ไอบีเอ็มเผย 5 นวัตกรรรมล้ำยุค ที่จะพลิกวิถีชีวิตของเราให้สะดวกสบาย

ไอบีเอ็ม เปิดเผย “Next Five in Five” 5 นวัตกรรมล้ำยุค ที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน และไลฟ์สไตล์ของคนเราในอนาคต 5 ปีข้างหน้า โดยการค้นคว้าวิจัยครั้งนี้ได้อ้างอิงแนวโน้มสภาพตลาดและพฤติกรรมทางสังคมที่คาดว่าจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนเรารวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งจะมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเหล่านี้ให้กลายเป็นจริงใน 5 นวัตกรรมดังนี้ คือ

1. คุณจะพูดคุยกับเพื่อนที่อยู่ต่างสถานที่กันได้เสมือนจริงในรูปแบบภาพโฮโลแกรม 3 มิติ
2. แบตเตอรี่ที่ใช้กับอุปกรณ์ต่างๆจะมีขนาดเล็กและสามารถใช้งานได้นานขึ้นโดยไม่ต้องชาร์ตไฟ
3. เซนเซอร์ที่รวบรวมข้อมูลรอบตัวมนุษย์ สามารถนำมาช่วยรักษาระบบนิเวศน์ให้โลกของเราได้
4. ระบบการเดินทางอัจฉริยะ ที่จะแนะนำการเดินทางให้ถึงจุดหมายได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็วที่สุด
5. การนำพลังงานความร้อนจากชิปคอมพิวเตอร์ มารีไซเคิลเป็นพลังงานที่ใช้ในเมืองใหญ่

นายตรัยรัตน์ สุวรรณประทีป ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ไอบีเอ็มได้คิดค้นนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีใหม่ๆเพื่อช่วยสร้างสรรค์โลกให้ฉลาดขึ้นภายใต้แนวคิด “Smarter Planet” มาอย่างต่อเนื่องจากผลงานวิจัยในแล็บของไอบีเอ็มทั่วโลก โดยล่าสุดได้เปิดเผยนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตของคนเราในอีก 5 ปีข้างหน้า ดังต่อไปนี้

คุณจะพูดคุยกับเพื่อนในรูปแบบ 3 มิติ
ในช่วง 5 ปีนับจากนี้ อินเทอร์เฟซ 3 มิติจะช่วยให้คุณสามารถพูดคุยโต้ตอบกับภาพโฮโลแกรม 3 มิติของเพื่อนคุณในแบบเรียลไทม์ เหมือนที่คุณเคยเห็นในภาพยนตร์ ปัจจุบัน ระบบ 3 มิติและกล้องโฮโลกราฟิกมีความก้าวล้ำเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ จนสามารถบรรจุไว้ในโทรศัพท์มือถือ และในอนาคต คุณก็จะสามารถใช้งานภาพถ่าย ท่องเว็บ และสนทนากับเพื่อนของคุณในรูปแบบที่แปลกใหม่ได้อย่างแท้จริง นักวิทยาศาสตร์กำลังทำงานอย่างจริงจังเพื่อพัฒนาปรับปรุงการสนทนาผ่านวิดีโอให้กลายเป็นการสนทนาผ่านระบบโฮโลกราฟี่ (Holography) หรือ “เทเลพรีเซนส์ 3 มิติ” (3-D Telepresence) ซึ่งใช้ลำแสงที่กระจายจากวัตถุ และสร้างแบบจำลองภาพวัตถุดังกล่าว คล้ายคลึงกับวิธีการที่ดวงตาของมนุษย์เราใช้ในการมองเห็นภาพสิ่งต่างๆ รอบตัว นอกเหนือจากภาพของเพื่อนๆ แล้ว คุณจะเห็นสิ่งอื่นๆ ในรูปแบบ 3 มิติเช่นกัน ที่จริงแล้วข้อมูลอาจมีความคลาดเคลื่อนหรือบิดเบือนอยู่บ้าง เช่นเดียวกับแผนที่โลกบนกระดาษซึ่งแสดงภาพพื้นที่บริเวณขั้วโลกในลักษณะที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงเล็กน้อย อย่างไรก็ดี ปัจจุบันข้อมูลดิจิตอลมี “ความฉลาด” เพิ่มมากขึ้น เช่น อัลบั้มภาพถ่ายดิจิตอลของคุณซึ่งมีการแท็กภาพถ่ายต่างๆ ในขณะที่เว็บสามารถซิงค์ข้อมูลระหว่างอุปกรณ์และอินเทอร์เฟซคอมพิวเตอร์ได้อย่างง่ายดายและมีประสิทธิภาพ

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ในฝ่ายวิจัยของไอบีเอ็มพยายามมองหาหนทางใหม่ๆ ในการแสดงผลข้อมูล 3 มิติ โดยมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยให้วิศวกรสามารถตรวจสอบงานออกแบบของทุกๆ สิ่ง ตั้งแต่อาคารไปจนถึงโปรแกรมซอฟต์แวร์ พร้อมทั้งรันแบบจำลองของโรคติดต่อที่แพร่กระจายทั่วโลกในรูปแบบ 3 มิติที่รองรับการโต้ตอบอินเทอร์แอคทีฟ และแสดงผลแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลกบนทวิตเตอร์ (Twitter) โดยทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในแบบเรียลไทม์และมีความแม่นยำสูง

แบตเตอรี่จะใช้อากาศเพื่อขับเคลื่อนอุปกรณ์
คุณคงเคยนึกฝันอยากให้แบตเตอรี่โน้ตบุ๊กของคุณรองรับการใช้งานได้ตลอดทั้งวันโดยไม่ต้องชาร์จไฟ หรือโทรศัพท์มือถือที่คุณพกพาไปได้ทุกที่โดยไม่ต้องอาศัยพลังงานจากแบตเตอรี่ในอีก 5 ปีข้างหน้า ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในส่วนของเทคโนโลยีทรานซิสเตอร์และแบตเตอรี่จะช่วยให้อุปกรณ์ของคุณมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้นถึง 10 เท่าเมื่อเทียบกับปัจจุบัน และในบางกรณีอุปกรณ์ขนาดเล็กอาจไม่ต้องใช้แบตเตอรี่เลย แทนที่จะใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่มีน้ำหนักมากดังที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์กำลังพัฒนาแบตเตอรี่ที่ใช้อากาศเพื่อทำปฏิกิริยากับโลหะที่ก่อให้เกิดพลังงานและทำให้แบตเตอรี่มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น ซึ่งถ้าหากพัฒนาเทคโนโลยีนี้ได้สำเร็จ ก็จะทำให้เกิดแบตเตอรี่ที่มีน้ำหนักเบาและมีประสิทธิภาพ สามารถขับเคลื่อนทุกสิ่ง ตั้งแต่รถยนต์ไฟฟ้าไปจนถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค

ไอบีเอ็มได้ปฏิวัติแนวคิดเกี่ยวกับทรานซิสเตอร์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดปริมาณการใช้พลังงานให้เหลือน้อยกว่า 0.5 โวลต์ต่อทรานซิสเตอร์หนึ่งตัว และผลที่ตามมาก็คือ อุปกรณ์บางอย่าง เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องอ่านอิเล็กทรอนิกส์ (e-reader) อาจไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ในการทำงาน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช้แบตเตอรี่นี้จะสามารถชาร์จไฟโดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า การเก็บเกี่ยวพลังงาน (Energy Scavenging) ปัจจุบันนาฬิกาข้อมือบางรุ่นที่ใช้เทคนิคนี้สามารถชาร์จไฟโดยอาศัยการเคลื่อนไหวแขนของผู้สวมใส่ และไม่จำเป็นต้องใช้การไขลานแต่อย่างใด แนวคิดเดียวกันนี้อาจนำมาใช้เพื่อชาร์จโทรศัพท์มือถือ โดยเพียงแค่เขย่าเครื่องเบาๆ คุณก็จะสามารถโทรออกได้

เซนเซอร์ที่รวบรวมข้อมูลรอบตัวมนุษย์ สามารถนำมาช่วยรักษาระบบนิเวศน์ให้โลกของเราได้
ในอีก 5 ปีนับจากนี้ เซนเซอร์ในโทรศัพท์มือถือ รถยนต์ กระเป๋าสตางค์ และแม้กระทั่งข้อความทวีตของคุณ จะเก็บรวบรวมข้อมูลที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์มองเห็นภาพรวมของสภาพแวดล้อมรอบตัวคุณในแบบเรียลไทม์ คุณจะสามารถส่งข้อมูลนี้เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ปกป้องสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือตรวจสอบติดตามพืชหรือสัตว์ต่างถิ่นที่กำลังคุกคามระบบนิเวศน์ทั่วโลก ซึ่งจะมีกลุ่มคนที่เรียกว่า “พลเมืองนักวิทยาศาสตร์” (Citizen Scientists) จะใช้เซนเซอร์ที่มีอยู่แล้วเพื่อสร้างชุดข้อมูลจำนวนมหาศาลสำหรับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การสังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น หิมะเริ่มละลายในเมืองของคุณ มียุงชุมมากขึ้น หรือลำธารแห้งเหือด ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์และนักวิทยาศาสตร์ยังขาดแคลนข้อมูลเหล่านี้ในปัจจุบัน แม้กระทั่งโน้ตบุ๊กของคุณก็สามารถใช้เป็นเซนเซอร์ตรวจจับคลื่นแผ่นดินไหว และถ้าหากมีการปรับใช้อย่างเหมาะสมและเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายคอมพิวเตอร์อื่นๆ โน้ตบุ๊กของคุณก็จะสามารถระบุเหตุแผ่นดินไหวต่อเนื่อง และเพิ่มความรวดเร็วในการทำงานของหน่วยกู้ภัยและช่วยชีวิตผู้ประสบเหตุได้มากมาย

ไอบีเอ็มได้จดสิทธิบัตรเทคนิคที่ช่วยให้ระบบสามารถวิเคราะห์การเคลื่อนตัวของเปลือกโลกและเหตุแผ่นดินไหวได้อย่างแม่นยำ จึงสามารถเตือนภัยสึนามิได้แต่เนิ่นๆ นอกจากนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวยังสามารถตรวจวัดและวิเคราะห์พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้หน่วยกู้ภัยสามารถประเมินสถานการณ์และจัดลำดับความสำคัญของงานที่ต้องทำหลังเกิดแผ่นดินไหว ไอบีเอ็มยังได้พัฒนา “โปรแกรม” บนโทรศัพท์มือถือที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้จัดส่งข้อมูลที่มีประโยชน์เพื่อจุดประสงค์บางอย่าง เช่น ปรับปรุงคุณภาพของน้ำดื่ม หรือรายงานเกี่ยวกับมลภาวะทางเสียง ล่าสุดไอบีเอ็มได้สร้างโปรแกรม Creek Watch เพื่อให้ผู้ใช้ถ่ายภาพหนองน้ำหรือลำธาร ตอบคำถามง่ายๆ 3 ข้อเกี่ยวกับภาพดังกล่าว และข้อมูลนั้นก็จะถูกจัดส่งให้แก่หน่วยงานประปาในท้องถิ่นโดยอัตโนมัติ

ระบบการเดินทางอัจฉริยะ ที่จะแนะนำการเดินทางให้ถึงจุดหมายได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็วที่สุด
ลองนึกถึงการเดินทางด้วยรถยนต์บนทางหลวงที่ปราศจากปัญหาจราจรติดขัด หรือรถไฟใต้ดินที่มีผู้โดยสารเบาบาง ไม่มีปัญหาการเดินทางล่าช้าเนื่องจากการก่อสร้างสะพาน และไม่ต้องห่วงว่าจะไปถึงที่ทำงานสายเกินกว่าเวลาเข้างาน ในอีก 5 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลจะให้คำแนะนำที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้เดินทางไปถึงจุดหมายได้เร็วที่สุด ระบบจราจรอัจฉริยะจะเรียนรู้แบบเแผนของผู้เดินทาง รวมถึงพฤติกรรม และจะจัดส่งข้อมูลเส้นทางและความปลอดภัยในการเดินทางให้แก่ผู้เดินทางได้อย่างถูกต้องเหมาะสม นักวิจัยของไอบีเอ็มกำลังพัฒนาแบบจำลองใหม่ๆ ที่จะคาดการณ์ผลลัพธ์ของการเดินทางที่หลากหลาย เพื่อนำเสนอข้อมูลที่ดีกว่าการรายงานสภาพการจราจรแบบเดิมๆ เช่นที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน หรืออุปกรณ์ที่บอกได้แค่ว่าคุณอยู่ตรงจุดไหนท่ามกลางการจราจรที่ติดขัด หรือแอพพลิเคชั่นบนเว็บที่ระบุระยะเวลาการเดินทางโดยประมาณในสภาพจราจรปัจจุบัน

การใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ในรูปแบบใหม่ๆ พร้อมด้วยเทคโนโลยีการวิเคราะห์และคาดการณ์ของไอบีเอ็ม จะช่วยให้นักวิจัยสามารถวิเคราะห์และผสานรวมสถานการณ์สมมติที่เป็นไปได้หลายสถานการณ์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้เดินทาง เพื่อนำเสนอข้อมูลเส้นทางที่ดีที่สุดสำหรับการเดินทางในแต่ละวัน โดยมีการพิจารณาปัจจัยต่างๆ มากมาย เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ ตำแหน่งพิกัดของผู้เดินทาง การก่อสร้างบนท้องถนนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและที่วางแผนไว้ วันที่การจราจรมักจะติดขัดเป็นประจำในแต่ละสัปดาห์ เวลาเข้าทำงานที่กำหนด กิจกรรมต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อการจราจร ทางเลือกอื่นในระบบคมนาคมขนส่ง เช่น รถไฟ เรือข้ามฟาก รวมถึงข้อมูลอื่นๆ เช่น ที่จอดรถ และสภาพอากาศ ตัวอย่างเช่น การผสานรวมระบบวิเคราะห์และคาดการณ์เข้ากับข้อมูลแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับสภาพจราจรติดขัดในปัจจุบันซึ่งได้รับจากเซนเซอร์ รวมถึงข้อมูลอื่นๆ จะช่วยให้ระบบสามารถแนะนำทางเลือกที่ดีกว่าในการเดินทางไปถึงจุดหมาย เช่น จะไปยังสถานีรถไฟที่ใกล้ที่สุดได้อย่างไร รถไฟจะมาถึงตามเวลาที่กำหนดหรือไม่ และมีที่จอดรถบริเวณสถานีรถไฟหรือไม่ ระบบใหม่ๆ จะสามารถเรียนรู้จากแบบแผนการเดินทางตามปกติของคุณ แล้วผนวกรวมข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่เข้ากับแบบจำลองสำหรับการคาดการณ์ เพื่อระบุเส้นทางที่เหมาะสมที่สุด

การนำพลังงานความร้อนจากชิปคอมพิวเตอร์ มารีไซเคิลเป็นพลังงานที่ใช้ในเมืองใหญ่
นวัตกรรมในคอมพิวเตอร์และดาต้าเซ็นเตอร์จะทำให้เราสามารถนำเอาความร้อนและพลังงานส่วนเกินจากระบบเหล่านี้มาใช้ในการทำสิ่งต่างๆ เช่น การเพิ่มความอบอุ่นให้กับอาคารในช่วงฤดูหนาว และการทำความเย็นในช่วงฤดูร้อน แล้วลองนึกดูสิว่าจะเป็นอย่างไรหากเราสามารถนำเอาพลังงานที่หลั่งไหลเข้าสู่ดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลกมารีไซเคิลเพื่อรองรับการใช้พลังงานในเมืองใหญ่ ปัจจุบัน ราว 50 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานที่ใช้ในดาต้าเซ็นเตอร์ถูกใช้ในระบบระบายความร้อน และพลังงานความร้อนส่วนใหญ่ก็ถูกปล่อยสู่บรรยากาศอย่างเปล่าประโยชน์ เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ระบบระบายความร้อนด้วยน้ำบนชิปคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นผลงานการพัฒนาของไอบีเอ็ม ช่วยให้เราสามารถนำเอาพลังงานความร้อนจากชิปคอมพิวเตอร์มารีไซเคิลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อทำน้ำร้อนภายในอาคารสำนักงานและบ้านเรือนต่างๆ

โครงการนำร่องในสวิตเซอร์แลนด์เกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ที่มีเทคโนโลยีนี้คาดว่าจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 30 ตันต่อปี หรือลดลง 85 เปอร์เซ็นต์ เครือข่ายท่อนำส่งของเหลวขนาดจิ๋ว (Microfluidic Capillaries) ภายในฮีทซิงค์ ถูกเชื่อมต่อไว้บนพื้นผิวของชิปแต่ละตัวในคอมพิวเตอร์คลัสเตอร์ ซึ่งช่วยให้สามารถส่งน้ำเข้าไปภายในไมครอนของเซมิคอนดักเตอร์ได้โดยตรง การส่งกระแสน้ำผ่านชิปแต่ละตัวอย่างใกล้ชิดเช่นนี้จะช่วยถ่ายเทความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยน้ำที่ระบายออกมาจะมีอุณหภูมิสูงถึง 60 องศาเซลเซียส และถูกส่งผ่านเครื่องถ่ายเทความร้อนเพื่อจัดส่งพลังงานความร้อนที่ได้ไปยังที่อื่น

ข้อมูลเพิ่มเติมมีอยู่ที่ ibm.com/press/5in5
หรือสามารถดาวน์โหลดวิดีโอ “Next 5 in 5” จากหน้า Newsmarket ของไอบีเอ็ม