ญี่ปุ่น เป็นตลาดหลักที่สำคัญเป็นอันดับ 3 ในการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของไทย รองจากตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป มูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของไทยไปยังญี่ปุ่นปี 2553 มีมูลค่า 220.7 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.8 ของการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมดของไทย โดยการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไปยังตลาดญี่ปุ่นในปี 2553 มีแนวโน้มขยับตัวขึ้นร้อยละ 1.4 (YoY) จากที่เคยหดตัวถึงร้อยละ 13.9 ในปี 2552
จากเหตุภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะมีผลต่อการชะลอคำสั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์จากตลาดญี่ปุ่นในช่วงครึ่งแรกปี 2554 โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ไม้ ซึ่งเป็นเฟอร์นิเจอร์ส่งออกสำคัญที่ไทยส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น แต่คาดว่าจะกลับมากระเตื้องขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ภายหลังจากที่ภาครัฐและภาคเอกชนเร่งฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน และอาคารบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติในครั้งนี้ ส่งผลให้ภาพรวมของการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไปญี่ปุ่นในปี 2554 จะยังคงรักษาระดับไว้ที่ประมาณ 220 – 230 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัวประมาณร้อยละ 4
แนวโน้มการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของไทยในตลาดญี่ปุ่น ปี 2554
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิที่เกิดในประเทศญี่ปุ่น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะมีผลต่อการชะลอคำสั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์จากตลาดญี่ปุ่นในช่วงครึ่งปีแรก โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ไม้ซึ่งเป็นเฟอร์นิเจอร์ส่งออกที่สำคัญในตลาดญี่ปุ่น (มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 88 ของการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของไทยไปยังญี่ปุ่น) อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลกระทบดังกล่าวจะเกิดขึ้นในระยะสั้น และในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไปยังญี่ปุ่นจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ด้วยปัจจัยที่สำคัญ ดังนี้
– ญี่ปุ่นมีความต้องการเฟอร์นิเจอร์เพื่อทดแทนที่เสียหายจากเหตุการณ์ภัยพิบัติดังกล่าว คาดว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นทั้งเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ในครัวเรือน และสำนักงาน โดยน่าจะมีการซื้อเพิ่มขึ้นภายหลังจากการสร้างและฟื้นฟูอาคาร บ้านเรือนบริเวณพื้นที่เสียหายแล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปี 2554
– ในขณะที่ความต้องการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่การผลิตเฟอร์นิเจอร์ของญี่ปุ่นมีแนวโน้มหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตในประเทศที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากค่าจ้างแรงงานและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ดังจะเห็นได้จากที่ญี่ปุ่นมีแนวโน้มพึ่งพาการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์จากตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น (ยกเว้นในปี 2552 ซึ่งเป็นปีที่เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ) โดยในปี 2553 ญี่ปุ่นมีการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนเท่ากับ 4,452.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัวร้อยละ 13.6 (YoY)
– เฟอร์นิเจอร์ที่ญี่ปุ่นมีความต้องการนำเข้าส่วนใหญ่เป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ โดยมีมูลค่าเท่ากับ 2,095.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 47.1 ของการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมดของญี่ปุ่น ซึ่งเฟอร์นิเจอร์ไม้เป็นเฟอร์นิเจอร์ส่งออกที่สำคัญของไทยเช่นกัน และไทยก็มีฐานการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ไปยังญี่ปุ่นเป็นอันดับสาม รองจากจีน และเวียดนาม คาดว่าหากในช่วงที่ความต้องการเฟอร์นิเจอร์ในตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น จะเป็นโอกาสของเฟอร์นิเจอร์ไม้จากไทยที่จะขยายการส่งออกไปยังญี่ปุ่น และส่งผลให้การส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของไทยไปยังตลาดญี่ปุ่นในภาพรวมมีแนวโน้มปรับตัวตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น
จากปัจจัยที่สำคัญดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกเฟอร์นิเจอร์ในช่วงครึ่งปีหลังปรับตัวดีขึ้น และส่งผลให้ภาพรวมของการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไปญี่ปุ่นในปี 2554 จะยังคงรักษาระดับไว้ที่ประมาณ 220 – 230 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัวร้อยละ 4 (YoY)
ผู้ส่งออกเร่งปรับตัว….เตรียมรับกับแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดญี่ปุ่น
หากพิจารณาจากแหล่งนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ที่สำคัญของญี่ปุ่น พบว่า ไทยเป็นแหล่งนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ที่สำคัญเป็นอันดับ 5 รองจากประเทศจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และไต้หวัน โดยที่ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดนำเข้าประมาณร้อยละ 5 ของมูลค่าการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมดของญี่ปุ่น แต่อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนการนำเข้าในตลาดญี่ปุ่น พบว่าเฟอร์นิเจอร์จากไทยมีแนวโน้มที่จะมีความสำคัญลดลงเล็กน้อย ในขณะที่เฟอร์นิเจอร์จากจีน เวียดนามและอินโดนีเซียมีความสำคัญเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ เฟอร์นิเจอร์จากจีนและอินโดนีเซียมีข้อได้เปรียบทางด้านราคาที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับประเทศผู้นำเข้าอื่นๆ นอกจากนี้ ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ของญี่ปุ่นหลายรายได้เข้าไปลงทุนและขยายการผลิตในจีน ยิ่งเป็นแรงหนุนให้ญี่ปุ่นขยายการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์จากจีนมากขึ้น สำหรับเฟอร์นิเจอร์จากเวียดนาม เน้นการผลิตเฟอร์นิเจอร์คุณภาพที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค และความได้เปรียบทางด้านต้นทุนค่าแรงที่ต่ำกว่าไทย แต่จากการที่เวียดนามได้ขยายการผลิตเฟอร์นิเจอร์เพื่อการส่งออกจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ ทำให้เวียดนามต้องพึ่งพาการนำเข้าไม้ซุงสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต และตั้งแต่ช่วงกลางปี 2548 ที่ผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้หลักของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ อินโดนีเซียและมาเลเซีย หยุดส่งออกไม้ท่อน ซึ่งทำให้เวียดนามเริ่มเผชิญปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต จนกระทั่งในบางครั้งส่งผลให้การส่งมอบสินค้าเกิดความล่าช้ากว่ากำหนด
จากสถานการณ์ส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของไทยไปยังตลาดญี่ปุ่นที่ต้องเผชิญการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรง ประกอบกับสัญญาณเตือนจากส่วนแบ่งการนำเข้าในตลาดญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มลดลง ผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไทยควรเร่งปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของชาวญี่ปุ่นให้มากขึ้น พร้อมทั้งสร้างจุดขายให้กับเฟอร์นิเจอร์ไทย เพื่อให้สามารถส่งออกเฟอร์นิเจอร์เข้าตลาดญี่ปุ่นได้มากขึ้น และเพื่อรองรับกับความต้องการนำเข้าของญี่ปุ่นที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต
ในการปรับปรุงคุณภาพสินค้าผู้ส่งออกต้องมีความเข้าใจในพฤติกรรมการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ ลักษณะครัวเรือน รวมไปถึงความเป็นอยู่ของชาวญี่ปุ่น โดยทั่วไปชาวญี่ปุ่นนิยมเฟอร์นิเจอร์ที่มีการออกแบบโดยเน้นประโยชน์ในการใช้สอย ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงเรื่องคุณภาพชีวิต สุขภาพ และความปลอดภัย ชาวญี่ปุ่นไม่ได้พิจารณาเฉพาะการนำไปใช้งานแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังให้ความสนใจในรูปแบบที่ให้ความรู้สึกกลมกลืนเป็นมิตร เช่น เฟอร์นิเจอร์ที่ไม่มีมุมแหลมที่จะเป็นอันตราย รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถปรับให้เข้ามุม ขนาดของห้องและการใช้งานที่เป็นรสนิยมของแต่ละคน ประกอบกับสภาพสังคมของญี่ปุ่นในปัจจุบันที่มีจำนวนผู้สูงวัยมากขึ้น ทำให้กระแสความต้องการเฟอร์นิเจอร์ในตลาดญี่ปุ่นเน้นในเรื่องสุขภาพ และความปลอดภัย เช่น เฟอร์นิเจอร์ที่ปลอดภัยจากสารเคมี1 เฟอร์นิเจอร์ที่ทนทานต่อแรงแผ่นดินไหว ไม่เกิดความเสี่ยงต่อแบคทีเรีย รวมทั้งแมลงตัวเล็กๆ ที่เป็นพาหะนำโรค เป็นต้น
โดยสรุป จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ก่อความเสียหายต่อทรัพย์สิน บ้านเรือน และมูลค่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเป็นอันมาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของไทยจะได้รับผลกระทบต่อยอดคำสั่งซื้อในระยะสั้น โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ไม้ ซึ่งเป็นเฟอร์นิเจอร์ส่งออกที่สำคัญของไทยในตลาดญี่ปุ่น แต่คาดว่าความต้องการเฟอร์นิเจอร์ของญี่ปุ่นจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังจากการฟื้นฟูอาคาร บ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายแล้วเสร็จในระยะครึ่งปีหลัง ซึ่งอาจส่งผลให้ภาพรวมของการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของไทยไปยังตลาดญี่ปุ่นในปี 2554 มีมูลค่าประมาณ 220 – 230 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัวร้อยละ 4 (YoY) แต่อย่างไรก็ตาม การส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไปยังตลาดญี่ปุ่นยังคงต้องเผชิญการแข่งขันจากประเทศคู่แข่งที่สำคัญ โดยเฉพาะ จีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ไปยังญี่ปุ่น และมีแนวโน้มว่าประเทศดังกล่าวจะมีส่วนแบ่งตลาดในการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไปประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ในขณะที่ส่วนแบ่งตลาดการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของไทยไปยังตลาดญี่ปุ่นกลับมีแนวโน้มลดลง
ดังนั้น แนวทางในการปรับตัวสำหรับขยายการส่งออก เพื่อรองรับกับความต้องการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ของชาวญี่ปุ่นที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ควรมีดังนี้
– ผู้ส่งออกควรปรับปรุงและยกระดับผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดระดับกลางและบน เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางด้านราคากับประเทศจีนและอินโดนีเซีย
– ผู้ส่งออกควรคัดสรรสินค้าที่ตรงตามความต้องการของชาวญี่ปุ่น ซึ่งเน้นทางด้านดีไซน์เพื่อประโยชน์ใช้สอย ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงเรื่องคุณภาพชีวิต สุขภาพ และความปลอดภัย เพื่อสร้างจุดขายให้แก่สินค้า นอกจากนี้ สำหรับเฟอร์นิเจอร์สำนักงานอาจจะมุ่งเน้นผลิตสินค้าให้ได้การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม Japan Industrial Standard หรือ JIS Mark ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างจุดเด่นให้กับเฟอร์นิเจอร์ไทย เป็นสินค้าที่มีการผลิตได้มาตรฐานในสายตาของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น
– ประเด็นเรื่อง “การส่งมอบสินค้าให้ทันตามกำหนด” ก็เป็นประเด็นที่ผู้นำเข้าชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญ เนื่องจากชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีความเคร่งครัดเรื่องกฎระเบียบ วินัย นอกจากนี้ การประกอบธุรกิจของชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการบริหารสินค้าคงคลัง หากมีการส่งมอบสินค้าล่าช้าจะส่งผลกระทบทางลบต่อธุรกิจผู้นำเข้า ดังนั้นผู้ส่งออกควรบริหารจัดการผลิต และส่งมอบให้ตรงตามระยะเวลาที่กำหนดเพื่อรักษาภาพลักษณ์ที่ดีในการทำธุรกิจร่วมกัน