โนเกีย เทส-แอม และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมฉลองความสำเร็จของโครงการ “จุฬาฯ รักษ์โลก” ซึ่งเป็นโครงการรณรงค์การรีไซเคิลโทรศัพท์มือถือเพื่อเชื่อมโยงให้ผู้คนได้มีบทบาทในการสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ความสำเร็จของโครงการนำไปสู่การขยายกิจกรรมไปยังโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเครือข่ายรวมทั้งริเริ่มกิจกรรมใหม่ๆ เพื่อสิ่งแวดล้อม
ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2553 จนถึงวันที่ 2 มีนาคม 2554 โนเกียและเทส-แอมซึ่งเป็นบริษัทรีไซเคิลได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย (ศสอ.) ดำเนินโครงการ “จุฬาฯ รักษ์โลก” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมให้กับนิสิตจุฬาฯ และประชาชนทั่วไปผ่านการนำโทรศัพท์มือถือมารีไซเคิล ผลจากการประชาสัมพันธ์ของนิสิตที่เข้าร่วมเป็นทูตโนเกียให้เพื่อนๆ และประชาชนนำโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เสริมที่ไม่ใช้แล้วมาทิ้งลงกล่องรีไซเคิล 19 จุดทั่วมหาวิทยาลัย ทางโครงการฯ สามารถเก็บรวบรวมโทรศัพท์มือถือที่ไม่ใช้แล้วได้เกือบ 1,800 เครื่องและอุปกรณ์เสริมมากกว่า 2,000 ชิ้น (แบตเตอรี่ ที่ชารจ์ หูฟัง ฯลฯ) และสื่อสารให้กับนิสิตและบุคลากรจุฬาฯ กว่า 40,000 คนได้รับทราบและตระหนักถึงความสำคัญของการรีไซเคิล
ในพิธีปิดโครงการที่จัดขึ้นในวันนี้ ทูตโนเกียที่สามารถเก็บรวบรวมโทรศัพท์มือถือที่ไม่ใช้แล้วเพื่อรีไซเคิลได้มากที่สุด ได้แก่ น.ส. ยุพดี วัฒนะชาติ และน.ส. พิชญาภา รักษาราษฎร์ สองนิสิตคู่หูจากคณะสหเวชศาสตร์ซึ่งได้รับรางวัลใหญ่ไปชมโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์และยูนิเวอร์แซลสตูดิโอที่สิงคโปร์ ส่วนรองชนะเลิศได้รับรางวัลเงินสดและโทรศัพท์มือถือโนเกีย นอกจากนี้ โนเกียและเทส-แอมยังได้ร่วมกันบริจาคเงินจำนวน 110,000 บาท (ประมาณ 3,600 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ) เข้ากองทุนสิ่งแวดล้อมของจุฬาฯ ตามข้อตกลงว่า ทุกๆ 1 เครื่องที่โครงการฯ เก็บรวบรวมได้ โนเกียและเทส-แอมจะร่วมสมทบทุน 2 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ
ศ.นพ. ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความยินดี
เป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับโนเกียและเทส-แอมดำเนินโครงการจุฬาฯ รักษ์โลกและขอขอบคุณที่ทั้งสองบริษัทได้บริจาคเงินสมทบกองทุนสิ่งแวดล้อมของจุฬาฯ โดยเราจะนำเงินจำนวนนี้สมทบกับงบประมาณของจุฬาฯ จัดกิจกรรมรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องในหมู่นิสิต ชุมชน โรงเรียนใกล้เคียงและประชาชนทั่วไป นอกเหนือจากการรณรงค์รีไซเคิลโทรศัพท์มือถือแล้ว เราจะส่งเสริมให้นิสิตเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสา
เพื่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น การร่วมนำขยะมารีไซเคิลในสัปดาห์รีไซเคิลขยะและการร่วมปลูกป่าชายเลน เป็นต้น”
ด้วยเงินสมทบกองทุนสิ่งแวดล้อมจากโนเกียและเทส-แอมและงบประมาณเพิ่มเติมจากสำนักบริหารงานกิจการนิสิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทางศสอ.ร่วมกับสำนักบริหารงานกิจการนิสิตจะร่วมกันดำเนินโครงการรณรงค์การรีไซเคิลต่อไปในปีนี้โดยจะมีกิจกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้กับนิสิตและบุคลากรจุฬาฯ และภาคส่วนต่างๆ อาทิ
– การรณรงค์การรีไซเคิลโทรศัพท์มือถือที่ไม่ใช้แล้วและกิจกรรมบูธให้ความรู้เรื่องความสำคัญของการรีไซเคิล ณ โรงเรียนและมหาวิทยาลัยเครือข่าย
– การจัดงาน “สัปดาห์รีไซเคิล”
– การจัดค่ายสิ่งแวดล้อม กิจกรรมปลูกป่า และกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ
มร.ฟรานซิส ชอง ผู้จัดการด้านสิ่งแวดล้อมประจำภูมิภาค โนเกีย เอเชียแปซิฟิกตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “แม้ความร่วมมือภายใต้โครงการ “จุฬาฯ รักษ์โลก” จะจบลงในวันนี้ แต่โนเกียยังคงร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและแสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงาน/องค์กรอื่นๆ อาทิ กรมควบคุมมลพิษเพื่อจัดทำโครงการรณรงค์การรีไซเคิลโทรศัพท์มือถืออย่างต่อเนื่องในปีนี้”
มร.ลุค สโคลเตอ แวน มาสท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเทส-แอม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “สำหรับเทส-แอม ความสัมพันธ์กับโนเกียมีความหมายมากกว่าการเป็นบริษัทที่รับรีไซเคิลโทรศัพท์มือถือ หากแต่เรายังดำเนินกิจกรรมต่างๆ อย่างแข็งขันเพื่อสนับสนุนกิจกรรมรีไซเคิลของบริษัทลูกค้า รวมทั้งค้นหาวิธีการใหม่ๆ ในการเก็บรวบรวมโทรศัพท์มือถือเก่า เรายืนหยัดที่จะร่วมมือกับโนเกียและองค์กรพันธมิตรในการรณรงค์การรีไซเคิลต่อไป”
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโครงการจุฬาฯ รักษ์โลกสามารถติดตามได้ที่ www.ehwm.chula.ac.th หรือโทร 02 218 3959