ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยที่ถดถอยลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เริ่มฟื้นตัวอย่างเด่นชัดในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ต่อเนื่องมาในช่วงต้นปี 2554 ทั้งนี้ ด้วยแรงเกื้อหนุนจากปัจจัยสำคัญหลายประการ และแม้ว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมาจะส่งผลกระทบทำให้ตลาดนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นของไทยถดถอยลงในช่วงที่เหลือของปี 2554 แต่คาดว่าจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการเร่งกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวอื่นที่มีศักยภาพ จะทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น และสามารถทดแทนตลาดท่องเที่ยวที่หดตัวลงได้ระดับหนึ่ง (ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงในประเทศไทยเช่นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา) ส่งผลให้โดยรวมตลอดทั้งปี 2554 ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้น และมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาสูงถึง 17 ล้านคนได้ในที่สุด
เทศกาลสงกรานต์นับเป็นอีกห้วงเวลาที่ทุกฝ่ายต่างมุ่งมั่นที่จะให้เกิดความสงบภายในประเทศ และทำให้การจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ในหลายพื้นที่ท่องเที่ยวทั่วประเทศ มีความครึกครื้นรื่นเริงเช่นทุกๆปี (ยกเว้นปี 2552-2553) ซึ่งจะเป็นนิมิตรหมายที่ดีของสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยในช่วงที่เหลือของปี 2554 ว่า จะสามารถกลับมาเติบได้ตามปกติ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า หากการฉลองเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงเช่นในช่วงปี 2552-2553 แล้ว ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 7 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2554 จะสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราเกือบร้อยละ 20 ได้ในช่วงไตรมาสที่สอง
ไตรมาสแรกปี ’54 : ต่างชาติเที่ยวไทย 5 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7
จากเหตุการณ์ความรุนแรงในกรุงเทพฯช่วงเดือนพฤษภาคม 2553 ซึ่งคลี่คลายลงสู่ภาวะปกติได้ในช่วงกลางปี ประกอบกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 10 เมษายน ถึงช่วงเดือนพฤษภาคม 2553 จำกัดขอบเขตอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯและบางพื้นที่ในต่างจังหวัด ส่งผลให้สถานการณ์การท่องเที่ยวในบางพื้นที่ของไทยไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเห็นได้ชัดในแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลในภาคใต้ โดยเฉพาะ ภูเก็ต กระบี่ และสมุย โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่เดินทางด้วยเที่ยวบินตรงไปยังแหล่งท่องเที่ยว
ทำให้สามารถเรียกความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้กลับคืนมาได้โดยเร็วในหมู่นักท่องเที่ยวจากตลาดท่องเที่ยวระยะใกล้ในภูมิภาคเอเชีย หลังจากที่ถดถอยลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยมีตลาดนักท่องเที่ยวจากจีนและเกาหลีใต้เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ นอกจากนี้ ยังมีตลาดนักท่องเที่ยวจากอินเดีย รวมไปถึงตลาดนักท่องเที่ยวจากรัสเซียที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยยังได้แรงเกื้อหนุนสำคัญจาก การเพิ่มเที่ยวบินประจำและเที่ยวบินเช่าเหมาลำ ที่บินตรงมายังเมืองท่องเที่ยวสำคัญของไทย อาทิ ภูเก็ต กระบี่ และสมุย ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยงภัยจากการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองได้
ปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญดังกล่าวยังส่งผลต่อเนื่องมาในช่วงปี 2554 ดังนั้น แม้ยังคงมีการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองเป็นระยะๆในช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่สถานการณ์โดยรวมยังอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล ทำให้มีความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ เมื่อได้รับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนในการเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยในตลาดท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ จึงส่งผลให้ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยขยายตัวในอัตราสูงต่อเนื่องมาในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2554 โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 และร้อยละ 11.8 ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ตามลำดับ
โดยรวมในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2554 จึงมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 3.6 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 (เป็นตัวเลขเบื้องต้นของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ยังไม่รวมผู้ที่เดินทางเข้ามาค้างคืนในประเทศไทยโดยใช้บัตรผ่านแดน) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.7 (เทียบกับปีฐานที่ต่ำ คือ 2 เดือนแรกของปี 2552 ที่ลดลงร้อยละ 17.5)
เมื่อพิจารณา โครงสร้างตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2554 (จำแนกตามสัญชาติ) สามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ ดังนี้
ตลาดท่องเที่ยวสำคัญของไทยในภูมิภาคนี้ คือ มาเลเซีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และสิงคโปร์ ซึ่งทุกตลาดขยายตัวในอัตราสูงต่อเนื่องมาจากช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ยกเว้นญี่ปุ่นที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัวในช่วงปลายปี 2553 และขยายตัวต่อเนื่องมายังต้นปี 2554
โดยมีการเติบโตในทุกตลาด และตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว คือ นักท่องเที่ยวกลุ่มสแกนดิเนเวีย และรัสเซีย
โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดหลัก
โดยมีออสเตรเลียเป็นตลาดหลัก
เนื่องจากเกิดสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศของบางประเทศในภูมิภาค
สำหรับในช่วงเดือนมีนาคม 2554 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 นอกจากนี้ ยังเกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตามมา ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นของไทย โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยเฉลี่ยเดือนละกว่า 1 แสนคนในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2554 มีแนวโน้มลดลงประมาณกว่าร้อยละ 50 ในเดือนมีนาคม 2554 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่งผลให้ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมของไทยมีแนวโน้มถดถอยลงประมาณร้อยละ 2-3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
จากแนวโน้มดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดการณ์ว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2554 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้นประมาณ 5 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ที่มีจำนวน 4.66 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.8
คาดสงกรานต์ปีเถาะ..คึกคัก : ต่างชาติเที่ยวไทย 1.2 ล้านคนช่วงเดือนเมษายน
ในช่วงปลายเดือนมีนาคมต่อเนื่องมาถึงช่วงต้นเดือนเมษายน 2554 เกิดอุทกภัยครั้งร้ายแรงครอบคลุมพื้นที่ 10 จังหวัดในภาคใต้ ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี ตรัง ชุมพร สงขลา กระบี่ พังงา สตูล และนราธิวาส อีกทั้ง ยังเกิดดินถล่มในหลายพื้นที่ สร้างความเสียหายแก่เส้นทางคมนาคมทั้งสนามบิน (นครศรีธรรมราช) ถนน และทางรถไฟ รวมทั้งบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ประกอบกับเกิดภาวะคลื่นลมแรงตามชายฝั่งทะเลในภาคใต้ ทำให้บรรดาเรือโดยสารและเรือท่องเที่ยวทั้งหลายต่างงดออกจากฝั่ง นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติที่ท่องเที่ยวอยู่ตามเกาะต่างๆในพื้นที่ดังกล่าวต่างเร่งเดินทางกลับ ส่วนนักท่องเที่ยวที่วางแผนจะเดินทางมาเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลในภาคใต้ช่วงนี้ ต่างเลื่อนการเดินทางออกไปเพื่อรอดูสถานการณ์ให้คลี่คลายกลับสู่ภาวะปกติก่อน ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยว อาทิ ธุรกิจโรงแรม และบริการด้านการท่องเที่ยวต่างๆ ตามพื้นที่ที่ประสบภัยธรรมชาติ ในช่วงดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงสั้น นอกจากนี้ ภูเก็ตซึ่งเป็นปลายทางท่องเที่ยวสำคัญในแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลแถบอันดามันไม่ได้รับผลกระทบ และในปัจจุบันเส้นทางคมนาคมสายหลักเริ่มทยอยเปิดให้บริการได้แล้ว รวมทั้งคาดว่าพื้นที่ตามตัวเมืองท่องเที่ยวสำคัญๆ อาทิ สมุย และกระบี่ จะได้รับการเร่งฟื้นฟูให้สามารถรับนักท่องเที่ยวได้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์
ขณะที่กรุงเทพฯและพื้นที่ท่องเที่ยวในภาคอื่นๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง (รวมตะวันตก) และภาคตะวันออก ต่างจัดกิจกรรมฉลองเทศกาลสงกรานต์กันอย่างคึกคัก โดยมุ่งเน้นการสืบสานวัฒนธรรมดั้งเดิมและการเล่นสงกรานต์ปลอดแอลกอฮอล์ ท่ามกลางบรรยากาศในบ้านเมือง ที่ยังคงมีความสงบปราศจากความวุ่นวายทางการเมือง
ทั้งนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์อย่างยิ่งใหญ่ในระดับประเทศตามพื้นที่ต่างๆ 12 แห่งนอกเหนือจากกรุงเทพฯ ได้แก่
ภาคเหนือ : ที่เชียงใหม่ และสุโขทัย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ที่นครพนม, หนองคาย และขอนแก่น
ภาคกลาง : ที่สุพรรณบุรี, สมุทรปราการ และพระนครศรีอยุธยา
ภาคตะวันออก : ที่ชลบุรี
ภาคใต้ : ที่นครศรีธรรมราช , ภูเก็ต และสงขลา
นอกจากนี้ ยังมีการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ในระดับรองลงมา โดยเน้นความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นเพื่อสืบสานวัฒนธรรมดั้งเดิมอีกหลายแห่งที่น่าสนใจ
สถานการณ์การท่องเที่ยวไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ มีแนวโน้มคึกคักกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดเหตุการณ์รุนแรงถึงขั้นจลาจลป่วนเมืองในกรุงเทพฯ โดยมีการจัดกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์กระจายในหลายพื้นที่ และส่วนใหญ่ต่างจัดงานเป็นช่วง ทำให้ในปีนี้มีการจัดกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายนไปจนถึงวันที่ 25 เมษายน 2554 เอื้ออำนวยให้เกิดการกระจายการท่องเที่ยวกว้างขวางยิ่งขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ในช่วงเดือนเมษายน 2554 ซึ่งมีการจัดงานเทศกาลสงกรานต์อย่างยิ่งใหญ่ในหลายพื้นที่ทั่วทุกภาคของไทย ประกอบกับอยู่ในช่วงปิดเทอมและมีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน มีแนวโน้มกระตุ้นให้ตลาดท่องเที่ยวของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนักท่องเที่ยวคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยการท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวในภาคตะวันออก ภาคกลาง (รวมตะวันตก) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ มีแนวโน้มคึกคักกว่าภาคใต้ ส่วนในภาคใต้การท่องเที่ยวจะกระจุกตัวหนาแน่นเฉพาะในบางพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย คือ ภูเก็ต และหาดใหญ่
การจัดกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้มีแนวโน้มส่งผลกระตุ้นการขยายตัวของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงเดือนเมษายน 2554 โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 1.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้นเพียง 2.1 และก่อให้เกิดรายได้ท่องเที่ยวเข้าประเทศคิดเป็นมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10
ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นจำนวนมากในช่วงเดือนเมษายน คือ นักท่องเที่ยวจากจีน ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางด้วยเที่ยวบินตรง ทั้งเที่ยวบินประจำและเที่ยวบินเช่าเหมาลำ ไปยังปลายทาง คือ ภูเก็ต นอกจากนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวจากเกาหลีใต้ อินเดีย และรัสเซีย ที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยปลายทางมีทั้งภูเก็ต กระบี่ สมุย และพัทยา
ครึ่งแรกปี’54 ต่างชาติเที่ยวไทย 8.4 ล้านคน : รายได้ท่องเที่ยวเข้าประเทศกว่า 3 แสนล้านบาท
หากการเฉลิมฉลองปีใหม่ไทยในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ผ่านพ้นไป โดยปราศจากเหตุการณ์รุนแรงอันสืบเนื่องมาจากความวุ่นวายทางการเมืองเช่นที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาแล้ว จะส่งผลดีต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวโดยรวมของไทย ในขณะที่ยังมีปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุนอยู่หลายประการ ทำให้ยิ่งตอกย้ำความมั่นใจด้านความปลอดภัยในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติจากทุกภูมิภาคมากยิ่งขึ้น ท่ามกลางบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศในปัจจุบัน ที่ปลายทางท่องเที่ยวหลายพื้นที่ทั่วโลกต่างประสบภัยธรรมชาติ (อาทิ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น) และเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ (อาทิ กลุ่มประเทศแถบตะวันออกกลาง และอัฟริกาเหนือ) ทำให้ประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นด้านความคุ้มค่าเงินได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากยิ่งขึ้น ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวไทยในช่วงที่เหลือของปี 2554
โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า หากไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงใดมากระทบแล้ว ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องไปในช่วงที่เหลือของไตรมาสที่สองของปี 2554 โดยได้แรงกระตุ้นสำคัญจากตลาดท่องเที่ยวระยะใกล้ในเอเชีย และตลาดตะวันออกกลาง ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 33 และร้อยละ 14 ในเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน ตามลำดับ ทำให้โดยรวมในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2554 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 3.4 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
จากแนวโน้มดังกล่าว ส่งผลให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 11 โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้นประมาณ 8.4 ล้านคน และก่อให้เกิดรายได้ท่องเที่ยวเข้าประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3.15 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
สรุป
สงกรานต์ จัดเป็นเทศกาลสำคัญของคนไทย ที่สามารถสร้างสีสันให้แก่ภาคการท่องเที่ยวของไทยมาได้ทุกปี ยกเว้นในช่วงปี 2552-2553 ซึ่งเกิดเหตุการณ์รุนแรงถึงขั้นนองเลือดระหว่างคนไทยกันเอง ทำให้ภาพคนไทยเมืองพุทธ ที่โอบอ้อมอารีและมียิ้มสยามที่สร้างความประทับใจแก่อาคันตุกะต่างชาติที่มาเยือน เริ่มจะเลือนหายไปจากความทรงจำของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย
ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างคาดหวังกันว่า ความสงบสุขภายในประเทศที่เกิดขึ้นตั้งแต่กลางปี 2553 จะดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 2554 โดยสามารถผ่านพ้นช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ไปได้ (หลังจากเกิดเหตุการณ์นองเลือดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ติดต่อกันมา 2 ปีแล้ว) ซึ่งจะเป็นนิมิตรหมายอันดีว่า บรรยากาศการท่องเที่ยวไทยจะกลับมาแจ่มใสในระยะยาวได้อีกครั้ง โดยมีความเป็นไปได้ว่า ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นฐานที่ค่อนข้างสูง (ครึ่งหลังของปี 2553 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา 8.38 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1)
ทำให้โดยรวมตลอดทั้งปี 2554 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้นประมาณ 17 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เทียบกับปีก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6 และก่อให้เกิดรายได้ท่องเที่ยวเข้าประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 6.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปีก่อนหน้า