายความรู้ในวงกว้าง ที่จะส่งผลให้ระบบแฟรนไชส์ในประเทศเติบโต และส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ และพัฒนาผู้ประกอบการ ผู้ที่เข้าอบรม จะได้รับเอกสารการทำระบบแฟรนไชส์ และสมัครสอบ เพื่อรับใบรับรองความรู้จากสมาคมแฟรนไชส์ไทย
ผู้สนใจ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02-321-7701-4 หรือดูรายละเอียด และโหลดใบสมัคร ได้ที่ www.franchisefocus.co.th